ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้คนใช้คำว่า #สู้สู้นะ #เป็นกำลังใจให้นะ ให้กันเเปลืองมาก ไหนจะต้องยกการ์ดสูงให้รอดชีวิตจากการติดเชื้อ ไหนจะต้องหาเลี้ยงครอบครัวให้อยู่กันไปได้ ทั้งนี้ โฆษณาไวรัลชิ้นหนึ่งที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวความลำบากในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี แต่มากไปกว่านั้นมันยังสะท้อนจิตใจที่เข้มแข็งกับชีวิตที่เข้มข้นของคนทำงานในยุคโควิดได้กระทบใจโดนใจนทุกคน
เชื่อว่าหลายคนคงมีโอกาสได้ดูโฆษณาชิ้นนี้แล้ว เพราะเป็นงานไวรัลที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ไม่เฉพาะแค่ในวงการโฆษณาแต่ในหลายๆ วงการอาชีพเลย ใช่แล้วเรากำลังพูดถึงโฆษณา Dutch Mill Selected Rich Espresso ในชื่อผลงานว่า “The Lockdown Rube Goldberg” #คู่หูคู่เข้ม ซึ่ง Marketing Oops! ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 3 บุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังโฆษณาชิ้นนี้ได้แก่ คุณบี-ภักต์พงษ์ สกลวิทยานนท์ Founder & Visual Identity Director บริษัท B1 Films Co.,Ltd ฝ่ายโปรดักชั่นเฮาส์, คุณพีท-ทสร บุณยเนตร Executive Creative Director จาก Wunderman Thompson Thailand ฝ่ายเอเจนซี่ และ คุณปุ๊-ระวิวรรณ มหาคชาภรณ์ Marketing Director บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด มาจากฝั่งแบรนด์ ซึ่งทั้ง 3 ท่านก็เป็นสามคนที่อยู่ในคลิปโฆษณาด้วย และบทสัมภาษณ์นี้ไม่ได้เปิดเผยแค่การทำงานเบื้องหลังแต่ยังเป็นการเปิดใจของการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 คนที่ต่างคนก็ยังไม่เคยพูดเปิดใจกันมาก่อนด้วย แต่ก่อนไปอ่านบทสัมภาษณ์ เรามาดูงานชิ้นนี้กันอีกที
การทำงานบนสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
คุณพีท ทีมเอเจนซี่ เล่าถึงจุดเริ่มต้นให้เราฟังว่า ต้องบอกว่างานชิ้นนี้เป็นงานพิทชิ์ชิ่งที่ลูกค้าให้โจทย์มาว่า เป็นนมรสกาแฟ ที่เข้มข้นที่สุดในตลาด ได้แก่ Dutch Mill Selected Rich Espresso พวกเราก็กลับไปทำการบ้านและแคร็ก strategy ออกมาก่อนว่ามันคือการรวมกันของนมและกาแฟที่เข้มข้นทั้งคู่ จากนั้นเราก็นำความเข้มของทั้งสองอย่างมาอยู่ในสถานการณ์ของโควิดในปัจจุบัน เราขายไอเดียนี้ไปลูกค้าก็โอเค.เลือกเรา ซึ่งตอนแรกต้องบอกว่าก่อนจะมาสู่เจ้าเครื่อง Rube Goldberg มีการปรับเล็กน้อย คือเราเน้นไปที่ชาเลนจ์ผู้กำกับให้ทำงานแบบไม่ได้นอน แต่หลายฝ่ายเกรงว่ามันจะเป็นเนกาทีฟมากกว่า จึงปรับ exclusion ใหม่ โดยนำเอาความท้าทายในการทำเครื่อง Rube Goldberg เข้ามาชาเลนจ์ผู้กำกับแทน ซึ่งต้องบอกว่าเครื่องนี้ก็เป็นความท้าทายที่ไม่ง่ายเหมือนกัน แล้วทุกคนก็ชอบไอเดียนี้ แต่ตอนนั้นยังไม่เกิดเหตุการณ์ที่ลดจำนวนกองถ่ายข้อกำหนดยังเป็น 50 คนได้อยู่
“ระหว่างทางเราก็มีการเดเวลลอปงานมาเรื่อยๆ พอเราคุยกันไปมา ปรากฏว่าสถาการณ์มันเปลี่ยนเร็วมากเลยใน 3 เดือน จาก 50 คน เหลือ 20 คน ความเข้มข้นมันก็เยอะขึ้นๆ แล้วต้องเข้าใจว่าเวลาเราถ่ายหนังปกติมันจะเกิน 100 คนอยู่แล้วมันสร้างงานสร้างอาชีพตรงนี้ แต่พอเหลือ 50 คน มันก็ตัดไปครึ่งนึงเลย พอเหลือ 20 คน ก็คือเหลือ 1 ส่วน 5 จนกระทั่งสั่งให้ออกกองได้เหลือแค่ 5 คน ซึ่งก็ยอมรับว่าสถานการณ์มันเข้มเกินกว่าที่คาดไว้ แต่ก็ต้องชมว่าลูกค้าเราทางดัช์มิลล์น่ารักมากที่คอยสอบถามตลอดทั้งเรื่องความปลอดภัยและการทำงาน
งานที่ขายของแต่สามารถสะท้อนแง่มุมในสังคมได้พร้อมกัน
คุณพีทเล่าต่อว่า นอกเหนือไปจากไอเดียของการเล่าเรื่องการทำงานที่เข้มข้นแล้ว อีกสิ่งที่เราต้องการสื่อกับสังคมก็คือ การเอาชนะอุปสรรค มันคือการสะท้อนความจริงของสถานการณ์ที่เข้มข้น แต่เราเชื่อว่าทุกคนจะผ่านไปได้
“เอาคนที่เจอความเข้มของสถานการณ์ ก็คือคนในกองถ่ายหนังนี่แหละ มาให้ทุกคนดูว่า สถานการณ์เข้มขนาดนี้เขายัง overcome มันได้เลย ไม่เพียงแค่นั้น มันยังส่งเมสเสจออกไปให้กำลังใจกับทุกอาชีพเลยว่า ตอนนี้เข้าใจนะว่ามันเข้ม ขนาดว่าเราเข้มนะ เราก็เชื่อว่าคุณก็เข้มเหมือนกัน เราเชื่อว่ามันจะผ่านไปได้
อย่างไรก็ตาม คุณพีทยังยกเครดิตให้กับแบรนด์ด้วยว่า ต้องถือว่าลูกค้าก็ให้ใจเยอะมากทีเดียว เพราะเวลานี้ควรจะเป็นงานที่เน้นการขายของขายเปิดตัวโปรดักส์เป็นหลักแต่ก็กล้าที่จะทำงานที่สะท้อนเรื่องราวในสังคมแทนแต่ลูกค้าก็มองเห็นคุณค่าและประโยชน์ตรงนี้มากกว่า
“เจตนาของงานมันสำคัญที่สุด ผมก็คุยกับลูกค้าแล้วว่า เจตนาของเราคือเราตั้งใจจะบอกว่า สถานการณ์มันเข้ม โปรดักส์เรามาเพื่อความเข้มแบบนี้ อันนี้ในงานต้องชัด ต้องช่วยลูกค้าขายของ มันต้องชัดว่าความเข้มมันคืออะไร แต่นอกเหนือจากนั้น ต้องเห็นเจตนาว่า เราเชื่อว่าไอ้ความสตรองในสถานการณ์บางอย่างมันผ่านไปได้เว่ย ถ้าเราเรียนรู้ที่จะสู้กับมัน”
คุณพีท ยังย้ำว่า งานนี้ถ้าใครดูแล้วจะรู้เลยว่ามันโพสิทีฟมากๆ เพราะมันกำลังจะบอกกับเราว่าไม่ว่ามันจะมีกฎเกณฑ์อะไรก็ตามตราบใดที่มันยังอนุญาตให้เราทำงานได้เราก็ต้องไม่ยอมแพ้ นมนี้มันดีไซน์มาเพื่อชีวิตที่มันกำลังเข้มข้นอยู่ 5 คนแปลว่าคุณถ่ายหนังได้ แต่คุณต้องเปลี่ยนไอเดียให้เข้ากับสถานการณ์
ครั้งหนึ่งกับการรับบทพระเอกในหนังตัวเอง
ด้านคุณบี ทีมโปรดักชั่น ซึ่งนอกจากจะรับหน้าที่เป็นผู้กำกับแล้ว ยังรับตำแหน่ง “พระเอก” ของเรื่องด้วย สารภาพกับทุกคนว่า สิ่งที่หนักใจมากกว่าการปั้นเจ้าเครื่อง Rube Goldberg ก็คือการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในงานโฆษณา
“สิ่งที่ยากคือ ผมถามคนหนึ่งก่อนเลยว่าเขาจะทำไหม นั่นก็คือ ตัวผมเอง”
คือผมจะไม่อยากอยู่หน้ากล้อง การถ่ายตัวเครื่องไม่ติดใจอะไร จากที่ฟังบรีฟของพีทว่าหนังตัวจริงของมันคือเรื่องราว Behind the scene โจทย์ที่ว่าต้องเห็นการทำงานของผมที่เข้มข้นขึ้น ยอมรับว่าตอนแรกก็คือเออออไปก่อนนะ แต่ก็ช่างใจอยู่ (หัวเราะ) ว่าจะทนเห็นสภาพตัวเองในสื่อได้ยังไง แต่ด้วยการคิดเข้าข้างตัวเองว่าเวลาถ่ายจริงมันก็คงไปที่เครื่องซะเยอะแหละ เห็นเรานิดหน่อยผมก็เลยคิดว่าน่าจะโอเค. แต่ถึงอย่างนั้นผมไม่ค่อยชอบหน้าตัวเองอยู่ดี นี่ก็เลยเป็นเรื่องยากเลยในการเริ่มต้น
ส่วนเรื่องราวในการทำงานลงมือถ่ายทำจริงนั้น คุณบีเล่าว่า คอนเซ็ปต์งานก็คือ #คู่หูคู่เข้ม หลังรับโจทย์แล้วผมก็ตามหา อาร์ตไดเร็คเตอร์ ก็ได้ “พี่ต้อย – คนึง ดำแก้ว” มาร่วมงานซึ่งจะเป็นคนสร้างเครื่อง Rube Goldberg ขึ้นมาจริงๆ ให้ได้ ซึ่งในเมืองไทยผมเชื่อว่ามีไม่กี่คนที่ทำได้ แล้วสำหรับผมเป็นคนที่ละเอียดมากทีเดียว ถ้าไม่เนี้ยบผมก็จะไม่ให้ผ่านไปได้ ดังนั้น อาร์ตไดฯ ที่ผมเลือกก็ต้องเป็นทีมที่ผมไว้ใจได้และฝากชีวิตไว้ได้เลย ซึ่ง “พี่ต้อย” เคยทำงานกับผม และผมก็เชื่อมือและไว้ใจมากทีเดียว เรียกว่าฝากชีวิตกันไว้ได้เลย งานที่เหลือเราก็มาขยี้เอา
อาการ ‘ถอดใจ’ กับความเครียดจริง ที่มากกว่าที่เห็นในคลิป
เมื่อถามถึงอุปสรรคสำคัญที่สุดในการทำงานคืออะไร คุณบีเล่าว่ามันคือเรื่องของการสื่อสาร การไม่ได้เห็นหน้ากันมันทำให้การทำงานยากและใช้เวลามากกว่าปกติ การคุยกันผ่าน Zoom มันใช้พลังงานมากทีเดียวแล้วยังมีปัญหากจุกจิกเรื่องอินเตอร์เน็ตบ้าง เรื่องพูดซ้อนกันบ้าง ซึ่งในการทำงานของเฮาส์ต้องบอกว่าเราไม่คุ้นชินกับเรื่องแบบนี้เลย คือถ้าไปเจอหน้ากันมันจะแก้ไขอะไรก็ง่ายผมก็แค่จิ้มๆ ตรงนี้ๆ แก้ตรงนี้ๆ แต่นี่คือต้องถ่ายหน้าจอแคปหน้าจอ วงกลมสิ่งที่ต้องแก้ อัปโหลดวิดีโอ ฯลฯ ไม่นับที่ต้องส่งกลับไปกลับมากันอีก แต่ต้องทำงานกันผ่านหน้าจอจิ้มกันไปเรื่อยๆ เรียกว่างานมันเข้มข้นด้วยตัวเองอยู่แล้ว
แต่แล้วเมื่อสถาการณ์เข้มขึ้นบีบคั้นให้ออกกองได้เหลือแค่ 5 คน สารภาพว่าวันนั้นเกือบถอดใจแล้ว คือเราไม่ได้หวังว่าจำนวนมันจะลดลงเรื่อยๆ อย่างนี้ เพราะตอนแรกสตอรี่เราเน้นไปที่ความเข้มของการสร้างเครื่องและการทำงานแบบ Distancing ซึ่งมันก็เข้มแล้ว แต่ว่าจาก 50 เหลือ 20 คน ก็กลับมาปรึกษาทีมว่าเอายังไงดี ทีมก็บอกว่าโอเค. ยังเป็นไปได้ เราก็ทำต่อไปจนใกล้จะเสร็จ เหลืออีกไม่กี่วันก็เป็นวันถ่าย แต่จู่ๆ ก็ตู้ม! มีประกาศเลยว่าออกกองได้แค่ 5 คนนะคืนนั้นเลยเรียกประชุมทันที ทั้งทีมเราและทีมคุณพีท ซึ่งเหตุการณ์ก็เป็นไปตามคลิปเลย นั่นคือเหตุการณ์จริงที่เราคุยกันว่าจะไปต่อหรือว่าหยุด
“เพราะว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะถ่ายหนัง 5 คน ทั้งทีมผู้กำกับ ทีมผู้ช่วย ช่างหน้าช่างผม มันเกินอยู่แล้ว เครียดกันจริงๆ เพราะเราไม่รู้จะทำยังไง ทุกจ๊อบทุกงานของทุกคน ยกออกไปหมดเลยเพื่อให้เหลือจ๊อบนี้จ๊อบเดียว ยอมรับเลยตอนแรกคือถอดใจกันหมดแล้ว แต่ด้วยความที่พอเราเริ่มทำงาน เราก็เริ่มรู้จักคนโน้นคนนี้ รู้ไปที่เรื่องครอบครัวเรื่องบริษัทของเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง ไอ้ภาพพวกนี้มันก็เข้ามา คือผมเห็นภาพของทุกคน ก็เลยค่อยๆ ตั้งสติและก็ค่อยๆ คิดว่า ถ้าจะทำแล้วมันจะทำอย่างไรให้มันผ่านไปได้”
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องสู้ต่อ! เมื่อมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าชีวิตจะไปต่ออย่างไร
คุณบี เล่าถึงการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่า สุดท้ายเมื่อสถานการณ์บีบรัดอย่างไม่คาดคิด ต้องทำงาน 5 คน ก็มีการปรับสตอรี่ใหม่ โดยเอาเบื้องหลังความจริงตรงนี้ มาใส่ไว้ในหนังโฆษณาด้วย ให้เป็นเหมือการบันทึกความจริงไปเลย จากเดิมที่ดีไซน์ให้มันสนุกกว่านี้ ก็ปรับเป็นนำเอาความรู้สึกโมเมนต์ตรงนี้นำมาถ่ายทอดออกมาเป็นส่วนหนึ่งของในหนังเลย
ด้าน คุณพีทเสริมว่า อันที่จริงผมก็ไม่กล้าตัดสินใจเองว่าให้เราไปต่อ แต่ว่าเราก็คุยกับพี่บีไว้ว่า 20 คนก็ว่ายากแล้ว แต่ว่า 5 คนเขาก็ไม่แน่ใจเลย ปรากฏว่าเขากลับมาว่าเขาสู้ ซึ่งตอนนั้นในโมเมนต์หนึ่ง มันเป็นสิ่งที่เราคิดเหมือนกันคือเรารู้สึกว่าถ้าเราไม่ทำงานมีใครอีกหลายคนที่จะได้รับผลกระทบ
“ถ้าเราไม่ทำช่วงนั้นออกมา แล้วคนในกองจะทำอย่างไร นั่นคือเขาจะไม่มีเงินเข้าเลย พี่บีบอกเลยว่ามีทีมงานอีกหลายคนที่ถึงขนาดอาจจะไม่มีเงานเลยในอีก 2 เดือนข้างหน้า ฉะนั้นงานตรงนี้อาจจะเป็นเงินถุงก้อนสุดท้ายในช่วงนี้ของเขาก็ได้ ยังไงก็ต้องเอา แต่จะทำย่างไรมากกว่าที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้”
สตอรี่ที่เปลี่ยนไปจนแทบจะเป็นหนังคนละม้วน กับเหตุผลที่ลูกค้ายอมใจ
ด้านคุณปุ๊ ทีมแบรนด์ ที่เปิดใจเล่าถึงความกังวลต่างๆ ในช่วงที่สถานการณ์ที่พลิกผันตลอดเวลา ว่า ฝ่ายเราเองก็มีความกังวลเหมือนกัน เพราะตอนนั้นสินค้ามันขึ้นเชลฟ์ไปแล้วแต่หนังโฆษณายังไม่ออกเลยก็แอบเริ่มเครียด ยิ่งเมื่อสถานการณ์ของโรคมันหนักมากขึ้นทุกวันเราก็มีความเป็นห่วงทางทีมงานว่าจะลำบากไหม จะยังถ่ายได้ไหม ห่วงสุขภาพและความปลอดภัยของทุกคน จนมาถึงคำสั่งล็อกดาวน์ที่ให้กองถ่ายทำงานได้แค่ 5 คน ก็รู้สึกว่า “เอาจริงๆ เหรอ” แล้วก็มีการขอเลื่อนกันซึ่งเราก็เข้าใจเพราะหนังเรื่องอื่นที่เราดีลอยู่ก็ขยับเหมือนกัน ดังนั้น ก็จะคอยถามกันตลอดว่าไหวไหม แล้วก็ย้ำว่าให้เน้นเรื่องความปลอดภัยที่สุดนะ ซึ่งทั้งทีมคุณพีท (WT Thailand) และคุณบี (B1 Films) ก็ให้ความมั่นใจกับเราว่ามันไปต่อได้นะ
มาถึงจุดที่สตอรี่หนังเปลี่ยนไปมาอยู่หลายรอบเพราะด้วยสถานการณ์รุมเร้าที่เกิดขึ้น ในฐานะลูกค้ากล้ายอมเปลี่ยนได้อย่างไร คุณปุ๊ เล่าว่า ถ้าเปิดไฟล์ดูต้องบอกว่างานที่พิทช์มันห่างไกลกันมาก แต่เมื่อโควิด-19 มันแรงขึ้นก็ไม่ไหว บางไอเดียก็ต้องดรอปทิ้งไป มีหลายอันเลยที่เราอยากทำแต่ทำไม่ได้ ไอเดียมันก็จะบิดๆ มาเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องราวจะต่างไปจากที่คุยกันมากแค่ไหน แต่คอร์ไอเดียของการเป็น #คู่หูคู่เข้ม ยังคงอยู่ ฟีลของการคัดสรรวัตดถุดิบคุณภาพ ควอลิตี้คอนโทรลที่เล่าผ่านเครื่อง Rube Goldberg ตรงนี้มันยังอยู่ ดังนั้นก็เลยมองวาถ้าคอร์ไอเดียยังอยู่ก็เปลี่ยนได้
“คือในสถานการณ์แบบนี้ จะไปยึดติดคงไม่ได้ มันต้องมีความยืดหยุ่น Flexibility สำคัญที่สุดคือ result ที่ได้ออกมาแบบไหน ดังนั้น มันจึงไม่ได้ฟิตว่าหนังต้องเป๊ะๆ ตรงตามต้องการตั้งแต่ก่อนซื้อ แต่มันคือผลลัพธ์ที่ได้ว่าตรงตามที่เราต้องการหรือเปล่า เพราะฉะนั้นนั้นเรื่องการเปลี่ยนหนังหรือการเปลี่ยนสคริปต์มันไม่ใช่ประเด็น อยู่ที่ว่า result เดิมมันได้อยู่รึเปล่า”
คำแนะนำสำหรับ ‘แบรนด์’ ในการทำงานบนสถานการณ์ที่พลิกผันรวดเร็ว
ไม่เฉพาะแต่คนทำงานอย่างฝ่ายโปรดักชั่นที่พบกับความท้าทาย แต่ในฐานะแบรนด์ก็ไม่ต่างกัน ต้องแบกรักทั้ง KPI บัดเจ็ท ฟีดแบ็ค ใดๆ ก็คือในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดนี้ คุณปุ๊ ได้ให้มุมองในฐานะลูกค้าได้อย่างน่าสนใจว่า คงต้องเปิดใจ และเชื่อใจกัน มากไปกวานั้นก็คือต้อง เปิดกล้องด้วย เพราะการทำงานในช่วงโควิดที่ผ่าน เราพบว่าการทำงานผ่าน Zoom มันยากลำบาก แต่เวลาประชุมออนไลน์แล้วเปิดกล้อง ส่วนตัวรู้สึกว่ามันทำให้การทำงานมันลื่นไหลกว่าปกติ และลดความตึงเครียดได้ เพราะฉะนั้น เปิดกล้อง เปิดใจ และเชื่อใจ สำคัญมาก ไม่มีใครอยากทำงานออกมาไม่ดี ทุกคนอยากทำงานให้ออกมาดีทั้งนั้น
“อย่างเรื่องความยาวของหนัง ที่เป็นซีนแรกที่เกิดขึ้นตอนต้นที่เราทักเรื่องความยาวหนัง ตอนแรกก็กังวลเหมือนกันว่า เอ๊ จะทำให้ภาพพจน์เราจะไม่เหลือเลยนะ (หัวเราะ) แต่จุดนี้พอดูไปเรื่อยๆ มันมีเรื่องราวมีเหตุผลของมันที่จะบอกว่าทำไมจึงเป็นความเข้มข้นที่เกิดขึ้น กับตัวหนังความยาว 5 นาที ในครั้งแรกยอมรับว่าอึ้งเหมือนกันนะว่าหนังชั้นจะยาวเท่านี้ แต่เราก็ดูอย่างเปิดใจ ปล่อยไหลยาวไป ดูแบบไม่ได้จ้องจะตัดหรือจับผิด ซึ่งก็ดูแล้วก็รู้สึกว่ามันได้ อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าเพราะคอร์ไอเดียมันยังอยู่ ดังนั้น ถ้าอยากจะบอกในฐานะลูกค้าเรื่องการทำงาน ก็คือต้องเปิดใจและเชื่อใจนี่ล่ะสำคัญที่สุด”
3 บทเรียนจากทั้ง 3 ฝ่าย ในการทำงานภายใต้สถานการณ์โควิดที่แสนเข้มข้น
ท้ายที่สุดสิ่งที่ ทั้ง 3 คนมองว่าได้เป็นบทเรียนสำคัญในการทำงานชิ้นนี้ผ่านสถานการณ์ที่บีบคั้นช่วงโควิด เริ่มต้นที่ คุณบี บอกว่า ในส่วนของโปรดักชั่น สิ่งที่ได้เรียนรู้ในสถานการณ์แบบนี้คือ มนุษย์เรามีวิวัฒนาการ เราเรียนรู้และพัฒนาปรับตัวให้ดีขึ้นได้ แต่เราอาจจะไม่รู้ว่าเรากำลังวิวัฒนาการอยู่ก็ได้ คือถ้าเราเปิดใจว่าเราจะไม่หยุด มันก็จะฝ่าฝันทุกอย่างไปได้จริงๆ ดังนั้น มนุษย์คือสิ่งที่มหัศจรรย์มากจริงๆ และสุดท้ายเลยก็คือความสามัคคีของทีมทุกๆ ทีมเลย การร่วมแรงร่วมจทั้งฝั่งโปรดักชั่น เอเจนซี่ และสุดท้ายเลยก็คือลูกค้าที่ให้ใจมากๆ
คุณพีท สนับสนุนความคิดเรื่อง Relationship ร่วมกันของคนทำงาน ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ไอเดียแบบนี้หรือการทำงานในลักษณะนี้ ถ้าไม่ใช่ลูกค้าหรือคนทำงานที่ไว้ใจกัน อาจจะไม่ได้ผลลัพธ์แบบนี้ออกมา ดังนั้น งานชิ้นนี้คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่า Relationship ของคุณกับลูกค้าสำคัญแค่ไหน หรือแม้แต่ Relationship กับฝั่งโปรดักชั่นต่อให้มีเงินมาให้มากมายแต่ถ้าขาดความเชื่อใจกันยังไงเขาก็ไม่เอากับคุณ แต่ถ้าเป็นในแง่ของการทำงานด้านฝั่งเอเจนซี่เลย มันสะท้อนเรื่องของ Content is King มันพรูฟตรงนี้ได้เลยว่า คนดูอาจจะไม่ได้สนใจคุณภาพของหนังเลยแต่ถ้าหนังที่คุณทำมันเกี่ยวข้องกับตัวเขา เขาอินไปกับมัน ก็จะทำให้งานนั้นมันประสบความสำเร็จได้
“ในฐานะครีเอทีฟ ผมว่ามันตรงกับคำว่า Creativity shine under circumstance คืองานครีเอทีฟที่ดีมันจะต้องเกิดบนสถานการณ์ที่ยากที่สุด แล้วจะทำให้งานครีเอทีฟนั้นมันดีตามสถานการณ์”
ฝั่งลูกค้าอย่างคุณปุ๊ กล่าวถึงสิ่งที่ได้จากการทำงานในครั้งนี้ว่า จุดนี้มองมุมเดียวกับคุณบีคือ มนุษย์เราพัฒนาไปได้ สิ่งที่คุณบีทำคือมันพิสูจน์ได้ว่าต่อให้ mechanic ยากแค่ไหน มาตรการจะหินขนาดไหน หนักแค่ไหน ทาง B1 ก็ทำให้เห็นมาแล้วทะลุมาแล้วว่าทำได้ หรือเรื่องของ Relationship ที่คุณพีทพูดอันนี้ก็สำคัญเช่นกัน มันคือความไว้ใจเชื่อใจของการทำงานร่วมกัน ซึ่งตรงกับปรัชญาของแบรนด์อยู่แล้วนั่นคือ Passion Partner และพวกเราทั้งสามปาร์ตี้ก็มีแพสชั่นที่ตรงกัน มีศีลที่เสมอกัน ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่ว่าทำไมคนดูถึงชอบคนดูถึงรักงานชิ้นนี้เพราะเราร่วมกันทำด้วยแพสชั่นจริงๆ และสิ่งนี้มันส่งไปถึงผู้ชมสัมผัสมันได้
และนี่ก็คือเบื้องหลังของเบื้องหลัง งานโฆษณา Dutch Mill Selected Rich Espresso “The Lockdown Rube Goldberg” #คู่หูคู่เข้ม ซึ่งโฆษณาชิ้นนี้นอกจากสะท้อนความจริงของคนทำงานเบื้องหลังที่เหมือนถูกมองข้ามยังมีการนำเอา มีเดียบัดเจ็ทส่วนหนึ่งนำไปช่วยคนเบื้องหลังจำนวนมากที่ตกงานไร้งานในช่วงโควิด ผ่านทางสมาคมโปรดักชั่นเฮาส์ เพราะเป็นกลุ่มที่ตกหล่นและไม่ได้รับเงินชดเชยแบบอาชีพอื่นๆ ซึ่งเป็นน้ำใจที่ร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ Wunderman Thompson Thailand , B1 Film และบริษัท ดัช์มิลล์ฯ จับมือให้การสนับสนุน น่าชื่นชมมากจริงๆ
นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นจากผลงานชิ้นนี้.