ปัดซ้าย.. ปัดขาว.. แมท์แมทช์ ถ้าพูดแค่นี้คุณคงรู้แล้วว่าเราหมายถึงอะไร!!
แม้ Tinder จะเป็นแอปฯ ที่มีภาพลักษณ์ของแบรนด์โดดเด่น เป็นแบรนด์ Top of mind ที่เพียงแค่นึกถึงการหาคู่ปุ๊บ! Tinder ก็เด้งขึ้นมาในใจของทุกๆ คนทันที ชนิดแบบแทบไร้คู่แข่ง ซึ่งอันที่จริงแล้วการขึ้นมาเป็น Top of mind อันดับ 1 ในใจ น่าจะเป็นเรื่องดี แบรนด์ไหนๆ ก็อยากจะเป็นให้ได้แบบนี้ แต่ไม่ใช่ Tinder บอกไม่ต้องการ ‘ชั้นไม่ใช่อย่างที่คุณคิดนะ’ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว Tinder หันมาแก้เกมนี้อย่างไร น่าสนใจมากเราอยากให้ดูหนังโฆษณาตัวนี้ก่อน แล้วจะมาชวนคุยกัน
Tinder แอปพลิเคชั่น ที่มียอดดาวน์โหลดสูงถึง 4 ล้าน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมองภาพว่าเป็นแอปฯ ที่ใช้หาคู่เดทหรือเลยไปถึงขั้นหาคู่นอนเลยก็มี ซึ่งในแง่ของการสร้างแบรนด์แล้วการที่มี Brand Image ชัดเจนและแถมยังเป็นอันดับ 1 ในใจผู้บริโภคก็น่าจะเป็นเรื่องดี แต่ Tinder กลับบอกว่า เดี๋ยวก่อนนะคุณกำลังเข้าใจผิด เราไม่ได้สร้างแอปฯ มาเพื่อวัตถุประสงค์นั้น อันที่จริงมันเป็นได้มากกว่านั้น มันคือ แอปฯ เพื่อการหาเพื่อนนะยูว์!
ดังนั้น จาก pain point ดังกล่าวนี้เองจึงนำมาสู่หนังโฆษณาชิ้นนี้ ซึ่งมีการเล่นกับคำว่า ‘เพศสัมพันธ์’ และคำว่า ‘เพื่อนสัมพันธ์’ นอกจากนี้ ยังมีการเล่นกับคำศัพท์แสงเฉพาะกลุ่มอีกด้วย เช่นคำว่า ‘ONS’ ที่ไม่ได้หมายถึง One Night Stand แต่หมายถึง One Night Street-food หรือคำว่า ‘FWB’ ที่ไม่ได้หมายถึง Friend with Benifit (เพื่อนที่คบกันเฉพาะเรื่องอย่างนั้น) แต่หมายถึง Friend with Beats หรือ Friend with Board Game ก็ได้ เป็นต้น ซึ่งทำให้ดูสนุกดูเพลิน บางคำก็รู้บ้าง บางคำก็ไม่รู้ แต่มันก็เรียกความสนใจของเราให้ดูต่อไปเรื่อยๆ ได้เผลอตัวก็ดูไปจนจบแล้ว เรียกว่าในแง่ของไอเดียครีเอทน่าสนใจ เป็นไอเดียที่เจ๋ง และภาพวิชวลก็สวยงามมาก และยังสามารถสร้าง Awareness ปรับเรื่องตัวตนด้านภาพลักษณ์ในสายตาผู้บริโภคใหม่ให้เป็นไปตามโจทย์ของ Tinder ได้ดีด้วย ซึ่งผลงานชิ้นนี้เป็นงานสร้างสรรค์จากเอเจนซี่ Wunderman Thomson ที่ช่วงนี้โดดเด่นด้านงานครีเอทีฟมากจริงๆ
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า ความจริงแล้วจุดเด่นและการเป็นแอปฯ เพื่อการหาคู่เดทของ Tinder ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน ดีเสียอีกเพราะถ้าพูดถึงตลาดประเภทเดียวกันตอนนี้ก็คงต้องบอกว่า Tinder คืออันดับ 1 ที่ยังไม่มีใครมาโค่นได้ ถ้าเช่นนั้นจะไปแก้ทำไม แต่เราขอมองในอีกมุมหนึ่งว่า การที่แอปฯ มี Brand Image ที่ถูกมองไปเพียงแค่เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ไม่น่าจะใช่เรื่องดี ทำให้แอปฯ ดู cheap และมีโอกาสที่จะเสียต่อ Brand Safety ได้ แล้วยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้แอปฯ เสื่อมต่อความนิยมลงเรื่อยๆ ด้วย แต่หากสามารถขยายมุมมองใหม่ เปิดฐานผู้ใช้งานที่ไม่ได้เน้นแค่เรื่องทางนั้นเพียงอย่างเดียว นอกจากจะทำให้แอปฯ มีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นแล้ว Brand Image ก็จะดีมากขึ้น เปิดทางให้นักลงทุนก็ดีหรือธุรกิจอื่นๆ กล้าที่จะเข้ามาร่วมงานด้วยมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลดีต่อ Tinder อย่างมากในการโกรว์ธุรกิจได้มากกว่านี้
ทว่า เรื่องของการปรับภาพลักษณ์ใหม่ในมุมมองผู้บริโภค ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ที่สำคัญคือ ต้องมองไปที่ Community ภายในของแอปฯ ด้วย ถ้า Community ยังเป็นแต่เรื่องนั้นอย่างเดียว การแก้เฉพาะภาพหรือมุมมองเปลือกนอกก็ไม่น่าจะทำให้ปัญหาจริงๆ หมดไป ดังนั้น จากหนังโฆษณาตัวนี้จะช่วยแก้ pain ให้ Tinder ได้หรือไม่และจะมีกลยุทธ์อะไรใหม่ๆ มาใช้อีกในปีหน้าหรือเปล่า คงต้องรอติดตามกัน
แต่ตอนนี้ขอหนีไปปัดซ้ายปัดขาวก่อนนะ กลัวไม่มี ‘เพื่อนสัมพันธ์’ ช่วยเคาท์ดาวน์.