สารคดีแห่งปี! ‘The Social Dilemma’ ที่ทุกคนต้องดูในยุคนี้ เผย ‘New Business Model’ ที่ใช้ Social Media เล่นกับด้านมืดของมนุษย์

  • 1.6K
  •  
  •  
  •  
  •  

Credit: Netflix

 

หากเราเปิด topic เกี่ยวกับ ‘Social Media’ ขึ้นมาก็น่าจะดีเบตกันไม่รู้จบแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายๆ ประเทศเคยเปิดประเด็นเหล่านี้กันมาแล้ว แต่ก็ไม่ยักจะหาที่สิ้นสุดได้ หรือได้ผลสรุปดีๆ ครอบคลุมได้ทั้งหมดว่ามันดีหรือไม่ดีกันแน่!

หลายคนที่เป็นคอภาพยนตร์น่าจะเคยเห็นผ่านหูผ่านตามาแล้ว เกี่ยวกับเรื่อง ‘Searching’ ในปี 2018 หนังชีวิตที่โคตรจะสะท้อนชีวิตจริงของเราในปัจจุบัน ซึ่งมุมมองจากหนังเรื่องนี้ส่วนใหญ่เราจะเห็นถึงคุณงามความดีของสื่อโซเชียลว่า อย่างน้อยๆ ก็ทำประโยชน์ช่วยค้นหาคนได้เหมือนกันอย่างที่ในหนังเรื่องนี้ต้องการจะสื่อออกมา

แต่ก็มีอีกหลายกลุ่มไม่น้อยเลย ที่ต่อต้านโซเชียลมีเดีย พาลไปต่อต้านเทคโนโลยีว่าเข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้คน แทนที่จะเพิ่มความสะดวกสบายเพียงอย่างเดียว

ประเด็นตรงนี้แหละที่ทำให้เราอยากจะหยิบสารคดีเรื่องหนึ่งขึ้นมาพูด ‘The Social Dilemma’ สร้างโดย Jeff Orlowski จาก Netflix ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ มีคำพูดหนึ่งจากสารคดีเรื่องนี้ ที่ตอบข้อสงสัยเราได้บ้าง นั่นคือ “เทคโนโลยี ไม่ใช่ภัยคุกคามมนุษย์ แต่ความสามารถของมันต่างหากที่ทำให้สังคมเสื่อมลง”

 

 

ในเมื่อตลอด 24 ชั่วโมงในยุคนี้ ทุกอย่างล้วนต้องมีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง แค่ตื่นมาตอนเช้าจะฟังเพลงยังต้องใช้สมาร์ทโฟน แทนที่เราจะเปิดวิทยุเหมือนเมื่อก่อน พฤติกรรมเหล่านี้เป็น circle ที่หาที่สิ้นสุดไม่ได้ และเราไม่มีวันรู้ว่าในอนาคตมันจะเปลี่ยนพฤติกรรม เข้ามามีบทบาทกับเราอีกมากแค่ไหน

 

Credit: Vasin Lee /Shutterstock.com

 

ดังนั้น เวลาแค่ 1 ชั่วโมง 34 นาทีจากสารคดีเรื่องนี้ จะทำให้คุณกระจ่างกับบางเรื่อง โดยเฉพาะระบบการทำงานของอัลกอริทึมโซเชียลมีเดีย เราจะได้เห็นมุมมองด้านมืดของมัน และกระตุ้นความคิดเราบางอย่างว่า เราต้องทำอะไรสักอย่างมั้ย? จัดการกับสิ่งเร้าพวกนี้อย่างไร? หรืออย่างน้อยก็เพื่อเปิดรับมุมมองอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย เพื่อ balance ชีวิตของเราในแต่ละวัน

โดยเรื่องราวของสารคดีเรื่องนี้ ใช้วิธีถ่ายทอดมุมมองของคนที่เกี่ยวข้องกับสื่อโซเชียลทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น อดีตวิศวกรของ Facebook (เคยร่วมทีมสร้างปุ่มกด Like), อดีตผู้บริหารของ Pinterest, อดีตนักจริยธรรมการออกแบบ Google และยังมีอีกหลายวงการ ทั้ง Twitter, Youtube โดยในระหว่างเรื่องได้สลับกับเรื่องราวของครอบครัวหนึ่ง (นักแสดง) ที่ลูกๆ ค่อนข้างติดสื่อโซเชียล และมีความคิดหัวรุนแรงอยู่ลึกๆ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน

The Social Dilemma ได้สะท้อนให้เราเห็นมุมมืดที่ impact ต่อคน เป็นความบิดเบี้ยวของสังคม ทั้งการแบ่งขั้ว, การแทรกแซงการเมือง, การสร้างความเกลียดชัง, ปัญหาสุขภาพ, โรคซึมเศร้า จนไปถึง fake news สิ่งเหล่านี้ชวนให้เรากลับมาตั้งคำถามตัวเองว่า “มันปกติมั้ย? สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเราเป็นสิ่งปกติจริงๆ หรือ?

 

Credit: Netflix

 

มีสิ่งหนึ่งจากสารคดีเรื่องนี้ ทำให้เราเข้าใจความคิดของเหล่าผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เหตุผลที่พวกเขายอมลาออกปฏิเสธเงินเดือนสูงลิ่วที่บอกใครต่อใครต้องอิจฉา เพียงเพราะว่า พวกเขารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ไหว จุดประสงค์จริงที่สวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้น โซเชียลมีเดีย กลายเป็นระบบที่ใหญ่เกินรับมือ และพยายาม tracking จุดอ่อนของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้รู้ตัวตนเรามากที่สุด

 

 

จากความบิดเบี้ยวทางสังคม กลายเป็น ‘สินค้า’ ใช้ในเชิงพาณิชย์

มุมมองของ Jeff Seibert อดีตผู้บริหารของ Twitter ค่อนข้างน่าสนใจ เขาได้พูดถึงประเด็น ‘New Market Model’ เพราะพฤติกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าคุณจะทำอะไร มองภาพ/คลิปวิดีโอหนึ่งนานแค่ไหน, ดูรูปแฟนเก่าวนไปมา หรือแม้กระทั่งเราทำอะไรเวลาดึกๆ บ้าง มูฟเม้นต์พวกนี้ทำให้เกิด ‘โมเดลธุรกิจใหม่’ ที่ขายเฉพาะอนาคตของมนุษย์ หมายความว่า ถ้าวันหนึ่งเราใช้เวลากับการดูภาพน้องหมาน้องแมวนานๆ เมื่อถึงเวลาที่ AI หรืออัลกอริทึม เข้าใจตัวตนแล้ว 100% แล้วมันจะเสนอคาเฟ่คนรักสัตว์ หรือแหล่งฟาร์มพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หมาแมวชั้นดีให้กับคุณ เพราะเดาว่าคุณ(น่าจะ) กำลังต้องการมัน เป็นต้น

 

 

“ยิ่งดูมาก แชร์มาก ไลก์มาก AI ยิ่งรู้จักเราดีขึ้น” Sean Parker อดีตประธาน Facebook พูดคำหนึ่งว่า “Social media is the drug. (สื่อโซเชียลเป็นยาเสพติด)” บางทีหลังม่าน(จอมือถือ) ก็เหมือนกับว่า เรากำลังเล่นเกมอยู่กับ super computer ดูสิว่าใครจะชนะ? ซึ่งคำตอบ ณ ปัจจุบันที่เราเห็นก็คือ AI ชนะ! (แบบกินขาด)

 

 

ดังนั้น สิ่งเร้าที่โชว์บนจอมือถือ แล็ปท็อป หรือ แท็บเลต ทุกๆ ความเคลื่อนไหวล้วนมีราคา ยุคที่ data กลายเป็นทองคำ ใครๆ ก็ต้องการใช้เพื่อดำเนินธุรกิจ ซึ่งข้อมูลของเราทั้งหมด ระบบจะสร้างโมเดลตัวเราขึ้นมา สะสมเรื่อยๆ จนทำให้แม่นยำ ชัดเจน และในที่สุด ‘เราเองก็กลายเป็นสินค้า’ ซึ่งอดีตทีมงานของ Google พูดค่อนข้างชัดเจนว่า “if you’re not paying for the product, you are the product. (ถ้าคุณไม่ใช่คนที่จ่ายสินค้า คุณก็คือสินค้า)

ทุกคนที่ให้สัมภาษณ์ และเปิดใจเรื่องการยุติบทบาทในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก คิดเห็นเหมือนกันว่า “ปัญหามันอยู่ที่โมเดลธุรกิจ ไม่ใช่เทคโนโลยี” พวกเขาตั้งใจจะส่งต่อพลังบวกและความรักผ่านสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้น แต่! ลัทธิที่มุ่งเน้นแต่กำไร เห็นปลาวาฬที่ตายมีค่ามากกว่าปลาวาฬเป็นๆ (เปรียบเทียบธุรกิจค้าปลาวาฬ ที่ทำลายระบบนิเวศน์ท้องทะเล) โลกอนาคตกับความคิดของมนุษย์ก็จะยิ่งมืดมนไปอีก เพราะถูกควบคุมผ่าน something ที่ไม่มีชีวิตหลังม่านนี้

แม้ว่าภาพรวมๆ กับบางฉากที่เล่ามา มันอาจฟังดู dark มากๆ และเหมือนกับว่าสารคดีเรื่องนี้ต้องการโจมตีโซเชียลมีเดีย หรือเทคโนโลยีก็ตาม แต่มันไม่ใช่เลย เพียงแต่มุมมองของผู้สร้างต้องการให้มนุษย์เราอยู่กับความเป็นจริง รู้ทันการทำงานของระบบ เข้าใจคำว่าอัลกอริทึมจริงๆ และไม่เซนซิทีฟเกินไปจนทำให้เราถูกชักจูงหรือโน้มน้าวได้ง่าย

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดตอนนี้คือ เราต่างก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หรือบางคนถึงขั้นรู้ว่าระบบหลังม่านนี้มันทำงานอย่างไร แต่กลับยังคุมการใช้งานไม่ได้หรือไม่ต้องการจะคุม นี่แหละที่น่าเป็นห่วง!

“คุณจะตื่นจากเมทริกซ์ได้ยังไง ถ้าคุณไม่รู้ตัวว่าอยู่ในเมทริกซ์” คำพูดหนึ่งจากสารคดีเรื่องนี้

 

Credit: Bloomicon/Shutterstock.com

 

 

 

 

 


  • 1.6K
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม