ปัจจุบันกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรานั้น มักผูกติดอยู่กับ ‘ดิจิทัล’ เรียกได้ว่าเกือบจะ 100% จนทำให้เกิดเป็นอาการ หรือโรคใหม่ขึ้นมาที่เชื่อมโยงกับดิจิทัล หนึ่งในนั้นก็คือ อาการ Phoneliness หรือ อาการที่ไม่สามารถตัดขาดจากหน้าจอสมาร์ทโฟนได้ เพราะกลัวจะพลาดสิ่งสำคัญๆ ไป จึงเป็นที่มาว่าทำไม ‘โภชนาการด้านดิจิทัล’ (Digital Nutrition) จึงจำเป็นมากสำหรับยุคนี้
เช็คก่อน ‘Phoneliness’ คืออะไร มีอาการอย่างไร?
อาการดังกล่าวนี้ไม่ใช่โรคใหม่ หลายคนน่าจะคุ้นหูอยู่บ้าง แต่อาจไม่รู้ไม่เข้าใจว่าอาการจริงๆ แล้ว ต้องเป็นแบบไหน ถึงเรียกว่าจัดอยู่กลุ่มคนที่มีอาการ Phoneliness โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย San Francisco State ระบุว่า สำหรับคนที่ไม่สามารถตัดขาดจากสมาร์ทโฟน ต้องหยิบขึ้นมาดู หรือเช็คข้อความตลอดเวลา น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ถูกจัดว่ามีอาการ Phoneliness ทั้งหมด เพราะพวกเขาไม่สามารถควบคุมตัวเองให้ไม่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูได้
ผลสำรวจในปี 2019 จาก eMarketer พบว่า มนุษย์เราติดโทรศัพท์มากเกินไป ใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียถึง 9-12 ชั่วโมง/วัน ส่วน ‘คนไทย’ เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และนิยมใช้โซเชียลมีเดียผ่านสมาร์ทโฟน พวกเขาใช้เวลาบนโลกออนไลน์ กว่า 9 ชั่วโมง/วัน
โดยอาการที่แสดงออกชัดเจนว่า น่าจะเข้าข่ายอาการ Phoneliness ได้แก่
-
รู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อไม่มีโทรศัพท์อยู่กับตัว แม้ว่าในเวลานั้นจะอยู่กับเพื่อน, ครอบครัว หรือคนรักก็ตาม
-
รู้สึกกังวลใจเมื่อสัญญาณการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่เสถียร
-
หลีกเลี่ยงการพูดคุย หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ด้วยการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่น
-
แม้ว่าไม่ได้ใช้โทรศัพท์ แต่ก็มักจะครุ่นคิดอยู่กับโทรศัพท์ตลอดเวลา
-
เช็คโทรศัพท์มือถือทุกๆ 15 นาที หรือน้อยกว่านั้น
ทั้งนี้ การเสพติดโลกดิจิทัลมากเกินไปส่งผลทำให้ประชากรโลก ‘รู้สึกโดดเดี่ยว เครียด และวิตกกังวล’ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีนักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพรายหนึ่ง ชี้ว่า อาการเริ่มต้นเหล่านี้สามารถส่งผลให้เกิดเป็นคนที่มีความคิดลบ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และมีปัญหาด้านพลังความสุขในระยะยาวได้
ดังนั้น แอปพลิเคชั่นที่จะเข้ามาแทนที่สื่อโซเชียล มุ่งเน้นไปที่ด้านโภชนาการดิจิทัล (Digital Nutrition) จึงเป็นเซอร์วิสใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น
‘นักโภชนาการด้านดิจิทัล’ (Digital nutritionist) มีหน้าที่อะไร?
แอพพลิเคชั่นที่ทำหน้าที่เหมือนที่ปรึกษาและผู้ดูแลสุขภาพกายและจิตใจของเรา สำหรับคนที่ติดหน้าจอโทรศัพท์ โดย Michael Moskowitz ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท AeBeZe Labs สตาร์ทอัพผู้บุกเบิกการบริโภคดิจิทัลแบบเฮลตี้ บอกว่า “เทรนด์โภชนาการด้านดิจิทัลกำลังมาแรง พอๆ กับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรที่สูงขึ้น”
โดยแอพฯ AeBeZe Labs เป็นบริการหรือโปรแกรมอย่างหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้คนหันมาสนใจสุขภาพด้านดิจิทัล โดยในแต่ละวันจะมีการแนะนำ, วางแผน และ พยายามบาลานซ์การจัดการระหว่างสุขภาพ และการใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียให้ดีขึ้น ซึ่งจุดประสงค์ของแอพฯ นี้ก็คือ “พฤติกรรมและอารมณ์ที่แข็งแรงขึ้น เมื่อต้องบริโภคสื่อ”
ตัวอย่างเช่น มีไกด์ไลน์สำหรับการทำสมาธิ และการหายใจเพียงไม่กี่นาทีก่อนใช้โซเชียลมีเดีย, การปรับปรุงวิธีการนอน, การเล่าเรื่องเสมือนจริง (คล้ายๆ กับการโพสต์ข้อความบนสื่อโซเชียลแต่เป็นส่วนตัว), มีการเตือนให้มองหรือเสพภาพธรรมชาติมากขึ้น เพื่อปรับสมดุลภายในจิตใจ เป็นต้น
ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม Moodrise 1000 ของบริษัท จะทำหน้าที่เหมือนช่วยจัดสรร ‘แคตตาล็อก’ ให้กับเราตามสภาวะอารมณ์ในช่วงเวลานั้นๆ หรือพูดง่ายๆ คือ เป็นผู้ประเมินเนื้อหาในสื่อโซเชียลมีเดียเบื้องต้นให้เราตามความเหมาะสม โดยเนื้อหาในปรากฏในแพลตฟอร์มนี้ส่วนใหญ่จะมีแต่เนื้อหา ‘พลังบวก, ให้กำลังใจ, มีความสุข, เพิ่มแรงจูงใจ’
“เราเชื่อว่าบางเนื้อหา หรือ วิดีโอ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นให้เหมาะกับทุกคน และคอนเทนต์ที่ดีสามารถเชื่อมโยงกับอารมณ์และบุคคลิกของเราได้ในระยะยาว ซึ่งอารมณ์ของเราจะทำปฏิกิริยากับสารเคมีบางอย่างในสมองให้แสดงอารมณ์ หรือพฤติกรรมนั้นๆ ออกมาสู่ภายนอก” Moskowitz กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีแอพพลิเคชั่น Day One ที่เรียกว่าเป็นแอพพลิเคชั่นไดอารี่ส่วนตัว ทำหน้าที่คล้ายๆ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่สามารถโพสต์ข้อมูลส่วนตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกความทรงจำ, ความรู้สึก, รูปภาพ, วิดีโอ แม้แต่โลเคชั่นสถานที่ต่างๆ แต่ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บเป็น private ทั้งหมด แล้วนำ DATA เหล่านั้นจะถูกนำมาประเมินสภาวะอารมณ์ และประเมินผลตามหลักจิตวิทยา เพื่อใช้ในการพัฒนาสุขภาพจิตให้ดีขึ้นหลังจากที่เสพสื่อโซเชียล
ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการดิจิทัล ‘Jocelyn Brewer’ และนักจิตวิทยาจากออสเตรเลีย พูดย้ำว่า โภชนาการด้านดิจิทัล คือการทำงานเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อสุขภาพ และต้องสมดุลกับเทคโนโลยี เป็นการจัดการสุขภาพแบบดิจิทัลที่ล้างพิษจากการเสพคอนเทนต์ และสื่อต่างๆ มากเกินไป จนกระทบต่อด้านอารมณ์ของมนุษย์
ที่มา : wundermanthompson, digitalnutrition, cnbc