“สังเกตว่างานชูใจทุกงานก็ยังมีความเผ็ด เรายังทำให้มันสนุกพร้อมกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ …แต่ว่าที่เราจะไม่ละเลยคือมันต้องมี good messages ถ้าเราจะขายผ้าอนามัย เราจะขายผ้าอนามัยที่ไม่ใช่แค่ซึมซับเยี่ยม ต้องเป็นผ้าอนามัยที่มันสร้าง self-esteem เปลี่ยนแปลง attitude ของผู้หญิง”
หนึ่งในประโยคสนทนาจาก “ป๋อม – ไชยพร” ครีเอทีฟรุ่นใหญ่แห่งวงการโฆษณา หนึ่งในผู้ปลุกปั้น “ชูใจ แอนด์ เฟรนด์” พร้อมกับเพื่อนที่มีปณิธานเดียวกันอีก 4 คน ได้แก่ ยอด – บุญชัย สุขสุริยะโยธิน, เป้า – ไพรัช เอื้อผดุงเลิศ, กิ๊บ – คมสัน วัฒนวาณิชกร และ เม้ง – ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ ทั้งหมดคือครีเอทีฟที่ทำงานอยู่ในแวดวงโฆษณามาเป็นเวลาเกินสิบปี ก่อนจะตบเท้ากันออกมาสร้างพื้นที่ที่เหมาะกับตัวเองจนเกิดเป็น “ชูใจ กะ กัลยาณมิตรฯ” หรือ “ชูใจ แอนด์ เฟรนด์” หลังจากที่ผลงานของ ‘ชูใจ’ คว้ารางวัลท๊อปๆมาได้หลายรางวัลจากเวทีประกวดต่างๆในปีนี้ เราจึงอยากพาคุณมารู้จัก ‘ชูใจ’ กันให้มากขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์ 3 ครีเอทีฟผู้ร่วมก่อตั้ง ได้แก่ ป๋อม, กิ๊บ และเม้ง สำหรับคนที่รู้จัก ‘ชูใจ’ เป็นอย่างดีแล้ว เลื่อนลงไปที่บทสัมภาษณ์ได้เลย ส่วนใครที่ยังไม่เคยรู้จัก ‘ชูใจ’ มาก่อนหรืออยากจะรู้จักเพิ่มเติม ก็ต่อกันที่ย่อหน้าถัดไปเลยค่ะ (สั้นๆ)
“ชูใจ แอนด์ เฟรนด์” เอเจนซี่โฆษณาที่ตั้งขึ้นเมื่อช่วงมกราคม ปี 2555 เป็นที่รู้กันว่าสมาชิกทั้ง 5 คน ป๋อม ยอด เป้า กิ๊บ และเม้ง มีความตั้งใจบางอย่างและต้องการจะสร้างงานไปในทิศทางเดียวกัน จึงตัดสินใจออกจากงานเอเจนซี่ใหญ่ที่มั่นคง แล้วมาทำเอเจนซี่ในรูปแบบของพวกเขาเอง โดยมุ่งมั่นว่า เราจะทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม ซึ่งแม้จะได้ยินคำว่า ‘เพื่อสังคม’ กันจนเฝือ แต่หลากหลายผลงานที่ ‘ชูใจ’ ผลิตกันออกมาตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงตอนนี้เป็นบทพิสูจน์ว่าพวกเขาทำงานอยู่บนปณิธานที่ตั้งมั่นกันไว้อย่างจริงจัง ใครจะคาดคิดว่าวันนี้คนทำงานเพื่อคอมเมอเชียล (การค้า การพาณิชย์) จะเบนเข็มมาลุยงานเพื่อสังคมได้ productive เช่นนี้ เอาล่ะค่ะ…. บทสนทนาเผ็ดๆรออยู่ เลื่อนลงไปรู้จัก ‘ชูใจ’ ให้มากขึ้นจากปากของพวกเขาเองดีกว่า
เม้ง เป้า ป๋อม ยอด กิ๊บ
อยากให้เล่าถึงที่มาที่ไปคร่าวๆค่ะ passion อะไรที่ผลักดันให้เราออกจากเอเจนซี่ใหญ่มาทำ ‘ชูใจแอนด์เฟรนด์’
ป๋อม: ย้อนไปประมาน 4 ปีที่แล้วเราเริ่มประมาณมกราคม ด้วยเหตุผลหลายอย่างประกอบกัน การจะออกจากที่เก่ามันคงต้องมีการไม่ชอบอะไรบางอย่างในที่เก่า แล้วอีกอย่างคือเรามีไอเดียอะไรบางอย่างที่อยากจะทำ ก็เลยคิดว่าจะออกมาทำกัน
งานประเภทไหนบ้างที่เราไม่ค่อยอยากทำ
ป๋อม: งานที่เรารู้สึกว่าทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ทำไปแล้วรู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำ ทำเพื่อให้มันเสร็จ ทำเพราะมันต้องได้ billing เท่านี้ๆ หรือว่ามีแอคเคาท์ที่เป็น regional, global มาเราก็ต้องทำ หรือ CEO บอกให้ทำ เราก็จะยื้อมากไม่ได้ ความรู้สึกของคนทำงานทั่วไปหรือแม้แต่ครีเอทีฟก็อยากทำงานที่ดีอะแหละ แต่พอมาเจอบางงานที่เรารู้สึกว่าทำแล้วมันไม่ได้ประโยชน์ มันไม่ค่อยจริง มันโกหก อันหลังนี่เป็นเหตุผลหลักเลย คือมันสร้างความเชื่อผิดๆ หรือมัน shape สังคมให้มันไปในทางที่ไม่ดี เราจะไม่ค่อยสบายใจ สมมุติพี่ต้องทำ product ตัวนึงที่สุดท้ายแล้วต้องสร้างเส้นทางอะไรบางอย่างให้คนเดินไปในทางที่มันไม่ค่อยดี ลึกๆเราไม่ได้อยากทำงานแบบนั้น แต่ถ้าเราอยู่ตรงนั้นเราปฏิเสธไม่ได้เลยนะ ถ้าคุณไม่ทำคุณก็ออกไปสิ ยังมีคนอื่นอยากทำ หรือถ้าบริษัทนี้ไม่ทำก็มีบริษัทอื่นอยากทำ คือก็ต้องทำอะครับไม่ได้หมายความว่าพวกพี่ไม่ทำ งานมันมาให้รับผิดชอบแล้ว ก็ทำกันมาตลอด
งานชิ้นแรกที่ทำให้รู้สึกว่าคิดถูก ที่ออกมาทำ ‘ชูใจ’ คืองานอะไรคะ
ป๋อม: มันเริ่มตั้งแต่ปลายๆก่อนเราจะออก เรามาจากที่เดียวกันแล้วมีช่วงนึงมีโอกาสได้ทำงานที่รู้สึกว่ามันช่วยเหลือคนจริงๆ โครงการที่ทำของเล่นให้เด็กพิการ ‘มัมเมดทอยส์’ (Mom Made Toys) มันเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำงานที่มันเป็นประโยชน์ มันสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆได้จริง แต่ช่วงนั้นก็ยังทำงานเอเจนซี่ใหญ่อยู่นะ พอมันทำงานสองแบบคู่กันมันก็เกิดการเปรียบเทียบไง แล้วเรารู้สึกว่ามันเริ่มขัดแย้งกันละ คือเมื่อก่อนสำหรับพวกเราจะมองการทำงานเพื่อสังคมว่า เออโอเค….ช่วยเหลือสังคมนะ แต่จริงๆมันก็ทำเพื่อตัวเองด้วยอะแหละ จริงๆก็อยากได้รางวัลอะพูดตรงๆ อยากจะได้รางวัลก่อน อยากจะมีงานไปประกวด
httpv://youtu.be/rc1fpBoTYvg
“….เราเอารางวัลเป็นตัวตั้งก่อน เราอยากได้รางวัลนี้ เราก็คิดงานมาแล้วเอาไปให้เขาใช้ แต่เราไม่เคยคิดว่าเราจะเดินไปหาเขาแล้วถามว่าปัญหาของเขาคืออะไร แล้วเราจะช่วยอะไรได้ อันนี้คือขอพูดจากประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งถือว่าเลวนะ ตัวผมนี่แหละเลว” ป๋อม – ไชยพร
ตอนนี้ ‘ชูใจ’ ก็ยังอยากได้รางวัลกันอยู่?
ป๋อม: ตอนนี้รางวัลอะ…..ได้ก็ดี ไม่ใช่ไม่อยากได้นะ มันก็ทำให้รู้สึกว่างานเราก็มีคุณค่าในสายตาของคนกลุ่มนึง
กิ๊บ: แต่ไม่ได้กะเหี้ยนกะหือรืออยากได้นะ คือเราก็ตั้งใจทำทุกงานให้มันออกมาดีที่สุด ให้คนอื่นมองเห็นคุณค่าของมัน แล้วถ้าผลมันสะท้อนกลับมาเป็นรางวัลพ่วงมาด้วยเราก็ดีใจครับ
ป๋อม: เมื่อก่อนการทำงานเพื่อประโยชน์มันถูกตีความไปแบบนึง มันจะเป็นฤดูกาลรางวัลที่เค้าแซวกันอะ อย่างช่วงกุมภา-มีนา เอเจนซี่ต่างๆจะเดินไปตามมูลนิธิต่างๆ แล้วพอหลังจากเสร็จงานก็หายตัวกันไป มันเคยมีเคสที่อินเดียทำออกมาว่าช่วงมกรา-กุมภา-มีนา จะเป็นช่วงที่คนเอเจนซี่มีจิตใจดีกันเป็นพิเศษ อยากช่วยเหลือสังคม ใจบุญกันมาก แต่ก็ยอมรับว่าตัวเราเองเมื่อก่อนก็เป็นแบบนั้นแหละ ทำงานเพื่อสังคมแล้วก็เอาไปให้เขา แต่ว่าจริงๆอะ เราเอารางวัลเป็นตัวตั้งก่อน เราอยากได้รางวัลนี้ เราก็คิดงานมาแล้วเอาไปให้เขาใช้ แต่เราไม่เคยคิดว่าเราจะเดินไปหาเขา แล้วถามว่าปัญหาของเขาคืออะไร แล้วเราจะช่วยอะไรได้ อันนี้คือขอพูดจากประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งถือว่าเลวนะ ตัวผมนี่แหละเลว ไม่ได้พาดพิงถึงคนอื่นนะ เราไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นยังไง
ถอยไป 5 ปีก่อนจุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้ทั้ง 5 คนออกมาทำ ‘ชูใจ’ พร้อมกัน
ป๋อม: ไม่มีวิธีการอะไรเลย นึกถึงวันมาฆบูชาอะแบบนั้นเลย คือคุยๆกันปุ๊ปก็เริ่มรู้กันว่ามันอยู่ในห้วงลึกของแต่ละคน แบบเออๆ ผมก็คิดเหมือนพี่เลย ลึกๆเราคิดเหมือนกัน
กิ๊บ: มันเกิดจากจังหวะที่มันเป็นจุดเปลี่ยนพร้อมๆกัน เพราะแต่ละคนก็ทำงานโฆษณามาเกิน 10 ปี อย่างที่บอกว่าจุดเปลี่ยนมันคือ ‘มัมเมดทอยส์’ มันทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย!ไอเดียเรามันทำประโยชน์ได้นี่หว่า ถ้างั้นแม้เราจะขายของที่มันไม่ดี แต่เราก็อาจใช้ไอเดียพลิกให้มันสร้างเมสเสจที่ดีได้ จะดีมากถ้าไอเดียนั้นมันสามารถเลี้ยงชีพเราได้ แล้วก็สร้างประโยชน์ให้สังคมได้ด้วย
ป๋อม: เราก็รู้ว่าไองานแบบเนี้ยมันไม่น่าจะยั่งยืนหรอก ด้วยรายได้ของมัน ถูกม๊ะ? งานไม่มี budget งานเพื่อสังคม แต่ตอนนั้นที่คิดกันคือ…. เออถ้าเกิดมันมีเอเจนซี่ที่มันทำงานเพื่อสังคมแบบนี้อย่างเดียวเลยมันจะอยู่ได้มั้ย? คือทำงานเพื่อสังคม แต่ก็ยังใช้ชีวิตปกติในเมืองได้ นั่งร้านอาหารในห้างได้ มันจะทำได้มั้ยวะ ไม่ใช่พอไปทำแบบนั้นแล้วจะต้องลดทอนความสุขตัวเอง เราก็เลยรู้สึกว่าชาเลนจ์มันอยู่ตรงนี้ ถ้าเราสามารสร้างองค์กรที่มันทำงานที่มีประโยชน์แล้วยังเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงคนในองค์กรได้มันคงจะดีมาก มันก็คือความยั่งยืนแหละ ชาเลนจ์คือจะทำไงให้มันยั่งยืน เราเชื่อว่าหลายคนในเอเจนซี่ก็อยากทำแบบนี้กันนั่นแหละ แต่มันก็มีปัจจัยหลายอย่างในการตัดสินใจ ตอนเริ่มมันก็ยังมีความเสี่ยง
แล้วเราจัดการกับความเสี่ยงแบบนั้นยังไงคะ
กิ๊บ: จำได้ว่าตอนแรกที่รวมตัว เรามานั่งคุยกันว่าเงื่อนไขแต่ละคนมีเท่าไหร่ เพราะแต่ละคนมีเงื่อนไขต่างกัน เราไม่ได้เอา billing เป็นตัวตั้งว่าจะต้องโตเท่านี้ๆ ก็คุยกันว่าเราทำประมาณนี้ได้มั้ย เพื่อให้ตอบโจทย์ทุกคน เพื่อไม่ไห้ทำออกมาแล้วคนใดคนหนึ่งต้องเป็นทุกข์ ให้ทุกคนแฮปปี้ที่จะอยู่ด้วย ก็เริ่มกันมาแบบนั้น
ป๋อม: คือตอนนั้นก็คิดในเคสเลวร้ายที่สุดไว้แล้ว พี่พูดกับทุกคนว่าเรายังหนุ่ม ยังมีแรง แล้วทำไมเราจะไม่ลองล่ะ ตีซะว่าปีนึงสองปีถ้าทำแล้วมันเจ๊ง ก็กลับไปทำงานประจำที่เคยเดินออกมา หรือจะไปทำอย่างอื่นเลยก็ได้ คือเราทุกคนก็มีประสบการณ์ถ้าไม่เลือกงานก็ไม่ตกงานอะ ถ้าเรายังขยันอยู่ ทุกคนสามารถกลับเข้าไปสู่ระบบเดิมได้ แค่นั้นเอง นี่คือคิดในเคสแย่สุดนะ
แล้วพอออกมาทำกันเอง ‘ชูใจ’ มีเกณฑ์ในการรับงานยังไงคะ
ป๋อม: เลือกตามที่เราตั้งใจไว้แต่แรก งานที่มีประโยชน์ งานที่เราอยากทำ งานที่เราทำแล้วมีความสุข มันก็เลยชื่อว่า ‘ชูใจ’ นั่นแหละ ทำแล้วมันต้องชูใจพวกเรา ชูใจสังคม แล้วก็ชูใจคนที่เราทำให้เค้าด้วย
หมายความว่าตอนแรก ‘ชูใจ’ ไม่ได้รับงานคอมเมอเชียลเลย?
ป๋อม: ช่วงแรกเราเริ่มจากไม่มีคอมเมอเชียลก่อน ไปแบบสุดทางเลย แต่พอทำไปสักพักเรารู้สึกว่าถ้าทำแบบนี้ต่อไปเราจะทำได้ไม่นาน ซึ่งมันเดินมาผิด มันไม่ยั่งยืน เราต้องบาลานซ์ไม่งั้นเราก็อยู่ไม่ได้ จนเรามาเจอโมเดลใหม่ มันเหมือน Social Enterprise อะ จริงๆตอนนั้นเราก็ไม่รู้จักคำนี้หรอก คือมันเหมือนคุณมีเจตนาที่ดี แต่คุณให้จนตัวเองยืนไม่ได้ ถ้าคุณล้มทุกอย่างที่ตั้งใจไว้มันก็จบ แต่พอคุณเจอจุดบาลานซ์คุณก็สามารถทำมันได้อย่างยั่งยืน ตัวคุณเองก็อยู่ได้ สังคมก็ได้รับการช่วยเหลือ รายได้ที่เข้ามามันก็เอาไปต่อยอดทำสิ่งดีๆได้ต่อเรื่อยๆ โดยที่คุณไม่ต้องลดทอนความสุขตัวเอง เราเลยตัดสินใจเริ่มรับคอมเมอเชียลเพิ่มขึ้นแล้วบาลานซ์มันให้ได้ครึ่งๆ
งานคอมเมอเชียลแบบไหนที่ ‘ชูใจ’ จะไม่รับ
เม้ง: ผมว่าคุยกันมากกว่า มันไม่ได้มีเกณฑ์ตายตัว
กิ๊บ: คือในแง่คอมเมอเชียลเราก็เลือกได้ปะมาณนึง แต่ว่าเราพยายามเซทอัพให้งานมันพูดในสิ่งที่ดี เราต้องคุยกับลูกค้าด้วยว่าเค้าอยากได้อะไร ถ้าสมมุติเป็นลูกค้าที่ทำสินเชื่อเข้ามา แล้วบอกว่าผมไม่อยากชู products ผมอยากเสนอ messages ดีๆให้สังคม อย่างเงี้ย เราจะเปิดรับ แล้วถ้ามันเพียวจริง เราก็ทำได้ มันแล้วแต่ว่าเราร่วมมือกันทำอะไร ทำแล้วเกิดอะไรที่ดีขึ้นรึเปล่า มันไปทำร้ายใครรึเปล่า ถ้าท้ายสุดแล้วมันก็ไม่ได้ไปทำร้ายใคร เราก็โอเค
ป๋อม: คือเราเคยเจอ product ที่เหมือนจะส่งเสริมให้คนกินเหล้ามากขึ้น เป็นอะไรทีกินแล้วป้องกันไม่ให้คนเป่าแล้วโดนอะไรประมาณนั้น เรารู้สึกว่าพูดแบบนี้มันส่งผลเสียกับสังคมเยอะ เราขอไม่ทำนะ หรือถ้าเราทำเนี่ยเราจะขอทำเป็นอีกแบบนึงได้มั้ย ขอพลิกมาพูดแบบนี้ เพราะถ้าเขาไปหาที่อื่นให้ทำให้ คนอื่นก็อาจจะรับข้อเสนอที่ไม่ดีนั้นแล้วทำออกมาอยู่ดี แต่เราก็จะช่วยแนะนำ ช่วยหาวิธีใหม่ๆให้เค้า
“ลองคิดกันเล่นๆว่าถ้าทุกปีผลงานที่ได้ awards มันเป็นงานจริง มีประโยชน์ มันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ถึงจะเล็กๆก็เหอะ ถ้างานรางวัลทั้งหมดเป็นแบบนั้นมันจะเกิดอะไรขึ้นวะ” กิ๊บ-คมสัน
พอลูกค้าเริ่มรู้สไตล์ ‘ชูใจ’ ก็เหมือนเขาพอรู้ได้ด้วยตัวเองไหมคะ ว่าถ้ามาหาเราแล้วจะได้งานออกมาประมานไหน
กิ๊บ: ระยะหลังจะเป็นแบบนั้นนะ แต่ก็มีบ้างที่ยังไม่รู้
ป๋อม: สไตล์ของเรามันจะมีเซนส์ประมาณว่า… มันจะมี good cause อะครับ อย่างที่บอกว่าหลังๆเราลงตัวกับโมเดลที่เป็นคอมเมอเชียลพลัสโซเชียล คือโซเชียลเนี่ยเราทำอยู่แล้ว แต่กับงานที่เป็นคอมเมอเชียลเราก็ทำ…โดยที่เรายังจะใส่สารประโยชน์ให้มันด้วย เราก็จะคุยกับลูกค้าเยอะขึ้น เช็ค atiitude กัน มันเลยกลายเป็นเหมือนลูกค้าเลือกเราและเราก็เลือกเค้า
ไม่ได้หมายถึงว่าคุณต้องตามใจเรานะ เราทำด้วยกัน ไปด้วยกัน สังเกตว่างานชูใจทุกงานก็ยังมีความเผ็ด เรายังทำให้มันสนุกพร้อมกับสารที่เป็นประโยชน์ ชูใจจะเป็นสไตล์แบบนี้ แต่มันจะไม่เป็นงานที่เหมือนออกมาจากวัด จะไม่ใช่งานเรียบร้อยอะ งานไม่เรียบร้อยเราก็เยอะนะ กวนตีนก็มี งานที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเราก็พยายามอยู่ แต่ว่าสิ่งที่เราจะไม่ละเลยคือมันต้องมี good messages ถ้าเราจะขายผ้าอนามัย เราก็จะขายผ้าอนามัยที่ไม่ใช่แค่ซึมซับเยี่ยม ต้องเป็นผ้าอนามัยที่มันสร้าง self-esteem เปลี่ยนแปลง attitude ของผู้หญิง
สำหรับชูใจลูกค้าแบบไหนทำงานง่ายและแบบไหนทำงานยากคะ
เม้ง: ที่ยากคือมาโดยไม่มีบรีฟครับ มาโดยไม่มีปัญหา แล้วไม่รู้ว่าตัวเองอยากได้อะไร คือไม่ต้องยอมเราก็ได้ แต่อยากให้คิดด้วยกัน ปัจจัยในการได้งานที่ดีคือลูกค้ามาช่วยกันทำงาน ถ้าเป็นแบบนั้นส่วนใหญ่แล้วออกมาเวิร์คทุกงาน สังเกตจากประสบการณ์นะ
กิ๊บ: ควรรู้ความต้องการของตัวเองครับ ทำการบ้านมาบ้างแล้ว ถ้ามาแบบไม่รู้ตัวเองจะทำงานยากมาก แต่งานหลายตัวที่ออกมาดี ก็ต้องชมลูกค้าเกิน 50% เพราะถ้าลูกค้าไม่ดีนี่ไม่ต้องหวังงานดีอะ
ป๋อม: ตามใจเรามากก็ไม่ดีนะ เราอยากได้ลูกค้าที่เป็นเพื่อนอะ แล้วเรากล้าที่จะบอกว่าสิ่งที่คุณเสนอมามันไม่สวยว่ะ คิดแบบนี้มันห่วยว่ะ ที่ผ่านมาเราสนิทกับลูกค้าแทบจะทุกคนเลย แต่ช่วงหลังมันก็จะเจอแบบ… อยากได้งานแบบนั้น อยากได้งานแบบนี้ เราก็จะแบบอึดอัดนิดหน่อยเนอะ เพราะเรารู้สึกว่าเราน่าจะช่วยกันสร้างสรรค์งานใหม่ๆมากกว่าทำแต่อะไรเดิมๆ
“สิ่งที่น่ากลัวของวงการในตอนนี้คือ มันมีกระทั่งแบบว่า คิดเอง เออเอง ทำเอง แล้วมันแก้ไขอะไรไม่ได้เพราะสิ่งที่ถูกทำขึ้นไม่ได้ตั้งต้นอยู่บนปัญหาจริงๆ ซึ่งเราว่าอันตรายกว่าการไม่ทำอีก” ป๋อม – ไชยพร
ขอพูดถึงรางวัลจากแคมเปญต่างๆที่เราได้กันไปล่าสุดจากทั้ง ADMAN AWARDS และ 10 BEST OF BAD รางวัลจากแคมเปญไหนที่เราชื่นใจกับมันมากที่สุด
ป๋อม: จริงๆต้องย้อนกลับไปว่าทำไมชูใจถึงส่งประกวดดีกว่า ถ้าดูงานชูใจสี่ปีมานี่ เราก็ทำงานที่ไม่ได้สวยหรูออกมาเยอะเหมือนกันนะ แต่ว่าเราก็รู้สึกว่า….เออเราชอบมัน ก็นั่งคุยในทีมว่าเมื่อก่อนตอนทำอยู่เอเจนซี่ใหญ่ เวลาทุกคนมีพอร์ททุกคนก็จะมีแต่งานครีมๆ ซึ่งเอาจริง 10% จะเป็นงานที่ดีนะ อีก 90% จะเป็นงานที่เราไม่อยากอวดเพื่อน แบบ….ตัวนั้นกูทำเองแหละแต่กูไม่กล้าบอก กูก็จะคุยแต่งานดีๆ แต่พอมาทำชูใจความรู้สึกมันต่างออกไป เป็นเพราะเราเลือกที่จะทำงานนี้เองเราก็เลยจะรู้สึกดีกับมันทุกงาน แล้วเราก็ทำงานที่มันจริง ไม่ได้ Scam อะ แต่ไม่ได้ส่งไปประกวดที่ไหนเลย เพราะไม่มีตังค์ส่งด้วยมั้ง แล้วเราก็รู้สึกกันได้เองว่าเราอาจไม่มีเวลาไปให้ความสำคัญกับการส่งประกวดมากขนาดนั้น คือไม่ได้องุ่นเปรี้ยวนะ ไม่ใช่ไม่อยากได้รางวัล บอกตรงๆว่าเราก็ยังอยากได้รางวัลกันอยู่แหละ
กิ๊บ: เพราะงานชูใจมันถูกใช้จริง แล้วพอมันเป็นงานที่ใช้จริง ก็ได้ฟีดแบ็คที่เป็นความจริงกลับมา พอมีคนให้ฟีดแบ็คที่ดีกับงานของเราฟังแล้วก็รู้สึกชื่นใจ
ป๋อม: เรายิ้มกับคอมเม้นดีๆจากคนดูมากกว่าตอนเราเห็น trophy (ถ้วยรางวัล) อีก คือรางวัลเราก็ดีใจกับมันนะ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราทำงานได้มาตรฐานโลก แต่พอเป็นฟีดแบ็คที่ดีจากคนทั่วไปที่ได้สัมผัสกับงานเรา มันเจอแล้วยิ้มอะ เหมือนที่บอกว่างานทุกงานมันออกจริง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมันก็เหมือนรางวัลที่เราได้ไปแล้วแหละ ถ้างานไม่ดีเราก็แค่แบบ งานนี้คนชอบน้อยว่ะ เสียดายจัง แต่ถ้างานไหนคนชอบเยอะ คนชื่นชมเยอะ หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ โหยแม่งรู้สึกดีมากๆ
กิ๊บ: แต่มันก็ประกอบกับว่าสามสี่ปีที่ผ่านมาเราค่อนข้างปรับตัวหลายอย่าง ก็ค่อนข้างยุ่ง คือยุ่งเลยแหละ แล้วพอมาพูดถึงการส่ง awards มันก็ต้องเจียดเวลามาแล้วเราก็มีงานในมือ จะใช้คำว่าขี้เกียจก็ได้อะเอาตรงๆ มันเหนื่อยนะส่งรางวัล ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องมาทำเคส แล้วค่าใช้จ่ายมันก็มี หลักแสนขึ้นแหละ
ป๋อม: พอพูดแบบนี้คุณก็อาจจะงงว่า แล้วชูใจส่งประกวดกันทำไมคะ (หัวเราะ)
กิ๊บ: จริงๆ เราอยากส่งนะ ต้องบอกให้เข้าใจว่าเราก็อยากส่งไม่ได้ไม่อยาก ปีนี้เราส่งเยอะเพราะเราคิดว่าหลายๆงานที่เราปล่อยในปีที่ผ่านมา มันได้รับฟีดแบ็คดีมาก ในระดับที่เรารู้สึกมั่นใจว่างานมันน่าจะส่งได้
httpv://youtu.be/AyZcgEpNm-Q
“คุณลองไปดูเคสที่ได้รางวัล Cannes Lions ในแต่ละปีสิ ไอเดียมันดีหมดเลย แต่ดูเสร็จแล้วก็ไม่รู้ว่ากูจะเชื่ออันไหนดี ตอนตัดสินก็คงไม่มีใครตั้งคำถาม ว่าอันไหนเกิดขึ้นจริง มันช่วยคนได้แบบนี้จริงๆเหรอ อาจเป็นเพราะไอ้พวกกรรมการที่นั่งตัดสินอยู่มึงก็ทำแบบนั้นกับเขาด้วย ทุกคนเลยเงียบกันหมด” ป๋อม – ไชยพร
‘ชูใจ’ มีมุมมองต่อวงการโฆษณาบ้านเราตอนนี้อย่างไรบ้าง
กิ๊บ: อันนี้เป็นความคิดส่วนตัวนะ คือเหมือนกับที่พี่ป๋อมบอกอะว่าเราทำงานจริงแล้วมีประโยชน์ด้วย แล้วบางทีงานจริงที่มีประโยชน์ในมุมมองของครีเอทีฟโฆษณาเนี่ย มันอาจจะไม่ได้มี Quality ในแง่ของความครีเอทีฟ แต่ปีนี้มันเหมือนเราก้าวข้ามเส้นนั้นมา แล้วลองคิดกันเล่นๆว่าถ้าทุกปีผลงานที่ได้ awards มันเป็นงานจริง มีประโยชน์ มันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ถึงจะเล็กๆก็เหอะ ถ้างานรางวัลทั้งหมดเป็นแบบนั้นมันจะเกิดอะไรขึ้นวะ แบบ…. ‘เฮ้ย! ดูดิงานแบบนี้มันก็ได้รางวัลนะเว้ย แล้วคนก็ชอบกันนะ มาทำ approach แบบนี้กันเยอะๆบ้างดีมั้ย’
ป๋อม: สิ่งที่น่ากลัวของวงการในตอนนี้คือ มันมีกระทั่งแบบว่า คิดเอง เออเอง ทำเอง แล้วมันแก้ไขอะไรไม่ได้เพราะสิ่งที่ถูกทำขึ้นไม่ได้ตั้งต้นอยู่บนปัญหาจริงๆ ซึ่งเราว่าอันตรายกว่าการไม่ทำอีก หลายๆงานที่เราเห็นว่าพยายามจะสร้างนวัตกรรม เอาเข้าจริงๆแล้วมันทำไม่ได้อย่างที่โม้ไว้ตอนส่งประกวด อย่างนี้แย่เลย เสื่อมเลยนะ หมดความน่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิง แอพพลิเคชั่นหลายๆอันตอนเป็น Case Study โคตรดูดี วาดฝันไว้สวยหรู แต่ใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ อันนี้คือหายนะของวงการครีเอทีฟ เพราะแค่นี้คุณยังโกหกตัวเองเลย นวัตกรรมที่แท้จริง กว่าจะเรียกว่าเป็นนวัตกรรมเขาผ่านการลองผิดลองถูก ปรับปรุงมาจนดีแล้ว และมันจะมีคุณค่ามากถ้ามันนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาได้จริง อันนี้ขอย้ำ
ซึ่งแม้ว่าไอเดียมันจะเจ๋งมากก็เหอะ คำว่าจริงของเราคือมันควรจะแก้ปัญหาได้จริง สมมุติพี่ทำเรื่องบริจาคอวัยวะ ถ้าเราคิดงานจากหอคอยงาช้าง ไม่เคยลงพื้นที่ไปนั่งคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง แต่เราได้ไอเดียมาว่า เออพูดแบบนี้ดีมากเลย พูดออกมาแบบนี้ลุ้นรางวัลแน่ แต่ปรากฎว่าปัญหาจริงๆของเค้ามันไม่ใช่สิ่งที่เราคิดไง ปัญหาจริงๆเค้าอาจจะไม่ใช่ awareness มันอาจจะเป็นเรื่องอื่น ไอเดียโคตรเจ๋งที่คิดมามันก็ไม่มีประโยชน์เลย อันนี้คือสิ่งที่น่ากลัวของวงการตอนนี้นะ คือทั้งโลกเลยด้วย ไม่ใช่แค่ที่ไทย
กิ๊บ: มันกลายเป็นทำเพื่อรางวัล คือสมมุติถ้าวิธีคิดแบบชูใจมันทำให้งานได้รางวัลมันอาจจะไปเปลี่ยนวิธีคิดของเอเจนซี่ใหญ่ๆได้ มันคงจะดีกับหลายฝ่ายมาก ซึ่งโดยปกติวิธีการที่จะนำพางานไปสู่เวทีอวอร์ดคือ สมมุตินะ แบบ ‘ผมมีไอเดียนี้ครับหัวหน้า ผมคิดเรื่องคนตาบอดมา’ แล้วเอเจนซี่ก็จะเดินไปหาลูกค้า หาดูว่ามีลูกค้าเจ้าไหนชอบโจทย์นี้แล้วขอทำเพื่อจะแปะโลโก้เข้าไปบ้าง อะไรแบบเนี้ย แต่เราเปลี่ยนใหม่ ด้วยการเดินเข้าไปหาคนตาบอด แล้วคุยกับเค้าเพื่อให้ได้โจทย์มาจากต้นตอปัญหาจริง ผมว่ารูปแบบนี้มันโอเคกว่านะ มันน่าจะดีกว่าการ approach ด้วยไอเดียก่อนแล้วเอาไปลุยๆทำขึ้นมา แบบนั้นมันไม่น่าจะตอบโจทย์เท่าไหร่
ป๋อม: เหมือนที่มูลธิกระจกเงาที่เค้าทำแคมเปญ “คนหายหน้าเหมือน” สุดท้ายก็มีเอเจนซี่ที่นึงที่เข้าไปคุยจริง ไปขลุกกับเค้าจริงๆจนได้ออกมาเป็นวิธีแก้ปัญหาที่มันได้ผล อย่างเนี้ยโอเคเลย พี่ชื่นชมเลยนะ มันควรจะเป็นแบบนี้ ไม่ใช่คิดกันมาเบ็ดเสร็จแล้วเอาไปโยนให้เค้าใช้ มันไม่เกิดประโยชน์ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร คุณก็แค่ได้โปสเตอร์สวยๆ ได้งาน Scam ได้เคส บางทีไอเคสที่คุณทำ คุณลง cost ไปมากกว่าเงินที่ไปบริจาคให้เค้าอีก คุณทำค่าเคสไปเกือบล้านเงี้ย เรารู้สึกเสียดายเงิน ซึ่งงบส่วนนี้มันเอาไปสร้างความเปลี่ยนแปลงกับกลุ่มคนในสังคมที่กำลังเจอปัญหาจริงๆได้เลย แต่ก็เข้าใจแหละ ทุกคนก็คิดไม่เหมือนกัน
ผมเคยมีโอกาสได้เป็นกรรมการตัดสินรางวัลอยู่บ้าง ส่วนใหญ่เขาก็สนใจกันแต่ไอเดียนะ ไม่ค่อยจะมีการตั้งคำถามว่า มันทำได้จริงไหม และก็ไม่ค่อยมีการได้ถกกันเรื่องนี้เท่าไหร่ คุณลองไปดูเคสที่ได้รางวัล Cannes Lions ในแต่ละปีสิ ไอเดียมันดีหมดเลย แต่ดูเสร็จแล้วก็ไม่รู้ว่ากูจะเชื่ออันไหนดี ตอนตัดสินก็คงไม่มีใครตั้งคำถาม ว่าอันไหนเกิดขึ้นจริง มันช่วยคนได้แบบนี้จริงๆเหรอ อาจเป็นเพราะไอ้พวกกรรมการที่นั่งตัดสินอยู่มึงก็ทำแบบนั้นกับเขาด้วย ทุกคนเลยเงียบกันหมด
“ถ้าเราเอาศักยภาพที่เรามีอยู่กับตัวมาช่วยกันปรับเปลี่ยนพัฒนาให้สังคมมันดีขึ้น ถึงจะเริ่มจากจุดเล็กๆ แต่ถ้าช่วยกันยังไงมันก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงแน่นอน” ป๋อม – ไชยพร
ความตั้งใจสูงสุดในการทำงานของ ‘ชูใจ’ คืออะไร
ป๋อม: เหตุผลสำคัญที่สุด ที่ทำให้เราตัดสินใจส่งประกวดแล้วส่งแทบทุกงานที่ทำ ก็เพราะมันจะกลับไปตอบชาเลนจ์แรกเลยครับ คือตอนที่เราเริ่มทำโมเดลนี้กันใหม่ๆ มันมีคำถามเยอะ ว่ามันจะไปได้หรอ ทำแบบนี้มันจะยั่งยืนหรอ ทุกวันนี้ทำคอมเมเชียลล้วนๆก็ยังเหนื่อยกันเลย ยังต้อง pitching กันเละเทะแล้วนี่คุณไปทำงานช่วยสังคมที่มันไม่ได้ก่อเกิดรายได้ก้อนใหญ่ มันจะอยู่ได้ยังไง แต่เราก็ชาเลนจ์ตัวเองว่า “เออเอาวะ! ถ้าพวกเราทำชูใจให้เป็นเอเจนซี่ที่ยั่งยืนได้ มันก็น่าจะเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเห็นว่ามันมีคนที่ทำแล้วทำได้หนิ” คือถ้าเราออกมาทำกันเองแล้วรับคอมเมอเชียลเต็มตัวแล้วอยู่ได้ มันก็ไม่แปลกนะ แต่ถ้าทำสิ่งที่ดูเหมือนทำไม่ได้ให้เป็นไปได้ แล้วยังใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้ต้องลดทอนความสุขตัวเอง ทุกคนยังใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้ มันก็น่าจะจุดประกายให้เกิดชูใจแบบนี้ขึ้นอีกหลายๆที่
นั่นคือเหตุผลที่ทำไมปีนี้เราถึงส่งประกวดเยอะ คือหนึ่ง กูอยู่มาได้สี่ปีละ มันก็แสดงให้เห็นว่าเออ…อยู่ได้เว้ย มึงออกมาทำแบบกูสิ ลองดู มันมีคนทำได้ มาทำงานที่มันเป็นประโยชน์กับสังคม บาลานซ์งานให้ตัวเองอยู่ได้ แล้วงานมันก็ยังส่งประกวดได้รางวัลมาด้วย น่าลองทำมั้ยล่ะ? ….คือหวังอย่างนั้นจริงๆนะ เราอยากให้มันมีเอเจนซี่แบบนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆครับ ถ้าเราเอาศักยภาพที่เรามีอยู่กับตัวมาช่วยกันปรับเปลี่ยนพัฒนาให้สังคมมันดีขึ้น ถึงจะเริ่มจากจุดเล็กๆ แต่ถ้าช่วยกันยังไงมันก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงแน่นอน
Facebook Page: Choojai and Friends