แพลตฟอร์มของ Tinder แอปพลิเคชั่นหาคู่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน และยังเป็นแอปฯ ที่คนยอมจ่ายเงินมากที่สุดในแอปฯ เดตติ้ง พูดได้ว่า Tinder เหมือนเป็นแพลตฟอร์มต้นแบบที่ทำให้แอปฯ หาคู่อื่นเลือกออกแบบการใช้งานในรูปแบบคล้ายๆ กันด้วย (ถึงแม้จะมีหลายเจ้าที่บอกว่าไม่เหมือนก็ตาม)
ก่อนหน้านี้ Austin Carr นักเขียนของ Fast Company ได้พูดคุยกับ Tinder และได้รับอนุญาตให้เข้าดูวิธีการให้คะแนนของ Tinder (แบบพื้นฐาน) ซึ่งมันเป็นความลับ โดย Tinder ได้ใช้ตรรกะการให้คะแนนแบบ Elo Rating ซึ่งเป็นวิธีการในการจัด ranking ที่ได้รับความนิยมอย่างมากวิธีหนึ่ง
แม้ว่าจะเป็นการอธิบายเกี่ยวกับระบบการทำงานหลังบ้านของ Tinder อย่างคลุมเครือ แต่ก็พอที่จะทำความเข้าใจได้ เพราะการให้คะแนนแบบ Elo เป็นวิธีเดียวกับการใช้คำนวนระดับทักษะของผู้เล่นหมากรุกทั่วโลก
โดยอัลกอริทึมของ Tinder จะจัด ranking ความนิยมจากจำนวนคนที่ “ชอบ” (เลื่อนปัดขวา) ให้กับเรา นั่นหมายความว่า “ยิ่งมีจำนวนคนปัดขวาให้เรามากเท่าไหร่ ผู้เล่นคนอื่นก็จะเห็นโปร์ไฟล์ของเราบ่อยมากขึ้น” โดยการให้คะแนนของ Tinder ก็คือ การเพิ่มความถี่เพื่อแสดงโปร์ไฟล์นั้นๆ ให้ผู้อื่นเห็น = เพิ่มโอกาสในการเดต
ทั้งนี้ การให้คะแนน Elo ของ Tinder มีรายงานอยู่เรื่อยๆ ว่าได้พัฒนาด้วยการใช้เทคโนโลยีในการระบุเจาะจงว่า ใครต้องการอะไร และคู่แมตช์ประเภทไหนที่จะโชว์ให้เราเห็น เพื่อเพิ่มโอกาสในการแมตช์กับคนที่มีความชอบ, ความต้องการ, การมองหาในเรื่องที่คล้ายกัน ซึ่งคนที่เรา ‘ปัดซ้าย’ (ไม่ชอบ) ตั้งแต่แรกๆ จะถูกบันทึกและทำหน้าที่สแกนด้วยเทคโนโลยีบางอย่างสำหรับคนอื่นที่มีโปร์ไฟล์คล้ายๆ กับคนที่เราไม่ชอบ เพื่อจะระงับการ show up ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม อัลกอริทึมนี้ของ Tinder เชื่อมโยงไปถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้เรตติ้งคะแนนของเราเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่อง ‘รูปลักษณ์ – ความสวยหล่อ’ ในหน้าโปร์ไฟล์ของ users
Matching ถูกใจ แต่ไม่ยอมลบแอปฯ
สิ่งที่ Tinder ใช้ดึงดูดผู้เล่นให้อยู่กับพวกเขานานๆ แม้ว่าจะเจอคนที่ถูกใจแล้วแต่ก็ยังไม่ยอมลบแอปฯ ออกไป เป็นเพราะว่ารูปลักษณ์ที่ถูกใจถือว่าเป็นสารเสพติดอย่างหนึ่งที่กระตุ้นสมองให้เรารู้สึกดี เหมือนได้รางวัล เหมือนคนที่ diet นานๆ แล้วได้กินของหวาน หมายความว่า โปรไฟล์ที่จะโชว์เราต่อไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ 80% จะเป็นโปรไฟล์รูปลักษณ์ – ความชอบ – มุมมองการคิดที่เหมือนกับเรา หรือที่ถูกจริตเรานั่นเอง
โดย Vasily Klucharev, F.C. Donders Center ในเนเธอร์แลนด์ ได้พูดว่า รูปภาพ, วิดีโอที่ดึงดูดตามความชอบจะทำให้คนอยู่กับสิ่งนั้นได้นานกว่าเดิม นอกจากนี้ ตัวเลือกที่มากเกินไปทำให้เกิดความลังเลได้มากที่สุดตามหลักจิตวิทยา แสดงให้เห็นว่า แม้เราจะเจอคนที่ถูกใจรายล้อมแต่เราก็จะไม่ลบแอปฯ
ความน่าสนใจอีกอย่างคือ อัลกอริทึมของ Tinder จะทำให้เราเจอคนที่ถูกใจชวนให้แมตช์แค่ 80% ไม่ใช่ 100% เพราะว่าธรรมชาติของมนุษย์ยังชอบความท้าทาย ชอบการได้ลุ้น ชอบความตื่นเต้น เปรียบให้เห็นภาพก็เหมือนกับเรากำลังเล่นสล็อตแมชชีนที่คาสิโน – คาดเดาไม่ได้แต่รู้ว่ามีรางวัลใหญ่รออยู่
ทั้งนี้ Tinder ยังใช้เทคโนโลยีในการจับวิเคราะห์สำหรับคนที่ชอบปัดขวาจนหมดโควตา 100 ครั้ง/วัน ด้วยการ reset การวิเคราะห์ความชอบ และให้คะแนนการมองเห็นที่น้อยลงด้วย ซึ่งโอกาสที่จะเจอคนที่แมตช์ถูกใจก็จะน้อยลง
หากพูดถึงภาพรวมของอัลกอริทึมนี้ของ Tinder ที่จริงก็เป็นโมเดลให้กับหลายๆ ธุรกิจได้เหมือนกัน โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องการดึงลูกค้าให้อยู่กับแบรนด์ไปนานๆ แต่กระตุ้นความภักดีของพวกเขาด้วยระบบรางวัลสมอง (Brain Rewards) และที่สำคัญไม่ได้ให้ความชอบแก่ลูกค้าทั้ง 100% ระบบการทำงานรูปแบบนี้ให้ตัวเลือกพอสนุกๆ แต่ไม่ได้เหลือเฟือจนไม่น่าสนใจ
ความสำเร็จของ Tinder ยืนยันด้วยข้อมูลจาก Pew Research Center ในการสำรวจผู้ใช้คนอเมริกันที่บอกว่า มีเพียง 5% ที่เข้าใจและยอมรับว่า แอปฯ Tinder ช่วยให้พวกเขาไปสู่ความฝันที่จะมีคู่หรือแต่งงานได้ หมายความว่า users ที่เหลืออาจไม่ได้เชื่อมั่นในตรรกะการหาคู่จากเทคโนโลยีนี้ แล้วทำไมพวกเขาถึงยังใช้ Tinder หรือเคยลบแอปฯ แต่ก็กลับมาใช้ใหม่ คำตอบก็คือ ‘ติดใจ’ ซึ่งความภักดีที่ตอบสนองทางอารมณ์ได้จะทำให้ความภักดีเกิดขึ้นในระยะยาวกว่า
ที่มา: vox, psychology today, sciencemag