ตลาดแรงงานกระทบหนัก แม้จะเข้าสู่ช่วงคลายล็อกดาวน์ โดยช่วงไตรมาส2 ของปี 2563 มีคนตกงานถึง 7.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95% ต่อกำลังแรงงานรวม ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 11 ปี และมีแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวถึง 2.5 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
EIC (Economic Intelligence Center) ได้ประเมินว่า จากทั้งจำนวนผู้มีงานทำและจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยที่มีแนวโน้มลดลงมาตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สะท้อนว่า รายได้จากการทำงานของคนไทยในภาพรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และเมื่อเข้าสู่ช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่เศรษฐกิจทรุดตัวลงรุนแรงในช่วงครึ่งแรกปี 2020 ตลาดแรงงานที่มีความอ่อนแออยู่เป็นทุนเดิมยิ่งได้รับแรงกดดันเพิ่มมากขึ้น
แม้ล่าสุดตลาดแรงงานจะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นบ้างจากอัตราการว่างงานที่ลดลง แต่สถานการณ์โดยรวมก็ยังถือว่าซบเซากว่าในอดีตอยู่ค่อนข้างมาก สะท้อนจาก 4 สัญญาณความอ่อนแอ ได้แก่ (1) อัตราการว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมยังคงเพิ่มสูงขึ้น (2) กลุ่มแรงงานอายุน้อย (15-24 ปี) ยังมีปัญหาการว่างงานในระดับสูง (3) จำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวยังสูงกว่าในอดีตมาก และ (4) สัดส่วนการทำงานต่ำระดับยังคงเพิ่มขึ้น
สัญญาณความอ่อนแอที่ 1 : อัตราการว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมยังคงเพิ่มสูงขึ้น
ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2020 ที่เศรษฐกิจไทยอยู่ ณ จุดต่ำสุดและมีการล็อกดาวน์ในวงกว้าง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากต้องหยุดชะงัก สถานการณ์ในตลาดแรงงานจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในทันที มีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.5 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าถึงเกือบเท่าตัว โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ว่างงานในทุกอุตสาหกรรม ส่งผลให้อัตราการว่างงานในภาพรวมเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 2.0% ต่อกำลังแรงงานรวม จากเพียง 1.0% ในไตรมาสก่อนหน้า ถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 11 ปี ทั้งนี้หลังจากที่รัฐบาลได้มีการคลายล็อกดาวน์ หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงได้กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ทิศทางของอัตราการว่างงานในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งผ่านพ้นการล็อกดาวน์ไปแล้วกลับยังคงอยู่ในแนวโน้มถดถอย โดยอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอยู่ที่ 2.2% ด้วยจำนวนผู้ว่างงานสูงถึง 8.3 แสนคน ขณะที่อัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคมยังอยู่ที่ 1.9% ต่อกำลังแรงงานรวม จากจำนวนผู้ว่างงานที่ลดลงมาอยู่ที่ 7.2 แสนคน ซึ่งยังถือเป็นอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับที่สูงหากเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต (ช่วงปี 2013-2019) ที่อยู่ที่เพียงราว 1.0% ต่อกำลังแรงงานรวม สะท้อนว่าตลาดแรงงานยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะปกติ
สัญญาณความอ่อนแอที่ 2 : กลุ่มแรงงานอายุน้อย (15-24 ปี) ยังมีปัญหาการว่างงานในระดับสูง
ในวิกฤติ COVID-19 ปัญหาดังกล่าวก็ได้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยอัตราการว่างงานของกลุ่มแรงงานอายุน้อยได้เพิ่มขึ้นไปเป็น 8.6% ต่อกำลังแรงงานอายุน้อยทั้งหมดในไตรมาส 2 ปี 2020 และเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องไปที่ระดับ 9.8% ในเดือนกรกฎาคม สอดคล้องกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่การจ้างงานของแรงงานอายุน้อยก็ได้รับผลกระทบมากกว่าแรงงานกลุ่มอายุอื่น ๆ เช่น ในสหรัฐฯ ที่อัตราการว่างงานของกลุ่มเยาวชนเพิ่มจาก 7.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ ไปอยู่ที่ 25.2% ในเดือนพฤษภาคม สูงกว่าอัตราการว่างงานในภาพรวมที่อยู่ที่ 13.3% ในเดือนเดียวกัน
สาเหตุที่แรงงานกลุ่มนี้สียงต่อการตกงาน เพราะส่วนใหญ่ยังขาดทักษะและไม่มีประสบการณ์ทำงาน ทำให้เสียเปรียบมากเป็นพิเศษในการแข่งขันหางานกับกลุ่มแรงงานอายุมากกว่าที่มีประสบการณ์การทำงานที่มากกว่าซึ่งอาจยอมลดค่าจ้างของตนเองเพื่อให้ได้งานโดยเร็ว
สัญญาณความอ่อนแอที่ 3 : จำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวยังสูงกว่าในอดีต จำนวนผู้ที่ยังมีงานทำแต่ต้องหยุดงานชั่วคราว (furloughed workers) ที่มีจำนวนถึง 2.5 ล้านคนในช่วงล็อกดาวน์ลดลงบ้างแต่ยังสูงกว่าระดับปกติ
ในไตรมาส 2 ปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดแรงงานได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจ มาตรการล็อกดาวน์ และการหยุดชะงักของกิจกรรมการผลิต ทำให้หลายกิจการมีการพักงานลูกจ้าง รวมถึงมีคนทำงานอิสระจำนวนมากไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ ส่งผลให้จำนวนผู้ที่ยังมีงานทำแต่ต้องหยุดงานชั่วคราว (furloughed workers) จึงเพิ่มขึ้นไปอยู่สูงถึง 2.5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 82.4% ระบุว่าไม่ได้รับค่าจ้าง
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ หลายกิจการได้กลับมาดำเนินการตามปกติ ส่งผลให้จำนวน furloughed workers ก็ลดลงไปอยู่ที่ 7.5 และ 4.4 แสนคน ในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ตามลำดับ แต่จำนวน furloughed workers ในช่วง 2 เดือนล่าสุดก็ยังถือว่าอยู่สูงกว่าหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีจำนวนอยู่ที่เพียงราว 1-1.5 แสนคนเท่านั้น
ส่วนหนึ่งคาดว่ามีสาเหตุมาจากการที่หลายกิจการยังไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้เท่าศักยภาพในอดีต จึงยังไม่สามารถดูดซับแรงงานที่ต้องหยุดงานในช่วงล็อกดาวน์ได้หมด ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของจำนวน furloughed workers นับเป็นอีกความน่ากังวลของตลาดแรงงานไทยเพราะบางส่วนอาจกลายเป็นคนตกงานได้ในท้ายที่สุดหากกิจการขาดสภาพคล่องจนต้องลดคนหรือปิดกิจการ
สัญญาณความอ่อนแอที่ 4 : สัดส่วนการทำงานต่ำระดับ (underemployment) ยังคงเพิ่มขึ้นแนวโน้มของสัดส่วนการทำงานต่ำระดับที่มากขึ้นจากช่วงล็อกดาวน์ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง
ในไตรมาส 2 งานเต็มเวลา (งานที่ทำตั้งแต่ 35 ถึงไม่เกิน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และงานล่วงเวลา (งานที่ใช้เวลาทำมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไปหรืองานโอที) มีจำนวนลดลงรวมกันสูงถึง 4.8 ล้านคน ขณะที่จำนวนงานต่ำระดับ (งานที่ทำเกิน 0 ถึงไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) รวมถึงจำนวนการหยุดงานชั่วคราวกลับเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 4.1 ล้านคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (รูปที่ 4)
ทั้งนี้ในช่วงเดือนกรกฎาคม–สิงหาคมงานเต็มเวลาและล่วงเวลาก็ยังคงลดลง ขณะที่งานต่ำระดับยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยงานเต็มเวลาและล่วงเวลาลดลงประมาณ 2.1 ล้านคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่งานต่ำระดับเพิ่มขึ้นถึง 1.9 ล้านคน แนวโน้มดังกล่าวนี้เป็นอีกหนึ่งเครื่องชี้ที่สะท้อนถึงกำลังในการจ้างงานของภาคเอกชนที่ถดถอยลง จึงไม่สามารถจ้างงานเต็มเวลาและล่วงเวลาในจำนวนที่มากเท่าในช่วงก่อนหน้าได้ รวมถึงยังอาจเป็นผลของการออกนอกระบบของแรงงานที่เคยทำงานประจำที่มีชั่วโมงทำงานสูงกว่า ไปสู่งานอิสระที่มักมีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวนี้สะท้อนว่ารายได้ของแรงงานมีแนวโน้มลดลง และยังไม่ฟื้นตัว
แนวโน้มของตลาดแรงงานไทยในระยะต่อไป
EIC คาดว่า ตลาดแรงงานจะใช้เวลานานในการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากกำลังในการดูดซับแรงงานที่ถดถอยลงของภาคธุรกิจและปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะแรงงานกับความต้องการทางธุรกิจ (skill mismatch) โดยเป็นไปได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้อาจไม่นำไปสู่การจ้างงานเพิ่มมากนัก ทำให้แรงงานมีแนวโน้มต้องเปลี่ยนไปทำงานนอกระบบ เช่น รับจ้างหรือทำงานอิสระมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อระดับรายได้และความมั่นคง
ความล่าช้าในการฟื้นตัวของตลาดแรงงานนี้จะส่งผลให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้า กระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ และยังอาจส่งผลให้ศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาวลดลง นโยบายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจทั้งมาตรการในระยะสั้นเพื่อประคับประคองการจ้างงาน และนโยบายเชิงโครงสร้างเพื่อจัดสรรแรงงานที่จะมีการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนอุตสาหกรรม (relocate) เป็นจำนวนมาก
รวมถึงพัฒนาทักษะแรงงานให้มีผลิตภาพ (productivity) สูง และสอดคล้องกับความต้องการภาคธุรกิจในอนาคต