ด้วยวิถีชีวิตคนเมืองในปัจจุบัน บีบคั้นให้เราต้องรีบเร่งอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอน ยันเข้านอน กว่าจะผ่านไปได้แต่ละวัน ก็เล่นเอาซะหมดแรง การท่องเที่ยวพักผ่อน จึงเป็นตัวเลือกที่หลายๆ คนถวิลหา หากพูดถึงวลียอดฮิตในตอนนี้ ก็คงหนีไม่พ้นคำว่า “สโลว์ไลฟ์” คือ การใช้ชีวิตแบบช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป เน้นการสร้างสมดุลในชีวิตให้เหมาะสม ใส่ใจสิ่งต่างๆ รอบตัว และลดความรีบเร่งในชีวิต
โดยล่าสุด ธนาคารธนชาต พาชมความสุขแบบพอเพียง ในกิจกรรม “Thanachart ReThink” คิดใหม่ ใช้เงินเป็น เห็นความสุข ณ มหาวิทยาลัยบ้านนอก เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง อ.แกลง จ.ระยอง หมู่บ้านที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับแคมเปญ ReThink ที่จะกระตุ้นให้สังคมเกิดความตระหนักก่อนใช้เงิน
นอกจากนี้ ธนชาตยังได้มอบคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ให้แก่ชุมชน ในโครงการ “พี่ใช้งาน น้องใช้เรียน” เพื่อแจกจ่ายไปยังโรงเรียนในชุมชนต่อไป
ด้าน คุณชาติชาย เหลืองเจริญ ผู้นำชุมชนบ้านจำรุง กล่าวถึงจุดเริ่มต้นว่าของชุมชนพอเพียงนี้ว่า เราทำงานด้วยความเชื่อ และต้องการพึ่งพาตัวเองตามวิถีธรรมชาติ เราเริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ มาสู่การทำกิจกรรมกลุ่มใหญ่ แบ่งเป็น 44 กลุ่มกิจกรรม ประกอบด้วย กลุ่มผลิต กลุ่มรับซื้อ กลุ่มแปรรูป กลุ่มตลาด กลุ่มท่องเที่ยว ฯลฯ การดำเนินงานทุกอย่างจะเป็นวงจร สร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งสินค้าที่ทางชุมชนจำหน่ายนี้ก็เป็นสินค้าปราศจากสารเคมี ตั้งแต่พืชผักสมุนไพร ผลไม้ กะปิ น้ำปลา สำหรับการจัดสรรพื้นที่ภายในหมู่บ้าน ก็จะแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้ความรู้กลับไปอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ บ้านจำรุง ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ นั่งรถรางชมหมู่บ้าน เก็บผลไม้ ชมกลุ่มธนาคารขยะ ธนาคารต้นไม้ ธนาคารชุมชน กลุ่มเกษตรพื้นบ้านปลอดสารเคมี กลุ่มโอท็อปโบราณ โฮมสเตย์ เป็นต้น ด้วยความมุ่งมั่นของทุกคนในชุมชน ทำให้มหาวิทยาลัยบ้านนอกแห่งนี้กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อเกิดการรวมตัว แน่นอนว่าทุกคนย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน กุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดความเข้าใจคือ การพูดคุยซึ่งกันและกัน ถกปัญหากันให้จบภายในวง (เหล้า) ด้วยความที่เป็นชาวบ้าน อยู่ด้วยกัน เจอหน้ากันทุกวัน การสังสรรค์ล้อมวงพูดคุยจึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผู้นำบ้านจำรุงยังเผยอีกว่า เมื่อนั่งล้อมวงกันแล้ว ทุกคนก็จะพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น บางครั้งไอเดียใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นจากวงเหล่านี้
“แนวคิดของชุมชนบ้านจำรุงออกแบบให้คนในหมู่บ้านมีความมั่นคงในอาชีพเกษตรกร แม้ไม่รวย แต่มั่นคง นี่คือการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง” คุณชาติชาย กล่าว