ในทุกมิถุนายน เดือนแห่งการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศของ LGBTQ+ ทั่วโลกหรือเทศกาลสำคัญ Pride Month “แสนสิริ” ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ส่งเสริมการยอมรับ LGBTQ+ อย่างเสมอภาค และสดุดีความเท่าเทียมอย่างเนื่อง โดยในปีนี้ แสนสิริ ในฐานะองค์กรแรกในประเทศไทย ที่ได้ร่วมลงนามในสัญญา UN Global Standards of Conduct for Business สนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมในองค์กรให้กับพนักงานและพันธมิตรคู่ค้า ที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ เดินหน้าสานต่อวิสัยทัศน์ ภายใต้การสนับสนุนของ UNDP ปีที่ 2 ตอกย้ำจุดยืนองค์กรสนับสนุนความเท่าเทียม และการยอมรับความหลากหลาย ขยายวิสัยทัศน์ปี 2021 สู่มุมมองด้าน “ความเท่าเทียมในทุกมิติ” ผ่านการเปิดตัวแคมเปญ “Live Equally…เราเท่ากัน” หวังเป็นส่วนหนึ่งช่วยผลักดันให้สังคมไทยเปิดกว้างยอมรับ LGBTQ+ และสร้างความเท่าเทียมกันในทุกมิติในสังคมอย่างแพร่หลาย
เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและประธานกรรมการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทแรกในไทย และ 1 ใน 200 บริษัทชั้นนำทั่วโลก ที่ได้รับเกียรติให้ร่วมลงนาม UN Global Standards of Conduct for Business สนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมในองค์กร กล่าวว่า นอกเหนือจากการเปิดกว้างยอมรับ LGBTQ+ แสนสิริ เชื่อว่า ทุกมิติของชีวิต คือ เรื่องความเท่าเทียม มิติต่างๆ ในที่นี้ครอบคลุมตั้งแต่เรื่อง ความเท่าเทียมของการยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ การเปิดโอกาสยอมรับเพศสภาพอย่างเสมอภาคในที่ทำงานและการผลักดันนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมในองค์กร ความเท่าเทียมของทุกคนหรือลูกค้าในการมีบ้านได้ง่ายขึ้น ซึ่งแสนสิริได้ร่วมมือกับพันธมิตรธนาคารชั้นนำอย่าง SCB ไทยพาณิชย์ ในปีที่ผ่านมาเปิดกว้างให้ทุกคู่ชีวิตเป็นเจ้าของบ้านแสนสิริได้โดยครอบคลุมถึงกลุ่ม LGBTQ+
ช่วยให้กลุ่ม LGBTQ+ กู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น
“ผมว่าเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เรื่องของการกู้เงิน เมื่อสองปีที่ผ่านมา LGBTQ+ อาจจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ลำบาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกู้บ้านหรือกู้ร่วม แต่หลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราก็ได้มีการรณรงค์ และก็ได้มีการทำงานใกล้ชิดกับสถาบันทางการเงินจนได้รับการยอมรับที่ดีขึ้น ผลปรากฏว่า LGBTQ+ ก็ได้รับสิทธิที่เพิ่มมากขึ้นในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าเป็นสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องกันมานาน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก จากพารทเนอร์ที่เป็นสถาบันการเงินต่างๆ อัตราในการปล่อยกู้ก็สูง การปล่อยกู้ซื้อบ้านของกลุ่ม LGBTQ+ ก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลย
อีกเรื่องคือเรื่องของการแสดงออก เรื่องของการยอมรับว่าเขาคือใคร วิธีการที่เขาอยู่ร่วมในสังคมได้ โดยเป็นตัวของเขาเองได้ ไม่ถูกกีดกัน ไม่ถูก bully ไม่ถูกรังแกด้วยคำพูด แม้แต่การส่งสายตาหรือกริยาต่างๆ ผมเชื่อว่าหลายๆ องค์กรสามารถทำตรงนี้ได้มากกว่านี้ และให้การสนับสนุนในการแสดงออก เช่น สัญลักษณ์ของห้องน้ำ หรือไปไกลถึงขนาดเรื่องของความก้าวหน้าทางด้านหน้าที่การงาน เราควรจะถูกวัดฝีมือการทำงานด้วยผลงาน ไม่ใช่เรื่องของรสนิยมทางเพศ หรือว่าการแต่งตัวที่ไม่เหมือนใคร ถ้าเกิด LGBTQ+ คนกลุ่มนี้มีความสบายใจ มีความมั่นใจในการแสดงออก มีความสุขในการที่เขาจะอยู่ในสังคมที่เขาสามารถแสดงออกเรื่องความคิดสร้างสรรค์ได้ เขาอยู่แล้วมีความสุข มันก็ส่งผลต่อการ creativity ในงานที่ทำออกมา เขาก็จะทำประโยชน์ให้องค์กรได้ อันนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราทำแล้วบริษัทจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย องค์กรเองก็จะได้ benefit สูงเช่นเดียวกัน”
เศรษฐา ยังกล่าวว่า การทำงานตรงนี้ไม่ได้มุ่งแต่เพื่อตอบโจทย์ด้านธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่กำลังทำภาระกิจเพื่อสังคม เราเองเป็นบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ ดังนั้น เราถือว่าเราเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมภาคใหญ่ภาคหนึ่ง ไม่ได้คิดถึงแค่การซื้อขายบ้านแค่นั้น คือมันก็เป็นอาชีพของเราก็จริง แต่อย่างไรก็ตาม role ในสังคมมันต้องมีมากขึ้น เรื่องของบ้านและเรื่องของการซื้อที่อยู่อาศัยแล้วมาอยู่ร่วมกัน มีทั้งหลายอายุ หลายเพศ หลาย income level เชื่อว่าอสังหาริมทรัพย์เป็นองค์ประกอบใหญ่ ของสังคมอันหนึ่ง ซึ่งถ้าเกิดว่าสังคมไม่มีความสุข หรือว่าสังคมไม่มีความเท่าเทียม การเดินไปข้างหน้าก็ลำบาก
นอกจากนี้ เรายังเชื่อว่าการให้ความสำคัญในด้าน ความเท่าเทียมของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ควรได้รับการช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน ตลอดจนความเท่าเทียมในสิทธิ์ด้านการเข้าถึงการลงทุนเพื่อสร้างรายได้อย่างเท่าเทียมกันของทุกคนทุกระดับ การที่สังคมจะเกิดความเท่าเทียมได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากภายในองค์กรก่อน ขอขอบคุณพันธมิตรทั้ง 15 บริษัทที่เห็นคุณค่าของความเท่าเทียมและช่วยผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งเราหวังว่า การร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการจุดประกายให้ภาคส่วนอื่นๆ เปิดกว้างยอมรับความหลากหลายในสังคมและสร้างความเท่าเทียมในทุกมิติจนกลายเป็นมาตรฐานของสังคมมากขึ้น
ด้าน เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme: UNDP) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าประเทศไทย ให้การยอมรับเรื่องของความเท่าเทียมและเรื่องของ LGBTQ+ มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ เยอะพอควรทีเดียว แต่ว่าเช่นเดียวกับทุกประเทศที่เรามี room of improvement คือยังมีพื้นที่ที่สามารถไปได้มากกว่านี้อีก หรือเรียนรู้กับมันได้มากกว่านี้ และหนึ่งในหลักกที่เห็นได้ชัดเจนหลังจากที่โควิด-19 เกิดขึ้นก็คือ ยังมีการ discriminate หรือการที่เลือกปฏิบัติ ดูแลไม่เท่าเทียมกัน เมื่อกลุ่ม LGBTQ+ ไปใช้บริการยังพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่ประเทศไทยสามารถพัฒนาจากจุดนี้ได้
สำหรับการผลักดันเรื่อง “ความเท่าเทียม” แสนสริ ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตร จากบริษัทชั้นนำ 15 แห่ง ทั้งธนาคาร กีฬา ไลฟ์สไตล์ EV Sharing และ SMEs พันธมิตรคู่ค้า ร่วมส่งเสริมความเท่าเทียมและการยอมรับความหลากหลาย LGBTQ+ ร่วมลงนามในข้อตกลง United Nations Global Standards of Conduct for Business หรือ มาตรฐานข้อปฏิบัติทางธุรกิจขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อลดการแบ่งแยก และความเหลื่อมล้ำในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTIQ+ ซึ่งย่อมาจาก Lesbian (หญิงรักหญิง) Gay (ชายรักชาย) Bisexual (คนรักสองเพศ) Transgender (คนข้ามเพศ) Intersex (อินเทอร์เซ็กส์หรือเพศกำกวม) Queer (เพศอิสระ) ตลอดจนมุ่งมั่นผลักดันมาตรฐานใหม่ “สร้างสังคม ที่ความเท่าเทียมกลายเป็นมาตรฐานในทุกมิติ” และโอกาสการทำธุรกิจกับองค์กรใหญ่อย่างเข้าถึง
ทั้งนี้ UN Standards of Conduct for Business หรือ มาตรฐานข้อปฏิบัติทางธุรกิจขององค์การสหประชาชาติ (UN) มีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ 5 หลักการทางธุรกิจ ซึ่งแสนสิริได้ลงนามที่จะยึดมั่นเพื่อปรับใช้ในสถานที่ทำงาน การดำเนินการค้าขาย รวมถึงในชุมชน ได้แก่
- เคารพสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LGBTQ+ ในทุกการดำเนินการและความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
- ขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อพนักงานที่เป็น LGBTQ+ ในสถานที่ทำงาน
- ให้การสนับสนุนเชิงรุกแก่พนักงานที่เป็น LGBTQ+ โดยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวก สร้างความเชื่อมั่น ซึ่งช่วยให้พนักงานทุกท่านทำงานร่วมกันได้อย่างมีเกียรติ
- ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจเกิดจากการกีดกันต่อลูกค้า คู่สัญญา คู่ค้า รวมถึงบุคคลอื่นๆ
- ผลักดันประเด็นเรื่องความเท่าเทียมอย่างเป็นสาธารณะ สนับสนุนให้เกิดข้อตกลงการปฏิบัติร่วมกัน กระตุ้นให้เกิดการพูดคุยในสังคม หรือการให้ความสนับสนุนทางการเงินหรือปัจจัยต่างๆ ต่อองค์กรที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของ LGBTQ+
นอกจากนี้ “แสนสิริ” ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความเท่าเทียมในทุกมิติ ผ่านแคมเปญ “Live Equally…เราเท่ากัน” ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ อาทิ ลดตราสัญลักษณ์ (Sansiri Logo) จำนวน Stack จาก 5 ชั้นเหลือเพียง 2 ชั้น เพื่อสะท้อนถึงเครื่องหมาย “เท่ากับ” (=) สื่อความหมายยิ่งใหญ่ ที่มุ่งหวังให้สังคมเปิดใจยอมรับความแตกต่างและความเท่าเทียมในทุกมิติ Art Installation ที่ Sansiri Backyard ใน T77 community กับความหมายอันลึกซึ้งของ LGBTQ+ และความเท่าเทียมในทุกมิติ กับคอนเซ็ปท์ “Circle of Equality เราเท่ากัน ฉันเท่าเธอ” สะท้อนถึงความเท่าเทียมทุกมิติในช่วงเดือน Pride Month เครื่องหมายเท่ากับ (equal) ถูกจับวางและตีความลงในตำแหน่งของเส้นที่ไม่มีที่สิ้นสุด (circle) เมื่อเราเคารพในความแตกต่างของกันและกันในทุกๆด้าน เราจะไม่มีเส้นแบ่งของความสร้างสรรค์ และบรรจบเป็นวงกลมที่สมบูรณ์ งาน Graffiti Wall Art ที่โครงการสิริเพลส บางนา-เทพารักษ์ การเปลี่ยนโลโก้ HABITO community mall เป็นสีรุ้งเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month และความเท่าเทียม, Podcast กับบท สนทนา Special topic “เท่าไหน…ที่เท่ากัน” นำโดย คุณเศรษฐา ทวีสิน ผู้บริหารหัวเรือใหญ่แห่งแสนสิริ โดยรับเกียรติจากแขกรับเชิญ LGBTQ+ คนรุ่นใหม่อย่าง“เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ ไอดอลแห่ง LGBTQ+ เมืองไทย และ คิลิน-เอมอนันต์ อนันตลาโภชัย นักเขียนนิยาย LGBTQ+ ชื่อดัง, #Live Equally photo challenge ร่วมส่งเสริมความเท่าเทียมในทุกมิติไปกับแสนสิริและเหล่า influencers คนดังในสังคม ผ่าน hashtag #LiveEquallyChallenge