‘จีบได้แฟนตายแล้ว’ ทะลุ 5 ล้านวิวในไม่กี่ชั่วโมง ★ ชวนมาเปิดคำถามกับ ‘ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี’ ผู้กำกับ ‘THE ONLY ONE by The 1 Card’

  • 69
  •  
  •  
  •  
  •  

httpv://youtu.be/i97I3KIsAZI

ผ่านตากันไปบ้างหรือยัง สำหรับหนังโฆษณาจาก The 1 Card เรื่องนี้  ‘THE ONLY ONE’ เป็นหนังโฆษณาความยาว 11 นาที ที่ถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อราวๆ 3 สัปดาห์ก่อน บนเฟซบุ๊คแฟนเพจ The 1 Card

มีการแชร์ต่อกันนับแสนครั้งและมียอดวิวทะลุหลักล้านหลังจากวิดีโอถูกอัพโหลดเพียงไม่กี่ชั่วโมง จนกระทั่งไปแตะที่ 5 ล้านวิวก่อนจะครบ 24 ชั่วโมง และล่าสุดในแฟนเพจของ The 1 Card ยอดวิวของ ‘THE ONLY ONE’ อยู่ที่ 9.6 ล้านวิว

คำถามคือ…เพราะอะไร? ‘internet film’ ความยาว 11 นาทีที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของชายหญิงเรื่องนี้จึงกลายเป็นไวรัลขนานแท้ ได้รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยปรากฎ ทั้งที่หนังโฆษณาเรื่องนี้ไม่ได้ดราม่าเรียกน้ำตา หรือตลกโปกฮาจนท้องแข็งอย่างที่เราคุ้นเคย (นับว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของโฆษณาไทย) หรือว่าความอิ่มแบบพอดีของโฆษณาเรื่องนี้จะมาเปลี่ยนเทรนด์ของหนังโฆษณาไทยต่อจากนี้ ซึ่งทำให้เราเชื่อว่าถ้าแบรนด์สามารถทำหนังออกมาได้อย่างจริงใจ มีไดนามิคที่แข็งแรง และพยุงอารมณ์คนดูไปในเวย์ใหม่ๆที่ไม่จำเจ ทำออกมา 11 นาทีคนก็ดูกันจนจบ

‘ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี’ คือผู้กำกับและคนเขียนบท ‘THE ONLY ONE’ ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกโปรดักส์ชั่นเฮ้าส์ Hello Filmmaker ซึ่งเราอาจจะคุ้นเคยกับผลงานของเขาในรูปแบบ music video อย่างเพลง  ขอ – โลโมโซนิก, ความจริง – Room39, เพื่อนรัก – The Parkinson และอีกหลาย MV จากศิลปินชื่อดัง

Marketing Oops! จึงชวน คุณฐิติพงศ์ มาพูดคุยถึงหนังโฆษณา ‘THE ONLY ONE’ by The 1 Card ในเซคชั่นของกระบวนการคิด การเล่าเรื่อง จนออกมาเป็นหนังโฆษณาหนึ่งเรื่อง และคำถามแรกเราเริ่มที่ ‘บรีฟ’ กันก่อนเลย ป่ะ เลื่อนลงไปดูกัน

 

13663463_10206947389260329_751157230_o

ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี

 

MKT OOPS: บรีฟแรกที่ได้มาเป็นแบบไหน

ฐิติพงศ์: มาตอนแรกลูกค้าบอกว่าปีนี้ ‘The 1 Card’ ครบรอบ 10 ปี เขาเลยอยากสร้างประสบการณ์ดีๆ เกี่ยวกับเรื่องความรัก ให้คนดูรู้สึกผูกพันกับแบรนด์มากขึ้น ซึ่ง mood แรกที่เขาบรีฟมามันก็คล้ายๆกับทางหนังที่เราทำอยู่แล้ว แต่มันจะใกล้เคียงกับเพลง ‘ขอ – โลโมโซนิก’ มากกว่า จะเป็นอารมณ์ประมาณว่า ผู้หญิงคนนึงแชทคุยกับแฟนไปสักพักนึง แล้วไปหักมุมตอนหลังว่าแฟนตายไปแล้วนะที่ผ่านมาคือคุยคนเดียว ซึ่งอันนี้คือบรีฟแรกที่เขาให้มา โดยทั้งหมดลูกค้าจะคิดมาแล้วประมาณนึงว่าอยากได้แบบไหน ทำมาเป็น mood board เลยครับ เปิดทีละภาพแล้วเล่าให้เราฟังเลย

 

ซึ่งเรื่องที่ทางเอเจนซี่ส่งมาให้เรากับตอนที่เราทำจนออกมาเป็นไฟนอล ผมว่ามันยังอยู่ในจักรวาลเดียวกัน มู้ดแอนด์โทนมันคล้ายๆกัน คือเป็นหนังเศร้าๆ แต่ส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาคงจะเป็นเรื่อง ความเดี้ยงๆตลกโปกฮา ความเวิ่นเว้อของผู้หญิง

 

MKT OOPS: ความตั้งใจแรกอยากให้หนังออกมาเป็นแบบไหน

ฐิติพงศ์: ความตั้งใจแรกเลยคือผมอยากให้หนังออกมาสนุก ดูแล้วคนดูรู้สึกถึงความสำคัญของคนรัก จากคีย์เวิร์ดง่ายๆคือ The one เราเอาความสนุกขึ้นมานำเพราะตั้งใจจะไม่ให้เป็นฟีลที่เปิดมาแปปเดียวแล้วดราม่า เพราะคิดว่าคนดูน่าจะมีภูมิต้านทานกับหนังทรงๆนั้นแล้วประมาณนึง น่าจะพอรู้ว่าดูหนังแนวนั้นแล้วเค้าจะเจอกับอะไรบ้าง

 

MKT OOPS: พอได้บรีฟแล้ว มา develop กันยังไงบ้าง

ฐิติพงศ์: พอได้บรีฟมาผมก็มา develop กันสองคน กับ เอิร์ท (วิโรจน์ สุวรรณรักษ์กูล) ผู้ช่วยผู้กำกับ ผมให้เอิร์ทไปทำเวอร์ชั่นเค้ามา ผมก็ไปทำเวอร์ชั่นของผมมา แล้วก็มาสลับกันเล่าแล้วเอาข้อดีของแต่ละอันมาใช้ ทีนี้หลังๆตอนเราทำงาน ‘คอมเมอเชียล’ ก็จะมีพล็อตแบบหนังโฆษณาดราม่าโผล่มาบ่อย ผมเลยพยายามจะเลี่ยง เพราะเอาจริงๆเราไม่ค่อยถนัดอะไรแบบนั้น เราไม่ได้อินกับความดราม่าแนวนั้น เลยพยายามครีเอทมันออกมาให้เป็นหนังที่เราคิดว่าตัวเราเองอยากดู ให้มันมีความสนุก มีความตลก

 

MKT OOPS: คิดกันแค่ 2 คน โดยไม่มีผู้หญิงอยู่ในการ develop เลยหรอ

ฐิติพงศ์: ใช่ครับ

 

MKT OOPS: แล้วเราดึงอินไซด์ของผู้หญิงออกมาได้เนียนแบบนั้นยังไงคะ อย่างมุกแอบเหล่มองพาสเวิร์ด มุกเลิฟแวว86

ฐิติพงศ์: จริงๆมุกในหนังนี่มันเป็นมุกที่ ‘บอย’ มากเลยครับ เป็นมุกผู้ชายๆแต่อาจจะเล่าในมุมผู้หญิง
แล้วเรามีความรู้สึกว่ามันเป็นนิสัยพื้นฐานของผู้หญิง ต่อให้คาแรคเตอร์จะเป็นคนนิ่ง ดุ หรือว่ากวนๆ สุดท้ายมันจะมีเซนส์เชิงประมาณ ‘แวว’ ที่เป็นตัวละครในหนัง อย่างเรื่องส่องคนที่มากดไลค์แฟน เดาพาสเวิร์ด หรืออะไรก็ตามที่แววทำ มันมาจากที่เราถามเพื่อนๆ คนรอบตัว และจากที่สัมผัสเอง คือผู้หญิงมีเซนส์ในการจับผิดหรือมองอะไรได้คมมาก

Screen Shot 2559-07-15 at 2.25.20 AM copy

แล้วอย่างพาสเวิร์ดแมคบุ๊คของพระเอก มันก็มาจากตอนเรายืมคอมฯ ‘เอิร์ท’ แล้วมันต้องใส่พาสเวิร์ด เอิร์ทก็บอกมาว่า ‘liverpool09’ (บอยมากจ้ะลูก) หรืออย่างแบบแชมป์ ตากล้องของเรา มันเล่นการ์ดยูกิ มันก็เอารหัสการ์ด บลูอายส์ไวท์ดรากอน มาตั้งเป็นพาสเวิร์ด ผมเลยรู้สึกว่าผู้ชายจะมี wording ในการตั้งรหัสอยู่โซนๆนี้ แล้วเรารู้สึกว่าเรื่องพวกเนี้ย มันเป็น ‘คอมมอนเซนส์’ ที่คนไม่ค่อยหยิบมาพูด หรือมันอาจจะธรรมดามากจน ไม่รู้จะเอามาเล่าทำไมรึเปล่า

 

ส่วนใหญ่เวลาผมเจอเหตุการณ์แบบ ‘อุ๊ย! จังหวะนี้เจ๋ง’ อันนี้สมมตินะ สมมติว่าผมเล่นคอมอยู่ใช่ปะ แล้วแฟนมานั่งข้างๆ มันจะเกิดเดทแอร์ขึ้น 10 วินาที ประโยคต่อมาที่แฟนจะพูดคือ ‘เมื่อกี้คุยกับใครหรอ?’ แล้วผมรู้สึกว่าจังหวะนี้ถ้าอยู่ในหนังมันตลกแน่นอน เป็นสถานการณ์ที่โคตรจะจริงเลย เวลาเจอเหตุการณ์แบบนี้ในชีวิต ผมจะ short-note ไว้เลยเก็บไว้เป็นไอเดีย รู้สึกชอบที่จะเล่าเรื่องพวกนี้มากกว่า คือถ้าให้ไปเล่าพล็อตหักมุม ดราม่า หรือคัตติ้งต้องชั้นเชิงมากๆ ผมจะรู้สึกว่านี่มันไม่ใช่ทางถนัดจริงๆของเรา

 

MKT OOPS: ในหนังโฆษณาเรื่องนี้เหมือนเราจะเอาความตายมาเล่าใน way ใหม่?

ฐิติพงศ์: จะว่าแบบนั้นก็ใช่ครับ คือด้วยหนังโฆษณาหลายตัวที่มีอยู่มันเป็นเชิงแบบ…มีเหตุการณ์บางอย่างที่ตัวละครมีปัญหา แล้วก็ให้ product ของแบรนด์เข้าไปแก้ปัญหานั้นๆ ซึ่งจริงๆมันก็ไม่ได้ผิดหรอก  แต่เราคิดว่าพอคนดูดูไปถึงจุดนึงแล้ว มันก็อาจจะไม่ได้ตรึงพวกเค้าได้ เพราะเค้าก็พอรู้แล้วแหละว่าถ้าหนังมาสไตล์นี้ต่อไปจะเป็นยังไงต่อ

 

ก็เลยพยายามเอาพวกนั้นออกไป แล้วก็ลองมาคิดว่าถ้าเราอยากทำหนังคนตายให้มันสนุกต้องทำอะไรบ้าง เลยมาให้ความสำคัญกับไดนามิคหนัง นั่นแหละ ก็แบบคิดโครงสร้างหนังออกมา แล้วมันประจวบเหมาะพอดี กับที่ลูกค้าบรีฟมาให้มีการตายอยู่ในหนัง ตรงนี้แหละที่ผมรู้สึกว่า เวลามีการทำหนังคอมเมอเชียล แล้วมีเรื่องการตายเข้ามาเกี่ยว หนังมักจะเอาการตายของตัวละครไปเป็น twist ของเรื่อง ว่าแบบมาถึงจุดนี้แล้วตาย พอตายปุ๊ปเนี่ย สิ่งที่คุณต้องสูญเสีย สิ่งที่คุณต้องคอนโทรลชีวิตตัวเองหลังจากนี้ มันจะมีหนึ่งสองสามสี่ตามนี้ๆนะ มันจะเป็นอะไรแบบนั้นไปหมด

 

ผมเลยอยากลองวิธีที่แบบว่า โอเค…ถ้าเราเอาการตายมาไว้ตอนเริ่มเนี้ยมันจะเป็นยังไง แล้วเราจะได้เล่าเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องอื่นๆได้เต็มที่มากกว่าต้องมาเซ็ทอัพให้มันไปตายตรงไคลแม็ก

 

MKT OOPS: คิดว่าเพราะอะไรคนถึงดูหนังโฆษณาของเราจนจบ แล้วแชร์กันต่อจนยอดวิวขึ้นมาเร็วมาก

ฐิติพงศ์: ส่วนหนึ่งอยากจะยกเครดิตให้ ทีมMedia ของYellครับ เห็นว่าเขาทำการบ้านมาดีมากในวันที่ปล่อยงาน แต่ถ้าพูดถึงหนังคงเป็นเพราะของความสัมพันธ์ตัวละครที่มันธรรมดามากมั้งครับ จริงๆความรักหนุ่มสาว ความประจำวันอะไรเหล่านี้ มันเป็นเรื่องที่ธรรมดาเลยนะครับ จริงๆตอนตัดเนี่ย ‘เอิร์ท’ ผู้ช่วยผมเขาลองตัดออกมาให้มันซึ้งด้วยนะ แบบซึ้งน้ำตาแตกเลย พี่ในออฟฟิศมาดูกันก็แบบ ‘เฮ้ย! แบบเนี้ยซึ้งมาก’

cover1

 

MKT OOPS: ถ้าซึ้งน้ำตาแตกปุ๊ป หนังเรื่องนี้จะไม่ใหม่เลยนะ

ฐิติพงศ์: คิดว่างั้นนะครับ ผมเลยถอดคัทที่มันขยี้ออกหมด ผมอยากเล่าให้มันธรรมดา แล้วทำให้คนดูรู้สึกว่ามันเป็นโมเมนต์ที่อิ่มดีนะแบบนี้ ไม่ต้องแหลม ไม่ต้องเค้น ซึ่งก็หายากมากนะครับที่ลูกค้าจะเข้าใจ objective แบบนี้ เหมือนเวลาทำหนังคอมเมอเชียลบางเรื่อง มันจะมี output บางอย่างที่เซ็ตไว้เลยว่า หนังนี้ต้องเศร้า ก็ต้องมาคิดกันว่าต้องทำยังไงให้มันเศร้าที่สุด

 

ผมไม่เชื่ออย่างนึงว่าหนังที่ดีจะต้องดูแล้วร้องไห้ คือการดูแล้วร้องไห้อะทุกวันนี้มันแทบจะเป็น mechanic อยู่แล้ว มันกลายเป็นสูตรไปเลย ที่เวลาเราดูอะไรก็ตาม ภาพมาแบบนี้ คัทแบบนี้ เพลงมาบิลท์ๆแบบนี้ อ่ะ…น้ำตามา

 

การทำให้คนดูร้องไห้มันเลยเป็น mechanic ผมเชื่อแบบนั้น เพราะเราเห็นๆกันอยู่ได้มากมายหลายตัวแล้ว อย่างหนังโฆษณาบางตัว เค้ามีหนึ่งนาทีเค้าก็สามารถเรียกน้ำตาได้เลย ผมเลยอยากพุ่งเป้าไปที่ประเด็นอื่นดูบ้างดีกว่า คนดูจะร้องหรือไม่ร้องเราไม่ซีเรียสเลย

Screen Shot 2559-07-15 at 2.28.27 AM

อาห์… มีอันนึงที่ผมอยากเสริม
ด้วยกระบวนการ ก่อนทำงานก่อนหน้านั้นผมจะให้ความสำคัญกับ แอคติ้ง และ ความสมจริงของภาพ คือภาพไม่ต้องสวยมาก ให้มัน real ไปเลย แต่งานนี้ผมประนีประนอมมากขึ้น ผมอยากให้มันเป็นมู้ดหนังมากขึ้น อย่างความรกของห้องที่เป็นโลเคชั่นก็ยังมีอยู่ แต่ว่าให้มันสวยแบบ cinematic มีความแฟชั่นบ้าง มีการดีไซน์เฟรม

 

ส่วนแคสติ้ง ก็ไม่ได้เน้นคนหน้าธรรมดามาเล่นให้สมจริงอะไรขนาดนั้น คือเราอยากได้คนที่ยังไม่มีผลงาน แต่อยู่ในกระแสประมานนึง แล้วมาปั้นแอคติ้งดีกว่า แอคติ้งของผมไม่ได้ยาก หมายถึงผมไม่ได้ต้องการคนร้องไห้เก่ง ฟูมฟายได้ แต่ผมต้องการแบบ…ทำหน้าได้อารมณ์ก็พอละ แล้วที่เหลือเดี๋ยวมาจูนกันดีกว่า นี่คือสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาและเปลี่ยนแปลงได้ชัดเลยสำหรับการทำงานครั้งนี้

 

MKT OOPS: มันเหมือนกับว่าเราเอาหนังคอมเมอเชียล มาเล่าให้มันออกมาเป็นภาษาหนังเลย อะไรแบบนั้นใช่ไหม / คุณจบ Film มาใช่ไหม

ฐิติพงศ์: ใช่ครับๆ / ผมจบ Film ลาดกระบัง ครับ

 

MKT OOPS: ตอนพรีเซนท์ลูกค้า ความยาวหนังประมาณเท่าไหร่

ฐิติพงศ์: บอกเขาไปว่าประมาณ 7 นาทีครับ

 

MKT OOPS: แล้วพอหนังออกมาเกือบ 11 นาทีลูกค้าว่าอย่างไรบ้าง

ฐิติพงศ์: จริงๆ เคสนี้ผมอยากขอบคุณพี่บาส (นัฐวุฒิ พูนพิริยะ) ผู้กำกับ LALIN เหมือนว่าเค้ากรุยทางไปก่อนแล้ว เคส LALIN – พรเกษม (ความยาว 14 นาทีกว่า) ทำให้เห็นได้ว่าจริงๆถ้าทำให้หนังมันสนุก หรือถ้ามีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ ต่อให้มันยาวคนก็ยอมดูอยู่แล้วแหละ เพราะสุดท้ายการขาย brand awareness มันเป็นสิ่งที่นามธรรมรึเปล่า พอมันไม่ได้เป็นฟังก์ชั่น ไม่ได้มีการ tie-in มันก็ขึ้นอยู่กับหนังแล้วแหละ ว่าหนังจะพาคนดูไปได้มั้ย

 

แต่ตอนแรกผมก็กะว่าจะทำให้มันสั้นนะ ก็ตัดจาก 11 นาทีให้มันสั้นลง แล้วก็มานั่งดูกันเอง แต่ก็รู้สึกว่า มันไม่ใช่หนังอะ เหมือนกับว่าจะเป็น คอมเมอเชียลก็ไม่ใช่ จะหนังก็ไม่ใช่ คือช็อตที่ควรจะแช่เพื่อให้มันได้อารมณ์ หรือเพื่อให้มันมีความรู้สึกหน่วงของตัวละคร มันหายไปหมดเลย ก็เลยตัดสินใจว่าตอน ‘ดับเบิ้ลเฮด’ กับลูกค้า ว่าเราตัดเวอร์ชั่นเดียวเลยดีกว่า เป็นเวอร์ชั่นความยาว 11 นาที แล้วให้เค้าเห็นว่ามันอิ่มกว่า ถ้าแบบตัดสั้นหรืออะไรเนี่ยมันจะไม่ได้อารมณ์นี้เลย

 

MKT OOPS: พอลูกค้าดูแล้วมี feedback กับหนังเกือบ 11 นาทีของเราอย่างไรบ้าง

ฐิติพงศ์: เค้าก็ชอบนะ แล้วตอนถ่ายเค้าก็ให้อิสระเราประมาณนึงเลยนะ เหมือนกับถ้าเราทำให้เค้าดูแล้วเค้าสนุก คนดูก็คงสนุกไปด้วยแหละ เค้าเลยไม่ได้ mindset ว่าหนังยาวไปแล้วคนจะไม่ดู

 

MKT OOPS: ตอนไปขายงาน คุณมีวิธีขายอย่างไร

ฐิติพงศ์: ผมเล่าเป็น mood board คือเหมือนหาภาพ reference มาเล่าเป็นภาพๆ แล้วเปิดภาพเล่าว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นยังไง คล้าย shooting board อะ แต่ผมว่าข้อดีของ mood board คือมันทำให้เห็นอารมณ์สีหน้าของตัวแสดง ถึงแม้มันจะเป็นฝรั่งบ้าง เอเชียบ้าง แต่ว่าแบบ… มันได้เห็นอารมณ์อะไรบางอย่าง ผมเพิ่งลองวิธีนี้มาได้สองสามงานแล้วรู้สึกว่ามันเวิร์ค

พอเปิดเป็น mood board แล้วเล่าให้เขาเห็น มันเหมือนเขากำลังดูหนัง ค่อยๆเล่าไปมันได้อารมณ์กว่า เพราะว่าพอทำ shooting board ไป ต่อให้ลงสียังไงมันจะมีความรู้สึกคล้ายกับดู storyboard อยู่ดี มันเหมือนดูการ์ตูนอะครับ ซึ่งลูกค้าอาจจะนึก feeling หรือ mood ออกมายาก

Screen Shot 2559-07-15 at 11.38.22 AM

 

MKT OOPS: หนังโฆษณาเรื่องนี้แทบจะไม่มีแบรนด์อยู่ในหนังเลย คุณทำอย่างไรให้ขายผ่าน

ฐิติพงศ์: แบรนด์ที่แทบไม่โผล่มาเลยยกเว้นตอนท้ายนี่ เป็นสิ่งที่ลูกค้ารีเควสมาตั้งแต่แรกอยู่แล้วครับ เค้าอยากให้มันมาแบบนี้เพียวๆเลย ส่วนฟังก์ชั่น หรือโปรโมชั่นอะไรก็ตามเนี่ย เค้าจะโยนไปทำทางอื่นแทน แล้วพอทำสไตล์นี้ออกมามันเลยโบลด์ไปที่ Brand value เหมือนเป็นเครื่องมือที่เสริมให้แบรนด์มีคุณค่าขึ้นมา

 

ผมว่าสุดท้ายมันกลับไปในจุด simple ที่ว่า ถ้าอยากสร้างคุณค่าให้แบรนด์ก็อาจจะต้องลดความพยายามขายของ เพราะ Brand  awareness กับ Product function มันอยู่คนละเรื่องกัน Brand awareness คือความคิด,แนวคิด,สิ่งที่แบรนด์แบกไว้ ถ้าอยากจะชูขึ้นมา เราควรจะไปโฟกัสกับหนังที่จะทำให้แบรนด์มันมีคุณค่าขึ้นมารึเปล่า? แต่ถ้าจะขายหรือนำเสนอ product มันก็มีวิธีอีกเยอะแยะ เพียงแต่มันแค่ไม่ควรจะมาอยู่ด้วยกัน ควรทำให้ออกมาเป็นอีกแบบนึง ใช้วิธีอีกแบบนึงไปเลยในการเล่า แยกกันไปเลยน่าจะดีกว่าพยายามจะขายและชู value ไปพร้อมๆกัน

 

ซึ่งจริงๆแล้วในการทำหนังโฆษณาหรือหนังอะไรก็ตาม ผมคิดว่าผู้กำกับทุกคน เค้าต้องพยายามที่จะมองหาลู่ทางใหม่ มองหาวิธีการใหม่มานำเสนออยู่แล้วแหละ แต่ผมก็ไม่อยากจะฟันธงว่าไอขั้นตอนการสกรีนมันจะไปมีผลอะไรขนาดนั้นรึเปล่า? อันนี้ต้องแล้วแต่ประสบการณ์ และสถานการณ์ที่แต่ละคนเจอมา

 

เพราะระหว่างถ่าย ผู้กำกับต้องคิดอยู่แล้วแหละว่า จะเอาอันนี้ไปใส่ก่อนใส่หลัง จะเอาอันนี้ไปตัดตรงไหนอะไรยังไง เราไม่ได้ดูเป็นบายช็อต แล้วคาดหวังให้แอคติ้งของทุกช็อตมันต้องดีไปหมด ในเชิงภาษาหนัง มันไม่ใช่ว่าหนังเรื่องนึงจะต้องการโลเคชั่นสวยร้อยช็อต แอคติ้งดีร้อยช็อต แต่มันต้องการ space มันต้องการอะไรบางอย่างที่แบบ… บางทีมันอาจจะแช่อันนี้ไว้ก็ได้ หรืออันนี้จะมาแบบมั่วๆก็ได้ อันนี้ไม่ต้องสวยก็ได้ เพื่อให้มันมีความเป็นภาษาหนังที่มีการดีไซน์ เป็นชีวิตมนุษย์จริงๆ แต่กว่างานมันจะออกมาจนถึง final มันก็คงต้องโดนสกรีนอะไรบางอย่างกันไปบ้างแหละครับ

Screen Shot 2559-07-15 at 11.41.52 AM

MKT OOPS: ตอนทำหนังเรื่องนี้ได้คิดบ้างไหม ว่าสิ่งที่ตัวเองคิดและทำออกมามันจะมาเปลี่ยนพอยต์ของเทรนด์การทำหนังโฆษณาบ้านเรา?

ฐิติพงศ์: ไม่กล้าคิดขนาดนั้น…แต่ก็คิดว่าถ้าหนังเรื่องนี้ฟีดแบคดีในระดับนึง ไม่ต้องถึงขนาดนี้ก็ได้ เราก็จะยืนพื้นในการทำหนังโฆษณาเล่าเรื่องแนวนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะผมรู้สึกว่ามันสนุกทั้งคนทำคนดู เวลาออกกองเนี่ยสนุกมากครับ แบบ…มันเหมือนจะมั่วๆนะ แต่มันก็จะมีหลักอะไรบางๆให้ยึดเอาไว้อยู่ คือจะขยายความยังไงดีล่ะ แบบ…

 

MKT OOPS: เหมือนมันจะเล่นๆแต่มันก็มีความแน่นอะหรอ?

ฐิติพงศ์: ใช่ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะทำสไตล์นี้ไปเรื่อยๆนะ เพียงแต่โอกาสจังหวะเวลา มันอยากจะให้เราทำแบบนี้ เล่าแบบนี้ แต่ถ้าไปเจอโจทย์ใหม่หรือวิธีใหม่ๆที่สนใจก็อยากลองอยู่

 

คือผมคิดว่า ในสายงาน โฆษณา หนัง MV หรืออะไรก็ตาม ถ้าเท่าที่ผมเห็นนะ ต่อให้เป็นพาณิชยศิลป์ แต่จริงๆมันก็มีศิลปะอยู่ครึ่งนึงเลยแหละ แล้วผมรู้สึกว่ามันไม่เคยมีกฎตายตัว ก่อนหน้านั้นในยุคนึงมันก็จะมีงานอยู่แบบนึง แล้วมันก็จะมีคนที่แบบว่าลองอะไรที่หลุดจากแนวเดิมขึ้นมา

 

ไม่รู้มันเป็นเรื่องธรรมชาติหรือว่าอะไร คืองานศิลปะมันจะมีอะไรบางอย่างที่เป็นเทรนด์แล้วต่อมามันจะกลายเป็นแพทเทิร์นไปหมด แล้วมันก็จะมีสักแบบนึงที่หลุดออกมาจากแพทเทิร์น แล้วอยู่ดีๆมันก็จะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ไป ซึ่งทั้งหมดคือผมเชื่อในการเปลี่ยนแปลง ผมว่ามันควรจะแข่งกันคิดและแข่งกันทำ เพื่อให้เราไปเจอสิ่งที่น่าสนใจหรือวิธีการที่ดีกว่าไปเรื่อยๆ

 

MKT OOPS: สุดท้ายแล้ว มีอะไรอยากบอกคนที่อ่านอยู่ไหม?

ฐิติพงศ์: อยากให้เรากล้าทดลองกันไปเหอะครับ ถึงแม้บางครั้งการลองสิ่งใหม่ๆ มันอาจจะไม่ได้ก่อเกิดผลอะไร แต่อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่ามันยังมี way ใหม่ๆที่สามารถทำได้เหมือนกันอีกหลาย way เลยครับ

 

13681877_10206947388940321_1419151047_o-2

เอนริเก้ รับบทเป็น เจอร์ราด

13702281_10206947388980322_1984002415_o

เอิร์ท –  วิโรจน์ สุวรรณรักษ์กูล, ผู้ช่วยผู้กำกับ

 

13663465_10206947389500335_827567131_o

พงศ์ – ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี, ผู้กำกับ และผู้ก่อตั้ง Hello Filmmaker

 

ขอบคุณสถานที่ HUBBA-TO 

Copyright © 2008 – 2016 MarketingOops.com


  • 69
  •  
  •  
  •  
  •