เราอาจจะเคยได้ยินบางประโยคจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ธุรกิจ ชีวิต ความรัก ความคิด การพัฒนาจิตใจ (ขึ้นอยู่กับคำนิยามความสำเร็จของแต่ละคน) ซึ่งทุกคนก็น่าจะเคยพูดเป็นเสียงเดียวกันหมดว่า “เคยล้มเหลวมาก่อน” หรือไม่ก็ “ไม่ได้สำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงมือทำ” แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ที่พวกเขาถ่ายทอดออกมามันคือกระบวนการทั้งหมดของเส้นทางความสำเร็จ?
มีประโยคหนึ่งของ ‘Dashun Wang’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการองค์กรที่ Kellogg School และผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (CSSI) ที่พูดว่า “ไม่ว่าใครก็ล้มเหลวได้เหมือนกัน แม้แต่คนที่ร่ำรวยมากๆ หรือ มีต้นทุนที่ดีก็ยังเคยล้มเหลว ขณะที่คนที่ไม่มีต้นทุนอะไรเลยก็ประสบความสำเร็จไม่น้อย พูดได้ว่าเคล็ดลับของความสำเร็จมันมีความลับซ่อนอยู่เสมอ”
Wang ได้พูดถึงเรื่องราวความสำเร็จที่น่าทึ่งของ ‘Ford Motor’ ว่ากว่าที่จะมีวันนี้ Henry Ford ผู้ก่อตั้งบริษัทเคยล้มเหลวมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง เรียกว่า ‘นับไม่ถ้วน’ จะดีกว่าถ้ารวมทั้งความล้มเหลวครั้งใหญ่ และครั้งเล็กๆ ตลอดทางที่ผ่านมา
จำลองทฤษฎี 2 โมเดล: คนที่เรียนรู้ซ้ำๆ – คนที่เรียนรู้ครั้งเดียว
นาย Wang และเพื่อนในทีมจากมหาวิทยาลัย Evans ในชิคาโก ได้พูดถึงการพัฒนาแบบจำลอง 2 ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยลองแยกผู้ที่ทดลองเป็น 2 กลุ่ม คือ ‘คนที่ประสบความสำเร็จจากความพยายามเพียงครั้งเดียว’ และ ‘คนที่ประสบความสำเร็จจากความพยายามหลายครั้งซ้ำๆ’
ผลลัพธ์ที่เห็น ก็คือ คนที่พยายามเพียงครั้งเดียวและประสบความสำเร็จ พบว่า มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว ‘น้อยกว่า’ คนที่ประสบความสำเร็จหลังจากผ่านความพยายามมาหลายครั้งซ้ำๆ
“ความสำเร็จที่มั่นคงและถาวรกว่า จำเป็นต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ระหว่างทาง เกิดการเรียนรู้จากความผิดพลาดก่อนหน้านั้น”
จากการทดลองกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ (จากความพยายามเพียงครั้งเดียว) พบว่า จะมีความมุ่งมั่นในการประคองธุรกิจ, ชีวิต หรือแม้แต่ความรักก็ตาม น้อยกว่าคนที่พยายามมาแล้วหลายครั้ง และอาจจะเป็นคนที่หมด passion เร็วกว่า สร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ได้ช้ากว่า เป็นต้น
‘Action Plan’ ต้องเช็ค – เรียนรู้ข้อผิดพลาดเสมอ
ในแต่ละขั้นตอนเราจำเป็นต้องมี Action Plan อยู่เสมอ ตั้งแต่การคิด ‘objective’ ไปจนถึง การลงมือทำจริง, เช็คผลลัพธ์ ก่อนที่จะก้าวสู่ความสำเร็จอย่างสมบูรณ์
แต่ละขั้นตอน โดยเฉพาะการปฏิบัติตามแผน สิ่งที่ดีที่สุดจากการเรียนรู้ และหลายๆ คนมักจะเข้าใจผิด ก็คือ ‘ปรับปรุง, แก้ไข จากแผนเดิม (ที่ไม่สำเร็จ)’ แทนที่เราจะต้องวางแผนใหม่ หรือ รื้อแนวทางปฏิบัติใหม่ทั้งหมด ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า การหาวิธีใหม่ๆ ที่แตกต่างจากวิธีเดิมสิ้นเชิง แทนที่จะปรับเปลี่ยนจากแนวทางเดิม นอกจากจะทำให้เสียเวลา เราจะไม่เกิดการเรียนรู้จากปัญหา และข้อผิดพลาดก่อนหน้านั้นด้วย
Wang พูดว่า ทฤษฎีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องยึดติดกับ ‘นักธุรกิจ’ เท่านั้น แต่สามารถรวมไปถึง ความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์, นักดนตรี, หรือแม้แต่ ผู้ก่อการร้ายก็ตาม
ดังนั้น พูดได้ว่า การทำอะไรซ้ำๆ แม้จะล้มเหลวตลอดก็ตาม เราก็ยังมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ ตราบใดที่เรารู้จักเรียนรู้จากทุกๆ ข้อผิดพลาดที้เกิดขึ้น และปรับใช้ตลอดจนกว่าจะเข้าเส้นชัย
“นักเรียนรู้ที่สมบูรณ์ที่สุด คือ คนที่พิจารณาความล้มเหลวในอดีต และทำความเข้าใจใหม่ทั้งหมด ก่อนเริ่มต้นทำใหม่ซ้ำไปซ้ำมา จะมีโอกาสประสบความสำเร็จเร็วกว่า ส่วนนักเรียนรู้ยอดแย่ก็ยังมีโอกาสประสบความสำเร็จ เพียงแต่จะใช้เวลานานกว่า” Wang พูดย้ำทิ้งท้าย “Failing better is key to success.”
ที่มา: insight kellogg