เรียนรู้หนทางสู่การเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จ จาก 3 ผู้บริหารบนโลกไซเบอร์

  • 38
  •  
  •  
  •  
  •  

unnamed-700

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา สาขาวิชาเว็บ และโมบายเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัดงานเสวนา ในหัวข้อ “Cyber Startups – Story & Success” โดยเชิญ Startups รุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงบนโลกไซเบอร์ (The 3-e Leaders) [eBook] คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ Ookbee, [ePayment] คุณสมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี Paysbuy และ [eMarketPlace] คุณณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข LnwShop มาร่วมพูดคุยเพื่อสร้างแรงบันดาล โดยเจาะลึกในประเด็นต่างๆ ได้อย่างสนใจ ดังนี้

จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ

คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ CEO และผู้ก่อตั้ง Ookbee ซึ่งเป็น Digital book platform ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการก่อตั้งว่า อุ๊คบีมีที่มาจากที่ตนเองมีบริษัทรับพัฒนาแอพพลิเคชั่นอยู่แล้ว จึงได้เริ่มพัฒนาแอพฯ Ookbee ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของบริษัท และได้เริ่มติดต่อสำนักพิมพ์ต่างๆ ในการนำหนังสือมาจำหน่ายบนแอพฯ ซึ่งเราเริ่มต้นธุรกิจนี้ตั้งแต่ iPad ยังไม่เข้ามาในประเทศไทยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าเป็นเป็นการเตรียมความพร้อมในระยะยาว

คุณสมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เพย์สบาย จำกัด กล่าวว่า Paysbuy จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2547 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ด้านการเงินการธนาคารเป็นระยะเวลานาน มาร่วมกันทำระบบชำระเงินออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ชื่อ www.PAYSBUY.com ปัจจุบัน Paysbuy ก่อตั้งมาแล้ว 11 ปี โดยจุดเริ่มต้นเรามองว่าธุรกิจออนไลน์นั้น สามารถเริ่มต้นด้วยตัวเองได้ง่ายกว่า และอยากให้เมืองไทยมีระบบการชำระเงินเหมือน PayPal

คุณณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข Managing Director และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์เทพช็อป ผู้ให้บริการเว็บไซต์โฮสติ้งและเปิดให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปที่ให้บริการฟรีร้านค้าออนไลน์ กล่าวว่า Lnw จัดตั้งโดยกลุ่มเพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยมาด้วยกัน และร่วมเปิดบริษัทร่วมกัน เพราะเล็งเห็นว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยกำลังโต และเมื่อดูคู่แข่งในตลาดแล้ว จึงเป็นแรงผลักดันให้เราต้องทำอะไรให้ดีขึ้น

คำถามยอดฮิตของเหล่า Startup ต้องใช้เวลาเท่าไรถึงจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ได้

คุณณัฐวุฒิ กล่าวว่า แทนที่รอให้สมบูรณ์แบบแล้วค่อยเปิดตัว เรามองว่าควรเปิดตัวให้เร็วที่สุด แล้วรอ Feedback จากผู้ใช้งาน และนำมาแก้ไขต่อไป ดีกว่าต้องใช้เวลานานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ล้มเหลวให้เร็วจะดีกว่า อย่ากลัวที่จะเสียชื่อเสียง เพราะเรายังใหม่ การผลิตแอพฯ สักแอพฯ ก็เหมือนกับการโยนก้อนหินลงในทะเล ที่มีแอพฯ จำนวนเป็นล้านที่อยู่ในนั้น ถ้าเราไม่รีบเปิดตัว เราก็จะใช้เวลามากเกินไปในการพัฒนา และอาจเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์

ด้าน คุณณัฐวิทย์ กล่าวว่า ก่อนจะเปิดตัว LnwShop เราใช้เวลาทำปีกว่า ซึ่งนานมาก เพราะเราไม่รู้ว่าควรเปิดตัวตอนไหน และอยากทำให้ดีที่สุด แต่เมื่อใช้เวลานานเกินไป ทีมงานทุกคนก็รู้สึกล้า จนคิดว่าจะเลิกทำ เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นดีกว่า โดยเราตั้งเงื่อนไขว่า ให้แต่ละคนใช้เวลา 1 เดือน ในการพัฒนาสินค้าของตัวเอง และแข่งกันว่าใครจะเปิดตัวได้เร็วที่สุด ซึ่งเมื่อครบ 1 เดือน สินค้าก็ออกสู่ตลาดได้จริง และก็มีคนใช้ ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราจะรู้เองว่า สินค้าอยู่ในจุดที่เรารับได้ และพร้อมออกสู่ตลาดแล้ว

11224784_883018475078412_6929986664647889747_n-higlight

ปัญหาที่พบในการทำธุรกิจ

คุณสมหวัง กล่าวว่า เมื่อเวลาผ่านไป อารมณ์ของการทำงานจะแตกต่างจากวันแรก ความกระตือรือร้นจะเริ่มแผ่วไป สิ่งที่ Startup จะต้องพบคือ การหาข้อมูล การวิจัย และเรื่องคน คุณต้องเลือกคนที่มีเคมีตรงกัน มีทัศนคติคล้ายกัน จึงจะทำงานร่วมกันได้ นอกจากนี้ นักธุรกิจมือใหม่ยังต้องเจอกับสภาวะที่อะไรๆ ก็ไม่เป็นไปอย่างที่คิดอีกหลายเรื่อง

คุณณัฐวุฒิ กล่าวว่า ปัญหาของ Startup ในช่วงแรก คือ การแจกจ่ายงาน เพราะที่ผ่านมาเราทำเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบัญชี ส่งเอกสาร หรือไปธนาคาร จริงๆ แล้วมีคนที่ทำได้ดีกว่าเรา ในราคาที่ถูกกว่า ทั้งงานหลัก และงานจิปาถะ แต่สิ่งที่เรามีอย่างจำกัดคือ เวลา ยิ่งเราเสียเวลาไปมากเท่าไร งานก็จะไม่เดิน เราต้องประหยัดเวลาให้ได้มากที่สุด

คุณณัฐวิทย์ เผยมุมมองว่า ในช่วงแรกก็ทำเองทุกอย่างเหมือนกัน จนเมื่อบริษัทต้องการจัดอีเว้นต์ และต้องทำอะไรหลายอย่างพร้อมๆ กัน ซึ่งไม่เกิดผลดีต่อบริษัทแน่นอน ทำให้เราต้องมองหาคนที่ไว้ใจได้ และแบ่งให้ชัดเจนว่า งานไหนเป็นงานที่สำคัญจริงๆ หรืองานไหนที่แบ่งให้คนอื่นทำแทนได้ ปัญหาที่พบคือ “คน” ต่างที่มา ต่างรูปแบบ ทำให้บริการจัดการได้ยาก ซึ่งคิดว่าทุกองค์กรก็พบเช่นกัน

ความแตกต่างของ Startup และการเป็นมนุษย์เงินเดือน

คุณสมหวัง กล่าวว่า ข้อดีของการเป็นมนุษย์เงินเดือนคือ การได้พักผ่อนในวันศุกร์หลังเลิกงาน และมีเวลาว่างมาก แต่เมื่อเริ่มธุรกิจของตัวเอง แม้จะเป็นวันหยุด ก็ไม่ได้หยุด เพราะต้องเตรียมงาน และหาข้อมูลต่างๆ ขณะนี้ผมเองก็พยายามใส่ใจตัวเองมากขึ้น ด้วยการออกกำลังกาย ทั้งนี้ ก็อยู่กับการจัดสรรเวลาของแต่ละคน

ด้าน ผู้บริหารเว็บไซต์เทพช็อป แม้จะไม่เคยเป็นพนักงานออฟฟิศมาก่อน เพราะเมื่อเรียนจบแล้วมาก็เป็น Startup ทันที ทำให้เราได้ใช้เวลาในการทำสิ่งที่อยากทำอย่างเต็มที่ ส่วนตัวกระตุ้นที่ทำเกิดการพัฒนาสินค้าคือ คำตำหนิจากลูกค้า และคู่แข่ง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะมองว่าผู้ค้ารายอื่นๆ ไม่ใช่คู่แข่งของเรา ซึ่งพอเราเห็นว่าเขาทำอะไร เราก็คิดว่าเราจะทำได้ดีกว่าเขา

คุณณัฐวุฒิ ให้ทัศนะถึงการทำงานของคนในปัจจุบัน โดยกล่าวว่า ขณะนี้คนส่วนใหญ่ไม่นิยมทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ ที่เปิดดำเนินการมานานแล้ว แต่ต้องการทำงานกับบริษัทเล็กๆ ที่มีโอกาสเติบโตมากกว่า และจะรู้สึกภูมิใจเมื่อเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก

เคล็ดลับในการเป็น Startup ให้ประสบความสำเร็จ

ด้วยประสบการณ์การทำงานมากว่า 11 ปี คุณสมหวัง กล่าวว่า อันดับแรกคือ ต้องมีความรับผิดชอบ มีศีลธรรมในการทำธุรกิจ เนื่องจาก ปัจจุบันมีบางคนที่เข้ามาทำเพื่อต้องการเงินอย่างเดียว และพร้อมจะขายธุรกิจทันทีเมื่อมีโอกาส ทำให้ธุรกิจไม่ได้รับการสานต่ออย่างจริงจัง สิ่งสำคัญ นอกจากนี้ ต้องมีวินัยด้วย แม้จะเป็นธุรกิจเล็กๆ ก็ต้องแสดงให้ลูกค้า หรือคนในองค์กรเห็นว่า เราเอาจริงในสิ่งที่ทำ

ด้วยความที่เป็นรายแรกๆ ในประเทศไทย ที่บุกเบิกธุรกิจ E-Book คุณณัฐวุฒิ เผยว่า แน่นอนว่าในช่วงปีแรก ธุรกิจอาจยังไปได้ไม่สวยนัก ทั้งเรื่อสภาพคล่องทางการเงิน การหาทีมงาน คุณจะต้องเจอปัญหาอีกมากมายเข้ามาไม่หยุด หัวใจสำคัญคือ ต้องไม่ล้มเลิก คุณต้องแสดงให้คนอื่นเห็นว่าคุณเจ๋งแค่ไหน ถ้ายังไม่หยุดสู้ คุณก็ไม่มีวันเจ๊ง

“คนที่จะเป็น Startup ได้ดี คือ คนที่ทำงานเพื่องาน ถ้าเป้าหมายของคุณคือ เงิน หรือต้องทำในสิ่งที่ได้เงินเท่านั้น ผลงานที่ได้อาจไม่มีคุณภาพ ไม่เป็นที่ยอมรับ สิ่งสำคัญที่ Startup ต้องมีคือ “แรงบันดาลใจ” ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีความหลงใหลในสิ่งที่ทำ และมุ่งทำผลงานมีคุณภาพเท่านั้น” คุณณัฐวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย

จากมุมมอง และทัศนคติ ของ Startups ที่ประสบความเร็จเหล่านี้ เราคงเห็นกันแล้วว่า เส้นทางของพวกเขาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ ลองนำแนวคิดของทั้ง 3 ท่านนี้ลองใช้ได้นะคะ


  • 38
  •  
  •  
  •  
  •