“หยุด” เพื่อก้าวที่ไกลกว่า กลยุทธ์ที่ทุกคนต้องฟังของ AIS และ dtac

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

aisdtac

วานนี้ได้รับรู้การประกาศทิศทางและอนาคตของผู้ชนะการประมูลอย่าง TRUE และ JAS ไปแล้ว ถ้ายังไม่ได้อ่าน คลิกไปอ่านได้เลย ดังนั้นเพื่อให้ครบสมบูรณ์ ครั้งนี้จึงมาฟังทัศนะของผู้ที่พลาดการประมูลคลื่น 900 โดยบอกว่า นี่ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่คือการตัดสินใจ “หยุด” ซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน

AIS ประกาศจับมือ TOT ได้ใช้คลื่น 2100 เพิ่ม

แม้จะพลาดท่าจากการประมูลคลื่น 900 แต่ สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ceo และ ปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด ของ AIS ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท TOT ในการนำคลื่นความถี่ 2100 จำนวน 15 MHz หรือคลื่นของไทยโมบายเดิม มาเสริมทัพเพื่อเตรียมให้บริการในลักษณะ Whole Sale เป็นการปลดล็อคความกังวลที่ว่า AIS กับลูกค้ากว่า 39 ล้านราย จะมีคลื่นให้บริการไม่เพียงพอ

ดังนั้นนอกจากคลื่น 1800 และ 2100 ที่มีอยู่ในมือรวม 30MHz แล้วอนาคตอันใกล้ AIS จะสามารถใช้คลื่นความถี่ 2100 ของ TOT ได้อีก 15 MHz ซึ่งผู้บริหารบอกว่า มีการอนุมัติความร่วมมือไปกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาแล้ว แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงประมูลคลื่นความถี่

151222 pic AIS Affirms customer confidence_1
CEO AIS ยืนยัน ให้บริการได้ไม่มีปัญหา

ยอมรับ “หยุด” เสนอราคาประมูล เพราะมูลค่าสูงเกินไป

สมชัย บิ๊กบอส AIS บอกว่า AIS มีความต้องการคลื่นทั้ง 1800 และ 900 โดยที่ 1800 นั้นมีการประเมินความคุ้มค่าของคลื่นสำหรับ AIS ที่ 50,000 ล้านบาท เมื่อประมูลได้ที่ 40,000 ล้านบาท จึงถือว่าสมเหตุสมผล ขณะที่คลื่น 900 ประเมินแล้วว่า ความคุ้มค่าสำหรับ AIS อยู่ที่ 75,000 ล้านบาท ซึ่งความคุ้มค่าสำหรับผู้ให้บริการแต่ละรายไม่เท่ากัน แต่เมื่อมันเกินจากที่ประเมิน AIS ก็จะ “หยุด” และมองหาโอกาสที่ดีกว่าในอนาคต

สำหรับการประเมินความคุ้มค่าของคลื่น AIS วางไว้ 5 ประเด็น คือ 1) มูลค่าทางเทคนิคเพื่อนำไปให้บริการ 2) การประหยัดการลงทุนในอนาคต 3) สามารถให้บริการลูกค้าในระบบได้ ซึ่ง AIS มีลูกค้าที่ใช้งาน 2G อยู่รวม 11 ล้านรายที่ยังรอการย้ายคลื่น 4)มองความคุ้มค่าในการป้องกันคู่แข่งรายใหม่เข้าสู่ตลาด และ 5)การสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ

เมื่อไม่ได้คลื่น 900 มาครอง AIS ก็พร้อมเดินหน้าลงทุนโดยใช้คลื่นที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยใช้เสาสัญญาณ 25,000 ต้นเพื่อให้บริการผ่านคลื่น 1800 และ 2100 โดยใช้เงิน 75,000 ล้านบาทที่ไม่ต้องจ่ายค่าประมูลมาลงทุน พร้อมกับจัดแพ็คเกจพิเศษรับปีใหม่ อัพเกรดมือถือให้ผู้ใช้ AIS ฟรี จากเครื่อง 2G ที่มีอยู่ 11 ล้านราย ให้เปลี่ยนมาใช้เครื่อง 3-4G เพียงแค่เติมเงินเข้าระบบ 100 – 1,290 บาท จะได้มือถือมูลค่า 890 – 2,490 บาททันที เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม เป็นต้นไป

20151222_142609

dtac กับภารกิจสร้างความเชื่อมั่น

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ceo ของ พร้อมด้วย ประเทศ ตันกุรานันท์ cto ของ dtac เดินสายพบพนักงานและลูกค้าตั้งแต่วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2558 เพื่อสร้างความมั่นใจว่า การพลาดการประมูลทั้ง 1800 และ 900 ไม่ได้มีผลกระทบกับการให้บริการ และคลื่นความถี่ที่ dtac มีอยู่ 850, 1800 และ 2100 รวม 50MHz เพียงพอสำหรับให้บริการกับลูกค้าปัจจุบัน และการขยายบริการในอนาคต

อีกทั้งยังยืนยันว่า เทเลนอร์ ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ dtac ยืนยันว่า ยังลงทุนและให้บริการโทรคมนาคมในไทยต่อไปแน่นอน ไม่มีแผนขายหุ้นหรือถอนตัว ซึ่งที่ผ่านมาเทเลนอร์เข้ามาลงทุน และให้บริการมากกว่า 10 ปี ผ่านมาหลายรัฐบาล ผ่านการรัฐประหาร ภัยธรรมชาติ แต่ยังยืดหยัดอยู่ได้ การพลาดประมูลครั้งนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดามาก

และเพื่อความมั่นใจยิ่งขึ้น dtac ได้เตรียมแผนการลงทุนในปี 59 ไว้เรียบร้อยแล้ว

dtac8B0A2885
CEO dtac ย้ำว่าคลื่นความถี่ยังมีเพียงพอให้บริการได้สบายๆ

ไม่ได้ ไม่เสีย และไม่มีหนี้

dtac บอกว่า แม้จะพลาดการประมูลคลื่น 900 ไป ซึ่งยอมรับว่าโฟกัสคลื่นนี้แต่แรก ซึ่งการได้มาจะมีประโยชน์และดีกับการให้บริการมากกว่า แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการลงทุนที่เหมาะสม ดังนั้นเมื่อไม่ชนะ ไม่ได้คลื่น 900 มาครอง แต่ dtac ไม่ได้เสียคลื่นที่มีอยู่ในมือไป และไม่มีภาระหนี้ ระดับ 40,000 ล้านบาท หรือ 75,000 ล้านบาท ที่ต้องชำระภายใน 3-4 ปี

“เมื่อพิจารณาว่าเงินประมูลสูงเกินไป นำเงิน 75,000 ล้านบาทกลับมาสร้างประโยชน์ได้มากกว่านั้น ทั้งมิติของการลงทุนโครงข่าย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า โดยจะโฟกัสที่ 4G เป็นหลัก ปัจจุบันให้บริการได้ในกรุงเทพและปริมณฑล ต้นปีจะขยายไปหัวเมือง และครอบคลุมทั่วประเทศในปี 59”

นอกจากนี้ dtac ได้เจรจาหารือกับ CAT Telecom เกี่ยวกับการนำคลื่นความถี่ 1800 ส่วนที่เหลือมาใช้ประโยชน์ ซึ่งคาดว่าจะมีลักษณะ Whole Sale ให้บริการถึงปี 2561 ตามอายุสัมปทาน แต่ต้องหารือว่าหลังจากนั้นจะมีความร่วมมือในลักษณะใดต่อไปหรือไม่

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า ปี 59 จะเป็นปีที่การแข่งขันในตลาดจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก การมีผู้ที่สูญเสียคลื่นความถี่ มีผู้ที่ได้คลื่นความถี่ และมีผู้ให้บริการรายใหม่

20151222_103107

เป้าหมายขยายฐานลูกค้า 4G

จากที่มีการประเมินจากคู่แข่งว่า dtac มองการประมูลเป็นต้นทุนและรักษาฐานลูกค้า dtac ยืนยันชัดเจนว่า เป้าหมายของ dtac คือการสร้างฐานลูกค้าและบริการที่มีคุณภาพควบคู่กันไป โดยจะใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่รวม 50MHz ขยายโครงข่าย ตั้งเป้ามีลูกค้า 4G 4.5 ล้านรายในปี 59 จากปัจจุบันมี 2.2 ล้านราย พร้อมกับนำเสนอโทรศัพท์มือถือ 4G ราคา 2,000 – 2,500 บาท ให้ไปใช้งาน

จากแผนการดังกล่าว dtac คาดว่าจะเพิ่มฐานลูกค้า MobileInternet User จากปัจจุบัน 60% ของลูกค้า dtac 25 ล้านราย เป็น 70%ในปี 59 และ 80% ในปี 60

นอกจากการขยายลูกค้าทั่วไปแล้ว dtac จะใช้เทคโนโลยี 4G เพื่อพัฒนา Solutions ใหม่ๆ ด้าน Internet of Things หรือการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ด้วยอินเทอรเน็ตให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับบริการ Financial Service เช่นMobile Wallet

ทั้งนี้ มั่นใจว่าในอนาคตจะมีการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ๆ ออกมาอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลเห็นแล้วว่า การเปิดประมูลคลื่น 1800 และ 900 สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 2.3 แสนล้านบาท และจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ซึ่งรัฐบาลและกสทช. ต้องมีการวาง Road Map ว่าในอนาคตจะมีคลื่นใดนำออกมาประมูลบ้าง เพื่อให้เอกชนเตรียมตัว

467194261

“ความลับ” จากห้องประมูลคลื่น900

ceo ของ dtac ได้นำความลับฮาๆ ของห้องประมูลมาเปิดเผยว่า การประมูลของ กสทช. ได้กำหนดให้ผู้ร่วมประมูลที่เข้าไปในห้องประมูล ห้ามออก (ออกแล้วห้ามเข้าไปอีก) ห้ามติดต่อกับคนภายนอก เพื่อความโปร่งใส ดังนั้นห้องของ dtac จึงมีผู้ชาย 7 คนอยู่ในห้องเดียวกัน 4 วัน 3 คืน สิ่งที่ทำคือ กิน นอน ดูหนัง และกดปุ่มประมูล

“กิจกรรมมีไม่มากนัก เริ่มจากกิน 7 มื้อ อาหารหลัก 3 มื้อ อาหารมื้อดึก 1 และอาหารว่างอีก 3 นอกนั้นก็ดูหนัง และรอกดปุ่มเท่านั้น จึงไม่แปลกใจถ้าผู้บริหาร dtac จะน้ำหนักเพิ่มขึ้น”

Copyright © MarketingOops.com


  •  
  •  
  •  
  •  
  •