“โรงเรียนเรา ผัดซีอิ๊วมีแต่ผักคะน้ากับวิญญาณหมู เย็นๆ แหยะๆ ไม่อร่อยเลย”
“ไม่มีอะไรเลวร้ายกว่าขนมขี้มูกแล้วป่ะ”
“มี โรงเรียนรุ่นน้องเรา มันอยู่บนดอย เจอข้าวไข่ต้มทั้งเดือน!”
FOOD FOR GOOD (ฟู้ดฟอร์กู๊ด) โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ ออกแบบแคมเปญเก๋ ๆ ผ่านควิชที่ชวนทุกคนกลับมาคิดถึงถาดหลุมในวัยเด็กอีกครั้ง ด้วยการมาตอบคำถามไม่กี่ข้อ เพื่อหาคำตอบว่า ‘คุณเป็นเด็กแบบไหน ตอนกินถาดหลุมโรงเรียน’ ผ่าน Online Quiz หน้าตาน่ารัก ที่ออกมาให้ได้ย้อนวัย กลับไปเติมคำในช่องว่าง หรือเลือกคำตอบจากตัวเลือก ก. ข. ค. และ ง. เหมือนสมัยเป็นเด็กประถม แล้วลุ้นผลลัพธ์ที่ได้ว่าจะตรงกับสิ่งที่เป็นจริงหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นน้องถั่วงอกจอมเขี่ย (ผัก) น้องเต้าส่วนช่างเลือก เจ้าซาลาเปาพุงโต หรือน้องกุ้งแห้งผู้หิวโหย ที่ทำให้ได้คิดถึงตัวเองตอนเป็นเด็กแล้ว อาจจะพาให้ทุกคนได้ ‘คิดถึง’ ปัญหาโภชนาการเด็กที่ยังคงอยู่และใกล้ตัวกว่าที่คิด
สิ่งที่ซ่อนอยู่ในควิซสีสันสดใสและคาแรกเตอร์น่าหยิก คือข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาโภชนาการเด็กทั้งจากผลสำรวจ งานวิจัย ข่าว ไปจนถึงสิ่งที่ FOOD FOR GOOD ได้พบเจอเมื่อลงพื้นที่ทำงานไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งแคมเปญนี้ พยายามจะสื่อสารว่าประเด็นเรื่องอาหารกลางวันในโรงเรียนของเด็กไทย ไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กชนบท ครูโรงเรียนขนาดเล็ก หรือนักโภชนาการ แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน
ทิพย์ชยา พงศธร ผู้ร่วมก่อตั้ง FOOD FOR GOOD (ฟู้ดฟอร์กู๊ด) บอกว่า ทุกครั้งที่ชวนคุยกันเรื่องความทรงจำเกี่ยวกับถาดหลุมมื้อกลางวัน ผลลัพธ์มักเหมือนการหยิบอาหารในโรงเรียนมาบุลลี่กัน เพราะอาหารโรงเรียนในวัยเด็กมันเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบ ‘ไม่รักแต่คิดถึง’ เพราะบางครั้งก็มีเมนูที่เราชอบมาก ๆ ขณะเดียวกันก็อี๋มาก ๆ เช่นกัน ดังนั้นเราจึงพยายามเอาเรื่องใกล้ตัวมาผูกกับข้อมูล โภชนาการเด็กที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอยู่ ไปจนถึงสิ่งที่ FOOD FOR GOOD ได้พบเจอเมื่อลงพื้นที่ทำงานไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งแคมเปญนี้ พยายามจะสื่อสารว่าประเด็นเรื่องอาหารกลางวันในโรงเรียนของเด็กไทย ไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กชนบท ครูโรงเรียนขนาดเล็ก หรือนักโภชนาการ แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน
“หลายคนอาจมองว่าปัญหาทุพโภชนาการในเด็กเป็นเรื่อง น่าเศร้า แต่ไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ใจ สติปัญญา ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจระดับประเทศในอนาคต”
ทั้งนี้ FOOD FOR GOODเชื่อว่า โภชนาการที่ดีคือรากฐานของการเจริญเติบโต เด็กทุกคนควรได้รับอาหารและสารอาหารที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเหมาะสมตามวัย เพื่อมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต งานที่ FOOD FOR GOOD มุ่งมั่นและทำมาอย่างต่อเนื่องตลอด 8 ปี คือการทำหน้าที่เป็นกลไกสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการสนับสนุนโภชนาการที่ดีและขจัดปัญหาเด็กทุพโภชนาการให้หมดไปจากประเทศอย่างยั่งยืน มากกว่าการเลี้ยงอาหารให้เงินอุดหนุนเป็นมื้อ ๆ ไป ด้วยการสร้างความรู้ และมอบเครื่องมือให้โรงเรียนต่าง ๆ ได้นำไปปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายพื้นที่ทำงานให้ครอบคลุมปัญหาได้มากขึ้น
ปัจจุบัน นักเรียนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาได้รับเงินสนับสนุนค่าอาหารกลางวันจากกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาในอัตรา 21 บาท/คน/มื้อ และนมโรงเรียนจากโครงการนมโรงเรียนซึ่งได้รับงบประมาณต่างหาก แต่มีอีกหลายโรงเรียนที่งบประมาณนี้ไม่มีทางเพียงพอ นั่นคือ
- โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่ถึง 50 คน มักมีปัญหาการจัดการงบประมาณ เนื่องจากจำนวนเด็กน้อย ทำให้มีต้นทุนคงที่ในการจัดการอาหารเป็นสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้รับ
- โรงเรียนที่อยู่บนพื้นที่สูง การเดินทางยากลำบากและห่างไกลจากแหล่งอาหาร ค่าขนส่ง และการเก็บรักษาวัตถุดิบ มีต้นทุนเพิ่มที่สูงกว่าโรงเรียนพื้นราบค่อนข้างมาก
- โรงเรียนประถมขยายโอกาส ที่มีเด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้นซึ่งไม่ได้รับงบประมาณอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน แต่โรงเรียนก็มีการจัดสรรอาหารกลางวันให้กับเด็กทุกคนได้รับประทาน โดยเฉลี่ยงบจากเด็กประถม
ทว่า การอุดหนุนเงินเพื่อเพิ่มงบประมาณการซื้อวัตถุดิบเพื่อทำอาหารเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาโภชนาการเด็กได้อย่างยั่งยืน จากการทำงานของ FOOD FOR GOOD 8 ปีที่ผ่านมา ใน 10 จังหวัด กับ 71 โรงเรียน พบว่าบุคลากรที่ทำหน้าที่ดูแลงานอาหารและโภชนาการในโรงเรียน ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องโภชนาการเด็ก แต่เมื่อผ่านการอบรมความรู้เรื่องการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนกับ FOOD FOR GOOD ครูและแม่ครัวมีความรู้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว สามารถวางแผนเมนูอาหารได้เหมาะสมกับเด็กมากขึ้น และดูแลเด็กรายบุคคลได้ดียิ่งขึ้น
แคมเปญนี้จึงได้ขอพลังคนในโลกออนไลน์มามีส่วนร่วมในการแชร์ปัญหาโภชนาการเด็กและร่วมระดมทุน เรายังได้รับความร่วมมือจากอินฟลูเอนเซอร์หลากหลายที่ให้ความสำคัญกับปัญหานี้มาร่วมส่งเสียงให้ดังขึ้นผ่านการเล่นและแชร์ควิซ เลยรวมไปถึงการให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นเรื่องอาหาร ที่พวกเขายืนยันว่าไม่ใช่เรื่องของเด็กเท่านั้น
และเหล่าคนดังที่เห็นความสำคัญของประเด็นนี้ มีทั้ง อเล็กซ์ เรนเดล ครูลูกกอล์ฟ (คณาธิป สุนทรรักษ์) เชฟน่าน หงษ์วิวัฒน์ เชฟฟาง (ณัฐพงศ์ หน่อชูเวช) Mark Kidchen (ภาวริสร์ พานิชประไพ) แพร-พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ (PEAR is hungry) ครูทอม (จักรกฤต โยมพยอม) วงดนตรี Stoondio ศิลปินสายแอคทีฟอย่าง Juli Baker and Summer เหล่าคุณแม่เจ้าของเพจ ทั้งตามติดชีวิตแม่บ้านแขก MOM DIARY คุณแม่เลอค่า Nidnok Happy Mommy Diary และ Rocky Journey เลยรวมไปถึงเพจสายกิน อย่าง แม่ เมนูนี้ทำไง วุ้นแปลอาหาร กินกับพีท และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Gluta Story Bird Eye View และ Offtography
นับเป็นอีกหนึ่งแคมเปญดีๆ ที่ภาคเอ็นจีโอและกลุ่มอินฟลูเอ็นเซอร์ต่างเห็นความสำคัญและช่วยกันผลักดัน ให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในสังคม ซึ่งใครที่คิดว่าอยากจะมีส่วนร่วมก็สามารถเข้าไปเล่นกันได้ที่ www.foodforgood.or.th/mybooschoolmeal เพื่อช่วยกันผลักดันให้เด็กไทยไม่เป็นโรคเกี่ยวกับโภชนาการทางอาหารอีกต่อไป