หยุดงงก่อน! ซอฟต์สกิลไหนจำเป็น – ซอฟต์สกิลไหนสำคัญ? สำหรับปี 2021 ‘Active Listener’ เป็นจุดสตาร์ทที่ดีที่สุด เพราะอะไร?

  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

หลายๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า ‘ซอฟต์สกิล’ (Soft Skills) มานานแล้ว เพียงแต่มันบ่อยขึ้น เพราะทักษะเหล่านี้มันมีความจำเป็นมากขึ้นในยุคนี้ แล้วความหมายจริงๆ มันคืออะไร? ทำความเข้าใจง่ายๆ เลยก็คือ ทักษะด้านอารมณ์และการบริหารจัดการความคิดนั่นแหละ ซึ่งผู้บริหารธุรกิจระดับท็อปๆ หลายคนที่พูดถึงซอฟต์สกิลว่า เป็นทักษะที่จำเป็น เป็นปัจจัยพิจารณาก่อนทักษะเชิงวิชาการ (Hard Skills) ด้วยซ้ำไป

อย่างเช่น James Cash Penney ผู้ก่อตั้ง ร้าน J. C. Penney อเมริกันแบรนด์ชื่อดัง ที่เคยพูดเอาไว้ว่า “ศิลปะในการฟัง มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับความสำเร็จในชีวิต ธุรกิจ และในทุกๆ ด้าน เพราะการฟังทำให้เกิดการพัฒนามากกว่าสกิลอื่น”

แม้แต่เจ้าพ่อนักประดิษฐ์ อย่าง อีลอน มัสก์ ก็พูดย้ำบนหลายเวทีว่า เขาให้ความสำคัญกับซอฟต์สกิลมากกว่าฮาร์ดสกิล ซึ่งคำพูดที่ติดหูใครหลายคนจาก มัสก์ ก็คือ “คุณไม่จำเป็นต้องจบปริญญาแต่คุณสามารถทำงานกับ Tesla ได้”

ทีนี้ถ้าเราลองไปค้นคว้าข้อมูลดูว่า สำหรับปี 2021 ซอฟต์สกิลไหนที่กำลังมา มีเกณฑ์การพิจารณารับพนักงานของบริษัทต่างๆ ด้านไหนบ้าง บางทีก็ดูงงๆ เพราะมันเยอะไปหมด ทั้งทักษะการสร้างสรรค์ (Creative), ความคิดเชิงนวัตกรรม (Innovation idea), การจัดการเวลา (Time management) หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence) ฯลฯ

แต่สำหรับคนที่อยากจะพัฒนาด้านซอฟต์สกิลของตัวเอง เป็น beginner สำหรับทักษะเหล่านี้ พวกเขาควรเริ่มต้นจากตรงไหนล่ะ?

อย่างที่พูดไปบางส่วนข้างบนว่า สกิลการฟัง เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาตัวเองที่ดีที่สุด เพราะอะไร? บทความของ Braja Deepon Roy นักการตลาดดิจิทัลจาก Vantage Circle ได้พูดถึง สกิลการฟังและต้องเป็น ‘การฟังแบบแอคทีฟ’ (Active Listener) ถึงจะผลักให้เกิดประสิทธิภาพจริงๆ

แล้ว Active Listener คืออะไร?

คำตอบคือ ตอนที่เรากำลังฟังอยู่ พยายามทำความเข้าใจไปด้วยว่าผู้พูดต้องการสื่อว่าอะไร และเราควรจะตอบสนองอย่างไรอย่างมีสติ แทนที่จะฟังเฉยๆ รับฟังอย่างเดียวไม่แสดงปฏิกิริยาใดๆ ซึ่งการรับฟังอย่างเดียวบางคนอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็น ผู้ฟังที่ดี แต่ความจริงคือ มันไม่ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพอะไรเลยถ้าฟังเฉยๆ

นักจิตวิทยาพูดไว้ว่า ความสามารถ การโฟกัสในสกิลการฟังของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่สำหรับคนที่ใช้ทักษะนี้ได้ดี ฟัง – คิดตาม – วิเคราะห์ – ประมวลผล กระบวนการคิดเหล่านี้จะทำให้ระบบความคิดเรามีการจัดการที่ดีโดยอัตโนมัติ ที่สำคัญจะช่วยให้เป็นคนที่มี ‘สมาธิทำอะไรได้นานๆ’ ซึ่งเป็นปัญหาของคนในยุคนี้ ไม่มีสมาธิหรือจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานๆ หรือ ความอดทนต่ำ ดูอะไรทำอะไรได้แค่ระยะเวลาสั้นๆ

มีข้อมูลจากพฤติกรรมคนในยุคนี้ที่น่าสนใจ กว่า 70-80% พวกเขาจะใช้เวลาในแต่ละวันหมดไปกับ ‘การสื่อสาร’ นั่นก็คือ การพูดคุย และมีประมาณ 55% ที่เลือกโฟกัสไปที่ การฟัง แต่คำถามก็คือ ใน 55% นั้น มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่จะตั้งใจฟัง เป็น active listener?’

แล้วทำไมการเป็นผู้ฟังที่แอคทีฟมันถึงสำคัญขนาดนั้น? นักจิตวิทยา Richard Farson เคยพูดเมื่อ 60 ปีที่ผ่านมาแล้วว่า “การฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างกระตือรือร้น เป็นวิธีสำคัญมากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นวิธีที่ช่วยพัฒนาคนได้เร็วกว่าวิธีอื่น ไม่ว่าจะบุคคลิกภาพ, จิตใจ, นิสัย ฯลฯ เพราะรับฟังอย่างใส่ใจจะทำให้เห็นข้อเท็จจริงแบบไม่มีอคติ และสุดท้ายผู้ฟังจะนำมาพัฒนาด้วยตัวเอง ไม่ต้องมีคนชักจูง ไม่ต้องมีคนกดดัน”

 

ทั้งนี้ Active Listener จะมีพื้นฐานอยู่ 3 As ด้วยกัน คือ

 

ทัศนคติ (Attitude)

ในตอนที่เรากำลังฟังอยู่ทัศนคติที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นจะขึ้นอยู่กับความพยายามตั้งใจฟัง (ไร้อคติ) ขึ้นอยู่ว่าเราจะได้ยิน ‘ความจริง’ มากแค่ไหน จากนั้นคำว่า ทัศนคติจะผุดขึ้นมาตามความคิดและความรู้สึก ซึ่งฟังอย่างตั้งใจจะทำให้ทัศนคติที่เกิดขึ้นมัน real มากที่สุด ไม่มีการปรุงแต่ง

 

ความสนใจ (Attention)

ลดความสนใจเรื่องตัวเองให้น้อยลง และพยายามตั้งใจเพ่งไปที่คนที่กำลังพูด ฟังอย่างตั้งใจ และทบทวนสิ่งที่กำลังได้รับข้อมูลมาตลอดเวลาที่ฟัง จะทำให้การตอบสนองที่ควรเป็นเกิดขึ้นได้เร็ว และเป็นธรรมชาติ ซึ่งจุดสำคัญตรงนี้ก็มีส่วนทำให้หลายๆ บริษัทสนใจพนักงานที่มีคุณสมบัติด้านนี้

 

การปรับตัว (Adjustment)

สกิลนี้น่าจะสำคัญที่สุดใน 3A อื่นๆ เพราะนอกจากฟังแล้ว ให้ความสนใจกับสิ่งนั้นๆ ที่ได้รับมาแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายก็คือ ‘การปรับตัว’ เพราะถ้าไม่เกิดการปรับก็จะไม่มีการเรียนรู้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

ดังนั้น ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการการเป็นผู้ฟังที่แอคทีฟ กับการเป็นผู้ฟังที่ดี น่าจะเข้าใจชัดเจนแล้วว่า 2 อย่างนี้มันแตกต่างกัน ทีนี้ก็อยู่ที่เราแล้วว่าจะพัฒนาสกิลด้านไหนบ้าง และต้องปรับอย่างไรเพื่อฝึกให้ตัวเองเป็นคนที่มีทักษะนี้

 

 

 

 

ที่มา: vantagecircle, hrdqu, topresume


  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม