ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาในโลกโซเชียลมีเดีย มีหนึ่ง topic ยอดฮิตที่คนมักจะพูดถึงกันบ่อยๆ จะว่าไปก็แทบทุกวัน ก็คือ ‘ซีรีส์เกาหลีเรื่อง Start-Up’ (ขนาดตอนนี้ปล่อยออกมาแค่ 7-8 EP นะ) ไม่ใช่แค่นักแสดงในเรื่องนี้ที่โดดเด่น แต่คนยังพูดชื่นชมถึง plot เรื่องที่มันโคตรจะเรียล ตรงกับหลายๆ ประเทศที่กระแส ‘สตาร์ทอัพ’ กำลังบูมหนัก หนึ่งในนั้นก็คือ ประเทศไทย
รู้หรือไม่ว่าสัดส่วนของ ‘สตาร์ทอัพ’ ในไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยแต่ละปีเป็นเท่าตัว เพียงแต่จะประสบความสำเร็จกี่รายนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ถ้าซีรีส์เรื่องนี้จะได้รับความนิยมแบบสุดๆ แต่มุมที่น่าสนใจของซีรีส์เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นรักดราม่าเหมือนทุกครั้งตาม DNA ของเกาหลี (แต่ก็พอมีให้คนดูได้ลุ้นกันอยู่) แต่โฟกัสใหญ่กลับอยู่ที่ ‘How to การเป็นสตาร์ทอัพ(ที่ดี)’ ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด ไลฟ์สไตล์แต่ละวัน สังคมรอบข้าง ปมเบื้องหลังชีวิต สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่หล่อหลอมให้เกิดแต่ละ ‘Character’ ของเหล่าสตาร์ทอัพที่แตกต่างกัน แต่มีหนึ่งจุดมุ่งหมายเดียวที่เหมือนกัน
สิ่งที่ถ่ายทอดจากเรื่องนี้ หากเราปรับโฟกัสดีๆ จะเห็นอะไรกว้างขึ้นซึ่งมีหลายๆ อย่างที่เราสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เรามองว่าเรื่องนี้ค่อนข้างมีประโยชน์มาก และเป็นการจุดประกายไอเดียความคิดต่างๆ สำหรับคนในยุคนี้ได้ดี เพราะไทย และอีกหลายๆ ประเทศเริ่มมี ‘ค่านิยม’ เปลี่ยนไปสักพักใหญ่แล้ว นั่นก็คือ ‘อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ อยากเป็น CEO วัยใส มากกว่าการนั่งเป็นพนักงานประจำในบริษัทใหญ่ๆ หรือเข้าบรรจุเป็นข้าราชการ’ เราไม่ได้หมายถึง ทุกคนที่เป็น Gen ใหม่ที่มีความคิดแบบนี้ทั้งหมด หรือต้องการแบบนี้ทั้งหมด แต่ผลสำรวจและงานวิจัยที่ผ่านมาหลายแห่ง ชี้ชัดเจนว่า สัดส่วนคนที่อยากทำงานประจำ ‘น้อยลง’
ไหนๆ ความอยากเป็นสตาร์ทอัพ เป็น CEO ในประเทศเรา นับวันก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ งั้นเราลองมาวิเคราะห์ ‘Character’ จาก 4 ตัวละครหลักจากซีรีส์เรื่องนี้ด้วยกัน ว่ามีจุดไหนบ้างที่น่าเอามาปรับใช้กับเรา บางทีการแชร์กันในหลายๆ มุมก็อาจช่วยจุดประกายไอเดียให้กับใครได้บ้าง
‘ฮันจีพยอง’ จากเด็กเนิร์ดที่คลั่งไคล้ ‘หุ้น’ สู่นักลงทุนอายุน้อย
เราคงไม่ต้องย้อนกันไปมาว่าเรื่องราวมันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะคงมีหลายๆ คนพูดถึงกันมาบ้างแล้ว แต่มุมที่เราอยากหยิบขึ้นมาพูดก็คือ ‘เด็กเนิร์ดนอนหนังสือ’ หลายๆ ฉากในเรื่องนี้เราจะเห็น ฮันจีพยอง อ่านหนังสือการลงทุนหุ้นตั้งแต่เด็กๆ อ่านทุกคืนที่มีเวลา เพราะเขารู้สึกว่าเขารัก, สนใจ และเชื่อว่าการลงทุนแบบนี้ทำให้เขาได้เงินเป็นกอบเป็นกำ
มันหมายถึงอะไร? สตาร์ทอัพที่ดี ‘ควรทำอะไรเสมอต้นเสมอปลาย’ ในเมื่อรู้ตัวแล้วว่าสนใจอยากจะทำอะไรก็ควรศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ เพราะตั้งแต่เด็กจนโตเป็นหนุ่มน้อยเราจะเห็น ฮันจีพยอง อ่านหรือศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนตลอด แม้ว่าปัจจุบันเขาจะนั่งเป็นหัวหน้าทีมของ SH Venture Capital แล้วก็ตาม
ดังนั้น ฉายาของเขา ‘Gordan Ramsay แห่งการลงทุน’ เห็นแล้วใช่ไหมว่าได้มาจากอะไร ไม่ใช่เพราะโชคช่วยแน่นอน
หากใครพอจะจำได้ จะมีอยู่ประโยคหนึ่งช่วง Ep.5 ของซีรีส์ ในระหว่างที่มีกิจกรรมการแข่งขัน Hachathon (แฮกกิ้ง+มาราธอน) ที่พูดถึง ‘คุณสมบัติของสมาชิกผู้ก่อตั้งบริษัทที่ต้องการ’ คืออะไร? คำตอบที่ได้ก็คือ ‘นิสัยสำคัญกว่าคุณสมบัติ, ต้องมีแรงบันดาลใจ, พยายามแก้ไขปัญหา’ ซึ่ง CEO ระดับใหญ่ของโลก หนึ่งในนั้นคือ ‘แจ๊ก หม่า’ พูดเอาไว้ว่า “การอ่านหนังสือเป็นนิสัยที่ต้องมีติดตัว อ่านหนังสือช่วยสร้างแรงบันดาลได้ ไม่ใช่การ copy คนอื่น แต่มันเป็นการฝึกสมองเราให้ลองวิเคราะห์ว่าถ้าเป็นเราจะใช้วิธีแบบไหน โดยจะใช้วิธีของคนอื่นเป็นโมเดลเท่านั้น”
‘ซอดัลมี’ ฝันใหญ่ไว้ก่อน คิดนอกกรอบ มุ่งมั่น – มองโลกในแง่บวก!
มีหนึ่งในข้อคิดของ สตีฟ จ็อปส์ ที่หลายๆ คนยึดถือมาตลอดคือ “จงเชื่อในบางสิ่ง และกล้าพอที่จะฝันให้ใหญ่” เพราะสิ่งที่น่ากลัวกว่าคือ “คนที่ไม่มีความฝันอะไรเลย (ไม่เคยลงมือทำ)” แต่บุคคลิกในซีรีส์เรื่องนี้ของ ซอดัลมี น่าสนใจตรงที่ เธอเป็นแค่หญิงสาวธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ครอบครัวต้องมาแตกแยกเพราะพ่อแม่หย่ากัน แต่เธอก็ไม่เคยละทิ้งความฝันใหญ่ของเธอเลยสักครั้ง นั่นก็คือ ‘สตีฟ จ็อปส์ หรือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ของเกาหลี’
หากคนที่ดูมาแล้วหลายๆ Ep จะเห็นว่า ความธรรมดาของ ซอดัลมี ที่จริงแล้วซ่อนความฉลาดทางความคิดเอาไว้อยู่ ถ้าไม่นับนิสัยที่เป็นคนมองโลกในแง่บวก (ซึ่งจะเห็นบุคคลิกนี้ตลอดเวลาที่เธอทำงาน part-time) ซอดัลมี มักจะเห็นมุมมอง ‘บางอย่าง’ ที่อยู่นอกกรอบออกไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นความคิดที่ค่อนข้างสร้างสรรค์ซะด้วย
‘การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า+มองโลกแง่บวก+รักความท้าทาย’ เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของสตาร์ทอัพที่ดี เพราะหนทางความสำเร็จไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกไม้เสมอไป
ที่จริงแล้ว ‘การมองโลกในแง่บวก’ ค่อนข้างจำเป็นสำหรับสตาร์ทอัพแต่หลายคนอาจไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่มันคือ ขุมพลังที่เอาไว้คอย support ความรู้สึกของตัวเราเองได้อย่างดี อย่างฉากหนึ่งที่ ซอดัลมี พูดถึงปมชีวิตของเธอว่า
“ถ้ามีแต่วันที่สดใส โลกทั้งใบจะเป็นทะเลทราย ต้องมีฝนตกมีหิมะด้วย หญ้าจะได้งอกจากพื้นดิน และมีส้มอร่อยๆ แบบนี้”
ที่สำคัญคุณสมบัติของสตาร์ทอัพที่ถ่ายทอดจาก ซอดัลมี ที่เห็นชัดมากก็คือ ‘การคิดนอกกรอบ’ และ ‘ช่างสังเกต’ เพราะเธอมักจะจุดประกายไอเดียเล็กๆ น้อยๆ ให้กับคนในทีมได้เสมอ อย่างตอนที่เธอปิ๊งไอเดียเรื่อง ‘AI ตรวจจับลายเซ็นปลอม’ ใน Ep.5 เป็นต้น
‘นัมโดซาน’ จากเด็กเนิร์ดคณิต สู่ความหลงใหลใน ‘เทคโนโลยี AI’
จากเด็กน้อยผู้ที่หลงใหลใน ‘คณิตศาสตร์’ พัฒนาความคิดจนกลายในเป็นที่หลงใหลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งก็เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกของเรา โดยเราจะเห็นว่า ‘ความกระตือรือร้น’ ของนัมโดซาน เป็น character ที่โดดเด่นของออกมาในซีรีส์เรื่องนี้
โดยเฉพาะโจทย์ที่มันแก้ไม่ได้ ไม่ได้คำตอบ เขาจะอดหลับอดนอนเพื่อไขปัญหาจนได้! นี่คือ หนึ่งในบุคคลิกของสตาร์ทอัพในปัจจุบัน แม้เราจะพูดไม่ได้เต็มปากว่ามันคือ คุณสมบัติที่ดีเพราะพฤติกรรมมันทำลายสุขภาพ แต่ถ้าดูในมุมของความจริงจัง มุ่งมั่น มีพลัง ไม่ท้อถอยง่ายๆ อันนี้ก็ต้องยกให้กับ นัมโดซาน อีกคนหนึ่งในเรื่องนี้
รวมถึงวิธีคิดของเขาเวลาที่เจอกับอุปสรรค (งาน) การแก้โจทย์ แก้โค้ด เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ เป็นทักษะการพลิกแพลงวิธีคิดที่ควรต้องมีในเหล่าสตาร์ทอัพ หรือแม้แต่อาชีพอื่นก็ตาม
‘วอนอินแจ’ เด็ดเดี่ยว –ดื้อรั้นอย่างไรให้ได้ดี
หนึ่งในบุคคลิกของสตาร์ทอัพทุกคนที่เราต้องเจอแน่ๆ คือ ต้องบ้าบิ่นพอที่จะทำตามใจ(ตัวเอง) เพราะคิดว่ามัน ‘ต้อง’ ถูกต้อง! เพราะถ้าไม่บ้าบิ่นก็คงไม่กล้าลาออกจากงานประจำที่ทำ หรือคงไม่กล้าเดินเตะฝุ่นสักพักเพื่อได้ลองทำสิ่งที่อยากทำ
อย่างในเรื่องนี้ที่ วอนอินแจ ตัดสินใจออกจากตำแหน่งระดับสูงในบริษัทของพ่อเลี้ยง แล้วเบนเข็มมาทางสตาร์ทอัพด้วยลำแข้งตัวเอง เธอเลือกที่จะเปลี่ยนความสูญเสีย (ความเชื่อใจ) ให้เป็นชัยชนะ อันนี้คือ คุณสมบัติที่ดีที่ต้องมี หากเราอยากเป็นสตาร์ทอัพ
อีกหนึ่งอย่าง คือ ‘ความเชื่อมั่นในตัวเอง’ ว่าเรามีของมากพอที่จะท้าชนกับสตาร์ทอัพคนอื่น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่โดดเด่นจากบทบาทของ วอนอินแจ จากซีรีส์เรื่องนี้เช่นเดียวกัน
Keynote: ก่อนรบ ต้องรู้วิชาพื้นฐานก่อน!
ที่สำคัญ ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ความสนุกที่ปะปนกับดราม่า และความไฟแรงของนักแสดงในเรื่อง แต่มันยังสอดแทรกไปด้วยความรู้ของคำศัพท์ในวงการสตาร์ทอัพด้วย ซึ่งน่าจะเป็นความรู้เบื้องต้นที่ต้องทำความเข้าใจก่อนก้าวเข้าสู่วงการนี้
ตัวอย่างเช่น Angel Investor คือ นักลงทุน หรือ คนที่นำเงินมาลงทุนในอะไรสักอย่างเพื่อผลตอบแทน โดยส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนกับ สตาร์ทอัพ
Venture Capital (VC) ก็คือ ธุรกิจการร่วมลงทุน เป็นการนำเงินลงทุนเข้าไปร่วมถือหุ้นในบริษัทใดบริษัท ซึ่งเป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่เป็นที่นิยมมานาน
หรือแม้แต่คำศัพท์ในวงการเทคโนโลยี เช่น ‘Machine Learning’ คือการทำให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกของเรา ในโลกของ AI โลกของดิจิทัลเป็นใหญ่ ถ้าคนที่สนใจเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยีเป็นพิเศษ ก็น่าจะชอบเรื่องนี้มากๆ
หรือจะเป็นกระบวนการดำเนินธุรกิจสตตาร์ทอัพ จุดเริ่มต้น การแข่งขันแบบไหนที่ทำให้เราเข้าใกล้ความฝันมากขึ้นอีกสเต็ป รวมไปถึง ตำแหน่งที่เราต้องคุ้นหูได้แล้ว อย่าง ‘Keyman’ ที่หมายถึง บุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในองค์กร ซึ่งคำๆ นี้จะเป็นที่รู้กันในวงการธุรกิจ เป็นต้น
เห็นมั้ยล่ะว่า ซีรีส์เรื่อง Start-Up ให้อะไรมากกว่าที่เราคิด มันอยู่ที่มุมมองและการเปิดใจมากกว่า ว่าเราจะมองหาสิ่งที่ซีรีส์อยากจะสื่อสารกับเราให้ลึกซึ้งได้แค่ไหน แต่ว่าตอนนี้อยากให้มีครบทั้ง 16 Ep เร็วๆ จังเลย
ที่มา: forbes, thecinemaholic, jeab