สรุปวิธีใช้เครื่องมือ Google: Community Mobility Reports และ data ที่อาจช่วยลดการติดเชื้อ COVID-19

  • 533
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังน่ากังวล หากเรามีเครื่องมือช่วยเหลือที่คอยอัพเดท คอยบอกข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้มากที่สุดมันคงจะดีไม่น้อย และไม่ใช่แค่ประชาชนอย่างเราๆ แต่ข้อมูลเหล่านั้นผู้เชี่ยวชาญ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลกสามารถหยิบเอามาใช้ได้เลย

อย่าง Google tools ที่เรียกว่า Community Mobility Reports หรือ รายงานข้อมูลการเดินทางของบุคคลในชุมชน ซึ่งเปิดตัวตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงแรกๆ แต่สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าเครื่องมือนี้ใช้อย่างไร และมันมีประโยชน์อย่างไร คุณ Tomer Shekel, Senior Product Manager of Public and Environmental Health ของ Google Health ได้อธิบายไว้ว่า

“ข้อมูลในรายงานที่ว่านี้สามารถช่วยลดอัตราการติดเชื้อได้ (infection rate) ด้วยการเช็คข้อมูล 6 ด้าน ซึ่งเราสามารถใช้ data ในรายงานควบคู่กับข้อมูลการติดเชื้อแหล่งอื่น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำขึ้น”

 

สำหรับข้อมูล 6 ด้าน (หรือสถานที่) ที่คุณ Tomer Shekel ได้พูดถึง ก็คือ

  • ร้านขายของชำและร้านขายยา
  • สวนสาธารณะ
  • ร้านค้าปลีกและพื้นที่สันทนาการ
  • สถานีขนส่ง
  • สถานที่ทำงาน
  • บ้านหรือที่พักอาศัย

 

โดยเครื่องมือนี้เราทุกคนสามารถเข้าไปดูทั้งประเทศของตัวเอง หรือ ประเทศอื่นได้ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมทั้งหมด 131 ประเทศและมากกว่า 13,000 ภูมิภาคทั่วโลก (ขึ้นอยู่กับการแบ่งข้อมูล) แต่สำหรับประเทศไทยจะเป็นข้อมูลภาพรวมทั้งประเทศ ไม่มีการแบ่งตามภาค หรือรัฐ เหมือนกับบางประเทศ เช่น อินเดีย, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา ฯลฯ

 

 

วิธีใช้เครื่องมือ Community Mobility Reports

  • เข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ https://www.google.com/covid19/mobility/ แล้วพิมพ์ชื่อประเทศที่ต้องการค้นหาข้อมูล หรือ เลือกจากรายชื่อประเทศที่โชว์อยู่
  • คลิกเลือกภาษา (ด้านขวามือ) โดยจะแยกเป็นภาษาถิ่นของแต่ละพื้นที่ (เช่น ประเทศไทยมีภาษาไทย-อังกฤษ)
  • เลือกดาวน์โหลด PDF เพื่อดูข้อมูลล่าสุดที่ Google วิเคราะห์ให้
  • ทำความเข้าใจข้อมูลในรายงาน

 

Credit: Google

 

อย่างข้อมูลในรายงานของ Google สำหรับประเทศไทย อยู่ที่วันที่ 4 ก.ย. 2021 (หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา) ใน 29 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม รายงานพบว่า แนวโน้มการเดินทางไปยังสถานที่ เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ศูนย์การค้า สวนสนุก พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และโรงภาพยนตร์ในไทย ลดลง 19%

นอกจากนี้ แนวโน้มการเดินทางไปยังสถานที่ เช่น อุทยานแห่งชาติ ชายหาด ตลาดนัด และสวนสาธารณะ ลดลงถึง 47% แต่ที่การเดินทางลดลงมากที่สุดถึง 55% คือ ศูนย์กลางการขนส่งสาธารณะ ที่รวมหมดตั้งแต่ รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้า รถประจําทาง หรือสถานีรถไฟ ซึ่งก็เป็นไปตามมาตรการที่เกิดขึ้นในไทย

แต่แนวโน้มการเดินทางไปยังสถานที่ เช่น ตลาด ร้านขายของชํา ร้านขายส่งอาหาร ร้านขายอาหารประเภทพิเศษ ร้านสุขภาพและความงาม และร้านขายยา พบว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 7% ซึ่งก็สอดคล้องกับสัดส่วนการใช้เวลาอยู่ที่บ้าน เพิ่มขึ้น 7% เช่นกัน

นอกจากข้อมูลเหล่านี้จะบอกเราว่า แนวโน้วการเดินทางของผู้คนส่วนมากกระจุกตัวอยู่ที่สถานที่ประเภทไหน ยังบอกได้ว่า สถานที่นั้นๆ อาจจะมีการกระจุกตัวได้ หากนำ data มาประกอบกับข้อมูลส่วนอื่นของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อวางนโยบาย, มาตรการ หรือกำหนดแผนการรับมือต่างๆ

ทั้งนี้ เครื่องมือ Community Mobility Reports จะเป็นการใช้ข้อมูลเชิงลึกในการวิเคราะห์จาก Location History (ประวัติโลเคชั่น) แต่ไม่ได้ระบุเป็นรายบุคคล ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้ Google จะใช้ต่อเมื่อได้รับการยินยอมเท่านั้น ซึ่งคนบางกลุ่มที่ตั้งค่าปิด Location History จะไม่สามารถละเมิดกฎได้

ขณะที่คุณ Tomer Shekel อธิบายคร่าวๆ ว่า การใช้ข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์จาก baseline ผู้ใช้ Google จะใช้เวลาประมาณ 2-3 วันในการวิเคราะห์ข้อมูล จากที่เก็บข้อมูลย้อนหลังประมาณ 6 สัปดาห์ เช่น รวบรวมข้อมูลไว้ในวันพุธ แต่ผู้ใช้จะเห็นข้อมูลทั้งหมดในวันเสาร์ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลมันจะไม่คลาดเคลื่อน

หรือเราสามารถเข้ามาที่ Google News COVID-19 Site ซึ่งจะเป็นการรวมข้อมูลทั้งหมด รวมไปถึง Mobility changes ในแต่ละประเทศด้วย ซึ่งเราจะเห็นกราฟที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนจากหน้าเว็บไซต์นี้ ทั้งยังมีข้อมูลแบบเปรียบเทียบ baseline ให้ด้วย ซึ่งเชื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์มากๆ ทั้งกับประชาชน และหน่วยงานที่จำเป็นต้องมี data ในมือเยอะๆ ก่อนกำหนดนโยบายอะไร

 

Credit: Google

 

 

 

ที่มา: งาน Google Press Briefing, google (1), (2) 

 


  • 533
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม