“ที่ไหนมีเงิน ที่นั่นมีโจร” อยากจะเปิดห้องเรียนด้วยคำพูดของ คุณเอ็ดดี้ (ภราดร ไชยวรศิลป์) นักลงทุนและผู้ก่อตั้งกลุ่ม NFT and Crypto Art Thailand ที่มาอธิบายและให้ความรู้เกี่ยวกับ NFT ในงาน “NFT 101 presented by SC Asset เปิดชั้นเรียนกับเซียน NFT” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2022
เราคงได้ยินคำว่า NFT กันมาก็น่าจะ 2-3 ปีแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังไม่คุ้นชิน ไม่เข้าใจแบบ 100% ว่าจริงๆ แล้ว NFT มันคืออะไร หรือต้องเริ่มต้นอย่างไรสำหรับ beginners ดังนั้น เราจึงอยากจะมาแชร์จากสิ่งที่ได้จากห้องเรียน NFT 101 ฉบับเข้าใจง่าย เพื่อให้ทุกคนค่อยๆ ทำความเข้าใจไปด้วยกัน
NFT คืออะไร?
NFT มาจากคำว่า Non-fungible Token แปลตรงตัวก็คือ “เหรียญที่ทดแทนกันไม่ได้ เหรียญที่มีการเข้ารหัส ไม่สามารถแบ่งย่อย หรือทำซ้ำได้” ซึ่งอธิบายให้เห็นภาพชัดๆ อย่างเช่น เวลาที่เราใช้สติกเกอร์ของ LINE แม้ว่าจะส่งไปให้เพื่อนกี่คนก็ตาม แต่ต้นฉบับ (สติกเกอร์) ก็ยังอยู่ที่เราเสมอ แต่สำหรับ NFT ไม่ใช่ เพราะว่าเมื่อมีคนซื้อสินค้าหรือผลงานของเราไป ต้นฉบับทั้งหมดจะไม่เหลือที่เรา เราจะไม่สามารถเข้าถึงไฟล์ผลงานนั้นๆ ได้อีกต่อไป เพราะกรรมสิทธิ์การเข้าถึงไฟล์จะเป็นของคนที่ซื้อล่าสุดนั่นเอง
หากเปรียบเทียบกับ Fungible Token (หรือเหรียญที่ทดแทนกันได้) อาจจะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น อย่างเช่น เวลาที่เรายืมเงินเพื่อน 100 บาท เราสามารถคืนเงินเป็นแบงค์ห้าสิบ (2 ใบ) หรือ แบงค์ยี่สิบ (5 ใบ) ก็ทำได้เช่นกันแค่มีมูลค่าเท่ากับเงินทื่ยืมไปก่อนหน้านั้น
พูดง่ายๆ ก็คือ NFT เป็นเหรียญที่มีความเฉพาะเจาะจง ในแต่ละชิ้นจะมี DNA digital เป็นของตัวเอง เราไม่สามารถแบ่งให้คนอื่นเข้าถึงได้ถ้าเรายังเป็นเจ้าของเหรียญ แต่เราสามารถขายกรรมสิทธิ์การเข้าถึงทั้งหมดได้ และที่น่าสนใจคือ NFT สามารถกำหนดให้มีเพียงชิ้นเดียว หรือทำสำเนาหลายชิ้นตั้งแต่ตอนสร้างได้ ซึ่งเราเรียกกันว่า Mint NFT (การทำผลงานให้เป็น NFT)
7 แพลตฟอร์ม NFT แนะนำครีเอเตอร์ – นักลงทุน
แต่ละแพลตฟอร์มที่คุณเอ็ดดี้แนะนำ ส่วนใหญ่จะเป็นแพลตฟอร์มที่คนนิยมใช้ มีการเคลื่อนไหวในตลาดจริง และมีข้อมูลเพียงพอให้กับผู้เล่นทั้งในมุมของผู้ซื้อ/นักลงทุน และครีเอเตอร์ให้ลองศึกษาข้อมูลในตลาดก่อน ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มจะมีความโดดเด่นไม่เหมือนกัน เช่น เปิดกว้างในหลายสินค้า หรือเป็นแพลตฟอร์มที่เจาะจงเฉพาะตลาดแต่ละกลุ่ม ได้แก่
- OpenSea
- LooksRare
- Rarible
- com
- app
- JNFT
- Paras
*ข้อระวัง คือ เว็บไซต์ปลอม โดยสามารถเช็คจากความเคลื่อนไหวบนเว็บไซต์นั้นๆ ได้
ตัวอย่างแบรนด์ดังที่เข้าสู่โลก NFT
ในปัจจุบันมีหลากหลายแบรนด์มากทั้งในไทยและต่างประเทศที่ได้เข้าสู่ NFT แล้ว ซึ่งเราได้หยิบมาเล่าเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น อย่างเช่น
- YouTube ที่แพลนว่าจะเปลี่ยนวิดีโอที่ถูกอัพโหลดลงแพลตฟอร์ม และ mint ให้เป็น NFT เพื่อช่วยครีเอเตอร์สร้างรายได้เพิ่มขึ้น
- TikTok เตรียมสร้างโลก NFT กับดาว TikTok เช่น Bella Poarch, Gary Vaynerchuk, Lil Nas X สำหรับทำ mint ท่าเต้นบนโลก NFT เพื่อให้แฟนๆ ได้เก็บไว้
- Twitter Blue ที่ผู้เล่น NFT สามารถโชว์รูปโปร์ไฟล์ของพวกเขาได้ (เพราะจะผูกกับกระเป๋า MetaMask เป็นกระเป๋าเงิน Ethereum ที่รองรับโทเค็นที่อยู่บน Ethereum ทุกชนิด) ซึ่งจากรูป Twitter ทั่วไปที่เป็นวงกลม ฟีเจอร์นี้จะเป็นรูป 6 เหลี่ยม (เป็นการการันตีอย่างหนึ่งว่ารูปโปร์ไฟล์ที่ใช้มาจากการซื้อกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้อง)
- LOUIS VUITTON ที่นำ NFT มาเชื่อมกับโลกความจริง
- Burberry ที่ร่วมสร้างเกม NFT (Blankos Block Party) ซึ่งของประดับต่างๆ ในเกมจะเป็นลายลิขสิทธิ์ของ Burberry
- SCB10X ที่ซื้อที่ดินเสมือนจริงใน The Sandbox เพื่อตั้งสำนักงานใหญ่
- SC Asset ที่เพิ่งประกาศสดๆ ร้อนๆ เกี่ยวกับ ‘SC Morning Coin’ เป็น utility token ที่ให้พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และนักลงทุนมาใช้ได้
ลงทุน NFT อย่างไรไม่ให้ถูกหลอก?
การถูกหลอกในความหมายนี้คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสินค้านั้นๆ (ไฟล์ผลงาน) เป็นของแท้ ไม่ใช่ของ copy จากคนอื่นแล้วมา mint (ซื้อของจากโจร) คุณเอ็ดดี้แนะนำว่า ในแต่ละแพลตฟอร์ม NFT อย่างเช่น OpenSea ในแต่ละโปร์ไฟล์ของโปรเจ็กต์งานจะมี ‘เครื่องหมายเช็คถูกสีฟ้า 2 จุด’ คือหลังชื่อโปรเจ็กต์ และคำอธิบายข้างล่าง
นอกจากนี้ ให้นักลงทุนสังเกตจุดที่ 2 คือ ข้อมูล คำอธิบาย และลิงก์อ้างอิงเพื่อเข้าไปเช็คผลงานที่ช่องทางอื่น โปร์ไฟล์ copy จะไม่มีข้อมูลจุดนี้มากพอให้เราเช็ค
จุดที่ 3 คือ เข้าไปดูที่ Activity ของแพลตฟอร์ม NFT นั้นๆ เพราะเราจะเห็นข้อมูลการซื้อ-ขายของโปรเจ็กต์นี้ทั้งหมด เช่น ซื้อขายอยู่ที่เท่าไหร่ ซื้อขายกับใคร ซื้อขายแล้วกี่คน ฯลฯ
จุดที่ 4 สำหรับไฟล์ผลงานที่ราคาสูงมากๆ ซึ่งเราอาจต้องใช้ข้อมูลมากพอว่าจะไม่ถูกหลอกแน่ๆ ก็คือ เข้าไปที่เว็บไซต์หลักของโปรเจ็กต์ที่ต้องการจะซื้อ และเช็คที่ Smart Contact ซึ่งจะมีรหัสอยู่ และเราสามารถเช็ค ID นั้นว่าตรงกับโทเค็นของคนที่เราจะซื้อหรือไม่
ข้อมูลทั้งหมดนี้จากคุณเอ็ดดี้ค่อนข้างมีประโยชน์ เพราะทุกๆ การลงทุนนั้นมีความเสี่ยง และหากเราอยากสวมบทบาทนักลงทุนหน้าใหม่ การศึกษาตลาด NFT ก่อนเริ่มซื้อเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างน้อยเราก็ต้องเซฟเงินที่อาจสูญหายได้เพราะปัจจุบันยังไม่มีสถาบันการเงินรับรอง หรือสามารถรับบทลงโทษได้ตามกฎหมายในกรณีที่มีการโกงเกิดขึ้น
ข้อมูลโดย สัมมนา NFT 101 presented by SC Asset เปิดชั้นเรียนกับเซียน NFT