จากกรณีที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เตือนผู้ที่ส่งข้อความทางแอพแชทยอดฮิต “ไลน์” ว่าทางกระทรวงนั้นสามารถตรวจสอบและล่วงรู้ข้อความทุกอย่างที่ส่งมาได้หมด สร้างความแตกตื่นให้กับบรรดาชาวเน็ตอย่างมาก ด้วยความกลัวว่าสิ่งที่เป็นเรื่องส่วนตัวนั้นอาจจะล่วงรู้ไปถึงบุคคลที่สามได้
อย่างไรก็ตาม น.ส.วารดี วสวานนท์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไลน์ ประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์กรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ว่า สิ่งที่ไอซีทีอ้างว่าสามารถตรวจสอบข้อความของผู้ใช้ไลน์ในไทย ประเภทหมิ่นสถาบันและกระทบต่อความมั่นคง และจะดำเนินการเอาผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ นั้นไม่สามารถทำได้ และยังงงว่าทางไอซีทีตรวจสอบด้วยวิธีอย่างไร แต่ไลน์ยืนยันว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้ได้ ซึ่งถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล และในทางสากลก็มีกฎหมายละเมิดสิทธิของผู้ใช้ไลน์คุ้มครองอยู่
“อย่างไรก็ตาม หากทางการไทยประสานมาที่ไลน์ประเทศไทย เพื่อจะขอข้อมูลผู้ใช้ไลน์ ต้องมีหมายศาลและติดต่อไปที่ไลน์ประเทศญี่ปุ่นหรือบริษัทแม่ก่อน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทแม่ด้วยว่าจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ได้หรือไม่”
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวถึงผลการสำรวจสถิติของไอซีที ที่พบว่าปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ใช้แอพพลิเคชั่น“ไลน์” ประมาณ 33 ล้านคน โดยมีการส่งข้อความวันละเกือบ 40 ล้านข้อความ ว่า กระทรวงไอซีทีสามารถสอดส่องตรวจดูได้หมดว่ามีการส่งต่อข้อความประเภทไหนบ้างในแอพแชทชื่อดง “ไลน์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความหมิ่นประมาท ข้อความหมิ่นสถาบัน และข้อความที่มีผลกระทบด้านความมั่นคง ซึ่งจะถูกจับตาเป็นพิเศษ แต่ละวันมีการส่งข้อความประเภทนี้จำนวนมากเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากใครได้รับการส่งต่อข้อความประเภทนี้ สามารถนำข้อความนั้นไปแจ้งความกับตำรวจ เพื่อให้กระทรวงไอซีทีดำเนินการตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ในการไปตรวจสอบหาต้นตอที่ส่งมาได้ ส่วนกรณีที่ถ้ามีการจับกุมแล้วผู้ต้องสงสัยอ้างว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ตนคิดว่าฟังไม่ขึ้น เพราะตามกฎหมายแล้วถือว่าเป็นคนที่สมรู้ร่วมคิด ดังนั้นทางที่ดี ทุกคนไม่ควรส่งต่อข้อความประเภทนี้
นายพรชัย กล่าวอีกว่า กระทรวงไอซีที มีหน่วยงานหลักที่ดำเนินการติดตามเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย และเว็บไซต์ที่ขายยาที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยา(อย.) รวมถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ซึ่งมีประมาณร้อยละ 20-30 โดยทำเป็นขบวนการ ซึ่งเราต้องจัดการทั้งหมด ถ้าเป็นเว็บไซต์ที่เปิดที่ต่างประเทศ เราก็จะมีการขอหมายศาล แล้วนำไปประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อส่งหมายศาลไปยังประเทศต้นทางของเว็บไซต์ แจ้งว่าเว็บไซต์นั้น ๆ ทำผิดกฎหมายไทย ดังนั้นการดำเนินการอาจจะช้าเล็กน้อย เพราะต้องเจรจา เนื่องจากบางประเทศมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกับไทย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีการดำเนินการเป็นระยะ แม้จะไม่มีการแถลงข่าว แต่กระทรวงไอซีที ได้รายงานให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบตลอด
ขอบคุณข้อมูลจากเดลินิวส์, ประชาชาติธุรกิจ