ชั่วโมงนี้ใครไม่รู้จัก Grab ถือว่าหลุดโลกมาก เพราะในช่วงที่ผ่านมา Grab กลายเป็นผู้ให้บริการ Food Delivery ที่มีหลายคนรู้จักมากที่สุดรายหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น Grab ยังเป็นผู้ให้บริการ Ride Hailing รายใหญ่ในไทย นับตั้งแต่การถอนตัวไปของ Uber และยังให้บริการในรูปแบบของการรับส่งพัสดุสินค้าและเอกสารอีกด้วย
นอกจากนี้ Grab ยังได้ขยายการให้บริการสู่รูปแบบบริการทางการเงิน Grab Financial โดยเน้นไปที่การให้บริการทางการเงินสำหรับพันธมิตรทั้งผู้ขับขี่และร้านค้า รวมไปถึงการให้บริการชำระค่าบริการต่างๆ ของ Grab ในรูปแบบ e-Wallet ที่สำคัญทุกบริการทางเงินที่เกิดขึ้นล้วนแต่ใช้ Data เป็นข้อมูลพื้นฐานในการให้บริการทางด้านการเงินต่างๆ
Grab มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของตลาด
Cashless เติบโตอย่างก้าวกระโดด
ด้าน คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย ชี้ว่า สถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในด้านบริการทางการเงิน ซึ่งแบ่งการเปลี่ยนแปลงออกเป็น 3 ด้าน ทั้งด้านการเติบโตของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นก่อให้เกิด การใช้จ่ายแบบไร้เงินสด (Cashless) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องความใส่ใจในสุขภาพ
จากข้อมูลพบว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาภาพรวมการใช้งาน Mobile Banking เติบโตขึ้น 69% แต่ใช้ช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมามีการใช้งาน GrabPay Wallet เพิ่มขึ้นถึง 100% โดยเป็นการใช้งานของลูกค้า Grab กว่า 50% ช่วยทำให้ระบบ Ecosystem เติบโต ซึ่งการใช้งาน Cashless ช่วยลดการสัมผัสเงินสด และช่วยให้ทุกฝ่ายสบายใจทั้งผู้ขับ ลูกค้าและร้านค้า
ด้าน การปรับแผนการดำเนินงาน ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้กลุ่มผู้ใช้งานชาวต่างชาติหายไปอย่างสิ้นเชิงและส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ขับ โดยเฉพาะการหายไปของนักท่องเที่ยวจีน ทำให้ Grab ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์โดยหันมาเน้นการให้บริการกลุ่มเป้าหมายในประเทศมากขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชำระสินเชื่อ
โปรแกรมช่วยเหลือคนขับที่มีปัญหาการเงิน
ผ่าน Data เพื่อเข้าไปช่วยเหลือให้ตรงกลุ่ม
สำหรับสินเชื่อของ Grab เป็นสินเชื่อเฉพาะสำหรับคนขับเท่านั้น ทั้งสินเชื่อสำหรับสมาร์ทโฟน สินเชื่อเช่าซื้อ เป็นต้น แต่สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อรายได้พาร์ทเนอร์ Grab โดยช่วงแรกมีการเปิดโปรแกรมพักชำระหนี้กว่า 20,000 ราย โดยใช้ Data ทั้งวินัยในการขับ คะแนนจากผู้ใช้บริการและรายได้เฉลี่ยที่ผ่านมา เพื่อนำมาใช้ในการคำนวนสินเชื่อ Data เหล่านั้นจะถูกนำมาคัดเลือกเพื่อเข้าสู่โปรแกรมพักชำระหนี้ เริ่มตั้งแต่การพักชำระแบบวันเว้นวัน, การพักชำระเป็นเวลา 1 เดือนและการพักชำระเป็นเวลา 3 เดือน
ในช่วงต่อมาหลังธุรกิจ Food Delivery เติบโตอย่างมาก ส่งผลให้คนขับหลายรายกลายสภาพมาสู่ผู้จัดส่งอาหาร รวมไปถึงช่วงเดือนพฤษภาคมที่ Data ชี้ให้เห็นถึงรายได้ของคนขับเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงก่อนมีประกาศล็อคดาวน์จากภาครัฐ จึงเริ่มปลดล็อคการพักชำระหนี้ โดยมีประมาณ 70% ที่สามารถกลับมาชำระได้ตามปกติ ในขณะที่อีก 30% ยังคงพักชำระหนี้อยู่ รวมถึงแผนการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดโอกาสการเป็นหนี้สูญ (NPL)
ที่สำคัญในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา Data ของ Grab ได้ติดตามข้อมูลของคนขับจนพบว่า มีคนขับจำนวนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด เมื่อ Grab พบปริมาณการใช้งานบนแอปพลิเคชันเพิ่มขึ้น จะมีการแจ้งให้กับคนขับเพื่อเชิญชวนให้กลับมาทำงานและกลับมามีรายได้ที่สม่ำเสมอ
ในด้านของการประกัน Grab ได้ร่วมมือกับ “เมืองไทยประกันชีวิต” ในการมอบประกันชีวิตและสุขภาพกลุ่มเพื่อคุ้มครองรายได้ให้กับคนขับและผู้จัดส่งอาหาร-พัสดุกว่า 60,000 คน โดยมอบเงินชดเชย 500 บาทต่อวันสูงสุด 15 วัน
Data Driven ช่วยให้ Grab เข้าถึงพาร์ทเนอร์
ช่วยปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับอนาคต
ด้าน การศึกษาข้อมูลเชิงลึก ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป Data จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ Grab ยกตัวอย่างเช่น จำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปและจำนวนคนที่ต้องทำงานจากที่บ้านเพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนการสั่งอาหารเพิ่มขึ้น มีร้านค้าสมัครเข้ามาเพิ่มขึ้นและคนขับหน้าใหม่เพิ่มขึ้น
Data ดังกล่าวช่วยให้ Grab สามารถนำข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้มาปรับวิธีการให้สินเชื่อและการผ่อนชำระ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของพาร์ทเนอร์ในกลุ่มต่างๆ ซึ่งในอนาคต Grab Financial จะมีการออกสินเชื่อเพื่อการค้า ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ Grab ในรูปแบบการผ่อนชำระที่ไม่สามารถหาได้จากสถาบันทางการเงิน
ด้วย Data ที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ส่งผลให้ Grab Financial จำเป็นต้องวางกลยุทธ์ในครึ่งปีหลังใหม่ โดยจะเน้นไปที่ 4 กลยุทธ์ใหม่เป็นหลักที่จะช่วยให้ Grab กลายเป็น Super App ตามที่หลายคนคาดการณ์ ซึ่ง 4 กลยุทธ์ใหม่นี้จะช่วยหาสนับสนุนให้ Ecosystems ทางการเงินของ Grab สามารถดำเนินการได้อย่างครบวงจร ครอบคลุมทุกส่วนตั้งแต่ร้านค้า ผู้ใช้งานและคนขับ
4 กลยุทธ์ใหม่ครึ่งปีหลังผ่าน Data Driven
บริหารจัดการต้นทุน – เพิ่มการใช้ Cashless ใน ตจว.
เริ่มตั้งแต่กลยุทธ์ การบริหารจัดการต้นทุนด้านการชำระเงิน เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการนำระบบชำระเงินของ GrabPay มาเป็นระบบพื้นฐานของการทำทุกธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม Grab ทั้งหมด ตั้งแต่การจ่ายเงินของผู้ใช้บริการ ระบบการจ่ายเงินให้กับร้านค้าและคนขับ การผ่อนชำระสินเชื่อ และการชำระเบี้ยประกันในอนาคต
กลยุทธ์ต่อมา การเร่งรูปแบบชำระเงินผ่าน Cashless ในต่างจังหวัด แม้ว่าการใช้ GrabPay จะเติบโตขึ้น 100% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แต่เป็นการเติบโตที่ยังคงกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก เนื่องจากในต่างจังหวัดมีการใช้บัตรเครดิตค่อนข้างน้อย อีกทั้งวิถีชีวิตในต่างจังหวัดยังนิยมใช้เงินสดมากกว่า และความไม่เข้าใจในการชำระเงินแบบ Cashless โดยส่วนใหญ่ร้านค้ามีความเข้าใจเรื่องการชำระเงินผ่าน QR Code บนระบบพร้อมเพย์มากกว่าผู้ใช้งาน
กลยุทธ์นี้จะเป็นการเร่งแบบก้าวกระโดดข้ามผ่านการใช้บัตรเครดิตไปสู่การชำระผ่าน e-Wallet ด้วยการออกแคมเปญในรูปแบบ Localize โดยจะใช้ Data ในการวิเคราะห์รูปแบบที่ช่วยให้เข้าถึงคนในพื้นที่ รวมไปถึงการใช้ Data เพื่อดูว่าจังหวัดใดมีปริมาณการใช้ Grab สูง แคมเปญดังกล่าวก็จะถูกเน้นไปที่จังหวัดนั้น นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าธนาคารอื่นสามารถใช้งาน GrabPay Wallet ได้ด้วย โดยตั้งเป้าระยะยาวให้มีสัดส่วนธุรกรรมแบบ Cashless ในระดับ 80% ทั่วประเทศไทย
บริการสินเชื่อและประกันครอบคลุมทุกกลุ่ม
ผ่านการประเมินความเสี่ยงด้วย Data
กลยุทธ์ถัดไป การขยายบริการสินเชื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยปัจจุบัน Grab Financial Group ได้ให้บริการสินเชื่อแก่คนขับแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเงินสดผ่านแอปฯ และสินเชื่อผ่อนชำระสมาร์ทโฟน โดยในครึ่งปีหลังมีการเตรียมเพิ่มบริการสินเชื่อเพื่อร้านค้า GrabFood โดยเน้นร้านค้าขนาดกลางมาจนถึงขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินปกติได้ เนื่องจากหลักฐานการบัญชีอาจไม่พร้อม
โดยจะใช้รูปแบบใกล้เคียงกับสินเชื่อสำหรับคนขับ ทั้งการผ่อนชำระรายวัน ชำระได้ผ่านแอปฯ โดยใช้ Data เป็นหลักในการประเมินความเสี่ยงและวงเงินสินเชื่อ คาดว่าจะสามารถปล่อยบริการสินเชื่อใหม่เพื่อร้านค้า GrabFood ได้ในช่วงปี 2563 นี้
และกลยุทธ์ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ประกันที่เกี่ยวข้องกับบริการของ Grab โดยได้เตรียมเปิดตัวประกันภัยให้กับทุกกลุ่มทั้งกลุ่มคนขับ ร้านค้าและผู้ใช้งานให้สามารถสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่เป็นมิตร ไม่ว่าจะเป็นประกันอุบัติเหตุ ประกันภัย ประกันชีวิต รวมไปถึงประกันพัสดุสินค้า ด้วยการมองหาพันธมิตรที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับวิสัยทัศน์ของ Grab โดยปัจจุบันมีพันธมิตรด้านประกันภัยเข้าร่วมแล้ว 4 ราย โดยเป็นระดับภูมิภาค 2 รายและในประเทศไทยอีก 2 ราย เพื่อให้ Ecosystems ครบวงจร
ทั้งหมดนี้คือกลยุทธ์การให้บริการรูปแบบใหม่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยอาศัย Data ที่ชี้ให้เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้งาน สถานการณ์ในตลาดผ่านการใช้งานผ่านแอปฯ และการให้ความช่วยเหลือโดยดูจากปริมาณงานและพฤติกรรมการทำงาน ทั้งหมดนี้ทำให้ Grab Financial Group สามารถนำ Data เข้ามาเพื่อหามาตรการในการดูแลพันธมิตรทั้งร้านค้าและคนขับ รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ในอนาคตเพื่อรองรับผู้ใช้งาน และยังสามารถนำ Data มาช่วยประกอบการวางแผนกลยุทธ์ในอนาคต