‘การแต่งงาน’ สำหรับทุกคนเชื่อว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ แต่เมื่อเทียบกับ ‘ชาวอินเดีย’ งานแต่งงานถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด พิธีการสุดอลังการกว่าวัฒนธรรมไหนๆ อย่างอินเดียผู้ที่นับถือฮินดู ซึ่งเป็นศาสนากลุ่มใหญ่สุดในประเทศ สมัยก่อนเคยมีพิธีการแต่งงานนานถึง 16 วันมาแล้ว แต่ไม่กี่ปีมานี้พิธีกรรมดังกล่าวได้ลดลงเหลือ 2-3 วันขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัว
นอกจากที่จะเป็นพิธีกรรมแต่งงานที่ยิ่งใหญ่ ใช้เวลานาน ยังเป็นพิธีงานที่มีการลงทุนสูงมากด้วย หลายครอบครัวส่วนใหญ่พ่อแม่ของคู่บ่าวสาวถึงกับต้องเก็บเงินทั้งชีวิต เพื่อจัดพิธีสมรสให้กับลูกๆ นี่ยังไม่รวมกับ ‘สินสอด’ มากมายที่สมัยก่อนฝ่ายหญิงต้องเป็นผู้ให้ต่อครอบครัวฝ่ายชายถือเป็นการสู่ขออย่างเป็นทางการ ก่อนที่หลายๆ เมืองในอินเดียในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยน ให้เป็นแบบ ‘ต่างฝ่ายต่างให้’ หรือไม่ก็ ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ที่ให้สินสอดจำนวนมากกว่าฝ่ายชาย ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่าง 2 ครอบครัว
เมื่อแต่งงานใช้เงินทุนมหาศาล ผุดอาชีพ ‘นักสืบ’ เช็คประวัติ
ใครจะเชื่อว่า ‘นักสืบ หรือ นักเช็คประวัติก่อนแต่งงาน’ เกิดขึ้นมาเกือบ 80 ปีแล้วในอินเดีย แต่เริ่มมาบูมจริงๆ จังๆ ในปี 2013 ซึ่งผลสำรวจโดยสำนักงานสถิติของอินเดีย ระบุว่า ในปี 2013 มีบริษัทนักสืบเรื่องดังกล่าวประมาณ 15,000 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงนิวเดลี แต่ในปัจจุบันมีการประเมินไว้ว่า จำนวนบริษัทรับจ้างสืบเพิ่มขึ้นกว่า 40%
สำหรับคนที่สงสัยว่า สิ่งเหล่านี้ผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องบอกเลยว่า การสืบ เสาะแสวงหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็น ‘จารกรรม’ (Spying) ในอินเดีย
ทั้งนี้ ‘ทารัลลิกา ลาฮีรี’ (Taralika Lahiri) นักสืบหญิงชาวอินเดีย ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าได้เริ่มอาชีพนักสืบตั้งแต่ปี 1987 และมีสำนักงานนักสืบเป็นของตัวเอง ชื่อว่า National Detective & Corporate Consultants (NDCC) เธอพูดว่า อาชีพนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2015 ที่การหาคู่ชีวิตเริ่มเปลี่ยนไป dating online เริ่มเข้ามามีบทบาทในอินเดีย
‘Dating Apps’ ป่วนวัฒนธรรมคลุมถุงชน เพิ่มดีมานด์ ‘นักสืบ’
อย่างที่ทราบกันดีว่า อินเดีย เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมคลุมถุงชนใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นธรรมเนียมที่สืบทอดกันมายาวนาน แต่เมื่อย้อนไป 10 ปีก่อน คนอินเดียเริ่มรู้จักแอพพลิเคชั่นหาคู่ทางออนไลน์มากขึ้น โดยแอพฯ แรกที่เข้าสู่ประเทศในปี 2010 คือ OkCupid จากนั้นก็เป็น Tinder(2013), Happn(2014), Tantan(2014), Quack Quack(2014), Woo(2014), Coffee Meets Bagel(2015), Bumble(2018) และ GoGaga(2018) เป็นต้น
ทารัลลิกา บอกว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดีมานด์ของอาชีพนักสืบสูงขึ้น เพราะคนสมัยนี้มองหาคู่แต่งงานทางอินเทอร์เน็ตมากกว่าที่จะเข้าพิธีแต่งงานด้วยการคลุมถุงชน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ครอบครัวของทั้ง 2 ฝ่าย จะว่าจ้างนักสืบเอกชนให้จับตาดูพฤติกรรมของว่าที่เจ้าสาว/เจ้าบ่าว
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ผู้ที่ว่าจ้างให้สืบจะเป็น ครอบครัวของผู้หญิงมากกว่า โดยต้องการให้สืบทั้งฝ่ายชาย และครอบครัวฝ่ายชาย โดยจะมีอยู่ 5 เรื่องที่ถูกจ้างวานให้สืบเป็นพิเศษ เพื่อใช้ในการพิจารณาก่อนที่จะแต่งงาน ได้แก่
-
ความสัมพันธ์ในอดีต
-
ฐานะการเงิน
-
การศึกษา
-
เพศสภาพ
-
ประวัติของครอบครัว
สำหรับค่าใช้จ่ายในการจ้างให้สืบดังกล่าว เริ่มต้นที่ 7,000 รูปี (ประมาณ 2,976 บาท) ไปจนถึงเกือบ 30,000 บาท/ครั้ง และใช้เวลาในการดำเนินงานระหว่าง 12-25 วัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและแพ็จเกจของแต่ละบริษัท
Case นักต้มตุ๋นเกิดขึ้นในอินเดียมากขึ้น
ด้วยความที่คู่บ่าวสาวหันมาให้ความสำคัญกับแอพฯ หาคู่ออนไลน์ จึงทำให้มีเหตุการณ์หลอกลวงต้มตุ๋นเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ โดยเฉลี่ยในปัจจุบันมีเคสหลอกลวงทั้งฝ่ายหญิง-ชาย ที่เป็นลูกค้าของบริษัท NDCC ทั้งหมดรวมกัน เกือบ 500/ปี เทียบกับในปี 2014 ที่เกิดขึ้นเกือบ 50 เคสเท่านั้น ส่วนของบริษัทอื่นในเมืองอินโดร์ เมืองที่มีประชากรมากที่สุดในรัฐมัธยประเทศ เปิดเผยว่า มีเคสหลอกลวงว่าที่เจ้าบ่าว-เจ้าสาว เกิดขึ้นทุกเดือนประมาณ 25 เคส
โดยนักสืบรายนี้ ได้ยกตัวอย่างลูกค้าของเธอรายหนึ่ง ‘ลูกสาวนักธุรกิจชื่อดังในนิวเดลี’ ที่ว่าจ้างให้สืบแฟนก่อนที่จะแต่งงาน ซึ่งเธอบอกว่า แฟนของเธอมักจะสวมชุดที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดัง ขับรถหรู และนัดพบที่ร้านกาแฟราคาแพง แต่ครอบครัวเศรษฐีรายนี้เริ่มสงสัย จึงต้องการตรวจสอบประวัติการเงินก่อน จนสุดท้ายพบว่า เรื่องทั้งหมดคือเรื่องหลอกลวง แฟนหนุ่มใช้วิธีเช่ารถหรูเพื่อขับมาหาเธอตลอดที่คบกัน
นักสืบใช้วิธีหาหลักฐานด้วยเทคโนโลยี – โซเชียลมีเดีย
ในยุคของเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ซึ่งอินเดีย ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่แพ้ชาติเอเชียอื่นๆ หรือแม้แต่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งความก้าวหน้าของโลกเทคโนโลยีไม่เพียงแต่จะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมธุรกิจนักสืบเองก็ได้รับอานิสงส์ตรงนี้ด้วย
โดยบริษัทรับจ้างสืบหลายแห่งในอินเดีย รวมไปถึง NDCC ด้วย เปิดเผยว่า มีอุปกรณ์ทางเทคโนโลยหลายประเภทที่นำมาใช้งานในระหว่างการหาข้อมูล เช่น กล้องความละเอียดสูงที่มีเลนส์มุมมองกลางคืน, อุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงที่ซ่อนอยู่ในแว่นตา, ปากกา หรือกระเป๋า ฯลฯ
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มสื่อโซเชียลมีเดีย มีประโยชน์อย่างมากต่อการสืบข้อมูล โดย DATA ต่างๆ ที่ปรากฏทางออนไลน์ ตั้งแต่ข้อมูลจากสื่อโซเชียล ไปจนถึง การช้อปปิ้งออนไลน์ (บางส่วน) สามารถนำมาประกอบเป็นข้อมูลส่งให้ลูกค้าได้
สำหรับบริษัทขนาดใหญ่บางราย ใช้วิธีการเก็บ DATA แบบออฟไลน์ด้วยเช่นเดียวกัน คล้ายการสะกดรอยตาม ‘ผ่านกล้องวงจรปิด’ เป็นต้น
อันนี้เป็นเพียงบางอาชีพแปลกในอินเดีย ที่ยกตัวอย่างขึ้นมาเจาะ insight เท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีอีกหลายอาชีพแปลก ที่เกิดขึ้นมาเสิร์ฟเฉพาะตามพฤติกรรมของคน แต่สิ่งสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนจากกรณีนี้ คือ ดิจิทัล เป็นยุคที่ปรับเปลี่ยนทุกอย่างตั้งแต่วิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ ครอบคลุมไปจนถึงธุรกิจเช่นนี้ด้วย
ที่มา : bbc, theguardian, timesofindia, qz