ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทความของเทคโนโลยีโดยเฉพาะ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI (Artificial Intelligence) มีบทบาทมากขึ้นทุกขณะ พร้อมๆ กับการตั้งคำถามว่า AI จะมาแทนที่งานอะไรได้บ้าง อาชีพอะไรจะถูกแย่งไปจาก AI เช่นเดียวกับทุกๆ อาชีพ “ครีเอทีฟโฆษณา” หรือ “นักการตลาด” ก็ได้ตั้งคำถามในเรื่องนี้เช่นกัน ดังนั้น ลองมาเปิดมุมมองบทบาทของ AI ที่มีต่อวงการครีเอทีฟกัน จากวงสนทนาของ “ADFEST TALK” ในธีม Human Intelligence
ดร. การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์และสินทรัพย์ดิจิทัล, บริษัท FutureTales LAB จำกัด โดย MQDC เปิดข้อมูลน่าสนว่า สายอาชีพที่ได้ทำการสำรวจความเห็นว่ามีโอกาสจะถูก AI แย่งงานเป็นสายอาชีพด้านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่งานด้านความปลอดหรืองานผู้ช่วยดูแลเด็กคนแก่กลับเป็นส่วนน้อย ซึ่งค่อนข้างผิดไปจากความคิดทั่วๆ ไปที่มองว่าน่าจะเป็นงานที่ถูกโปรแกรมตรงๆ ให้ทำงานออกมาได้ไม่ต้องใช้ความคิดซับซ้อน นั่นเพราะอะไร เพราะคนส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญเรื่องของความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาก็ค่อนข้างพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถ้าเราให้ AI เสนอไอเดีย หรือครีเอทภาพ สร้างสตอรี่เรื่องราว ก็ทำได้ดีและได้รับการยอมรับที่ดีเลย หรือแม้แต่การวัดระดับอารมณ์ความรู้สึก เร็วๆ นี้ AI ก็สามารถทำได้แล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ดร.การดี แนะนำให้จับอนาคตของ AI มี 5 ประเด็นสำคัญดังนี้
- AI / Robot ที่จะมาเป็น Product Tools ในการผลิตงานซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นทั่วโลกถึง 30%
- AI/Robot Tax หากว่าเทคโนโลยีสามารถสร้าง GDP ได้ (คาดการณ์ว่าจะสร้าง GDP ได้สูงถึง 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) นั่นแปลว่า เราจำเป็นจะต้องเก็บภาษีเพิ่มจากส่วนนี้ด้วยหรือไม่
- AI/Robot ในมุมของการเป็น Caregiver คือการดูแลงานบ้านหรืออยู่ในโรงงานร่วมกับมนุษย์ หรือการเป็น Companion (อาจถึงขั้น Lover ก็ได้) ซึ่งจะ Deep relation มากขึ้นเรื่อยๆ
- AI/Robot Rights พวกเขามีสิทธิ์ที่จะคิด หรือสิทธิ์ในการแสดงออกมากน้อยแค่ไหน หรือแม้แต่การปกป้องสิทธิ์ของพวกเขาที่จะไม่ถูก bully ด้วยเช่นกัน
- AI/Robot Ethics ควรจะมีการวางด้านจริยธรรมเรื่องการใช้งานหรือไม่อย่างไร
ด้าน คุณสุวิตา จรัญวงศ์ Co-Founder & Chief Executive Officer, Tellscore แพล็ตฟอร์มผู้นำด้าน Influencer และ KOL Marketing กล่าวถึง AI และ Creativity ในแง่ของการใช้งานด้านครีเอทีฟ พบว่า มี Influencer และ KOL หลายคนที่ถูกเทคโนโลยีหลอกหลวง ซึ่ง Tellsocre ได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาในหลายเคส ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิดข้อวิตกกังวลและข้อถกเถียงในเชิงจริยธรรมของการใช้ AI ที่ถูกตั้งคำถามเรื่องจริยธรรม Ethics มากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นเรื่องในเร็วๆ นี้ที่เราควรตระหนักและให้ความสำคัญมากขึ้นในอนาคต
ขณะที่ คุณพีท – ทสร บุณยเนตร Chief Creative Officer, BBDO Bangkok เปิดโลกของครีเอทีฟกับ AI ที่น่าเหลือเชื่อให้เราฟังว่า ปัจจุบันนี้มีทั้งกรรมการตัดสินงานโฆษณาที่เป็น AI และแม้แต่มี Creative director เป็น AI แล้วด้วย สถานการณ์แบบนี้เราจะทำอย่างไร ถ้าเราไม่รีบปรับตัวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ คุณพีท ย้ำกับเราก็คือ ถึงแม้ AI จะเริ่มมาทำงานในส่วนครีเอทีฟ ได้มากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีความเชื่ออยู่ว่า แม้ว่าสุดท้ายเราจะเห็นภาพว่า AI เริ่มจะมีบทบาทในฝั่งครีเอทีฟมากขึ้น แต่ถ้าเราไม่เรียนรู้งานหรือพัฒนาตัวเองต่างหากที่จะทำให้เราถูกแทนที่
“AI ไม่ได้มาแย่งงานคน แต่คือคนที่ใช้ AI ต่างหากที่จะถูกแย่งงานไป”
และทั้งหมดนี้ เราสามารถไปอัปเดทเทรนด์โฆษณา ในบทบาทที่เพิ่มขึ้นของ AI ได้ในงาน Adfest 2024 ภายใต้ธีม “HI” Human Intelligence หรือ ปัญญามนุษย์ ระหว่างวันที่ 21-23 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ โฮเท็ล กรุ๊ป พัทยา
วินิจ สุรพงษ์ชัย ประธานคณะกรรมการ ADFEST กล่าวถึงแนวคิดการจัดงานครั้งนี้ว่า นาทีนี้ไม่มีอะไรถูกพูดถึงมากเท่า ‘AI’ หรือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ที่กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจและอุตสหกรรมทุกแขนง ไม่เว้นแม้แต่ ‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ พัฒนาการอันก้าวกระโดดของ Generative AI แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ที่พัฒนาเกินความคาดเดา จนอาจทำให้ใครหลายคนคิดว่าเป็นการแข่งขันกันระหว่าง ‘ปัญญามนุษย์’ กับ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ADFEST 2024 ไม่ได้ตั้งคำถามถึงการแข่งขัน แต่มองเห็นในเรื่องของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับ AI การค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของปัญญามนุษย์ที่จะใช้ AI เพื่อเสริมพลังไปสู่อนาคตร่วมกัน
“แท้จริงแล้ววงการสร้างสรรค์ได้ใช้ประโยชน์จาก AI มานานพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโปรแกรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานหรือการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อนเพื่อให้เราเข้าใจได้ง่ายและเร็วขึ้น แต่ปัจจุบัน AI เป็นมากกว่าสิ่งอำนวยความสะดวก เพราะบทบาทของ AI นั้นเข้ามาใกล้ความเป็นคู่คิดมนุษย์มากกว่าเคย เพราะฉะนั้นในงานแอดเฟสปีนี้ เราจะมุ่งเน้นการพูดคุยในเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์และ AI ซึ่งกลายมาเป็นคู่คิดคนสำคัญในการทำให้งานสร้างสรรค์นั้นดูโดดเด่นและตื่นตาตื่นใจ เราจะได้เห็นพร้อมกันว่า AI ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง นั้นจะพา AI ไปได้ไกลแค่ไหน เพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณค่าและทรงพลังกว่าที่เคย”
วิลาวัณย์ สุรพงษ์ชัย ผู้อำนวยการจัดงาน ADFEST กล่าวถึงไฮไลท์สำคัญและสิ่งที่เพิ่มเติมในงานปีนี้ว่า การประกวดผลงานโฆษณาและความสร้างสรรค์ใน 21 หมวด ซึ่งปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดถึง 1,587 ผลงาน จาก 18 ประเทศ และในปีนี้ ได้มีการเพิ่มการประกวดอีก 1 หมวด ซึ่งก็คือ Sustainable Lotus ที่เป็นรางวัลสำหรับผลงานที่มีเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals
นอกจากการเพิ่มหมวด Sustainable Lotus มีการเพิ่ม Regional Agency of the Year อีก 6 รางวัลใน Special Awards ด้วย ได้แก่
- Central & North Asia Agency of the Year
- East Asia Agency of the Year
- Middle East Agency of the Year
- Oceania Agency of the Year
- South Asia Agency of the Year และ
- Southeast Asia Agency of the Year
โดยรางวัล Lotus Awards จะถูกตัดสินโดยกรรมการ 63 ท่าน จาก 23 เมือง และ Grand Jury President ในปีนี้ได้แก่ มัลคอม พอยตัน (Malcolm Poynton), Global Chief Creative Officer จาก Cheil Worldwide จากลอนดอน นอกจากนี้ ยังมี workshop ย่อยอีก 6 หัวข้อด้วยกัน ได้แก่
- Tabletop vs AI โดย EyeCandy
- Embracing Conflict to Boost Creativity. โดย Guan Hin Tay, BBDO Singapore
- D&AD Workshop โดย Donal Keenan และ Jo Jackson
- Shape My Portfolio Powered by McCann Worldgroup
- Crafting for Commerce โดย Meta
- World Producers Summit โดย Steve Davies
ตลอด 3 วัน วิทยากรแถวหน้าจากหลากหลายสาขาจากทั่วโลก จะมาให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ร่วมงานถึง 31 หัวข้อ โดยปีนี้เนื้อหาจะไม่เพียงแต่เน้นเรื่อง AI เท่านั้น แต่เนื้อหาจะครอบคลุมหลากหลายความเชี่ยวชาญ อาทิ การผสมผสานของความสร้างสรรค์ของมนุษย์และ AI Gaming, Sonic Branding, Sustainability และเทรนด์ในอนาคต ฯลฯ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.adfest.com/ และช่องทางโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง.