ด้วยจำนวนประชากร 1,420 ล้านคน ทำให้จีนเป็นหนึ่งตลาดสำคัญที่หลายธุรกิจต้องการเข้าไปปักธงธุรกิจ และจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีมากถึง 829 ล้านคน โดย 98.6% ใช้ผ่านมือถือ ‘ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง’ จึงถือเป็น Marketing Tools ที่ทรงพลังสำหรับเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน
อย่างไรก็ตาม จีน เป็นตลาดที่มีการซับซ้อนสูง บวกกับผู้บริโภคชาวจีนมีการใช้โซเชียล มีเดียและอยู่บนโลกออนไลน์ค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่น ภายใน 1 นาที ชาวจีนจะโพสต์ข้อความบน WeChat ถึง 486 ข้อความ , มีการใช้จ่ายผ่าน Alipay มีมูลค่ากว่า 15 ล้านหยวน , มีการโพสต์ข้อความบน weibo 1.65 ล้านข้อความ และค้นหาข้อมูลบน Baidu กว่า 4 ล้านครั้ง ฯลฯ
ดังนั้น การทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ให้ ‘เวิร์ค’ และ ‘ปัง’ ในตลาดจีน จึงจำเป็นต้องศึกษา Insight และเทรนด์ต่าง ๆ ให้ดีเสียก่อน
Influencers – Social Commerce 2 เทรนด์มาแรง
ชฎากร ธนสุวรรณเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอวีจี ไทยแลนด์ จำกัด ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในจีน ในเครือวายดีเอ็ม ไทยแลนด์ กล่าวว่า เทรนด์ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งที่มาแรงในจีน ได้แก่ Influencers Marketing และ Social Commerce โดย Influencers Marketing ตอนนี้กลายเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญในกลยุทธ์ทางการตลาดของจีน
เพราะจากข้อมูลของฟรอสต์และซูลิแวน แสดงให้เห็นถึงยอดขายที่เกิดจาก Influencer คนจีน ที่สูงถึง 32.9 พันล้านหยวน (4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2017 และคาดว่า จะสร้างการเติบโตต่อเนื่องถึง 40.4 % ในอีก 5ปีข้างหน้า นอกจากนี้ด้วย 80% ของแฟนคลับที่ติดตาม Influencer นั้นเป็นกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียมหรือคนที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1981-1996 (อายุ 23-38 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในประเทศจีน ดังนั้น Influencer จึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งในจีน
“ผู้บริโภคจีน เชื่อ Influencers มากกว่าเพื่อน เพราะจีนตลาดใหญ่ มีข้อมูลมหาศาล เวลาจะซื้ออะไรจึงต้องการข้อมูล แต่ก็ไม่เชื่อข้อมูลจากที่แบรนด์ให้ ขณะที่เพื่อนเอง ผู้บริโภคจีนส่วนใหญ่มองว่า มีความรู้น้อยกว่า Influencer ที่สำคัญกฎหมายจีนแรง Influencer จึงไม่กล้าหลอก และกว่าจะมารีวิวมีการศึกษาและทดลองใช้เยอะมาก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือสำหรับแจ้งเกิดในตลาด”
อย่ามองจำนวน ‘Follow’ อย่างเดียว
ปัจจุบัน Influencers ในจีนมีมากถึง 2-3 ล้านคน มีทั้งกลุ่มที่เป็นดารา บรรดาคนดัง และคนทั่วไป ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มี Influencers มากที่สุด ได้แก่ กลุ่ม Beauty 30% รองลงมา กลุ่มสินค้า Fashion 15% ,อาหารและขนม 10% ที่เหลือคืออื่น ๆ
สำหรับการเลือกใช้ Influencers จีน อย่ามองที่จำนวนผู้ติดตาม หรือยอด Follow เพราะที่จีนสามารถปั๊มยอดได้ง่าย เช่น การจ้างให้ติดตาม Influencers ทำตัวให้เป็นกระแสขึ้นมา เป็นต้น โดยนอกจากเลือกให้เหมาะกับกลยุทธ์ทางการตลาดของสินค้าหรือแบรนด์แล้ว ประเด็นสำคัญ หนีไม่พ้นเรื่องความน่าเชื่อถือ รวมไปถึง Engagement จากผู้ที่เข้ามาคอมเม้นต์และลึกลงไปถึงการตอบคอมเม้นท์ของ Influencers แต่ละคน
“Influencers หลายคนรีวิวดี มีคนมาคอมเม้นท์เยอะ แต่หากตอบหรือพูดคุยกับบรรดาแฟน ๆ ไม่ดี ย่อมส่งผลเสียมาถึงสินค้าและแบรนด์ด้วย”
‘Social Commerce’ เครื่องมือที่ขาดไม่ได้
สำหรับ Social Commerce นั้น จะเข้ามาตอบโจทย์ผู้ซื้อและผู้ขายมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก Social Media และ E-commerce เจ้าใหญ่ๆ มีการจับมือร่วมกันมากขึ้น เช่น อาลีบาบา ได้จับมือรกับ Weibo ขณะที่ WeChat ได้เป็นพาร์ทเนอร์ กับ JD.com เพื่อสร้างระบบโฆษณาที่สามารถเจาะความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างชัดเจนขึ้น เช่น นำประวัติการซื้อบน e-commerce มาวิเคราะห์กับเพจที่ผู้บริโภคนั้นติดตามบน Social Media
ส่วนรูปแบบ Content จะเป็น Video ที่มาแรง เห็นได้ชัดจากการที่ชาวจีนใช้เวลาในการดูวิดีโอเพิ่มมากขึ้น 7% ในปี 2018 ไปจนถึงเทคโนโลยี 5G ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
สำหรับสินค้าไทยยอดนิยม ตามข้อมูลใน Tmall แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ B2C ที่ใหญ่ที่สุดในจีน และ Taobao แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ C2C ที่ใหญ่ที่สุดในจีน แสดงตัวเลขในเดือน พฤษภาคม 2019 ว่า สินค้าจากเมืองไทยที่ขายดีที่สุด ได้แก่ สินค้าในกลุ่มสกินแคร์ & เครื่องสำอาง, ผลไม้อบแห้ง และ ข้าว โดยมีมูลค่าการซื้อขายโดยรวมประมาณ 2 ล้านครั้ง/เดือน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอวีจี ไทยแลนด์ ยังแนะนำว่า ผู้ประกอบการไทยควรมองหาโอกาสทางธุรกิจในเมืองกลุ่ม “New Tier One” คือ เมืองที่มีศักยภาพการเติบโตที่ขึ้นไปอยู่กลุ่มเมืองที่เจริญแล้ว (Tier One) ในจีน รวมทั้งควรศึกษาเรื่องข้อได้เปรียบที่ได้จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนจีน (ACFTA) เนื่องจากในปี 2018 มีสินค้าไทยทั้งหมดที่ส่งออกไปจีนเพียง68.4% ที่ได้รับอานิสงค์จากข้อตกลงนี้
ที่สำคัญ ต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) ในประเทศจีนทันทีที่เริ่มต้นเข้าไปทำตลาด เพื่อปกป้องสิทธิของการเป็นเจ้าของแบรนด์ และเลือกช่องทางในการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งให้ถูกทางที่เหมาะสมกับงบประมาณและเจาะได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย