เต็ดตรา แพ้ค หนุน “กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้” เปลี่ยนกล่องเครื่องดื่มสู่สื่ออักษรเบรลล์

  • 9.6K
  •  
  •  
  •  
  •  

ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ เพื่อเราเพื่อโลกโดยมี “เต็ดตรา แพ้ค” เป็นหัวเรือสำคัญในการผนึกกำลังพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมจัดโครงการ “กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่สามของโครงการแล้ว

สำหรับระยะเริ่มแรกของโครงการซึ่งทีมงานได้ร่วมทำงานกับชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัดในปีแรก และ 8 จังหวัดในปีที่สอง รวมทั้งสองปีสามารถจัดเก็บกล่องยูเอชทีนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากถึงกว่า 700 ตัน

Tetra Pak

เมื่อเข้าสู่โครงการปีที่ 3 ซึ่งขยายพื้นที่ทำงานมากขึ้นเป็น 13 จังหวัดและปิดโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ทีมงานสามารถจัดเก็บกล่องยูเอชทีเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากถึง 975 ตัน เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล แปลงร่างกล่องเครื่องดื่มสู่ “กระดาษ” สำหรับทำสื่ออักษรเบรลล์ ผ่านแคมเปญ BE CARE … BE KIND Book for the Blind” เพื่อใช้เป็นสื่อการศึกษาสำหรับน้องๆ ผู้พิการทางสายตาในโรงเรียนสอนคนตาบอดจำนวน 13 แห่งทั่วประเทศไทย

Tetra Pak

“เนื่องจากกล่องยูเอชทีเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษเป็นหลัก โดยเป็นเยื่อกระดาษแบบที่เรียกว่าเยื่อใยยาว เป็นเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ (Virgin pulp) ที่ไม่เคยถูกใช้มาก่อน จึงมีความคงทนสูงมาก เหมาะสำหรับเอาไปพิมพ์อักษรเบรลล์ เพราะได้ความแข็งและความชัดเจน” คุณสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวอธิบายถึงจุดเด่นของการรีไซเคิลกล่องยูเอชที

  • โลกจะ ‘ดี’ ทุกฝ่ายต้อง ‘ร่วมมือ’

คุณสุภนัฐเล่าย้อนถึงที่มาของโครงการ “กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้” ซึ่งเต็ดตรา แพ้ค เป็นหัวเรือใหญ่ริเริ่มโครงการตั้งแต่เมื่อสามปีที่แล้วว่าเป็นไปตามวิสัยทัศน์หลักขององค์กร คือ Protects What’s Good: Protect Food, Protect People, Protect Futures ที่ใช้เป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนทุกๆ การดำเนินงาน ทุกๆ กิจกรรมของเต็ดตรา แพ้ค มาโดยตลอด

“เต็ดตรา แพ้ค มุ่งมั่นที่จะปกป้องอาหาร ปกป้องผู้คน และปกป้องอนาคต สำหรับในหมวดอนาคตนั้น เราก็มาดูว่า สิ่งไหนทำแล้วจะเห็นผลได้มากที่สุดก็มาลงตัวที่โครงการรีไซเคิลกล่องยูเอชที โดยคาดหวังที่จะสร้างการรับรู้และ ให้ความรู้เรื่องการรีไซเคิลกล่องยูเอชทีแก่ชุมชน” คุณสุภนัฐ กล่าวถึงที่มาโครงการที่ทำมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว

Tetra Pak

สำหรับโครงการ “กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้ ปี 3” ซึ่งดำเนินการระหว่างสิงหาคม 2561 – กรกฎาคม 2562 มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมจากหลายภาคส่วน นำโดยบริษัทผู้ผลิตกล่องเครื่องดื่ม 2 ราย ได้แก่ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด นอกจากนี้ยังมีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, โรงงานรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม โดยบริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่ม รวมถึงภาคีเครือข่ายท้องถิ่น และชุมชน ทั้งหมดรวมกันเกือบ 200 แห่ง

จะเห็นว่า แม้กระทั่ง “คู่แข่งทางธุรกิจ” ของเต็ดตรา แพ้ค เราก็ยังชวนกันมาเข้าร่วมโครงการนี้ นั่นก็เป็นเพราะบนเวทีสิ่งแวดล้อม ไม่มีคำว่า “การแข่งขัน”

“เรามองว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่มีคู่แข่ง แต่เราต้องร่วมมือซึ่งกันและกัน มันมีความท้าทายสูง เราต้องการกำลังจากทุกภาคส่วน การจะทำเพื่อสังคม เพื่อสิ่งแวดล้อม คือ เราต้องช่วยกัน ยิ่งได้กองกำลังเยอะเท่าไหร่ ยิ่งพูดได้ดังมากขึ้นเท่านั้น” คุณสุภนัฐกล่าว

Tetra Pak

สำหรับผลการดำเนินโครงการ “กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้” ปี 3 ซึ่งขยายพื้นที่สู่ 13 จังหวัดทั่วประเทศ ประสบความสำเร็จอย่างสูง สามารถจัดเก็บกล่องยูเอชทีได้เพิ่มขึ้น จาก 715 ตันในปีที่สอง มาสู่ 975 ตันในปี

ล่าสุด ส่งผลให้สามารถนำไปผลิตเป็นกระดาษเพื่อผลิตสื่ออักษรเบรลล์ได้มากถึงกว่า 1 ล้านแผ่น

โดยทั้งสามปีรวมกัน ทีมงานสามารถจัดเก็บกล่องยูเอชทีเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ทั้งสิ้น 1,770 ตัน

Tetra Pak

  • ‘ชีวิตใหม่’ ของกล่องยูเอชที

นอกจากการรีไซเคิลกล่องยูเอชทีเป็นกระดาษคุณภาพดีสำหรับการพิมพ์อักษรเบรลล์แล้ว กล่องยูเอชทียังสามารถรีไซเคิลเป็นวัสดุอื่นๆ ที่มีประโยชน์ได้อีกมาก

โดยก่อนอื่นต้องเข้าใจถึงองค์ประกอบของกล่องเครื่องดื่มยูเอชทีก่อนว่า หลักๆ แล้วกล่องยูเอชทีประกอบด้วยกระดาษ 75% เป็นกระดาษคุณภาพสูงตามที่คุณสุภนัฐ กล่าวไว้ข้างต้น

ส่วนอีก 25% ที่เหลือเป็นส่วนประกอบจากพลาสติกโพลีเอททีลีน (20%) ทำหน้าที่ผนึก และป้องกันการรั่วซึม และอะลูมิเนียมฟอยล์ (5%) ทำหน้าที่ป้องกันอากาศ แสงสว่าง และแบคทีเรีย ไม่ให้เข้าไปสัมผัสกับเครื่องดื่มที่อยู่ภายในกล่อง

Tetra Pak

“การรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม จะมีสองกระบวนการใหญ่ๆ หนึ่งคือ แยกเยื่อกระดาษออกมาจากพลาสติกและอลูมิเนียมฟอยล์ ก็จะได้เยื่อกระดาษมาทำเป็นกระดาษรีไซเคิล ส่วนอลูมิเนียมฟอยล์ และพลาสติกโพลีเอททีลีนก็สามารถแยกไปผลิตเป็นวัสดุแข็งแรง กันน้ำได้ เช่น แผ่นไม้เทียม แผ่นหลังคา

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวิธีในการรีไซเคิลกล่องยูเอชที คือ นำมาทั้งกล่องมาย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ อัดร้อนให้หลอมติดกัน จากนั้นก็อัดเย็นให้เกิดเป็นแผ่น เรียกว่า Green board เป็นวัสดุแข็งแรง สามารถใช้ทดแทนแผ่นไม้ทั่วไปได้” คุณสุภนัฐ กล่าวอธิบาย

Tetra Pak

  • Walk the talk ‘พูดแล้ว ต้องทำจริง’

คุณสุภนัฐ ทบทวนบทเรียนสามปีที่ผ่านมาของโครงการว่า ความท้าทายที่สุด คือ โจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้ชุมชนกลุ่มเป้าหมายเห็นความสำคัญของการจัดการขยะ และสำคัญว่า เมื่อเห็นความสำคัญแล้ว ต้อง “จัดการ” กับขยะได้อย่างถูกวิธีด้วย

นั่นจึงเป็นที่มาของการเลือกทำงานในชุมชนที่แม้จะมีกลุ่มเป้าหมายได้รับรู้น้อยกว่าการกระจายข้อมูลแบบแมสผ่านการซื้อสื่อโฆษณาทั่วประเทศ แต่เขาและทีมงานเชื่อว่า แนวทางนี้จะได้ผลมากกว่าในระยะยาว เพราะเป็นการสร้างพื้นฐาน วินัยในการคัดแยกและจัดเก็บ

Tetra Pak

“ถ้าเอาเรื่องนี้มาพูดสร้างภาพ ซื้อสื่อโฆษณาเยอะๆ พูดดังๆ ผมเชื่อว่า ผมพูดไป แป๊บเดียว เดี๋ยวเขาก็ลืม เพราะฉะนั้น เราทำ 13 จังหวัด เดี๋ยวขยายไป 15 ขยายไป 20 จังหวัด ค่อยๆ ไป แต่ไปแบบให้มันแน่น อาจจะใช้เวลานาน แต่เราเชื่อว่า นี่จะเป็นการทำที่ยั่งยืนมากกว่า” เขากล่าวอธิบาย

และย้ำว่า ไม่ใช่แค่ลำพังตัวเขาเองเท่านั้นที่มองเช่นนี้ แต่ทุกอย่างตั้งต้นจากคุณค่าองค์กร ตั้งต้นจากสิ่งที่ชาวเต็ดตรา แพ้ค ยึดถือมาตลอด นั่นคือหลักคิดที่ว่า “Walk the talk”

“เราทำสิ่งที่เราพูด หรือ Walk the talk แล้ว เรื่องการปกป้องสิ่งที่มีคุณค่า เราก็จริงจังมาตลอด อย่างการซัพพลายกระดาษเพื่อมาผลิตบรรจุภัณฑ์ เราก็จัดหาจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น คือ จะต้องเป็นกระดาษที่มาจาก “ป่าปลูกทดแทนเชิงพาณิชย์ที่จัดการอย่างรับผิดชอบ” ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การจัดการด้านป่าไม้ Forest Stewardship Council™ หรือ FSC™ รวมทั้งแหล่งที่ควบคุมได้เท่านั้น”​ เขากล่าว

Tetra Pak

สะท้อนชัดเจนถึงปรัชญาองค์กร “เต็ดตรา แพ้ค” ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญให้บริษัทสามารถแข่งขันได้อย่างยาวนานในธุรกิจ

เพราะการจะคิดเติบโตเพียงสร้างรายได้ หวังแค่ผลกำไร แต่ทิ้งสังคมไว้ข้างหลัง ..วันหนึ่ง​ หากสังคมล้ม สิ่งแวดล้อมพัง ก็ไม่มีใครอยู่รอดได้อยู่ดี!

ติดตามโครงการ กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้ ที่ www.facebook.com/UHTBECARE


  • 9.6K
  •  
  •  
  •  
  •