พบต้นแบบแห่งงานดีไซน์ที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของความงามสู่ผลงานออกแบบระดับคลาสสิก ครั้งแรกในเมืองไทยที่จะได้สัมผัสกับที่สุดแห่งงานดีไซน์จากสุดยอดนักออกแบบระดับโลก ชาร์ลส์และเรย์ อีมส์ Eames: Icon of 20th Century Design ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2558 ห้องนิทรรศการ 2 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
เมื่อพูดถึงชื่อของ ชาร์ลส์และเรย์ อีมส์ หลายคนมักนึกถึงผลงานเฟอร์นิเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ Eames Lounge and Ottoman เก้าอี้ Moulded Plastic Chair หรือ เก้าอี้ Lounge Chair Wood ที่ได้รับการขนานนามจากนิตยสารไทม์ให้เป็น “ดีไซน์แห่งศตวรรษ” และกลายเป็นสัญลักษณ์ของงานออกแบบอเมริกัน เฮอร์แมน มิลเลอร์ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และชนินทร์ ลิฟวิ่ง ขอเชิญท่านร่วมสำรวจผลงานออกแบบของชาร์ลส์และเรย์ อีมส์ สองสามีภรรยาที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักออกแบบชาวอเมริกันคนสำคัญที่สุดคนหนึ่ง และพบกับเรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้ผลงานของทั้งสองได้รับการยอมรับให้เป็นต้นแบบงานดีไซน์แห่งศตวรรษที่ 20
นิทรรศการ “Eames ต้นแบบงานดีไซน์แห่งศตวรรษที่ 20” จัดขึ้นโดยเฮอร์แมน มิลเลอร์ ด้วยการสนับสนุนจากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบและชนินทร์ ลิฟวิ่ง นิทรรศการสร้างขึ้นจากหนังสือ “An Eames Primer” แต่งโดย อีมส์ ดิมิเทรียส (Eames Demetrios) ผู้อำนวยการอีมส์ออฟฟิศและหลานชายของชาร์ลส์และเรย์ อีมส์ นิทรรศการจะพาท่านไปร่วมทำความรู้จักเรื่องราวของชาร์ลส์ อีมส์ สถาปนิกมากความสามารถ และ เรย์ อีมส์ ศิลปินแนวแอ็บสแทร็กที่มีความสนใจในด้านงานออกแบบ ตลอดจนเรื่องราวที่ทำให้ทั้งสองกลายเป็นคู่ชีวิตและคู่คิดในการทำงาน พร้อมร่วมเรียนรู้ถึงกระบวนการออกแบบของอีมส์ที่เน้นถึงความต้องการของผู้ใช้เป็นหลัก อีกทั้งนำเสนอเครื่องมือในการทำงานของพวกเขาที่รวมไปถึงสิ่งของให้แรงบันดาลใจอย่างภาพถ่ายหรือโมเดล สุดท้ายนิทรรศการจะพาท่านทำความรู้จักกับผลงานของชาร์ลส์และเรย์อย่างเจาะลึก ซึ่งไม่ได้มีแค่ผลงานด้านเฟอร์นิเจอร์ แต่ยังรวมไปถึงผลงานด้านสถาปัตยกรรม นิทรรศการ ของเล่น และภาพยนตร์ อันเป็นผลลัพธ์จากความคิดสร้างสรรค์ของทั้งสองในการผสมผสานระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ งานออกแบบและงานสถาปัตยกรรม กระบวนการและผลลัพธ์ หน้าที่การใช้งานและความสวยงาม
ร่วมทำความรู้จักกับเรื่องราวชีวิต วิธีการทำงาน และผลงานของชาร์ลส์และเรย์ อีมส์ บนเส้นทางนักออกแบบที่ทุกเรื่องราวล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่ทำให้อีมส์ คือ ต้นแบบงานดีไซน์แห่งศตวรรษที่ 20
เนื้อหาในนิทรรศการแบ่งออกเป็น 10 ส่วน ดังนี้
(ลำดับเนื้อหาในนิทรรศการอาจมีการเปลี่ยนแปลง)
1. Eames Icon of 20th Century Design
คนส่วนใหญ่รู้จักชื่อของชาร์ลส์และเรย์ อีมส์ผ่านผลงานเฟอร์นิเจอร์ เช่น เก้าอี้ Eames Lounge and Ottoman หรือ เก้าอี้ Moulded Plastic Chair หลายคนจึงมักประหลาดใจเมื่อรู้ว่าชาร์ลส์และเรย์มีผลงานด้านอื่นๆ อีก เช่น สถาปัตยกรรม นิทรรศการ ของเล่น และภาพยนตร์ ผลงานของอีมส์คือผลลัพธ์จากการผสมผสานของศิลปะและวิทยาศาสตร์ งานออกแบบและงานสถาปัตยกรรม กระบวนการและผลงาน หน้าที่การใช้งานและความสวยงาม
2. The Eames Design Process
กระบวนการออกแบบของชาร์ลส์และเรย์ อีมส์ เกี่ยวข้องกับแนวคิด 3 เรื่อง ได้แก่
1. เงื่อนไขและข้อจำกัด – งานออกแบบคือการทำงานกับเงื่อนไขและข้อจำกัด นักออกแบบต้องเข้าใจถึงเงื่อนไขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขเรื่องราคา ขนาด ความทนทาน ความสมดุล และเวลา ผลงานเก้าอี้หลายๆ ชิ้นของอีมส์คือ ผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดการข้อจำกัดเรื่องราคา แต่ในกรณีของเก้าอี้ Eames Lounge Chair คือ ผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดการข้อจำกัดเรื่องคุณภาพและการผลิตแบบอุตสาหกรรม เช่น เรื่องการผลิตซ้ำและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต
2. ผลงานออกแบบพื้นถิ่น อย่างเช่น โลตา – โลตา คือ ภาชนะใส่น้ำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศอินเดีย โลตาคือผลงานออกแบบพื้นถิ่นที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงแบบโดยฝีมือของคนทั่วไปจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นรูปทรงที่ตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดีดั่งเช่นในปัจจุบัน ของใช้พื้นถิ่นอย่างโลตาที่ตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดีจึงไม่ต่างอะไรจากผลงานออกแบบจากฝีมือนักออกแบบมืออาชีพ
3. Guest / host relationship – นักออกแบบ (Host) มีหน้าที่สร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้ (Guest) โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้เป็นหลัก
3. Architecture: The Early Years
ผลงานด้านสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของชาร์ลส์และเรย์คือ Case Study House #8 (1949) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Case Study House จัดโดยนิตยสาร Arts & Architecture โครงการดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักออกแบบใช้เทคโนโลยีและวัสดุชนิดใหม่ในการสร้างที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน Case Study House #8 มีความโดดเด่นในเรื่องของนวัตกรรมการใช้วัสดุ ตัวบ้านออกแบบขึ้นให้สามารถสร้างด้วยวิธีการก่อสร้างสำเร็จรูป ชาร์ลส์และเรย์สร้าง Case Study House #8 เสร็จในปี 1949 และกลายเป็นบ้านที่ทั้งสองอยู่อาศัยเรื่อยมา
4. Exhibition Design: The Value of Direct Experience
ชาร์ลส์และเรย์เห็นถึงความสำคัญของการบอกเล่าเรื่องราวและการให้ความรู้ผ่านนิทรรศการ ออฟฟิสของอีมส์มีผลงานการออกแบบนิทรรศการมากกว่า 12 นิทรรศการ หนึ่งในนิทรรศการที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ Mathematica: A world of numbers … and beyond (1961) สำหรับ California Museum of Science and Industry นิทรรศการเล่าถึงหลักการทางคณิตศาสตร์พื้นฐานผ่านรูปภาพและเกมต่างๆ Mathematica ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและได้รับการหมุนเวียนไปจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์หลายแห่ง
โมเดลเป็นหนึ่งในเครื่องมือออกแบบของอีมส์และเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ลองผิดลองถูกเวลาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานนิทรรศการหรืองานสถาปัตยกรรม ทั้งสองสร้างโมเดลจำลองประสบการณ์ในนิทรรศการแบบต่างๆ เพื่อค้นหาแบบนิทรรศการที่ดีที่สุด
5. Graphic Design: Addressing the Need / Toys
ออฟฟิสของอีมส์มีผลงานการออกแบบกราฟิกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโบรชัว โปสเตอร์ บรรจุภัณฑ์ งานพิมพ์ โฆษณา รวมไปถึงของเล่น ถึงแม้งานกราฟิกของอีมส์จะไม่โดดเด่นเท่างานออกแบบด้านอื่นๆ แต่ชาร์ลส์และเรย์ให้ความสำคัญในการออกแบบโปสเตอร์ไม่แพ้การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เพราะทั้งสองเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบประเภทใดก็ตามต้องตอบสนองถึงความต้องการในการใช้งาน เรย์มีบทบาทในการงานออกแบบโปสเตอร์และโฆษณาของออฟฟิสเป็นอย่างมาก เธอสามารถเปลี่ยนความรู้และความเข้าใจในเรื่องของสีและโครงสร้างทางศิลปะให้กลายเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
ชาร์ลส์และเรย์มีความหลงไหลในของเล่น ทั้งสองใช้ของเล่นเป็นองค์ประกอบในการถ่ายภาพยนตร์ ใช้งานในโชว์รูม ใช้ตกแต่งบ้านและออฟฟิส ทั้งสองมักพูดเสมอว่า “ให้จริงจังกับความสนุกสนานอยู่เสมอ” ของเล่นที่ทั้งสองออกแบบให้ทั้งความรู้และความสนุกสนานแก่ผู้เล่น ผลงานของเล่นชิ้นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ House of Cards เซ็ตบัตรลายรูปภาพต่างๆ ที่ผู้เล่นสามารถต่อให้เป็นรูปทรงและขนาดที่ต่างกันได้ตามใจชอบ แนวความคิดที่ว่าให้จริงจังกับความสนุกสนานนั้น ยังสะท้อนให้เห็นได้จากผลงานอื่นๆ ของอีมส์ เช่น ผลงานด้านนิทรรศการ ดังที่นิทรรศการ Mathematica สามารถให้ทั้งความรู้และความสนุกสนานแก่เด็กๆ
6. Photography and Process: New Perspectives / 901 Washington Boulevard
ชาร์ลส์ อีมส์ บันทึกเรื่องราวต่างๆ ด้วยการถ่ายภาพ และใช้การถ่ายภาพเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการออกแบบ การถ่ายภาพเปิดโอกาสให้ชาร์ลส์มองงานที่กำลังทำอยู่ได้จากหลายมุมมอง นิทรรศการส่วนนี้จัดแสดงรูปถ่าย 100 รูปที่คัดเลือกจากคอเลกชั่นรูปของอีมส์เพื่อแสดงให้เห็นถึงชีวิต การทำงาน และการเดินทางผ่านมุมมองที่น่าทึ่งของชาร์ลส์
ออฟฟิสของอีมส์ที่ตั้งอยู่ที่ 901 วอชิงตันบูเลอวาร์ด เมืองเวนิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ออฟฟิสของอีมส์ คือ สิ่งสำคัญในกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ของชาร์ลส์และเรย์ ผลงานออกแบบเกือบทุกชิ้นของอีมส์ถูกออกแบบและผลิตขึ้นภายใต้ออฟฟิส 901 ภายในออฟฟิสประกอบไปด้วยห้องแล็บล้างฟิลม์ ห้องถ่ายภาพยนตร์ ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องสมุด พื้นที่ทำงาน ครัว และที่ปิกนิก ออฟฟิสของอีมส์จึงเป็นสถานที่ที่ทั้งสองเรียนรู้การทำงานทุกอย่างด้วยตนเอง
7. Film as Essays
ชาร์ลส์และเรย์สนใจเรื่องการสื่อสารแนวความคิดต่างๆ ผ่านภาพยนตร์ ชาร์ลส์และเรย์ไม่ใช่ผู้กำกับหนังแต่ทั้งสองเรียนรู้ขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์กันเองภายในทีมเล็กๆ และฝึกปรือฝีมือจนเชี่ยวชาญ ภาพยนตร์บางเรื่องเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ทั้งสองกำลังทำอยู่ เช่น Eames Lounge Chair (1956) ในขณะที่ภาพยนตร์บางเรื่องถ่ายทำขึ้นเพื่อทดลองหาแนวคิดใหม่ๆ เช่น Powers of Ten (1977) และ Communications Primer (1953) บริษัทของอีมส์ผลิตภาพยนตร์ขนาดสั้นไปกว่า 125 เรื่องในช่วง 28 ปี
8. The Evolution of Wood Shell Chair
ในปี 1941ซึ่งตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาร์ลส์และเรย์กำลังค้นหาวิธีออกแบบและผลิตเก้าอี้ที่มีนั่งและผนักพิงเป็นชิ้นเดียวกัน (Single- shell design) แต่การพัฒนาต้องหยุดลงชั่วคราวเนื่องจากทั้งสองได้รับการว่าจ้างจากกองทัพเรือให้ออกแบบเฝือกไม้น้ำหนักเบา เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ขั้นตอนการผลิตเฝือกดังกล่าวกลายมาเป็นขั้นบันไดสำหรับชาร์ลส์และเรย์ในการพัฒนา Single-shell design ทั้งสองคิดค้นกระบวนการ Plywood-molding ได้สำเร็จ วิธีดังกล่าวทำให้สามารถผลิตเก้าอี้คุณภาพดีครั้งละจำนวนมากๆ ได้ แต่สุดท้าย ทั้งสองพบว่าคุณสมบัติของวัสดุไม้อัดไม่เหมาะแก่การทำ Single-shell design ทั้งสองจึงตัดใจและปรับแบบให้เป็นเก้าอี้ที่ประกอบด้วยที่นั่งและพนักพิง ผลลัพธ์ที่ได้คือ Eames Molded Plywood Chair (1946)
ในปี 1948 ชาร์ลส์และเรย์ส่งแบบเก้าอี้โลหะ Single- shell design เข้าประกวดในการแข่งขัน International Competition for Low-Cost Furniture Design ที่จัดขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ในกรุงนิวยอร์ก (MoMA) แบบเก้าอี้โลหะดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 แต่ด้วยปัญหาเรื่องวัสดุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ทั้งสองจึงล้มเลิกการผลิตและหันไปหาวัสดุชนิดใหม่ ได้แก่ พลาสติก ซึ่งเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถออกแบบเก้าอี้ที่ใช้วัสดุน้อยและมีน้ำหนักเบา เก้าอี้พลาสติกดังกล่าวจัดจำหน่ายโดยบริษัทเฮอร์แมน มิลเลอร์ในปี 1950 แม้เก้าอี้ดังกล่าวจะได้รับการผลิตแล้ว แต่การพัฒนาคุณภาพของเก้าอี้ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเรื่องสี ขนาด ฐานเก้าอี้ วัสดุหุ้ม
9. Eames Furniture: The 30-Year Flash
งานออกแบบเก้าอี้และที่นั่งของอีมส์เริ่มต้นจากเก้าอี้ Kleinhans Chair (1939) ชาร์ลส์ร่วมออกแบบเก้าอี้ดังกล่าวกับอีโร ซาริเนน (Eero Saarinen) สำหรับ Kleinhans Music Hall ในเมืองบัฟฟาโล่ รัฐนิวยอร์ก เก้าอี้ Kleinhans Chair คือ ความพยายามครั้งแรกของชาร์ลส์ในการผลิตเก้าอี้ Single- shell design สองปีถัดมา ชาร์ลส์และอีโรร่วมกันออกแบบเก้าอี้ Organic Design Chair (1941) ซึ่งเป็นเก้าอี้ Molded plywood single-shell chair with complex curves เพื่อส่งเข้าประกวดในการแข่งขัน Organic Designs in Home Furnishings ที่จัดขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ในกรุงนิวยอร์ก (MoMA) แบบเก้าอี้ดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่ด้วยปัญหาทางด้านการผลิต ชาร์ลส์และอีโรจึงไม่สามารถผลิตเก้าอี้ดังกล่าวได้
หลังจากนั้น ชาร์ลส์และเรย์ย้ายไปยังรัฐแคลิฟอร์เนียและทดลองออกแบบและผลิตเก้าอี้ Single- shell design การลองผิดลองถูกหลายครั้งทำให้อีมส์พบว่าเงื่อนไขด้านวัสดุคือสาเหตุที่ไม่สามารถผลิตเก้าอี้ดังกล่าวได้ อีมส์จึงตัดสินใจปรับแบบให้ประกอบด้วยที่นั่งและพนักพิง ผลที่ได้คือ เก้าอี้ Eames Molded Plywood Chair (1946) ซึ่งได้รับการยกย่องจากนิยตสารไทมให้เป็นเก้าอี้แห่งศตวรรษและเป็นสัญลักษณ์ของงานออกแบบอเมริกันในเวลาต่อมา แม้ชาร์ลส์และเรย์จะล้มเหลวในการผลิตเก้าอี้ Single- shell design อย่างที่ตั้งใจ แต่ความล้มเหลวดังกล่าวก็นำไปสู่การทดลองใช้วัสดุอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโลหะแผ่น พลาสติก และเส้นลวด ทั้งสองพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพของเก้าอี้ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเส้นทางอาชีพของพวกเขาจนถึงยุค 1970 ผลงานออกแบบเก้าอี้และที่นั่งของอีมส์จึงแสดงให้เห็นว่าการออกแบบคือกระบวนการหาใช่หมายถึงแค่ผลลัพธ์
10. Connection (Herman miller / George Nelson / Buckminster Fuller)
1. เดิร์ก แจน ดีพรี (ดี.เจ.) (Dirk Jan De Pree (D.J.)) ซื้อบริษัทมิชิแกนสตาร์เฟอร์นิเจอร์ในปี 1923 และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น เฮอร์แมน มิลเลอร์ ตามชื่อพ่อตาของเขา ในปี 1945 ดี.เจ. จ้างจอร์จ เนลสัน (George Nelson) เป็นผู้อำนวยการแผนกการออกแบบ หลังจากที่เนลสันเห็นผลงาน plywood furniture ของอีมส์ที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ในกรุงนิวยอร์ก (MoMA) เนลสันจึงยืนยันกับดี.เจ. ว่าอีมส์คืออนาคตของบริษัท หลังจากนั้น เฮอร์แมน มิลเลอร์จึงกลายเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ให้กับอีมส์
2. จอร์จ เนลสัน (George Nelson) ทำงานร่วมกับชาร์ลส์และเรย์ในการสร้างนิยามของคำว่างานออกแบบสมัยใหม่ที่มีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (Modern, human-centred design) เนลสันอธิบายถึงบริษัทเฮอร์แมน มิลเลอร์ ว่าเป็นบริษัทเล็กๆ ที่มีความเชื่อว่า งานออกแบบคือส่วนสำคัญของธุรกิจและต้องเป็นงานออกแบบที่มีคุณภาพ
3. ริชาร์ด บักมินสเตอร์ “บักกี้” ฟุลเลอร์ คือ สถาปนิก นักเขียน นักออกแบบ และนักคิดค้น ฟุลเลอร์ เนลสัน และอีมส์ ร่วมงานกันในนิทรรศการสำหรับงานเวิร์ดแฟร์ ที่กรุงมอสโก ปี 1959 ผลลัพธ์ที่ได้คือ การจัดฉายภาพยนตร์ของอีมส์เรื่อง Glimpses of the United States ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตชาวอเมริกัน ในอาคารโดมผิวโค้งที่ออกแบบโดยฟุลเลอร์
ที่สำคัญงานนี้ เข้าชมฟรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ โทร. 02 664 8448 ต่อ 213, 214 หรือ www.tcdc.or.th