ตั้งแต่เราเข้าสู่ยุค Social Media Marketing นั้น การวัดประสิทธิภาพด้วยตัวเลขกลายเป็นมาตราฐานใหม่ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเทคโนโลยีดิจิตัลทำให้เราสามารถเก็บข้อมูลได้ละเอียดมากขึ้น มีตัวเลขระบุที่ละเอียดกว่าสื่อแบบก่อนๆ ที่เป็นการประมาณว่าเข้าถึงผู้ชมเท่าไร เพราะเอาเข้าจริงๆ เราก็คงตอบได้ไม่แน่นอนนักว่าคนเห็นป้ายโฆษณาทุกวันนี้กี่คน ดูทีวีช่องนั้นนี้กี่ครอบครัว หรือ ถ้าหนักๆ คือเรตติ้งเหล่านั้นเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหนกัน
การเข้ามามีบทบาทของ Social Media ทำให้นักการตลาดจำนวนมากสามารถจับต้องอะไรหลายๆ อย่างได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นจำนวน Like และ ตัวเลข Talking About This ของ Facebook Page จำนวน Follower ของ Twitter และ Instagram ตลอดไปจนจำนวน View ของ YouTube
แน่นอนว่าตัวเลขที่ถูกนำมาแสดงนี้กลายเป็นเหมือนผลงานชิ้วโบว์แดงของนักการตลาดหลายๆ คนเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่การพรีเซนต์ว่า Facebook Page ของตัวเองมีแฟนแล้วแสนคน ล้านคน หรือการเห็นว่าคลิปวีดีโอที่ตัวเองอัพขึ้นไปนั้นมีคนดูหลายแสนวิว และแน่นอนว่านั่นกลายเป็นสิ่งที่สวยหรูเวลานำไปใส่ในพรีเซนเตชั่นนำเสนอเคสต่อที่ประชุม หรือนำไปเล่าสู่กันฟังต่อ
คลิปที่ทำเนี่ย ถูกวิวถึงกว่า 1 ล้านวิว
Twitter ของเรามีคนติดตามอยู่กว่า 1 แสนคน
มีคนกดไลค์ Facebook Page ของเราเกิน 1 ล้านคนแล้ว
แน่นอนว่าครับว่าทุกวันนี้หลายๆ แบรนด์ตั้งความสำเร็จในการทำการตลาดตัวเองไว้คล้ายๆ กับประโยคข้างต้นนั่นแหละ มีหลายแบรนด์ทำได้ และหลายแบรนด์ทำไม่ได้
แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะไม่รู้คือตัวเลขเหล่านี้อาจจะเป็นตัวเลขที่หลอกเรา ทั้งในแง่ผู้ชมที่รับฟังข่าว หรือแม้กับตัวผู้บริหารที่รอฟังผลงานเพราะตัวเลขเหล่านี้สามารถหาซื้อกันได้แบบง่ายๆ ชนิดที่คุณคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว
การที่โลกดิจิตอลเกิดขึ้นในอินเตอร์เนต นั่นเสมือนกับเป็นอีกโลกหนึ่งซึ่งมีพรหมแดนที่ไม่เหมือนโลกที่เราอยู่ เช่นเดียวกับตัวตนหรือการกระทำที่ต้องผ่านเครื่องมืออย่างหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือเข้าเว็บไซต์ และนั่นกลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดธุรกิจแบบนี้ โดยถ้าเราลองขยัน Search หาข้อมูลทางอินเตอร์เนตแล้ว เราจะเจอบริการมากมายทั้งการขายไลค์ รับเพิ่ม Follower และรับเพิ่ม Video View ใน YouTube
จะว่าไปแล้ว สาเหตุที่ธุรกิจแบบนี้เกิดขึ้นก็คงเพราะตัวเลขเหล่านี้ถูกคนนำมาใช้ตัดสิน “คุณค่า” ของแต่ละคน (รวมทั้งแบรนด์) แบบตื้นเขินอยู่เสียหน่อย เช่นถ้าใครมี Follower เยอะก็จะกลายเป็นเหมือนคนดัง มีคนยอมรับ แถมทำให้คนอื่นที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเข้าใจว่าเป็นคนเก่งอะไรได้อีก ส่วนบรรดาการตลาดนั้น ถ้ายิ่งมีจำนวนมากเท่าไรก็ยิ่งเหมือนว่าสำเร็จมากขึ้นด้วยเช่นกัน
พอเป็นเช่นนี้แล้ว หลายๆ คนจึงมองหาช่องทางในการเพิ่มตัวเลข “คุณค่า” ให้กับตัวเอง เช่นเดียวกับนักการตลาดบางคนที่อยากได้ตัวเลขเยอะๆ มาโชว์ในผลงาน ธุรกิจขายตัวเลขจึงตอบโจทย์ดังกล่าว
ทีนี้หลายคนอาจจะแย้งกันว่าตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขที่ปลอม กล่าวคือคนที่มากดไลค์ก็ไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายจริง จำนวนมากที่เป็น Account ปลอม View ปลอมชนิดที่ถามหาคุณภาพไม่ได้ แล้วจะมีประโยชน์อะไร ผมก็พอจะอธิบายได้ว่ามีคนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของตัวเลขเหล่านี้และถูกมันหลอกเอาได้ง่ายๆ เพราะจะมีสักกี่คนที่ฉุกคิดและตั้งคำถามว่า Follower ของคนนั้นเป็น Account จริงสักกี่คน เป็น Active User จริงกี่คน หรือคนที่มากดไลค์ Facebook ของเพจนี้จริงๆ แล้วเป็นใครกัน ซึ่งคนที่รู้ข้อมูลลึกๆ จริงก็จะมีแต่บรรดาแอดมินของเพจหรือเจ้าของแอคเค้านท์ (และแน่นอนว่าเขาก็คงไม่ออกมาบอกความจริงกับคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน)
พอเป็นเช่นนี้ ตัวเลขดังกล่าวเลยกลายเป็นผักชีโรยหน้าที่ทำให้บรรดา Facebook Page / Instagram / Twitter / YouTube ดูหอมหวลและน่าสนใจสำหรับคนที่รู้ไม่เท่าทันนั่นแหละครับ
จากประสบการณ์ของผมที่ลองทดสอบใช้บริการเหล่านี้ทั้งซื้อ View และซื้อ Like ก็ทำให้อดประหลาดใจไม่ได้เพราะบรรดาเว็บไซต์เหล่านี้ทำให้ได้อย่างรวดเร็วและตามคำโฆษณา ส่วนคุณภาพของตัวเลขนั้นก็อย่างคาดเอาไว้คือไม่มีคุณภาพเลย (เช่น Account มาจากต่างประเทศ เป็น Annonymous หรือการดูคลิปจากรัสเซียและยูเครน -*-”)
เมื่อเราเข้าสู่ยุคดิติตอลแล้ว ตัวเลขวัดผลเป็นคุณสมบัติที่ถูกยกว่าเป็นความแตกต่างที่ทำให้สื่อดิจิตอลเหนือสื่ออื่นๆ แน่นอนว่ามันทำให้หลายๆ คนสามารถประเมินและวิเคราะห์งานตัวเองได้มากมาย แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ควรรู้เท่าทันว่าตัวเลขเหล่านั้นใช่ว่าจะเป็นตัวเลขจริง 100% อย่างที่หลายๆ คนเชื่อแต่อย่างใด มันอาจจะถูกปรับแต่ง ดัดแปลง หรือซุกซ่อนความลับอะไรบางอย่างที่เรามองเข้าไปแล้วไม่เห็น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว นักการตลาดดิจิตอลก็ควรจะคิดให้ดี รู้ให้ทัน และไม่ตกเป็นเหยื่อของตัวเลขเหล่านี้
เพราะก็คงไม่มีใครอยากเป็นคนโง่ที่ถูกหลอกเป็นแน่แท้