เปิดเบื้องหลังข่าวลวง อั้นตดเสี่ยงกรดไหลย้อน แคมเปญน่าคิดจาก “เช็กก่อนแชร์”

  • 6.3K
  •  
  •  
  •  
  •  

checkgornshare_1

เราพูดกันมานานมากเรื่องของการเสพข่าวสารบนโลกอินเตอร์เน็ต หลายอย่างก็จริงและหลายอย่างก็เท็จ ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นเรื่องเท็จย่อมทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าเรื่องจริง โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ ซึ่งถ้าเกิดความเข้าใจผิด หรือทำตามกันผิดๆ อาจจะเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตก็ได้

อย่างเมื่อเร็วๆ นี้กับข่าว “แพทย์ออกโรงเตือน อั้นตดเสี่ยงกรดไหลย้อน” ซึ่งปรากฏว่ามีการแชร์และส่งต่อกันอย่างมหาศาล โดยหารู้ไม่ว่าที่แท้แล้วคอนเทนต์ดังกล่าวนี้คือส่วนหนึ่งของการทำ Hoax Social Experiment จากเว็บไซต์ “เช็กก่อนแชร์.com” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงพิษภัยของการแชร์โดยไม่เช็กให้ดีเสียก่อน ซึ่งงานทดลองดังกล่าวนี้ นำเสนออย่างสั้นๆ และเข้าใจง่ายในคลิปนี้แล้ว

 

เบื้องหลังการทำงานดังกล่าว เกิดจากทีมงานของเว็บเช็กก่อนแชร์ ได้ทำการปล่อยข่าวลือชิ้นนี้ออกไปก่อนตามช่องทางต่างๆ เช่น “เพจรู้ดี” ซึ่งแม้ว่าในตัวบทความจะมีการระบุอย่างชัดเจนแล้วว่า ‘ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบอาการและยังไม่มีผลทดลองที่ชัดเจน’ แต่ข่าวดังกล่าวก็ยังถูกแชร์ออกไปเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว

checkgornshare_2

(ภาพข่าวจาก เพจรู้ดี)

และหลังจากมีการปล่อยข่าวออกไปได้เพียงแค่ 3 วัน ก็มีผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่าน ได้แก่ “รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” และ “เพจความรู้สนุกๆ แบบหมอแมว” ออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องพร้อมกับยืนยันว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง

checkgornshare_3

(ภาพ โพสต์จากรศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์)

checkgornshare_4

(ภาพ โพสต์จากเพจความรู้สนุกๆ แบบหมอแมว)

ซึ่งมีสำนักข่าวออนไลน์อย่าง Kapook และเดลินิวส์ นำเอาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญไปเผยแพร่ โดยมียอดแชร์แก้ข่าวดังกล่าว รวม 930 ครั้ง

นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจ จากรายการทีวี TNN Good Morning, Bugaboo.tv, Soccersuck.com, Workpoint TV, LINE กองสุขศึกษา, 94fmclub ฯลฯ ที่มีการแชร์ออกไปอีกกว่า 600 แชร์ รวมแล้วจากทั้งหมดมากกว่า 10 สื่อ มียอดแชร์ทั้งหมด 1,530 แชร์

คลิปข่าวจาก TNN Good Morning

httpv://youtu.be/DmdYEYG2Zjk

ทว่า.. ยอดการแชร์ ‘ข่าวเท็จ’ ถูกแชร์ออกไปมากกว่า ‘ข่าวจริง’ ถึง 10 เท่า! ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือจำนวน Reach ที่ข่าวแรกไปถึงยังมี มากกว่า 1,100,000 ครั้งภายในเวลา 12 วันเท่านั้น!

checkgornshare_5

นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจและน่าเป็นห่วงมากทีเดียว กับการที่ข่าวเท็จถูกส่งต่อไปมากกว่าข่าวที่เป็นจริง นั่นหมายความว่ามีข้อมูลที่ผิดๆ ถูกส่งต่อออกไปโดยที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ลองนึกดูว่าหากข่าวเท็จเหล่านี้ถูกส่งไปยังคนใกล้ตัวของคุณจนสร้างความเชื่อที่ผิดๆ และอาจทำให้เกิดเหตุอันตรายขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว แม้ว่าคุณอาจจะคิดว่าตัวคุณเองไม่มีทางที่จะหลงเชื่อข้อมูลเหล่านี้ แต่ไม่แน่ว่าคนใกล้ตัวของคุณอาจจะตกเป็นหนึ่งใน 1,100,000 คนเหล่านี้ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่าบนโลกออนไลน์มีข่าวเท็จอยู่อีกมากมายแค่ไหน และคงไม่สามารถห้ามให้ใครๆ เลิกผลิตข่าวเท็จได้เช่นกัน ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวจากภัยของข่าวสารเหล่านี้ คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ด้วยเหตุนี้ทาง “ภาคีเช็กก่อนแชร์” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ปตท.,SCG, SCB และสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย จึงได้ร่วมสร้างเว็บไซต์ เช็กก่อนแชร์.com ดังกล่าวขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาตรวจสอบความจริงของข่าวต่างๆ บนโลกออนไลน์และได้รับข้อมูลที่ถูกต้องอีกด้วย

checkgornshare_6

สำหรับวิธีการตรวจสอบก็ไม่ยาก หลังจากเข้าไปยังเว็บไซต์ “เช็กก่อนแชร์.com” แล้วก็เพียงแค่พิมพ์หัวข้อข่าวที่ต้องการจะเช็กลงไปในช่อง ‘ค้นหา’ และข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องราวนั้นๆ ก็จะปรากฏขึ้นมาทันที โดยข้อมูลส่วนใหญ่ก็ได้มาจากผู้เชี่ยวชาญและแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ทำให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ง่ายๆ โดยสามารถเช็กผ่านทางมือถือหรือคอมพิวเตอร์ รวมถึงสมาร์ทดีไวซ์อื่นๆอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ทุกคนมาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมออนไลน์อุดมปัญญา พร้อมกับช่วยกันกระตุ้นและเตือนสติให้ทุกคนตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทุกครั้งก่อนแชร์ต่อออกไป หรือถ้าหากเป็นข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับแก้ไขข่าวลวง ก็ควรที่จะช่วยกันแชร์ออกไปให้ได้มากที่สุด ดังนั้น ก่อนจะแชร์อะไรผ่านโลกออนไลน์ อย่าลืม เช็กก่อนแชร์ ทุกครั้ง เพื่อหยุดข้อมูลเท็จและเพิ่มข้อมูลจริงให้แก่สังคมกันดีกว่า


  • 6.3K
  •  
  •  
  •  
  •