Hi Houston! เบื้องหลัง Wolf X CP พาไก่ไปอวกาศ โฆษณาที่คิดเลยโจทย์ลูกค้า แต่พาลูกค้าไปสู่จุดสูงที่สุด

  • 236
  •  
  •  
  •  
  •  

 

หลายคนอาจจะมีคำถามว่า อาหารที่เราซื้อกิน ซื้อมาทำทุกวันนี้ สะอาดปลอดภัยพอหรือไม่ นี่เป็นคำถามเบสิคที่เราคิดก่อนจะซื้ออาหารทุกครั้ง ดังนั้น จะดีแค่ไหน ถ้าเรารู้ว่าอาหารที่เราบริโภค ได้มาตรฐานระดับโลก แต่มากไปกว่าระดับโลก มันคือทะลุ “อวกาศ” ไปแล้ว โครงการ Thai food – Mission to Space ซึ่งทาง CPF ทำงานร่วมกับพันธมิตร และศูนย์วิจัยด้านอาหารอวกาศของสหรัฐฯ โดยทำให้เนื้อไก่ที่เราซื้อกินกันทั่วๆ ไปนั้น ได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับอวกาศของนาซา (NASA) เรียกง่ายๆ ว่า เรากินไก่ในมาตรฐานเดียวกับ “มนุษย์อวกาศ” ทรัพยากรบุคคลที่มีค่าที่สุดขององค์กรนาซ่า นั่นแหละ

อย่างไรก็ตาม บทความนี้เราไม่ได้พูดเรื่องมาตรฐานอาหาร แต่จะเปิดเบื้องหลังการทำงาน ที่สุดโหด สุดหิน ที่ใช้เวลากว่า 1 ปีในการทำงาน พร้อมกับงบประมาณที่บานปลายไปกว่า 3 เท่าตัว ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ โครงการนี้ จุดประกายโดย ‘เอเจนซี่’ เองเลย

Marketing Oops! ได้มาคุยเบื้องหลังผลงานโฆษณา เต้ย – ต่อศักดิ์ ชื่นประภา Co-Founder & Chief Creative Officer Wolf BKK เอเจนซี่ที่ครีเอทไอเดียงานนี้ และ เอ๋ – ธีระพล สุเนต์ตา ผู้กำกับภาพยนตร์ โฆษณา และผู้ก่อตั้ง Suneta House ผู้เสกไอเดียที่อยู่ในอากาศให้เป็นจริง

 

 

Houston, We are go for Launch.

คุณเต้ย เล่าให้ฟังถึงโจทย์ที่ได้รับจากลูกค้าว่า ลูกค้าอยากโฆษณาว่าไก่สดของ CP สะอาดปลอดภัยได้มาตรฐานการรับรองระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ISO, GMP, HACCP NSF คือมาตรฐานความปลอดภัยที่ไก่ CP มี และโลกให้การยอมรับ

แต่ทางทีม Wolf เราคิดว่ามันยังไม่พอ เราเชื่อว่ามัน Breakthrough ได้มากกว่านี้ จึงพยายามมองหาวิธีอื่นที่นอกกรอบ ดังนั้น ไอเดียของพวกเราจึงแตะไปไกลว่า ถ้าเกิดว่าไก่ที่เรากินมันได้มาตรฐานถึงขนาดที่ว่า ส่งไปนอกโลกได้ หรือเป็นมาตรฐานที่นักบินอวกาศก็ยังกินได้เช่นกัน มันจะทำให้ลูกค้าเหนือกว่าคู่แข่งแน่นอน

แต่ก่อนไปขายไอเดียนี้ เราไปทำรีเสิร์ชมาก่อนว่า การส่งของขึ้นไปบนอวกาศ ต้องมีขั้นตอนอะไรอย่างไรบ้าง จนเราไปพบว่ามีตัวแทนของคนที่ทำงานด้านนี้อยู่ที่ประเทศไทยด้วย นั่นคือ  Nanoracks ซึ่งเขาก็อธิบายว่า มีขั้นตอนอย่างไร ทำอะไรบ้าง แล้วเราก็เอาขั้นตอนทั้งหมดนี้ไปอธิบายให้ลูกค้าฟัง เอาไอเดียนี้ไปขาย

“ที่มาขอไอเดียนี้ ก็เพราะเรามองวา มาตรฐานทุกอย่างบนโลก ลูกค้าเราได้มาหมดแล้ว คู่แข่งเองก็มี แล้วอะไรล่ะที่จะทำให้เขาแตกต่างจากคนอื่น หรือถ้างั้นเราคงต้องไปมาตรฐานนอกโลกแล้วล่ะ แต่ตอนที่น้องมาขายไอเดียนี้ ผมก็ลังเลว่า มันจะได้ไหม คือถ้าไม่ใช่ลูกค้าระดับ CP ที่ทำงานระดับโลกอยู่แล้ว เราก็ไม่กล้าเสนอไอเดียนี้นะ ซึ่งผมก็มีอีก 2-3 ไอเดียไปขายด้วย แต่ปรากฏว่า ทางลูกค้าเองเขาก็มั่นใจว่าไก่เขาสะอาดปลอดภัยได้มาตรฐานที่แม้แต่ NASA ยอมรับแน่นอน สามารถส่งไปสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ได้ ซึ่งนี่สุดเขาก็ซื้อไอเดียนี้ ไอเดียที่ยากที่สุด”

กระบวนการกว่าจะเข้าถึง NASA ที่โหดและหิน

เมื่อเคาะกันได้แล้วว่า เราจะเอาทางนี้แหละ คือทางที่ยากที่สุด จากนั้นก็เริ่มดำเนินการในการติดต่อประสานงานทุกๆ ขั้นตอนซึ่งยิบย่อยมาก ตั้งแต่ติดต่อ Nanoracks ประสานไปยังตัวแทนอีกที่ที่จะต้องส่งของให้ Space X แล้วทาง Space X จะประสานกับ NASA ให้อีกที แต่ละฝ่ายเขาก็ทำงานกันเป็นทอดๆ มีขั้นตอนและกระบวนการมากมายทีเดียว กว่าที่ปลายทางคือ NASA จะยอมรับและมอบโลโก้ให้เรานำมาใช้ได้ คือไม่ได้ง่ายเลย

แค่เฉพาะขั้นตอนการประสานงานก็กินเวลาไปมาก ยังไม่นับรวมถึงกระบวนการที่เราต้องพิสูจน์ให้ได้ด้วยว่า ไก่เราได้มาตรฐานจริง สะอาดปลอดภัยพอที่จะส่งไปยังยานอวกาศได้จริง และเหมาะสมได้มาตรฐานสำหรับที่จะให้นักบินอวกาศของเขากินได้ด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าบุคคลที่จะได้เป็นนักอวกาศไม่ได้เป็นกันง่าย ถือว่าเป็นทรัพยกรบุคคลที่มีค่าที่สุดของเขาเลยก็ว่าได้ ดังนั้น ทุกนาที ทุกขั้นตอน ผ่านการทำงานที่ยากมาก จนทั้งหมดกว่าโครงการทั้งหมดจะเรียบร้อยก็ใช้เวลา 1 ปีเลย กับงบฯสร้างที่บานไปถึง 3 เท่า

“เดี๋ยวใจห่อ เดี๋ยวใจฟู ว่าจะผ่านไม่ผ่านนั้น มันลุ้นแทบทุกนาทีจริงๆ แต่ทั้งหมดนี้ สุดท้ายเราก็ทำมันสำเร็จ ไก่ของลูกค้า ได้รับการยอมรับว่าส่งไปยังอวกาศและเหมาะสมได้มาตรฐานให้นักบินอวกาศทานได้จริง ทีมงานเราทุกคนทุ่มเทกับงานชิ้นนี้มากจริงๆ จากที่ลูกค้าให้มาโฆษณาไก่ แต่เรากลับพาลูกค้าไปไกลถึงอวกาศเลย เราพาลูกค้าไปไกลโคตรๆ จริงๆ และเราไม่คิด ไม่ฝันเลยว่างานชิ้นนี้มันจะเกิดขึ้นได้จริงๆ”

จับมือกล้าไปพร้อมกันทั้งลูกค้าและเอเจนซี่ คือ Key Success

เมื่อถาม คุณเต้ยว่าอะไรคือ Key Success ที่ทำให้งานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จได้ มันคือการทำงานที่เอา Objective ของลูกค้าเป็นตัวตั้ง เมื่อเขาอยากจะบอกว่าไก่ของเขาสะอาด หน้าที่เราอาจจะไม่ใช่ที่ว่า ฟังแค่ว่าเขาอยากได้อะไร Print Ads,  Billboard ฯลฯ อย่าเพิ่งไปคิด ให้เราคิดว่า จะมีอะไรบ้างที่จะบรรลุ Objective ของลูกค้า วิธีไหนคือวิธีที่ดีที่สุด ที่จะทำให้ลูกค้าไปถึงจุดนั้นให้ได้ แล้วเราก็โอเพ่นเลย เราก็ลองทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เกิดงานที่ดีที่สุด

อักษรย่อ 3-4 ตัวเรื่องมาตรฐาน มันดีก็จริง แต่ผู้บริโภคอาจจะไม่รีเลทด้วย แต่พอเราบอกว่า เราส่งไก่ไปให้มนุษย์อวกาศกิน เด็กประถมยังเข้าใจเลยว่า สิ่งนี้มันต้องดีจริง มันสะอาด มันได้มาตรฐาน มันรีเลทกับคนได้ง่ายเลยว่า มันคือมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงที่สุดแล้ว เราว่าอันนี้มันคือ Key Success ที่ว่าไก่ CP มันได้มาตรฐานระดับนี้แล้วจริงๆ

นอกจากนี้ บทเรียนที่คิดว่าได้จากตรงนี้เลยก็คือ ทุกไอเดียที่เราคิดมา ถ้ามันดีกับลูกค้านะ เราอย่าเพิ่งไป Kill มัน ลองคิดดูก่อนว่ามันดีกับลูกค้าจริงไหม ถ้ามันดีจริง ลองดูก่อน  เพราะไม่แน่ว่าถ้าลูกค้าเห็นว่าดีเขาอาจจะเอาด้วยกับเราก็ได้

“บางครั้งก่อนที่คุณจะ Kill Idea อะไร ที่คิดว่ามันอาจจะบ้าๆ บอๆ ลอง แต่ถ้ามันดีกับลูกค้าจริงๆ ลองได้อธิบายให้ลูกค้าฟัง ถ้าลูกค้าเข้าใจเขาเอาด้วยแน่ จากที่บอกว่าอยากได้งานใน 2-3 เดือน เขาก็ตัดสินใจรองานชิ้นนี้ในเวลาปีกว่า จนในที่สุดมันก็สำเร็จออกมา อันนี้ก็ต้องชื่นชมความกล้าของลูกค้าด้วยว่า กล้าที่จะจับมือไปด้วยกัน”

การเปลี่ยนแปลงของการทำหนังโฆษณา

ถ้าให้พูดถึงมุมมองการทำหนังโฆษณาในปัจจุบัน มันเปลี่ยนไปมากหรือไม่ คุณเต้ย บอกว่า แน่นอนว่ามันเปลี่ยนไป กับอดีตที่เราบังคับเขาให้ต้องดูโฆษณาบนทีวีแบบเมื่อก่อน ละครดังที่ฉายแล้วก็ต้องการซื้อโฆษณามาคั่นรายการ มันคือการบังคับให้เขาดู นี่คืออดีตที่เป็น แต่ตอนนี้เราไม่สามารถทำอย่างนั้นได้แล้ว ต่อให้เป็น Youtube ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นการทำโฆษณาที่ทำให้เขาอยากดู แล้วมันสื่อสารกับเขาจริงๆ มันไม่ใช่แค่พูดในสิ่งที่เราอยากจะพูด แต่เราต้องพูดในสิ่งที่เขาอยากจะฟังด้วย มันเลยสำคัญมากๆ สำหรับเราทุกวันนี้ในการทำโฆษณา

นอกจากนี้ เรายังคิดว่า ในรูปแบบของการเป็นฟิล์มของหนังโฆษณามันก็ยังเข้าถึงคนไทยได้ง่ายที่สุด เพราะคนไทยอาจจะค่อนข้างขี้อายกับการที่ให้เขาไปทำอะไรเยอะๆ ดังนั้น งานประเภทฟิล์มก็ยังเป็นสื่อที่ง่ายที่สุดสำหรับเรา แม้แต่สำหรับลูกค้าเอง งานที่ได้ผลสำหรับลูกค้าจริงๆ มันก็ยังเป็นฟิล์มอยู่ดี แต่จะต้องเป็นเนื้อหาในสิ่งที่เขาสนใจ เป็นเรื่องที่เขาดูแล้วเขาจะได้อะไร

“สิ่งที่เราคิดว่า เป็นความท้าทายของเอเจนซี่ในอนาคตต่อไปก็คือ ลูกค้าจะสามารถ “ใช้งานเอเจนซี่ได้มากกว่าแค่การทำสื่อ เราอยากให้ลูกค้าใช้งานเอเจนซี่ได้มากกว่านั้น ให้เอเจนซี่ไปคิดโปรดักส์หรือบริการก็ได้เลยนะ หรืออย่างเคสนี้ เลยว่าควรจะผ่านมาตรฐานอะไรเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งเราเชื่อว่าเอเจนซี่เองก็เต็มใจทุกที่เลย อยากให้ลองไปใช้เอเจนซี่ด้วยวิธีใหม่ๆ มากขึ้น”

ไอเดียยกบ้าน จุดเริ่มต้นที่ดูง่าย (หรือเปล่านะ)

มาถึงฝ่ายโปรดักส์ชั่นบ้าง ซึ่งบอกเลยว่า มันเป็นการถ่ายทำที่น่าทึ่งและสามารถนำไปเป็นเคสสตัดดีในการทำงานของโปรดักส์ชั่นเฮาส์ได้เลย คุณเอ๋ Suneta House เริ่มต้นเล่าว่า พอฝั่งเอเจนซี่มาขายว่า ไอเดียคือการพาไก่ไปนอกโลก เพื่อนำเสนอเรื่องมาตรฐานความสะอาด เราก็คิดแบบเลยว่า มันคือการที่จะถ่ายทอดทำให้คนเห็นว่า ข้างบ้านคุณหรือคนหน้าบ้าน คนบ้านๆ อย่างเรานี่แหละ ซื้อไก่ที่เป็นมาตรฐานเดียวกับ NASA ไก่ที่ส่งไปยานอวกาศได้

ดังนั้น ไอเดียเราก็คิดว่างั้นเราก็พาบ้านออกไปนอกโลกดีกว่า ทำให้บ้านมันลอยเท้ง ยกบ้านเอียง เหมือนแบบว่าบ้านหลังที่เราเห็นว่ามันอยู่ข้างบ้านเรานี่หละไปอวกาศเลย นี่คือไอเดียแบบนี้แต่ไม่ได้คิดว่ามันจะยากเลย จนมาเริ่มทำงานก็พบว่า ปัญหามากมาย ตั้งแต่หาพื้นที่ถ่ายทำไม่ได้ งบประมาณบานปลายออกไปทุกที เพราะเราคิดบัดเจ็ทก่อนถ่าย ไม่ได้คิดว่าจะมากขนาดนี้ ยังไม่นับว่า ตอนถ่ายทำจะเจอความท้าทายอีกมากมาย ทั้งเรื่องสลิง ทั้งการที่เราอยากจะให้สมจริงที่สุด ด้วยการที่สร้างบ้านจำลองแล้วยกให้มันเอียงจริงๆ เป็นความกล้าเพราะอินโนเซนส์จริงๆ

ระเบิดภูเขาเผากระท่อมก็ไม่ผิด

คุณเอ๋ยังเล่าถึงการสร้างบ้านจำลอง 2 หลังในการทำงานเพื่อให้เกิดความสมจริงว่า จริงๆ มันยากตั้งแต่การหาสถานที่ถ่ายทำแล้ว เพราะว่า เราพบว่า การที่จะต้องยกบ้านหนึ่งหลังได้ ต้องมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 17 เมตร แล้วก็ต้องทำให้บ้านเอียงด้วย แต่ไม่มีโรงถ่ายไหนในประเทศไทยเลย ที่จะสูงขนาดนั้น ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 11 เมตรเท่านั้น ซึ่งถามว่างานอย่างนี้ในต่างประเทศทำไดไหม ทำได้ ส่วนใหญ่เขาไปทำที่สนามกีฬา แต่การเช่าสนามกีฬาคือแพงมาก งบฯ ที่ใช้คือราคาเดียวกับการจัดคอนเสิร์ตเลย แล้วเราต้องปิดสถานที่ด้วยอย่างน้อยก็ 2-3 วัน เราก็เลยต้องหาสถานที่ใหม่ ในที่สุดทีมก็ไปพบโรงสีข้าวแถวบางน้ำเปรี้ยว ซึ่งเป็นโรงสีที่หลังคาสูงมากๆ แล้วก็สามารถยกบ้านเอียงได้ด้วย แค่เริ่มต้นก็เห็นสัญญาณของความยากของงานละ

จากความท้าทายเรื่องสถานที่แล้ว ต่อมาก็คือความยากของการถ่ายทำ ที่จะต้องทำให้ตัวบ้านมันเอียงได้ ทั้งแนวตั้งและแนวเฉียง ซึ่งคุณเอ๋ บอกว่า “ผมก็ไม่คิดว่ามันจะยาก เป็นความอินโนเซนส์ล้วนๆ”

มากไปกว่านั้น บ้านที่ยกขึ้น จะต้องยกได้ทั้งแนวตั้งและแนวเอียง เพื่อให้เหมือนว่ามันลอยไปบนอวกาศจริงๆ นอกจากนี้ เราต้อง Mog-up บ้านที่ทำขึ้นเพื่อให้ยกได้เอียงได้แล้ว ก็ต้องมีบ้านอีกหลัง เพื่อให้บ้านมันกลับหัว ในการถ่ายทำให้นักแสดงอยู่ข้างใน ให้นักแสดงใส่สลิง ลอยตัวได้ เท่ากับต้องใช้บ้าน สร้างมาเพื่อพังมัน ต้องสร้างถึง 2 หลังเลย

การกำกับที่ท้าทายแรงโน้มถ่วงโลก

นอกจากนี้ ในมุมของการถ่ายทำ เขาก็บอกกันว่า สัตว์ เด็ก สลิง ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปเล่น แต่งานนี้ต้องใช้สลิงด้วย ก็กลายเป็นอีกหนึ่งงานหินที่ต้องลุย คุณเอ๋ เล่าว่า ในการถ่ายทำ เราต้องติดสลิงก์ให้นักแสดงทุกคน พร้อมกับที่เขาต้องพูดบทออกมาด้วย ในระหว่างลอยตัว ซึ่งมันอึดอัดมาก ดังนั้น เราก็ต้องถอดสายสลิงออกเพื่อให้เขาได้พักหายใจ เพราะเขาหายใจไม่ออกเลย ถ้าให้อยู่กับสลิงนานๆ นั่นก็ทำให้การถ่ายทำกินเวลาไปอีก 15 นาที เพื่อเซ็ตการใส่สลิงใหม่ แต่การถ่ายทำที่ต้องแข่งกับเวลาก็ถือเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายมากทีเดียว

“เราต้องเผื่อเวลาบวกเวลาตรงนี้ไปด้วย ทำให้กว่าจะถ่ายทำเสร็จใช้เวลามากกว่าปกติเลย ซึ่งต้องชื่นชมในสปิริตของนักแสดงทุกคน แม้แต่ตัวน้องนักแสดงที่เล่นเป็นลูกด้วย ก็อึดมากจริงๆ พูดบทที่อยู่บนสลิงได้ เก่งมากจริงๆ”

ยังไม่นับว่าเวลาที่เรากำกับมองกล้อง จะทำให้เกิดอาการมึนหัว เพราะเราต้องมองกล้องเอียงไปตามองศาของบ้านที่เอียงด้วย แต่สุดท้ายก็ต้องมาแก้ปัญหาด้วยการที่ทีมให้นั่งกำกับกันด้วยการเอียยงองศา เลย เพราะไม่งั้น เราจะเวียนหัวตอนมองมอนิเตอร์มาก

ในขณะที่ Post Production ที่ต้องทำหลังงานสลิงก็คือ จะต้องทำการลบสลิงทุกช้อต ทุกเส้นที่เกิดขึ้นบนหนัง ซึ่งก็เป็นทั้งงานที่ละเอียดอ่อน งานที่ต้องใช้เวลาเช่นกัน และแน่นอนมันก็ทำให้งบฯ ตรงส่วนนี้เพิ่มขึ้นไปอีกด้วย

 

เสน่ห์ของ Shit Happening

คำถามคือว่า ในเมื่อมันยากขนาดนี้ ทำไม่เลือกวิธีใช้ CG ในการถ่ายทำ คุณเอ๋ ให้เหตุผลว่า หนึ่งคือ ผมไม่ได้เป็นผู้กำกับที่โตมากับ CG ผมไม่สัดทัดและเก่งพอ ที่จะควบคุมการผลิตดมันได้ หรือมองว่ามันสวย จริงอยู่ที่ว่า CG มันอาจจะทำทุกอย่างให้สวยหมดจด แต่ส่วนตัวก็ยังมองว่า CG มันขาดเสน่ห์บางอย่าง คิดว่าการทำหนัง มันจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วยระหว่างนักแสดง การใช้มุมกล้องต่างๆ อย่างเช่น การเลื้อยผ่านรูกุญแจ อะไรแบบนี้ CG ก็ยังทำได้ไม่เนียนพอ เป็นงานที่ไม่อาจแทนด้วยงานแบบที่กองถ่ายทำได้ สิ่งที่ CG ทำได้ก็คือ งานที่กล้องไม่สามารถเล่าเรื่องได้ แต่อะไรที่กล้องมันเลาเรื่องได้ผมก็จะไม่ใช้ CG

สอง ผมยังเชื่อมั่นถึงสิ่งที่เรียกว่า ความไม่สมบูรณ์ของการเซ็ตอัพ เช่น ของที่ตกลงบนพื้น CG อาจจะทำให้ภาพของการกระเด็นมันสวยงามเพอร์เฟคเลย แต่การที่ของตกจริงๆ มันอาจจะไม่ได้สวยเพอร์เฟคก็ได้ มันคือความไม่สวยงามของความไม่พอดี มันคือ Shit Happen ซึ่งพออยู่ในหนังแล้วมันดี มันคือความไม่สวยงามของความไม่สมบูรณ์ สำหรับผมชอบแบบนี้มากกว่า

ไปต่อค่ะพี่สุชาติ แม้งบฯ บานไป 3 เท่า  

พอรู้ว่า สิ่งที่ทำมันเกินควบคุมแล้วงบฯ บานไป 3 เท่า ความรู้สึกมันเป็นอย่างไร เป็นอะไรที่รู้ว่ามีทำฟรีแน่นอน แต่เราต้องไปต่อ ต้องทำต่อให้จบ เพราะเราต้องรับผิดชอบกับคำสัญญาที่ให้ไว้กับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ทุกคน ซึ่งสัจจะของเราสำคัญมาก ไม่ใช่รับมาแล้วทิ้งเราทำไม่ได้ ก็ต้องรับผิดชอบคำสัญญา นอกจากนี้ ในการควบคุมงบฯ เราก็ได้คุยกับทีมงานว่า เราได้ใช้เงินอย่างชาญฉลาดแล้วหรือยัง อะไรที่มันจำเป็นหรือไม่จำเป็น ซึ่งจริงๆ ก็แทบจะไม่มีอะไรที่ไม่จำเป็นเลย (หัวเราะ) โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย การซ้อมระบบ รถและทีมพยาบาล ตรงนี้ต้องพร้อมเสมอ อาหารข้าวน้ำต้องพร้อม ไม่ใช่ไปลดตรงนั้นก็ไม่ได้

พอเรารู้แล้วว่า หนังตัวนี้มันไม่ทำกำไรเลย อีกทั้งเรายังเสียทุนไปกับมันด้วย เราไม่มีโอกาสทำกำไรจากตัวนี้เลย พอเป็นแบบนี้ aim ของผมก็เลยเปลี่ยนกำไรไม่ใช่ตัวเงินแล้ว แต่เป็นกำไรของการทำงาน เพราะถ้าเราเลิก เราไม่ทำต่อ นอกจากเราจะไม่ได้เงินแล้ว เราก็ไม่ได้งานด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่อย่างน้อยเราต้องได้กลับไป เราต้องไม่กลับมือเปล่า ดังนั้น สิ่งที่เราได้กลับมาคืออย่างน้อยเรายังได้งานดีกลับมาบ้างสำหรับสำหรับงานโปรดักชั่นเฮาส์ งานที่ดีถือเป็นทุนของออฟฟิศถือเป็นถือเป็นแอสเสทของออฟฟิศ เวลาคนมองเข้ามาเขาก็จะเห็นแต่งงานที่เราเคยทำเอาไว้ ประกอบกันเป็นร่าง เป็นออฟฟิศขึ้นมา ถ้าไม่กำไรแล้วเราทิ้งมันดีกว่าเนี่ยเราก็จะไม่เหลืออะไรเลย

“เพราะฉะนั้น อย่างน้อยเรากลับมาทำงานที่คนดูดูแล้วชอบมัน ทำงานที่ลูกค้าดูแล้วแฮปปี้ กลับมันทำงานที่เอเจนซี่ยังไว้ใจเราอยู่ อย่างน้อยก็กำความเชื่อมั่นกลับมาก็ยังได้อะไรบ้างวะ”

เม็ดเงินอย่างเดียวไม่ทำให้งานประสบความสำเร็จ

สิ่งที่คิดว่าได้เรียนรู้กับการทำงานชิ้นนี้คือ นอกจากที่ว่า งานของคนไทยไม่ได้ด้อยกว่าชาติอื่นเลย แค่บางครั้งเทคโนโลยีหรืองบฯ เราอาจจะไม่ถึงเท่าเขาเท่านั้นเงอ แต่เราก็ทำมันได้ สองคือ ผมได้เรียนรู้เรื่องการทำงานกับคนเยอะๆ คือเราต้องให้ใจเขา ต้องไว้วางใจกัน

ดังนั้น ผมรู้สึกว่า มันจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่ด้วยพลังเม็ดเงินอย่างเดียว มันเกิดด้วยพลังใจ พลังความอยากทำของคนทำงานอย่างแท้จริง งานนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาจากคนๆ เดียว มันไม่มีทางทำได้เลย ถ้าไม่มีทีมที่ดีที่จะเข้าใจเรา

ดังนั้น สิ่งที่ผมเลิร์นนิงว่าทีมเป็นส่วนสำคัญมากๆ ในการทำงานให้กับโปรเจคใหญ่ๆ ที่คือ ทีมต้องให้ใจเรา แล้วเราก็ให้ใจทีม ดังนั้น ไม่ว่าอะไรก็จะสำเร็จไปได้อย่างแน่นอน


  • 236
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!