เปลี่ยน Pain point เป็น 100 งานดีไซน์สไตล์ญี่ปุ่นที่โลกต้องทึ่ง

  • 173
  •  
  •  
  •  
  •  

“Design is not for philosophy, but for life.”

วลีอมตะของดีไซเนอร์คนดัง อิซเซ่ มิยะเกะ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ดังระดับโลก “ISSEY MIYAKE” และคิดค้นเทคนิค garment pleating จนเกิดเป็นเสื้อผ้าแบรนด์ Pleats Please ขวัญใจของสาวๆ ทั่วโลก ซึ่งต้องยอมรับว่า ประโยคสั้นๆ นี้สะท้อนชัดเจนถึงหลักคิดการออกแบบอย่างญี่ปุ่นที่แค่สวยอย่างเดียวไม่พอ แต่จะต้องตอบโจทย์การใช้งานได้อีกด้วย

อย่างที่รู้กันว่า คนชาตินี้เขาใส่ใจในรายละเอียดอย่างสุดๆ คุ้นตากันบ้างไหมกับขวดซอสถั่วเหลืองยี่ห้อ คิกโคแมน ขวดโชยุแสนสามัญที่วางบนโต๊ะอาหารแทบจะทุกบ้านของชาวญี่ปุ่น ทราบหรือไม่ว่า นี่คือหนึ่งในดีไซน์ระดับตำนานเมื่อพูดถึงการออกแบบสไตล์ญี่ปุ่น

ทั้งๆ ที่โชยุคือสิ่งจำเป็นระหว่างมื้ออาหาร แต่ไม่มีผู้ผลิตรายไหนเลยที่คิดผลิตซอสขวดเล็กสำหรับวางบนโต๊ะอาหาร จะมีก็แต่ไซส์ใหญ่ๆ สำหรับใช้ในครัวเท่านั้น จึงเป็นภาระอันหนักอึ้งของคุณแม่บ้านที่จะต้องฝึกกล้ามแขนเพื่อยกแกลลอนซอสเทแบ่งใส่ขวดเล็ก

ดีไซน์เรียบง่ายแต่ซ่อนรายละเอียดล้ำลึกของขวดซอส “คิกโคแมน”

เมื่อปี พ.ศ.2504 นักออกแบบนามว่า “เคนจิ เอนกุอัน”  จึงได้ดีไซน์ขวดซอสในขนาดพร้อมใช้งานที่เทได้เลยโดยไม่ต้องเปิดขวดให้กับโชยุยี่ห้อคิกโคแมน

นอกจากจะแก้ pain point ให้กับคุณแม่บ้านในเรื่องขนาดพร้อมใช้แล้ว เพียงแค่ปรับองศาที่รูสำหรับเทอีกเล็กน้อยโดยตัดเฉียงจากบนลงล่างด้วยมุมที่พอดีกับความหนืดของโชยุ ง่ายๆ เพียงเท่านี้ เทอย่างไรก็ไม่มีหก

แถมยังมีกิมมิคที่น่าสนใจ คือ ถ้าเราเอานิ้วปิดรูด้านหนึ่งไว้ ต่อให้เอียงขวดแค่ไหน ซอสก็ไม่มีทางหยดลงไปได้

แต่เท่านี้ยังไม่หมด! เพราะจากรูปทรงของขวดที่โค้งเบาๆ จากล่างขึ้นบนและคอดเรียวที่คอขวดนั้น ดีไซเนอร์เขาคิดไกลไปถึงนิ้วที่กรีดกรายในยามเทซอสขนาดนั้นเลย

นิทรรศการ “ออกแบบ แบบญี่ปุ่น : Japanese Design Today 100”
  • รู้จักญี่ปุ่น ผ่านงานดีไซน์

แม้จะเลอค่าจนไม่มีใครกล้ายกมือค้านเมื่อยกให้ขวดซอสคิกโคแมนคือ หนึ่งในดีไซน์ระดับตำนานของญี่ปุ่น แต่มันก็คงจะเกินไป ถ้าเราจะชวนฝ่าความร้อนไปอาคารไปรษณีย์กลางเพื่อไปดูขวดซอสเล็กๆ ขวดนี้ขวดเดียว

แต่ไม่ใช่กับงานนิทรรศการ “ออกแบบ แบบญี่ปุ่น : Japanese Design Today 100” ซึ่งจัดแสดงที่อาคารไปรษณีย์กลางอยู่ในตอนนี้ (วันที่ 24 เมษายน – 26 พฤษภาคม 2562)  จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ เจแปน ฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ เพื่อจัดแสดง 100 ผลงานดีไซน์ที่ดีที่สุดของญี่ปุ่นนับตั้งแต่ยุค 1995 ถึง 1990 ซึ่งคัดแล้วคัดอีกโดยทีมภัณฑารักษ์ของเจแปนฟาวน์เดชั่นจนได้งานดีไซน์ที่สะท้อนถึงความร่วมสมัยของญี่ปุ่น ซึ่งสามารถรักษาขนบดั้งเดิมไปพร้อมๆ กับการเปิดรับสิ่งใหม่ได้อย่างลงตัว

หนึ่งร้อยดีไซน์ที่จัดแสดงในงานนี้ จึงมีตั้งแต่ แท่นบูชาพระ “Miki” โดยยอดฝีมือคราฟท์แมนชิป ไปจนถึงงานออกแบบโคมไฟตั้งโต๊ะ LED, STROKE ที่ช่วยให้การมองเห็นมีดัชนีความถูกต้องของสีมากกว่า 90 Ra และยังมี พัดลม GreenFan2+ พัดลมที่ให้ความสดชื่นเหมือนลมจากธรรมชาติ แถมยังสามารถปรับใช้พลังงานต่ำสุดเพียงแค่ 2 วัตต์ และมีแบตเตอรีในตัว ไม่ต้องลากสายให้ยุ่งยาก

อุปกรณ์บอกอุณหภูมิสำหรับปิดฝาถ้วยบะหมี่
เก้าอี้พร้อมช้อนใส่รองเท้า และ กล่องเหล็กสำหรับใส่ยากันยุง

ในนิทรรศการนี้ ทำให้เราได้เห็นความช่างคิดของนักออกแบบญี่ปุ่นที่หยิบเอา pain point ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างเช่นการตักไอศกรีมที่มันยากเย็นเหลือเกินเวลาเจอไอศกรีมที่แข็งจัดๆ ซึ่งปัญหานี้จะหมดไปเมื่อใช้ ที่ตักไอศกรีม 15.0% ที่ออกแบบให้สามารถส่งความร้อนจากมือเราไปทำให้ไอศกรีมตักง่ายขึ้น

และยังมี ที่ปิดฝา Cupmen 1 Hold on อุปกรณ์บอกอุณหภูมิสำหรับปิดฝาถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งตัวคนจะเปลี่ยนสีตามความร้อนเย็นของภาชนะ

หรือจะเป็นโคมไฟรุ่น IN-EI ISSEY MIYAKE “MOGURA” ดีไซน์โดย อิซเซ่ มิยะเกะ ที่นอกจากจะพับเก็บได้ ให้แสงไฟอย่างนุ่มนวลตามฉบับดั้งเดิมของโคมไฟแบบญี่ปุ่นแล้ว มองเผินๆ อาจนึกว่าเป็นกระดาษ แต่ที่จริง มันผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งถือเป็นส่วนผสมระหว่างหัตถศิลป์แบบดั้งเดิมเข้ากับนวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว

โคมไฟและชุดพับได้ ดีไซน์โดย อิซเซ่ มิยะเกะ

นอกจากนี้ ก็ยังมีโปรดักท์ดีไซน์ไอเดียเจ๋งๆ อีกเยอะที่เห็นแล้วต้องร้องว้าว ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้สำหรับนั่งใส่รองเท้าที่มีช้อนรองเท้าในตัว ไม่ต้องหาที่เก็บให้วุ่นวาย ไปจนถึงเทปกาว MT ที่ไม่เพียงมีลวดลายกุ๊กกิ๊กน่าใช้แล้ว ความเทพมันอยู่ตรงที่ลอกออกได้โดยไม่ทำให้กระดาษขาด

ส่วนเรื่องอีโค ไม่ต้องพูดถึง เพราะญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องการจัดการทรัพยากรชนิดที่เรียกว่า คุ้มค่าสุดๆ โดยมีทั้งกระเป๋าที่อัพไซเคิลจากกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าที่ไป และยังมีชุดภาชนะกระดาษ WASARA สำหรับใช้แล้วทิ้ง ไม่ได้ทำจากต้นไม้ แต่ผลิตจากวัสดุที่นำกลับมาผลิตใหม่ได้อีก

ปัญหาตักไอศกรีมที่แข็งจนกล้ามขึ้นจะหมดไปเมื่อมีช้อนเหล่านี้
ที่เปิดขวดแรงบันดาลใจจากพระจันทร์เสี้ยว และ สุริยุปราคา
  • ออกแบบ เพื่อยกระดับชีวิต

แม้ว่า งานดีไซน์ของญี่ปุ่น นอกจากความสวยงามต้องเด็ด ฟังก์ชั่นต้องได้แล้ว ยังเติมความสนุกเข้าไปในชิ้นงานด้วย อย่างเช่น ที่เปิดขวดรูปทรงพระจันทร์เสี้ยว สุริยุปราคา ที่ถ้าไม่เฉลย แทบจะร้อยทั้งร้อยต่างทายไม่ถูกว่า มันคืออะไร

แต่เรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก และถือเป็นจุดเด่นของงานออกแบบอย่างญี่ปุ่นก็คือ การคิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อใช้งานในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอย่างที่รู้กันอยู่ว่าประเทศนี้ต้องเจอกับภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว พายุถล่ม หรือหิมะตกหนัก ฯลฯ ดังนั้น การออกแบบจึงถูกคาดหวังให้ช่วยอำนวยความสะดวกในยามเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เสื้อโค้ทบ้านหลังสุดท้าย “Home1” ที่นอกจากจะช่วยป้องกันความหนาวเย็นได้แล้ว เสื้อตัวนี้ยังถูกออกแบบให้มีกระเป๋าขนาดใหญ่สำหรับใส่ของจำเป็นเพื่อให้อยู่รอดได้ในสภาวะขาดแคลน

“ยามฉุกเฉิน ที่สองมือต้องดิ้นรน และไม่สามารถหอบหิ้วสิ่งของได้ เสื้อตัวนี้ที่ออกแบบให้มีช่องใส่ของที่เยอะมาก ก็จะช่วยให้เราสามารถใส่ของที่จำเป็นไปด้วยได้” ทรงวาด สุขเมืองมา ภัณฑารักษ์อาวุโส สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อธิบายระหว่างพาชม

เสื้อโค้ทบ้านหลังสุดท้าย “Home1”

นอกจากเสื้อโค้ทบ้านหลังสุดท้ายแล้ว ยังมีผ้าฟุโรชิกิกันน้ำ “NAGARE” ที่ดูเผินๆ ก็เหมือนผ้าห่อของทั่วไปอย่างที่เราเห็นบ่อยๆ ในการ์ตูนญี่ปุ่น แต่ความพิเศษของมันอยู่ตรงที่คุณสมบัติกันน้ำ ที่ทำให้ข้าวของภายในไม่เปียกยามตากฝน และที่ว้าวมากๆ ก็คือ ผ้าผืนเดียวกันนี้ ด้วยคุณสมบัติกันน้ำ ทำให้มันสามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นภาชนะบรรจุน้ำที่ใส่ได้มากถึง 10 ลิตร!

และยังมีผลงานเก้าอี้ยาว Ishinomaki / ม้านั่ง AA ซึ่งออกแบบโดย Ishinomaki Laboratory ทำงานร่วมกับโรงเรียนอาชีวะ TORAFU ARCHITECTS เพื่อดีไซน์ม้านั่ง และเก้าอี้ยาวเพื่อการใช้งานที่หลากหลาย นำออกใช้ครั้งแรกเมื่อเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ในภาคตะวันออกของญี่ปุ่น

ผ้าห่อของ “NAGARE” ที่สามารถเปลี่ยนเป็นภาชนะใส่น้ำจุได้ถึง 10 ลิตร
ผลงานเก้าอี้ยาว Ishinomaki / ม้านั่ง AA ที่แค่เลื่อนเข้าหากัน ก็กลายเป็นโต๊ะได้แล้ว
ชุดภาชนะกระดาษ WASARA

โนริฮิโกะ โยชิโอกะ ผู้อำนวยการบริหารเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ เล่าถึงนิทรรศการออกแบบ แบบญี่ปุ่นว่า เป็นนิทรรศการสัญจรที่เดินทางไปจัดแสดงแล้วในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ โดยก่อนมาที่จะมาถึงประเทศไทย นิทรรศการนี้ก็เพิ่งเสร็จจากการจัดแสดงที่ฟินแลนด์มาสดๆ ร้อนๆ

“นิทรรศการนี้เป็นการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบในช่วงปี 1950 – 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่มีอิทธิพลต่องานออกแบบในปัจจุบัน ซึ่งการได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การออกแบบนั้นก็จะช่วยให้เราเข้าใจถึงรูปแบบการใช้ชีวิต การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมได้อีกด้วย” เขากล่าว และบอกว่า หลังจากสัญจรมาบ้านเราเสร็จ ก็จะบินต่อไปยังประเทศอินโดนีเซีย เป็นคิวถัดไป

นิทรรศการสัญจร “ออกแบบ แบบญี่ปุ่น” เปิดให้เข้าชมฟรี ระหว่างวันที่ 24 เมษายน – 26 พฤษภาคม 2562 (ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์) เวลา 10.30 – 21.00 น. ณ ห้องแกลอรี่ ชั้น 1 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC อาคารไปรษณีย์กลาง (ส่วนหลัง)


  • 173
  •  
  •  
  •  
  •