สืบเนื่องจากบทความที่แล้ว ที่มีการแนะนำ Clubhouse และวิธีการเล่นที่ทดลองมาด้วยตนเอง บทความนี้ ขอมาเสริมเกี่ยวกับมุมมองที่เห็น และอยากจะแบ่งปันกับท่านผู้อ่าน ทั้งผู้ที่เข้าไปทดลองใช้แล้ว และผู้ที่ยังไม่ได้เข้าไป ดังต่อไปนี้
เข้าก่อนได้เปรียบ
สำหรับผู้สร้างคอนเทนท์ หรือ Influencer การที่เข้าไปริเริ่มตั้งรกรากก่อนใคร แบบที่การตลาดเรียกว่า เป็น First mover ก็มีส่วนทำให้ ได้เปรียบ และเติบโตได้ เร็วกว่า หรือ ง่ายกว่า ผู้ที่ตามเข้าไปทีหลัง ยกตัวอย่างเช่น แพลทฟอร์ม YouTube ผู้ที่เข้าไปสร้างช่อง แล้วทำวิดีโอก่อนใครในช่วงแรกๆ ที่ยังไม่ค่อยมีคนทำ ก็มีโอกาสที่จะเติบโต เป็นที่รู้จักของคนได้มากกว่า
สำหรับ Clubhouse ในปัจจุบัน คนไทยที่เข้าไปใช้งานได้ แม้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่ถึงครึ่งของผู้ใช้มือถือไทยเลย ทั้งจากการที่ยังไม่มีแอพสำหรับมือถือระบบแอนดรอยด์ที่คนไทยส่วนมากใช้ ฝั่งผู้ที่ใช้มือถือระบบไอโฟนเอง ก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าได้ทุกคน ยังต้องผ่านระบบการแนะนำ ด้วย “Invite” หรือ ระบบ “ป๋าดัน” ที่เพื่อนช่วยกดลัดคิวให้ ในอีกมุมหนึ่ง จึงแปลว่าผู้ที่จะ “สร้างตัว” สร้างคอนเทนท์ สร้างผู้ติดตามบนแพลทฟอร์มนี้ มีคู่แข่งน้อยไปด้วย เมื่อมีผู้ผลิตคอนเทนท์น้อย มีคู่แข่งน้อย สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าไปฟังคอนเทนท์ ก็มีตัวเลือกน้อย โอกาสที่คนไทย ที่เข้าไปในระบบ Clubhouse ตอนนี้ จะแวะเวียนมาฟัง คอนเทนท์ของเรา ก็มีมากกว่า ในอนาคตที่คนเข้ามามากขึ้นๆ มีตัวเลือกให้คนเลือกมากขึ้นๆ
ดังนั้น สำหรับ Influencer หรือผู้สร้างคอนเทนท์ ที่ต้องการจะเข้าไปสร้างตัว ยึดครองพื้นที่ เติบโตฐานผู้ติดตาม ในแพลทฟอร์มใหม่นี้ ช่วงแรกๆ อย่างนี้เป็นเวลาทอง ที่ถ้าเข้าไปได้ก่อน ได้เรียนรู้ก่อน ทดลองก่อน สร้างคอนเทนท์ก่อน ก็สร้างฐานได้ก่อนเช่นกัน จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่า กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีความสนใจและบุกเข้าไปเปิดพื้นที่ใน Clubhouse กันจำนวนไม่น้อย ก็คือกลุ่ม ผู้สร้างคอนเทนท์ และ Influencer นั่นเอง
ไกล แต่ยังไม่ทั่วถึง
ถ้าลองมองที่ตัวคอนเทนท์ บริการ ที่ Clubhouse สร้างให้ดีดี เอาภาพความทันสมัย กระแส ออกไป จะเห็นว่า มันก็มีความคล้าย รายการวิทยุถ่ายทอดสด ที่เราฟังกันผ่านเครื่องเล่นวิทยุ ตั้งแต่อดีต จนถึง ปัจจุบัน เพราะคอนเทนท์หลัก ที่ Clubhouse ยึดมั่น และชัดเจนในทิศทางของบริการ เปรียบในความคุ้นเคยของเรา ก็คือ การที่เราสามารถเข้าไปฟัง รายการวิทยุแบบสดๆ นี้ (จะเรียกว่า ทอล์คโชว์ หรือ ดีเจจัดรายการสดที่มีแต่เสียง ก็ได้) จากผู้จัดหลากหลายสถานี ทั่วโลก นั่นเอง
มองว่า สิ่งที่ทำให้ Clubhouse โดดเด่นกว่า รายการวิทยุแบบเดิมๆ คือ การที่สามารถรวมเอา คอนเทนท์รูปแบบเดียวกันนี้ จากผู้ผลิตหลากหลาย มาไว้ในที่เดียวกัน ให้คนเข้าถึงได้ “ง่าย” ไม่มีข้อจำกัดของระบบสัญญาณวิทยุแบบเก่า เรื่องเกี่ยวกับการเช่าสถานี หรืออุปกรณ์ในการถ่ายทอด ใช้เพียงแค่ มือถือ ก็สามารถจัดรายการวิทยุของตัวเองได้ และ เข้าถึงคนได้ทั่วโลก แม้ในปัจจุบัน เรายังไม่เข้าใจระบบการแสดง คอนเทนท์รายการสดนี้ ว่าระบบทำงานอย่างไร เราเห็นรายการสด ของทุกคนในระบบไหม แต่อย่างน้อยก็ได้เห็น และสามารถเข้าไปร่วมใน รายการสดที่จัดโดยคนจากหลากหลายประเทศ เช่น เข้าร่วมฟังแนวทางของการพัฒนา Clubhouse และตอบคำถาม จากผู้พัฒนาโดยตรง, เข้าร่วมสัมมนา เปิดตลาดประเทศจีน ที่จัดโดยชาวต่างชาติในภาษาอังกฤษ, เข้าไปฟังคนญี่ปุ่น พูดคุยกัน (ฟังไม่ออก ^^”) รวมทั้งเข้าร่วมรายการสดที่จัดโดยเพื่อนชาวไทย ในหลากหลายหัวข้อ ทั้งหมดนี้ ง่ายแค่คลิก ก็สามารถกระโดดเข้าออกห้องต่างๆ ได้โดยเร็ว ไม่รบกวนผู้ที่กำลังจัดรายการอยู่ คือ “ง่าย” ทั้งผู้จัด และ ผู้ฟัง
ความ “ง่าย” นี้เอง น่าจะเป็นหนึ่งใน ปรัชญาหลักของ Clubhouse ที่ผู้พัฒนายึดถือ และแสดงออกมาผ่าน ระบบการใช้งานที่เข้าใจง่าย น้อย ตรงไปตรงมา โฟกัส ซึ่ง เอื้อต่อการที่ ผู้ใช้งานจะสามารถเรียนรู้ และใช้เป็นได้ไม่ยาก ไม่รู้สึกว่าซับซ้อน จนไม่สนใจตัวบริการไป
แต่ กระแสที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่คนพูดถึงกัน คนสนใจกันมาก ไม่ได้เกิดจากความ “ง่าย” ที่ว่า เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากอีกหลายๆ ปัจจัย เช่น โอกาสการสร้างผู้ติดตามก่อนใคร อย่างที่กล่าวข้างต้น, โอกาสในการเข้าถึง นักลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพใหญ่ๆ ทั้งไทยและเทศ สำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพ, โอกาสในการได้รับฟัง คนเก่ง คนดัง ในหลายวงการ แชร์ความรู้ เทคนิคต่างๆ กันฟรีๆ โดยตรง ที่ในอดีตอาจจะต้องซื้อตั๋วเข้าฟังราคาแพงๆ หรือต้องบินไปเข้าร่วมงานที่ต่างประเทศ หรือ กระทั่ง ความสุขเล็กๆ ของการได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่กำลังเป็นกระแส คนสนใจกัน ได้เข้าไปทดลองใช้ก่อนใคร และอีกหลายๆ เหตุผลที่ไม่ได้กล่าวถึง เหล่านี้ ผู้เขียนมองว่าเป็นตัวผลักดันหลัก ของกระแสความสนใจในปัจจุบัน มากกว่าการใช้งาน “ง่าย” ของตัวบริการเองเสียอีก
อย่างไรก็ดี Clubhouse ในวันนี้ยังไม่ใช่ เครื่องมือที่เหมาะจะมาใช้ สำหรับการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ในวงกว้าง เพราะเหตุสำคัญที่กล่าวไปแล้วว่า คนส่วนใหญ่ ยังไม่ได้สามารถเข้ามาใช้บริการได้ สิ่งที่เผยแพร่อยู่ในระบบ จึงมีเพียงคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ที่เข้าถึงได้ จึงอาจจะยังไม่เหมาะ ที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดงานสัมมนา การเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือ การแชร์ข้อมูลที่คาดหวังให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง คงต้องรอจนกว่า ระบบจะพร้อมที่จะเปิดรับ ผู้ที่สนใจทุกคน เข้ามาใช้งานกันได้ อย่างอิสระ แบบที่แพลทฟอร์มใหญ่ๆ ต่างๆ ส่วนมากเป็นอยู่ และไม่จำกัดเฉพาะ ผู้ใช้มือถือในระบบไอโฟน (หรือใช้ไอแพด) อย่างปัจจุบัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ทางผู้พัฒนา Clubhouse ได้เคยกล่าวไว้ ว่าต้องการทำให้ทุกคน ใช้งานได้ในที่สุด (จากรายการสด โดยผู้พัฒนา ที่ผู้เขียนได้ฟังด้วยตัวเอง)
พลิกเกมคอนเทนท์สาระ
อีกหนึ่งเรื่อง ที่อยากจะแชร์กับผู้อ่าน คือ โอกาสของคอนเทนท์ที่ต่างออกไป ในปัจจุบัน แพลทฟอร์มคอนเทนท์ที่เป็นที่นิยม น่าจะไม่พลาด คอนเทนท์รูปแบบวิดีโอ เช่น YouTube และ ประเภทของคอนเทนท์ที่ได้รับความนิยมสูง ในมุมมองของผู้เขียน คือ คอนเทนท์ประเภทบันเทิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รายการเกมโชว์ ละคร ซีรีส์ ภาพยนตร์ มิวสิควิดีโอ รายการตลก กีฬา หรือ เกม คอนเทนท์เหล่านี้ จะมียอดการชม มีผู้ติดตาม ที่มาก กว่าคอนเทนท์ประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะ คอนเทนท์ประเภทสาระ ให้ความรู้ ที่ถึงแม้จะมีคนสนใจไม่น้อย แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะ คอนเทนท์บันเทิงไปได้ แต่ในบ้านของ Clubhouse สิ่งที่นี้อาจจะต่างออกไป
จากที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า รูปแบบของคอนเทนท์ของ Clubhouse มีความคล้ายกับรายการวิทยุ ที่เราคุ้นเคย ที่จะมีรายการประเภท ข่าว สาระ พูดคุยในแวดวงต่างๆ เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่ง และอีกเหตุหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะว่า คอนเทนท์ประเภทบันเทิงนั้น น่าสนใจกว่า สนุกว่า ในแพลทฟอร์มอื่น โดยเฉพาะแพลทฟอร์มที่เป็นวิดีโอ จึงทำให้ ผู้เขียนมองว่า Clubhouse เป็นเวทีที่ดีมากๆ สำหรับ ผู้สร้างคอนเทนท์แนวสาระ ความรู้ จะได้รับความสนใจ ได้ผลมาก บนแพลทฟอร์มนี้
ความเสี่ยง ก็มีนะ
ในปัจจุบัน Clubhouse ยังไม่มีโฆษณาใดใด ใช้งานง่าย ไม่มีอะไรมากวนใจ ผู้ใช้จึงถูกใจกัน ใช้กันเพลิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ในอนาคตจะไม่มี และยิ่งแพลทฟอร์มเติบโตอย่างรวดเร็ว จนแพลทฟอร์มยักษ์ใหญ่ๆ หลายราย ออกข่าวพัฒนาฟีเจอร์ในลักษณะเดียวกันแล้ว ก็มีโอกาสที่ Clubhouse อาจจะโดนควบรวม โดนเทคโอเวอร์ โดยนักลงทุนเจ้าของแพลทฟอร์มยักษ์ใหญ่รายใดรายหนึ่งในอนาคต ก็เป็นได้เหมือนกัน ซึ่งเราคงทราบกันดีกว่า แพลทฟอร์มดังๆ ในอดีต ที่โดนควบรวมเข้ากับแพลทฟอร์มใหญ่ เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรตามมา บางรายก็เปลี่ยนไม่มาก บางรายก็เปลี่ยนมากจนกระทบกับความรู้สึกของผู้ใช้งานก็มี
ยังมีเรื่องของ ปริมาณคอนเทนท์ ที่จะมากขึ้น เมื่อแพลทฟอร์มเปิดให้ทุกคน เข้ามาใช้งานได้อย่างที่กล่าวไปข้างต้น จนแพลทฟอร์มอาจจะต้องทำการ เลือก คอนเทนท์ที่คาดว่าผู้ใช้จะสนใจให้เอง อย่างที่บางแพลทฟอร์มใหญ่ทำในปัจจุบัน ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อผู้สร้างคอนเทนท์ หากมันทำให้ ผู้ติดตามไม่เห็น คอนเทนท์ที่เข้าสร้างขึ้น ดังที่เคยเป็นก่อนหน้านั้น อนาคตอะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่มีอะไรแน่นอน เราคงต้องติดตามกันต่อไป
บทความนี้ ผู้เขียนวิเคราะห์จากมุมมอง และประสบการณ์ส่วนตัว มีการคาดการณ์ประกอบ ซึ่งผู้อ่านแต่ละท่าน อาจจะเห็นในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไปนะครับ ขอเป็นการแชร์มุมมองที่ผู้เขียนมอง ด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อย เป็นแนวความคิดหนึ่ง แต่ไม่ได้ตัดสินว่าอะไรถูกผิด และหากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย นะครับ ขอบคุณครับ ^^
@jarern เจริญ ลักษณ์เลิศกุล