“พินัยกรรมอวัยวะ” แนวคิดที่อยากบอกว่า ‘แม้คุณจะสมัครใจบริจาคอวัยวะ แต่ถ้าญาติไม่ยอมก็เท่ากับคุณไม่ได้บริจาค’

  • 107
  •  
  •  
  •  
  •  

httpv://youtu.be/AyZcgEpNm-Q

บรรทัดแรกนี้ เราอยากบอกอะไรบางอย่างให้คุณได้ลองคิดตาม

“การตัดสินใจจะบริจาคอะไรสักอย่างที่คุณเป็นเจ้าของเช่น เงิน เสื้อผ้า อาหาร โลหิต ล้วนเป็นความตั้งใจส่วนตัว สิทธิ์ในการตัดสินใจว่าจะให้หรือไม่ให้ ขึ้นอยู่กับตัวคุณเอง …..แต่คุณเชื่อไหมว่า แนวคิดนี้ใช้ไม่ได้กับการบริจาคร่างกายและอวัยวะ แม้เป็นร่างกายและอวัยวะที่คุณเป็นเจ้าของ และคุณเต็มใจจะบริจาค แต่คุณจะไม่ใช่ผู้ตัดสินใจคนสุดท้ายว่าจะให้หรือไม่ให้” เพราะอะไร?…..

Screen Shot 2559-04-27 at 12.20.13 PM

ปัจจุบันมีผู้ป่วยเกือบ 13,000 ราย ที่กำลังรอการปลูกถ่ายอวัยวะ แบ่งเป็นอวัยวะ 5,018 ราย และดวงตา 7,964 ราย ดูจะเป็นการรอที่แสนบีบคั้น เพราะทุกหนึ่งวันที่ผ่านไปหมายถึงร่างกายที่ทรุดลงเรื่อยๆ ร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยจึงต้องสตรองให้ถึงวันที่จะได้รับโอกาสผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ

 

ปี 2558 ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ได้รับอวัยวะจากผู้บริจาคเพียง 206 รายเท่านั้น ซึ่งนำอวัยวะไปปลูกถ่ายช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น 463 ราย ส่วนศูนย์ดวงตา มีผู้ได้รับการเปลี่ยนกระจกตา 719 ราย ณ ตอนนี้จึงยังมีผู้ป่วยอีกนับหมื่นกำลังรอโอกาสของตัวเอง สำหรับผู้ป่วยบางคนมันคือการได้ชีวิตใหม่ บางคนได้กลับมาเห็นหน้าคนในครอบครัว

 

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีการสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องเรื่องการบริจาคอวัยวะและดวงตา แต่ก็ยังคงมีความเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ และบริจาคร่างเป็นอาจารย์ใหญ่ ความแตกต่างคือ  การบริจาคร่างเป็นอาจารย์ใหญ่ คือการบริจาคร่างให้นักศึกษาแพทย์ได้ร่ำเรียน ซึ่งมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อวงการแพทย์ และจะไปต่อลมหายใจผู้อื่นได้ในอนาคต

 

แต่การบริจาคอวัยวะ คือ หลังจากที่ผู้บริจาคเสียชีวิต อวัยวะทั้งหมดในร่างการที่ใช้ประโยชน์ได้ จะถูกนำไปเปลี่ยนให้ผู้ป่วยที่อวัยวะเหล่านั้นเสื่อมสภาพ (ผู้บริจาคต้องเสียชีวิตจากภาวะสมองตายเท่านั้น) หมายความว่า หลายอย่างในร่างที่ใช้ได้จะถูกส่งไปให้กับหลายคนที่ต้องการ และภายใน 2 ชั่วโมงหลังบริจาค แพทย์จะตกแต่งร่างของผู้บริจาคให้คงสภาพเดิม และมอบให้ญาตินำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป

 

ส่วนการบริจาคดวงตา จะค่อนข้างซีเรียสมากกว่า เพราะต้องจัดเก็บกระจกตาหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วภายใน 6 ชั่วโมง หากเกินกว่านั้นจะไม่สามารถนำมาใช้เปลี่ยนถ่ายให้ผู้อื่นได้ เพราะหลังเสียชีวิตดวงตาจะเสื่อมสภาพได้เร็ว ปีที่ผ่านมา ศูนย์ดวงตาได้รับการบริจาคจากผู้เสียชีวิตเพียง 784 ราย

 

สิ่งที่เราอยากบอกคือ ต่อให้คุณเต็มใจจะบริจาคทุกอย่างในร่างกาย แต่ถ้าญาติคุณปฏิเสธเมื่อถึงเวลานั้น ตามกฎหมายแล้วก็ไม่มีใครสามารถเอาร่างคุณไปทำอะไรได้ คุณเองก็คงไม่สามารถลุกขึ้นมาคุยให้ญาติเข้าใจได้เช่นกัน นี่คือคำอธิบายของคำถามที่เราทิ้งไว้ให้คุณลองคิดตั้งแต่ตอนต้น

13112410_1128782190477034_1913191067_o

“พินัยกรรมอวัยวะ” จึงเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาระหว่าง ผู้บริจาค ญาติผู้บริจาค และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล อธิบายแนวคิด “พินัยกรรมอวัยวะ” ให้เข้าใจกันง่ายๆคือ  เมื่อคุณสมัครใจลงนามเป็นผู้บริจาคอวัยวะและดวงตา ลำดับถัดไปคือ คุณต้องทำความเข้าใจกับญาติหรือคนในบ้านให้ทราบถึงเจตนารมณ์ของคุณ และช่วยสืบทอดเจตนารมณ์นั้นในวันที่คุณไม่อยู่แล้ว

 

เพราะที่ผ่านมา…แม้การสมัครใจบริจาคอวัยวะและดวงตาจะเพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนที่ได้มาจากการบริจาคจริงๆ ยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ลงนามบริจาค เพราะเมื่อถึงเวลานั้นแล้วหากญาติๆไม่ยอมก็เท่ากับว่าพวกเขาไม่ได้บริจาค

แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้  เนื่องจากในภาวะที่กำลังการสูญเสีย อาจทำให้ญาติไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะรับฟังเหตุผลใดๆ ซึ่งนอกจากอารมณ์แล้วยังมี  ‘ปมความเชื่อ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนและโน้มน้าวได้ยากที่สุด ผู้บริจากทุกคนจึงควรบอกคนใกล้ตัวให้ทราบ หากได้ลงนามเป็นผู้บริจาคอวัยวะและดวงตาแล้ว และอธิบายให้เข้าใจตรงกันถึงเจตนารมณ์สุดท้ายของตัวเอง 

 

และเราอยากให้มองลึกถึงมุมของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล  ณ ช่วงเวลาที่ต้องบอกกับญาติ ถึงเจตนารมณ์ของผู้ป่วยที่สมัครใจบริจาคอวัยวะและดวงตา  คงเป็นภาวะที่ยากลำบากไม่น้อย ทั้งยังบีบรัดด้วยเวลาที่จำกัด เพราะอวัยวะบางอย่างรอนานไม่ได้ และมีผู้ป่วยหนักหลายรายกำลังรอเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

13052480_1128782143810372_1082652678_o

 

ภาพยนตร์โฆษณานี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “พินัยกรรมอวัยวะ” โดยครีเอทีฟจาก ‘ชูใจ กะ กัลยาณมิตร’ คุณกิตติ ไชยพร และคุณประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ ซึ่งได้ พี่เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ มากำกับภาพยนตร์โฆษณาตัวนี้ ยังมีอีกหลายเวอร์ชั่นไปดูเพิ่มได้ที่  www.บริจาคอวัยวะด้วยการบอกญาติ.com

 

*สมองตายกับการบริจาคอวัยวะ สมองตาย คือ ภาวะสมองถูกทำลายจนสูญเสียการทำงานโดยสิ้นเชิงและถาวร ไม่มีหนทางที่จะรักษาเยียวยาได้ ทางการแพทย์ถือว่าผู้ที่มีภาวะสมองตาย คือผู้เสียชีวิตแล้ว  ซึ่งการเสียชีวิตทั่วไปจะใช้หลักการหัวใจหยุดเต้น หรือการหยุดหายใจ ดังนั้นหากตรวจพบผู้ป่วยสมองตาย หมายถึง ระบบประสาทส่วนกลางหรือสมองไม่สั่งงาน ทำให้ระบบการหายใจหยุดหยุดทำงาน หัวใจไม่บีบตัว ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว

13091771_1128782150477038_227608445_o

 

 

หากผู้อ่านสนใจร่วมบริจาคอวัยวะและดวงตาสามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  www.บริจาคอวัยวะด้วยการบอกญาติ.com 

Copyright © MarketingOops.com


  • 107
  •  
  •  
  •  
  •