การประกวด Mobile Application ผ่านโครงการ Samart Innovation Awards ที่ผ่านมามีนักศึกษาส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 1,000 ผลงาน โดยเทรนด์ของการพัฒนา Application บนมือถือในปีนี้ ระบุว่า Platform ใหม่อย่าง Android และ Social Network จะได้รับความนิยมมากขึ้น
ยุคลอาจ ชาญพาณิชกิจการ Assistant Vice President-Research & Development
บริษัท เบรนซอร์ส จำกัด หนึ่งในกลุ่มบริษัทสามารถ
ขณะนี้สัดส่วนของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมียอดขายมากกว่าหนึ่งพันล้านเครื่องทั่วโลก แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 1 พันล้านคน โดยในหนึ่งคนจะพกพาโทรศัพท์มือถือมากกว่า 1 เครื่อง ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่และเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนา Application
ที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่อย่าง Google หันมาให้ความสนใจกับการทำตลาดโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น หรือแอปเปิลซึ่งเดิมทำธุรกิจคอมพิวเตอร์ก็สนใจทำตลาดโทรศัพท์มือถืออย่าง iPhone ซึ่งประสบความสำเร็จมาก เนื่องจากมองเห็นโอกาสทางธุรกิจเพราะโทรศัพท์จะติดตัวไปกับผู้บริโภค ขณะเดียวกัน Application ก็มียอดขายมหาศาล
Platform ใหม่ ‘Android’
เกิด Platform ใหม่อย่าง Android ทำให้ตลาดโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์พกพาตื่นตัว ซึ่งประกอบด้วยระบบปฏิบัติการ ไลบรารี เฟรมเวิร์ค และซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่จำเป็นในการพัฒนา เทียบเท่ากับ Windows Mobile, Palm OS, Symbian โดยจับตลาดมือถือรุ่นใหม่ที่มีความสามารถสูง ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นตลาดของ iPhone
เห็นได้ว่า ตลาดแอพพลิเคชั่นบนโมบายล์นั้นเจริญเติบโตมากในช่วงที่ผ่านมา ถ้าหากสามารถจับทางได้ถูกก็มีโอกาสทำตลาดมาก ซึ่งต่อไปจะเป็นที่รู้จักทั่วโลกเหมือนกับวินโดว์
Android และ Social Network ยังมาแรง
เทรนด์ของการพัฒนา Application บนมือถือในปีนี้ เรื่องของ Social Network การแชร์ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตและ platform ใหม่อย่าง Android ยังคงมาแรง คาดว่านักพัฒนารุ่นใหม่จะส่งผลงานที่เป็น Android Application และ Social Network เข้ามากขึ้น เนื่องจากเป็นกระแสที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
ในปีที่ผ่านมา มีผลงานที่เป็น Android ที่ส่งเข้าประกวดในโครงการค่อนข้างน้อย มีเพียง 1 ผลงานเท่านั้น ซึ่งเป็นของนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงาน Vision Enhancement ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยให้ผู้ที่มีอาการตาบอดสี สามารถแยกแยะความแตกต่างของรายละเอียดสีภายในภาพได้
โดยนำทฤษฎีโมเดลสี RGB และ ISH มาพัฒนา ซึ่งใช้ Java Programming Language ภายใต้ Platform Android SDK ในการพัฒนาโปรแกรมบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ Gphone โดยมีความยืดหยุ่นในการใช้งานสำหรับผู้ใช้แต่ละคน คือ สามารถปรับค่าพารามิเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณค่า H, S และ I ได้ค่าละ 7 ระดับ สามารถรับภาพจากกล้องถ่ายภาพ และระบบ MMS ได้
นอกจากนั้น ยังมีผลงานอื่นที่น่าสนใจ เช่น Application ที่คล้ายกับ Hi5 ชื่อ hiLive จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ ผลงาน CORESONX ร้องเพลงคาราโอเกะผ่านมือถือ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งขณะนี้บริษัทมีแผนทำตลาดในเชิงพาณิชย์
ส่วนผลงาน Track Me ซึ่งเป็นโปรแกรมติดตามมือถือหาย จากจุฬาลงกรณ์ ได้รับรางวัลที่ผ่านมามีผู้สนใจติดต่อมาและต้องการนำไปบันเดิลในโทรศัพท์มือถือ แต่นักศึกษาไม่ได้พัฒนาต่อถือว่าเสียโอกาส โดยในสัญญาบริษัทสามารถนำผลงานไปพัฒนาต่อได้หากนักศึกษาไม่พร้อมที่จะพัฒนาต่อ
“นักศึกษารู้จักประยุกต์ใช้เทรนด์บนอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้ในการพัฒนา ทำให้ซอฟต์แวร์มีการออนไลน์มากขึ้น มีการนำคอนเทนต์ คอมมูนิตี้ต่างๆ เข้ามาเสริม ในส่วนของเกมจะมีกราฟิกที่สวยงามขึ้น เช่น 3D เป็นต้น” ยุคลอาจ กล่าว
แนะนักพัฒนา App. ควรทำตลาดได้จริง
ณรงค์ เล็กสมบูรณ์ไชย
Assistant Vice President–Content & Production, Samart Multimedia
การพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถือนั้น นักพัฒนาจะต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการทำตลาด เช่น ถ้าเป็นภาษาไทย คอนเทนต์แบบไทย อาจจะขายได้เฉพาะเมืองไทย หรือหากเป็นเกมอาจจะต้องนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ
ดังนั้น แอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นจะไม่ขายเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่จะขายในต่างประเทศด้วย สำหรับผลงานที่ขายได้แล้วในเชิงพาณิชย์ คือ Nub Nub ซึ่งเป็นเกมเกี่ยวกับการคิดเลข โดยมีการบันเดิลผ่านโทรศัพท์มือถือ
ส่วนเกม BomberQuest ขณะนี้ บริษัทมีแผนที่จะบันเดิลผ่านโทรศัพท์มือถือไอ-โมบาย โดยก่อนหน้านี้ได้ให้บริการดาวน์โหลดผ่าน bug2mobile สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้พัฒนา ซึ่งตลาดเกมบนโมบายล์เป็นตลาดที่มีโอกาสค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเกมที่ไม่ซับซ้อน
Application ส่วนใหญ่ที่นักศึกษาส่งเข้าประกวด คือ
- Game
- Entertainment
- Infomation
ซึ่งในส่วนของ Entertainment ถือว่าได้รับความนิยมมาก ในส่วน Application ที่เป็นข้อมูลข่าวสารยังมีไม่มากนัก
“เราไม่อยากเน้นเรื่องของเกมมากนัก เพราะตลาดเกมมีการแข่งขันสูง ส่วนเอ็นเตอร์เทนเมนต์นั้นยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เช่น เพลง หนัง ส่วนบริการที่เป็น Social Network เช่น hiLive เชื่อว่าจะได้รับความนิยมเนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ นิยมเล่น Hi5 ซึ่งแอพพลิเคชั่นในลักษณะนี้ตลาดมีความต้องการมาก” ณรงค์
สำหรับโครงการ Samart Innovation Awards ในปีนี้ นอกจากจะเน้นประกวดซอฟต์แวร์ประเภท Mobile Application แล้ว ยังมีการเพิ่มประเภท Business Software โดยเฉพาะด้าน e-Learning เข้าไปด้วย เพื่อมุ่งสร้างเถ้าแก่มืออาชีพ และส่งเสริมทางด้านการพาณิชย์สำหรับผลงานที่โดดเด่นและช่วยสร้างรายได้ รองรับกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีการขยายกลุ่มเป้าหมาย ไม่จำกัดแค่กลุ่มนิสิต นักศึกษา แต่จะครอบคลุมถึงกลุ่มบุคคลทั่วไป
Source: Ecommerce Magazine