ส่อง 5 เทคนิคแนะนำ ‘ผู้บริหาร’ ตั้งแต่การรับมือ COVID-19 จนถึงวิกฤตคลี่คลาย และวิธีการ reset องค์กร

  • 160
  •  
  •  
  •  
  •  

เมื่อวิกฤต Coronavirus เล่นงานกว่า 204 ประเทศทั่วโลก ณ วันที่ 3 เม.ย. 63 ยืนยันตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งหมดรวมกันทะลุ 1 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อย คำถามก็คือ ระดับความเสียหายใหญ่ขนาดนี้ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในระดับประชาชนเท่านั้น แต่โจมตีระบบเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น ในระดับผู้นำธุรกิจเชื่อว่าเวลานี้คงเกิดคำถามมากมายจากพวกเขา ว่าอะไรจะช่วยนำพาให้รอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ได้?

รายงานของ McKinsey ได้ระบุถึง 5 เทคนิคที่น่าสนใจ เป็นข้อแนะนำไปยังกลุ่ม business leaders ว่าจะมีวิธีดำเนินการอย่างไร เริ่มตั้งแต่การรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จนไปถึงวิธีที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจทั้งหมดที่เสียหาย กลับมาฟื้นฟูคืนชีพได้อีกครั้ง หลังจากที่วิกฤตนี้คลี่คลายลง

 

 

Resolve (การแก้ไขปัญหา)

สิ่งนี้เป็นขั้นตอนเบื้องต้น แบบ basic สุดๆ ที่ระดับผู้นำต้องไตร่ตรองเป็นลำดับแรกๆ เพราะเมื่อเผชิญกับปัญหา ขั้นตอนแรกที่จะให้ความสำคัญก่อน ก็คือ กำหนดขั้นตอน, ช่วงเวลา, และแอคชั่นต่างๆ ที่จะมารับมือกับสถานการณ์โดยเร็วที่สุด โดยขั้นตอนเหล่านี้จำเป็นต้องรับมือไปพร้อมๆ กันทั้งภาครัฐ และเอกชน

อย่างที่ผ่านมา สิ่งแรกๆ ที่เราจะเห็นก็คือ ประเทศส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่ ‘ระบบสาธารณสุข’ ก่อนเพราะเป็นด่านแรกในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส อย่างเช่น การช่วยกัน support สิ่งอำนวยความสะดวก, อุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ทั้ง เตียงผู้ป่วย, เวชภัณฑ์ จนไปถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

ขั้นตอนต่อมาก็คือ เหล่าผู้นำทางธุรกิจเริ่มมองหาแผนรับมือสำหรับองค์กร และพนักงาน โดยเฉพาะ ‘ด้านความปลอดภัย’ จนนำมาสู่การ work from home (WFH) ซึ่งในทุกประเทศที่เผชิญปัญหานี้ได้เริ่มใช้มาตรการนี้ไปบ้างแล้ว

 

 

Resilience (ความยืดหยุ่น)

ในขั้นตอนนี้สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่กลายเป็นวิกฤตรุนแรงกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และด้านการเงิน ซึ่งน่าจะเกิน 50% ของประเทศทั่วโลก ที่กำลังประชันหน้ากับขั้นตอนที่ 2 นี้ ซึ่งความท้าทายก็คือ การประคองธุรกิจ (ที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เสียหาย) และการใส่ใจสุขภาพพนักงานในองค์กรมากขึ้น

ปรากฏการณ์ที่เราจะเห็นมากที่สุดในขั้นตอนที่ 2 ก็คือ ความไม่แน่นอน ทั้งสภาพคล่องทางการเงิน, จำนวนพนักงาน, นโยบายของบริษัท, ระยะเวลา และ รูปแบบของการรับมือ เป็นต้น

ดังนั้น ‘ความยืดหยุ่น’ เป็นสิ่งจำเป็นมากในช่วงเวลาแบบนี้ ผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องวางแผนเพื่อรับมือ อย่างน้อยก็ในช่วงระยะสั้น จนถึง ระยะกลาง โดยเฉพาะการจัดการเงินสดเพื่อเสริมสภาพคล่อง และต้องประเมิน cashflow ในระยะกลางด้วยว่าบริษัทจะสามารถอัดฉีดเงินได้นานแค่ไหน

ขณะเดียวกัน วิสัยทัศน์ผู้นำต้องเปิดกว้าง และปฏิบัติแผนรับมือ (ฉบับยืดหยุ่น) และต้องพร้อมปรับเปลี่ยนแผนทันทีที่สถานการณ์พลิกผัน รวมไปถึงควร reset ตำแหน่งในการแข่งขันทางธุรกิจอยู่เสมอ

ทั้งนี้ มีสิ่งหนึ่งที่เหล่า leaders ต้องเข้าใจก็คือ ไม่ใช่แค่เราที่ประสบปัญหานี้ แต่คนส่วนใหญ่กำลังพยายามรับมือกับความไม่แน่นอนจากการระบาด COVID-19 และตึงเครียดกับการเงินเช่นกัน เพื่อที่เราจะไม่รับแรงกดดันมากจนเกินไป

 

 

Return (กลับไปดำเนินธุรกิจตามปกติ)

ขั้นตอนนี้จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการ ‘ฟื้นฟูองค์กร’ ผู้นำต้องเริ่มคิดว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างไร ทิศทางเป็นแบบไหน และจะทำให้บริษัทกลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้งอย่างไร หลังจากที่ธุรกิจต้องระงับหลายๆ กิจกรรมไปชั่วคราวในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนัก

อย่างแรกที่ต้องทำแน่ๆ ก็คือ การ restart สายป่านธุรกิจทั้งหมดอีกครั้ง โดยเหล่า leaders ต้องเริ่มประเมินระบบธุรกิจของพวกเขา และวางแผนสำหรับการฟื้นฟูธุรกิจให้เหมือนเดิม หรือดีขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งต้องเรียนรู้ ‘จุดอ่อน’ ขององค์กรในช่วงที่เผชิญปัญหา และนำมาประเมินเพื่อเป็น guideline สำหรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลในแต่ละประเทศต้องเริ่มบรรเทาความทุกข์หลังจากเคลียร์สถานการณ์ทันที โดยเฉพาะความทุกข์ของประชาชน และตามด้วยการ pullback เศรษฐกิจใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง

 

 

Reimagination (การสร้างภาพลักษณ์อีกครั้ง)

นอกจากการฟื้นสภาพคล่องขององค์กร อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญก็คือ การสร้างภาพลักษณ์ให้ดีเหมือนเดิม ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลมากขึ้นของผู้นำ โดย McKinsey ชี้ว่า การเกิดวิกฤตในแต่ละครั้งไม่เพียงแต่จะทำให้เรารู้จุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง แต่แง่ดีของมันก็คือ เป็นโอกาสที่ดีในการเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ เสริมใยเหล็กให้แกร่งขึ้น

เหล่า leaders ต้องพิจารณาหลายๆ ปัจจัย ตั้งแต่อะไรที่ต้องปรับปรุงเพิ่ม อะไรที่ต้องเพิ่มเติม และอะไรที่ได้รับการแก้ไขแล้วในช่วงที่เกิดวิกฤต เพื่อให้เราจัดลำดับสิ่งที่ต้องทำต่อไปได้ง่ายขึ้น

อีกอย่างหนึ่งที่ผู้นำต้องตระหนัก ก็คือ ในกรณีที่บุคลากรของบริษัทยังไม่พร้อมทำงาน พอจะมีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่สามารถช่วยให้การทำงานนั้น flow ขึ้นในช่วงระหว่างที่เราต้องฟื้นฟูองค์กรทั้งหมด โดยใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูให้สั้นที่สุด เพราะความเข้าใจและการนำมาปรับใช้เทคโนโลยีบางอย่างในช่วงที่ถูกต้อง ก็ถือว่าเป็นการเพิ่ม productivity ให้กับบริษัทได้เช่นเดียวกัน

 

 

Reform (การปฏิรูป)

เราน่าจะเคยได้ยินคำว่า “ฟ้าหลังฝน ย่อมสวยงามเสมอ” ซึ่งน่าจะอธิบายถึงวิกฤตการระบาดครั้งนี้ได้ดีทีเดียว โดยมีประโยคหนึ่งในรายงานของ McKinsey ที่พูดเอาไว้ว่า “เมื่อเราผ่านวิกฤตครั้งนี้ได้ โลกก็จะมีคำอธิบายที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันนี้” ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ความท้าทายใหญ่ระดับโลกขนาดนี้ จะทำให้การรับมือของเรานั้นแกร่งขึ้นหากเราต้องเผชิญปัญหาอีก

ในแต่ละประเทศจะเกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ขึ้น หลังจากที่รับความเสียหายมานาน ภาพของความร่วมมือจากหลายๆ ส่วน ตั้งแต่รัฐบาล-เอกชน-ประชาชนจะเกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการ reset ระบบใหม่อีกครั้ง

ระดับการตอบสนองกับเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะของรัฐบาลเอง หรือ ธุรกิจต่างๆ จะดีและเร็วขึ้น การเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะช่วยให้การทำงานทั้งประเทศเป็นระบบ

ขณะที่เหล่าผู้นำธุรกิจเอง ควรใช้โอกาสในครั้งนี้ เรียนรู้ และปรับปรุง ไม่ใช่แค่การพัฒนาเทคโนโลยี-นวัตกรรมใหม่ๆ แต่ยังหมายถึง วัฒนธรรมองค์กร และแนวทางการทำงานที่เหมาะสมกับบริษัทด้วย ไม่แน่นะ บางบริษัทอาจจะใช้วิธีเพิ่ม productivity จากการ WFH ต่อก็ได้

 

 

ที่มา : marketing-interactive


  • 160
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม