หากคุณถนัดการเล่าเรื่องด้วยภาพ Instagram นั้นเป็นช่องทางที่ตอบโจทย์สุดๆ และจะยิ่งเหมาะสมขึ้นถ้าคุณอยู่ในธุรกิจแฟชั่น ที่ต้องใช้พลังแห่งภาพเป็นเครื่องมือทางการขาย เพื่อแสดงความรู้สึก และตัวตนของแบรนด์ออกมา
หากถามว่า ทำไปต้องเป็น Instagram
ก็เพราะ Instagram มีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 300 ล้านคน และในประเทศไทยเองก็มีผู้ใช้งานกว่า 1.7 ล้านคน ในปี 2014 และในจำนวน 300 ล้านคนนี้ 75% จะใช้งานอย่างน้อยวันละครั้ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อแบรนด์แน่นอน นอกจากนี้ Instagram ยังเติบโตจากปีที่แล้วกว่า 46% (จากการสำรวจของ Globalwebindex) ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีเหตุผลใดปฏิเสธได้ว่า Instagram นั้นไม่เหมาะกับการทำธุรกิจ
1. Instagram จะเป็นเวทีแสดงบุคลิกของแบรนด์
สิ่งที่ต้องเรียนรู้เป็นอันดับแรกคือ ตัวเอง หรือตัวตนของแบรนด์ ทุกภาพที่จะโพสไปนั้น ต้องสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นแบรนด์ แม้แบรนด์ของคุณจะใช้ Social Media หลายช่องทาง หรือทำการตลาดออนไลน์ และออฟไลน์ คุณก็ควรจัดสรรคอนเท้นต์ของแต่ละช่องทางให้ดี เพื่อรองรับผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน
ในแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนใหญ่พวกเขาจะให้ความใส่ใจในเรื่องความสม่ำเสมอ เข้าใจบุคลิกของลูกค้า และให้คุณค่าในรายละเอียดต่างๆ ของคอนเท้นต์ที่จะนำเสนอผ่าน Instagram เพื่อให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
2. เล่าเรื่องด้วยภาพ
ในทุกกลุ่มธุรกิจย่อมมีการเล่าเรื่องในแบบของตัวเอง ที่ไม่เหมือนใครเพื่อกระตุ้นยอดขาย ความแตกต่างนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนในการแข่งขัน Instagram นับเป็นแพลตฟอร์มที่พร้อมให้คุณได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่ต้องใช้คำบรรยายให้ยืดยาว เน้นสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์กับลูกค้า
3. เผยเบื้องลึก เบื้องหลัง
อีกหนึ่งเรื่องราวที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจคือ ความลับ โดยเฉพาะในธุรกิจแฟชั่น การเผยภาพหรือคลิปบางส่วน จะทำให้ลูกค้า และแฟนๆ รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เป็นเจ้าของสินค้า ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาวด้วย
4. รวบรวมแฟนๆ ไว้ในที่เดียว
การมีช่องทางสื่อสารของตัวเองก็ดี แต่การมีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นจะดียิ่งกว่า และยิ่งที่เราอยู่ในยุคดิจิทัล ทุกอย่างออนไลน์ไปหมด จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่คุณจะทำ อีกทั้งคุณยังจะได้รับทราบความต้องการของลูกค้า ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้
วิธีง่ายๆ คือการใช้ แฮชแท็ก เพื่อรวมกลุ่มคนที่มีความชอบคล้ายๆ กัน โดยแบรนด์ต้องเลือกเพียงอันเดียวเท่านั้น ป้องกันการสับสนของลูกค้า และผู้ใช้งานคนอื่นๆ
5. User Generated Content และการมีส่วนร่วมของลูกค้า
เมื่อมีการรวมกลุ่มแล้ว ก็ถึงเวลาของการขายสินค้า ด้วยการใช้กลยุทธ์ User-Generated Content (UGC) การสร้างเนื้อหา หรือคอนเท้นต์ที่เกิดจากผู้ใช้ หรือผู้ติดตาม มาไว้บนพื้นที่ของแบรนด์ โดยเนื้อหาอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์หรือไม่ก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่ก็เพื่อประโยชน์ของแบรนด์ ด้วยรูปแบบที่ใช้เป็นภาพถ่าย คลิปวิดีโอ รวมไปถึงการเขียนบล็อกที่พูดถึงแบรนด์ไปด้วย ประโยชน์ของ UGC ก็คือการที่ผู้ใช้งานจริงๆ จะพูดถึงแบรนด์โดยตรง ได้สานสัมพันธ์กับแบรนด์ รู้สึกได้เป็นส่วนหนึ่งกับแบรนด์ และในส่วนของแบรนด์ ประโยชน์ที่จะได้รับคือ คอนเท้นต์ ที่มาจากผู้ใช้งานนั่นเอง
การสร้าง User-Generated Content โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการร่วมกิจกรรมแจกของรางวัลมากกว่า เพื่อที่แบรนด์จะให้ผู้ใช้งานหรือผู้ติดตามสร้างคอนเท้นต์จากผู้ใช้งานเอง เพื่อแลกกับอะไรบางอย่าง เช่น ชิงรางวัล สินค้าทดลองใช้ สำหรับแบรนด์ที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก และมีการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ใช้มาบ้างแล้ว แล้วอาจไม่จำเป็นต้องใช้รางวัลมาล่อ แต่อาจจะมีการสร้างแคมเปญที่น่าสนใจในบางช่วงเวลา
6. สร้างระบบสั่งซื้อสินค้า
ในขณะที่ความต้องการซื้อสินค้ามีจำนวนมาก Instagram จึงเป็นเครื่องมือผลักดันการขายที่ดี คำถามที่พบบ่อยในการทำตลาดออนไลน์ คือ จะวัดผลสำเร็จได้อย่างไร เพราะโอกาสที่จะเชื่อมโยงผู้บริโภคไปยังเว็บไซต์สามารถทำได้เพียง 2 วิธีเท่านั้น คือ ลิ้งก์ที่ใส่อยู่ใต้ภาพ และลิ้งก์ในช่อง Bio Profile เมื่อคุณดึงลูกค้าให้ไปยังหน้าเว็บไซต์ของคุณได้แล้ว สิ่งต่อมาคือ ความสะดวกสบายในการซื้อสินค้า หน้าเว็บที่รองรับกับการใช้งานบนสมาร์ทโฟน รวมถึงระบบชำระเงินที่ปลอดภัย
โดยรวมแล้ว Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่มีประสิทิภาพอย่างมากในการทำตลาดออนไลน์ ด้วยความโดดเด่นในการใช้ภาพถ่ายทอดเรื่องราว จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของแบรนด์เอง