ในประเทศไทย เรามี “ยูทาวน์” www.Utown.in.th เว็บไซต์โลกเสมือนจริงแห่งแรก ด้วยสโลแกนคล้ายๆ Second Life “Another World of Life” พัฒนาโดย Digidraft และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) จำลองวิถีชีวิตประจำวันภายในแคมปัสที่หัวหมากเป็นรูปแบบ 3 มิติ
เว็บ “ยูทาวน์” เฟสแรก มีแค่การจำลองอาคารเรียน สภาพแวดล้อมภายในแคมปัส แต่ถึงวันนี้ กลายเป็นเว็บ “ชีวิตที่สอง” ที่สมบูรณ์มากขึ้น ด้วยการสร้างเป็นคอมมูนิตี้โลกเสมือน มีร้านค้าแฟชั่น ร้านอาหาร ที่นั่งพบปะสำหรับนักศึกษา
“มาลิวร เตียนโพธิ์ทอง” กรรมการผู้จัดการบริษัท มาโช บิส ผู้ดูแลด้านการตลาดโครงการ UTown เล่าว่า UTown ในอนาคตจะพัฒนาให้เป็นยิ่งกว่า Secondlife จะมีแม้กระทั่งการแสดงคอนเสิร์ต ไปจนถึงการให้ที่นี่เป็นการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ สินค้าใหม่ไม่แตกต่างจากบนโลกจริง
“เราได้ดึงพันธมิตรด้านต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย เราใช้ชื่อโซนนี้ว่า ดาวน์ทาวน์ ก็จะมีร้าน Telewiz ของ AIS ร้านบานาน่า ไอที ร้านค้าสไตล์เกาหลี และในเฟสสามอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า ก็จะมีมหาวิทยาลัยชื่อดังในไทย และเทศทั้งรัฐ และเอกชนไม่ต่ำกว่า 3 แห่งเข้ามาอยู่ในยูทาวน์นี้ด้วย”
สิ่งที่ดูเป็นโลกเสมือนจริงมากที่สุดอย่างหนึ่งใน UTown คือ ร้านค้าในดาวน์ทาวน์ หากคุณเข้าไปซื้อสินค้า แต่พนักงานไม่อยู่ (ไม่มีคนออนไลน์) ก็จะมีหุ่นยนต์ประจำร้าน ทำหน้าที่ตอบคำถามกับลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่คุณสามารถคุยกับคนขายได้แบบเสมือนจริงได้อย่างใกล้ชิด
“ดาวน์ทาวน์” จะเปรียบเสมือนแหล่งรวมความบันเทิงของพลเมืองในยูทาวน์ รวมไปถึงระบบพื้นฐานต่างๆ ที่โลกจริงมี เช่น ระบบเงินตราของตัวเอง (Monetary System) วันเวลาตามจริง (Day-Time System) ระบบฤดูกาล (Seasonal) และจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของพลเมืองที่นี่ โดยเฉพาะสถานศึกษาหรือแหล่งเรียนรู้แบบออนไลน์
“เรามีแผนจะเปิดหลักสูตรพิเศษแบบออนไลน์ ในวีเลิร์นนิ่ง เซ็นเตอร์ หรือแม้แต่การอนุญาตให้นักศึกษาขอจองห้องเพื่อติววิชากันแบบเรียลไทม์ใน วีคลาสรูมได้ ผู้เล่นยังสามารถเข้าไปเดินเล่นหรือหาเพื่อนคุยตามสถานที่ต่างๆ สนุกกับการชอปปิงในห้างสรรพสินค้าเสมือนจริงในดาวน์ทาวน์นี้ด้วย”
ขณะที่มุม eCommerce การซื้อขายจากรูปแบบเว็บไซต์ 2 มิติ จะก้าวสู่หน้าร้าน 3 มิติ ร้านตามก็แล้วแต่จินตนาการ สามารถเดินหรือเลือกชมสินค้าผ่านร้านค้าที่สวยงามได้จริง หมุนดูสินค้าได้ 360 องศา ที่สำคัญเปิดโอกาสให้นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเข้ามาทำธุรกิจซื้อขาย เพื่อหารายได้พิเศษผ่านร้านค้าที่นี่ได้ด้วย โดยใช้ระบบการชำระเงินของ Advance Payment ของ AIS
“ลูกค้ายังจะมีโอกาสได้พบกับพลเมืองที่มีความต้องการเหมือนกันเดินเข้าออกในร้านตลอดเวลา จุดนี้จะทำให้เกิดคอมมูนิตี้พูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันถึงตัวสินค้าได้มากขึ้น เป็นคอมมูนิตี้เสมือนจริงที่ไม่ต้องรอนาน เพราะเกิดขึ้นได้แน่นอนในไทย”
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์