ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และที่น่าเศร้าไปกว่านั้นพบว่าหลายครั้งเกิดจากการลงมือของคนใกล้ตัวเด็ก ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าความรุนแรงนี้เกิดขึ้น ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน รวมถึงสถานเลี้ยงดูเด็ก โดยเด็กกว่าร้อยละ 50 บอกว่า เคยได้รับการลงโทษด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ จากพ่อแม่ ครู หรือผู้ดูแลใกล้ชิด ตั้งแต่การตีหัว ตีด้วยไม้ บิดหู บางรายถูกลงโทษรุนแรงจนได้รับบาดเจ็บ และมักจะถูกลงโทษบ่อยขึ้นเมื่อโตขึ้น ซึ่งเด็กหลายคนมองว่าเป็นความผิดของตนเอง
จากปัญหาและความร้ายแรงทั้งหมดที่กล่าวมา ทางองค์การยูนิเซฟ (Unicef) จึงจับมือกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมทำแคมเปญโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก ในแนวคิด “เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ หยุดใช้ความรุนแรง” เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของความรุนแรงที่มีต่อเด็ก โดยมุ่งเน้นให้พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็ก ยุติการกระทำรุนแรงทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงความรุนแรงที่เกิดจากการสั่งสอน หรือสร้างวินัยไห้เด็ก เช่น การตี การดุด่า พร้อมแนะแนวการเลี้ยงลูกถูกวิธี ตลอดจนวอนสังคมให้ความสนใจและร่วมเป็นหูเป็นตา
สร้าง Awareness ด้วยสื่อที่หลากหลาย
สิ่งที่นักการตลาดเรียนรู้ได้จากแคมเปญนี้ ไม่ใช่เฉพาะแค่ว่าเป็นการแชร์เรื่องราวดีๆ เพื่อการกุศลเท่านั้น แต่เราได้เห็นการใช้เครื่องมือทางการตลาดที่หลากหลาย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการสื่อสารเดียวกัน โดยมีการใช้ช่องทางและสื่อต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งทำออกมาค่อนข้างครอบคลุมในทุกด้านทีเดียว ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
การผลิต TVC ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือยอดฮิต ที่สามารถสร้าง Awareness ได้รวดเร็วที่สุด ซึ่งสำหรับแคมเปญนี้ ได้จัดทำภาพยนตร์ความยาว 30 วินาที และ 15 วินาที ออกเผยแพร่เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของความรุนแรงที่มีต่อเด็ก ในชื่อว่า “ห่างเหิน (Distance)” สำหรับภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ มีแนวคิดว่า “ความรุนแรง สร้างความห่างเหินในใจเด็ก” ได้
เนื้อเรื่องได้หยิบยกเรื่องราวชีวิตประจำวันของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ด้านหนึ่งมีความร่าเริงสดใส ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป แต่แววตา การกระทำ และความรู้สึกของเด็กน้อยที่มีต่อพ่อแม่นั้น กลับว่างเปล่า ห่างเหิน ไร้ความรู้สึก ราวกับเป็นคนแปลกหน้าทั้งที่อยู่ด้วยกันทุกวัน อันเป็นผลมาจากความรุนแรงในการเลี้ยงดู ซึ่งมีการส่งต่อและแชร์กันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์อย่างมาก
“ห่างเหิน (Distance)” หยุดใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ถ้าไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวคุณ โดย UNICEF (คลิป)
httpv://www.youtube.com/watch?v=It3UsiZjRWE
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเว็บไซต์ www.endviolencethailand.org ซึ่งภายในจะเปิดเผยข้อมูลถึงภัยของการเลี้ยงเด็กด้วยความรุนแรง รวมทั้งยังมีคู่มือการเลี้ยงลูกให้ถูกวิธีให้ด้วย ที่สำคัญคือตัวเว็บไซต์ยังทำหน้าที่ในการแจ้งข่าวหากพบเห็นการกระทำที่รุนแรงต่อเด็ก
แคมเปญนี้ยังกระตุ้นความเข้าใจเพิ่มอีกเพิ่มอีกผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ด้วยแฮชแทก #ENDviolence ตลอดจนจัดทำโปสเตอร์ แผ่นพับ และจัดกิจกรรมโรดโชว์ให้ความรู้แก่พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมี VDO การส่งเสริมวิธีการเลี้ยงลูกแบบสร้างเสริมวินัยเชิงบวกที่จะเผยแพร่ในเดือนมีนาคมนี้อีกด้วย
Influencer & Character
ยังไม่หมดแค่นั้น เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและกระตุ้นสังคมมากขึ้น ยังใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า Influencer marketing โดยให้ดาราหรือคนดังใส่เสื้อยืดของแคมเปญแล้วถ่ายรูปโพสต์ภาพลงบน Instagram เพื่อให้แรงผลักดันที่เข้มข้นอีกทางหนึ่ง
และสุดท้ายที่จะไม่พูดเลยคงไม่ได้ก็คือการสร้าง “การ์ตูน คาแรคเตอร์” ให้กับแคมเปญ โดยคาแรคเตอร์ดังกล่าวนำเสนอเป็น ครอบครัวหมีสีฟ้า ซึ่งมีครบทั้งพ่อ แม่ ลูก ซึ่งทุกตัวมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมกับตั้งชื่อว่า Cute Family Bear โดยมีการซ่อน message ไว้ในคำว่า C-U-T-E ไว้ด้วย ดังนี้
- Confidence ให้ความมั่นใจ – เปลี่ยนจากการใช้วิธี “จับผิด” มาเป็นการ “จับถูก” มองหาสิ่งดีเพื่อชื่นชมและให้กำลังใจ
- Understanding ให้ความเข้าใจ – พยายามเข้าใจลูก และหาวิธีต่อรองตกลงกับลูก โดยไม่บังคับ
- Trust ให้ความไว้ใจ – ไม่ตัดสินใจแทนลูกตลอดเวลา เปิดโอกาสให้ลูกได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่เขาอยากทำบ้าง
- Empathy ให้ความเห็นใจ – เข้าถึงความคิดและความรู้สึกของลูก และเคารพในศักดิ์ศรีของลูก เสมือนเขาคือผู้ใหญ่คนหนึ่ง
ด้านนายพิชัย ราชภัณฑารี ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ โดยก่อให้เกิดผลเสียในทุกระดับตั้งแต่ตัวเด็กเอง ชุมชน ตลอดจนทำให้ประเทศสูญเสียศักยภาพในการพัฒนาในอนาคต ความรุนแรงนี้เกิดขึ้นเป็นประจำที่บ้านและที่โรงเรียน แต่มักถูกมองข้ามหรือไม่มีใครสนใจ โดยที่พ่อแม่ ครู และผู้ดูแลจำนวนมากอาจยังไม่ตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดกับพัฒนาการของเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”
โครงการดีๆ ที่บวกกับความคิดสร้างสรรค์ เชื่อว่าจะทำให้แคมเปญยุติความรุนแรงต่อเด็กชิ้นนี้ประสบความสำเร็จได้.
ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กได้ที่ www.endviolencethailand.org