วันนี้ซื้อหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์มาอ่าน เห็นหัวข้อเตะตา ’12 แบรนด์ชั้นนำที่กำลังหายไปจากตลาดโลก’ ทำให้ต้องรีบพลิกดูด่วน เพราะมีหลายแบรนด์ที่เคยผ่านตาและเคยเป็นลูกค้ามาก่อน และคิดว่าข่าวชิ้นนี้น่าจะเป็นที่น่าสนใจต่อพวกเราทุกคนเช่นกัน
นักการตลาดระดับโลกออกจะรู้สึกตระหนกที่พบว่ามีแบรนด์ชั้นนำระดับโลกส่วนหนึ่งสูญหายไปจากตลาดโลกในปี 2008 โดยปัจจัยหลักก็คือแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจและส่วนหนึ่งเป็นแบรนด์ของธุรกิจระดับค้าปลีก ตัวอย่างเช่น Circuit City, Aloha Airlines, Gateway Computers ซึ่งหายไปหลังจากที่ถูกซื้อโดย Acer เ แม้เว็บไซต์จยังอยู่ แต่แบรนด์นี้ไม่พบเห็นในตลาดอีกแล้ว
สิ่งที่น่าหวาดหวั่นคือ ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น อาจส่งผลให้มีแบรนด์ดังๆ สูญหายไปจากตลาดเพิ่มขึ้นต่อไป เมื่อไม่นานมานี้ 24/7 Wall Street ได้ออกสำรวจ 100 แบรนด์รายใหญ่ที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาทางธุรกิจ โดยพิจารณาจากยอดจำหน่าย ข้อมูลความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ และประวัติพัฒนาการที่ผ่านมาของแบรนด์ ความสามารถในการแข่งขันและสถานะทางด้านการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และพบว่าจะมีแบรนด์ที่ถูกขายหรือแยกออกไปจากการที่บริษัทแม่ประสบปัญหาอีกมากมาย
หลังจากศึกษาข้อมูลแล้ว 24/7 Wall Street ได้ประมาณการว่าจะมีอย่างน้อย 12 แบรนด์ชั้นนำที่มีความเสี่ยงที่จะสูญไปจากตลาดภายในปี 2010 นี้
–
Avis/Budget
Avis/Budget เป็นธุรกิจให้เช่ารถยนต์ 2 กลุ่ม เพราะต้องแบกรับภาระหนี้สินจำนวนมาก ขณะที่ต้นทุนดำเนินงานเพิ่ม ความสามารถในการทำรายได้กลับลดลง จนเกิดปัญหาสภาพคล่องควบคู่กับปัญหาโครงสร้างการผลิตบริการ
ที่ผ่านมาแบรนด์ Avis มีการกระจายการดำเนินงานออกไป 5,100 จุดและมีขนาดใหญ่กว่า 2,750 จุดของ Budget ซึ่งในปีที่แล้วมีรายได้ 6,000 ล้านดอลลาร์ มีผลขาดทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ โดยยอดรายได้ในปีนี้คาดว่าจะยังลดลงจนยากจะรักษาสถานภาพทางธุรกิจไว้ได้
–
Borders
Borders เป็นร้านขายหนังสือที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 รองลงมาจาก Barns and Noble และตกอยู่ในภาวะยากลำบากทางธุรกิจมาติดต่อกันหลายปี จนต้องปรับลดจำนวนร้านหนังสือ Waldend books ลงจากที่เคยมีจำนวนถึง 300 แห่ง เหลือเพียง 50-60 แห่งเท่านั้น
สาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจของ Borders แย่ลงไป ก็คือ การแข่งขันที่มาจากธุรกิจหนังสือออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Amazon.com และจำนวนผู้อ่านหนังสือทาง e-Book
เมื่อไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ยอดการจำหน่ายของร้านหนังสือ Borders ลดลงถึง 15.3% ตลอดปี 2008 กิจการประสบผลขาดทุน 157 ล้านดอลลาร์ จากรายรับของกิจการ 2,8000 ล้านดอลลาร์ การขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินออกไปเป็นปี 2010 อาจจะช่วยไม่ได้ เพราะร้านค้าแห่งนี้อาจอยู่ไม่ถึงวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญา
–
Crocs
Crocs เป็นกิจการรองเท้าที่เคยมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจสูงสุดในสหรัฐฯมาก่อน และเป็นหุ้นที่มีมูลค่าสูงอย่างมากราว 72 ดอลลาร์ แต่ลดลงเหลือเพียง 2 ดอลลาร์เท่านั้น อันเนื่องมาจากผลขาดทุน 43 ล้านดอลลาร์ ขณะที่รายรับลดลงจาก 225 ล้านในปี 2007 เหลือเพียง 126 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
–
Saturn
Saturn ที่สร้างโดยอดีตซีอีโอของจีเอ็ม นายโรเจอร์ สมิธ เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของรถที่มีนวัตกรรมทั้งทางด้านการผลิตและการตลาด แต่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ แซทเทิร์น มียอดจำหน่ายลดลง 59% เหลือแค่ 19,843 คัน และจีเอ็มก็ไม่อาจแบกรักภาระการสนับสนุนรถรุ่นนี้ได้อีกต่อไป
–
นิตยสาร Esquire
นิตยสารชื่อ Esquire ที่ตีพิมพ์โดย Hearst ซึ่งมีปัญหาทั้งในส่วนของการตลาดธุรกิจหนังสือพิมพ์และนิตยสารพร้อมกัน มีการปิดธุรกิจในซีแอตเติ้ล เมื่องานโฆษณาได้ลดลงจนทำให้รายได้รวมของกิจการลดลงไปกว่า 10% หลังจากปี 2008
Esquire เป็นนิตยสารผู้ชายที่เป็นจุดอ่อนของกิจการอย่างหนึ่ง ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หน้าโฆษณาในนิตยสารฉบับนี้หายไป 22% และเป็นนิตยสารที่มีการแข่งขันสูง เนื่องจากมีแบรนด์อื่นในตลาดอีก ทั้งจีคิว ดีเทลย์ เมนสเจอร์นัล แม็กซิม และนิตยสารที่เน้นสุขภาพและฟิตเนสผู้ชายอีกมากมาย
–
Gap
Gap ร้านค้าปลีกที่อยู่คู่กับสหรัฐฯแบรนด์หนึ่ง ซึ่งประสบปัญหาทางธุรกิจ ในเดือนมีนาคมยอดขายลดลง 14% การดำเนินงานของแบรนด์โอลด์นาวีและบานาน่า รีพลับบลิก เป็นจุดที่มีโอกาสปิดธุรกิจหลังยอดขายลดลงไปถึง 27% และ 16% ตามลำดับ
โดยจำนวนจุดขายของแบรนด์ old navy มากกว่า Banana Republics คือ 1,067 จุด เทียบกับ 573 จุด ซึ่งหากยอดการจำหน่ายยังคงลดลงไปเดือนละ 15% แบบนี้ แบรนด์ทั้ง 2 แบรนด์คงต้องถูกปิดตัวลงในที่สุด
–
นิตยสาร Architectural Digest
Architectural Digest มียอดการโฆษณาลดลงถึง 47% ในปีนี้ นิตยสารฉบับนี้บริหารโดย Conde Nast ซึ่งเป็นของครอบครัวนิวเฮาส์ และมีปัญหากับธุรกิจนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ทั้งที่เคยเป็นธุรกิจที่ทำกำไรอย่างน่าพอใจ
จุดเด่นของนิตยสารฉบับนี้คือการขายสินค้าตกแต่งและประดับประดาราคาแพงและเลิศหรู ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการตลาดขณะนี้
นอกเหนือจากนิตยสารฉบับนี้แล้ว นิตยสารอีกหลายฉบับในเครือของกิจการก็ได้ปิดตัวไปเรียบร้อยแล้ว
–
Chrysler
Chrysler ของบริษัท Chrysler ประสบกับปัญหาในธุรกิจยานยนต์ในลักษณะใกล้เคียงกับ GM จนต้องประกาศฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายและยอดการจำหน่ายก็แย่กว่าแบรนด์ ดอด์จ และจี๊ป
–
Eddie Bauer
Eddie Bauer มีปัญหาจากภาวการณ์แข่งขันในธุรกิจค้าปลีกเพราะสู้คู่แข่งขันไม่ได้ โดยเฉพาะคู่แข่งประเภทขายแบบ outdoor และราคาหุ้นในตลาดของกิจการก็เหลือเพียง 38 เซนด์เท่านั้น เทียบกับ 8 ดอลลาร์เมื่อกันยายนปีที่แล้ว
–
Palm
Palm ซึ่งทำท่าไปไม่รอดมาได้ระยะหนึ่ง แม้ว่าจะพยายามปรับกลยุทธ์ทางการตลาดด้วยการเปิดตัว ‘Pre’ ออกมา และยังไร้คู่แข่งที่น่ากลัวอย่างแอปเปิ้ลที่ยังไม่สนใจตลาดสมาร์ทโฟน
ยอดขายของปาล์มมีเพียง 482,000 เครื่องลดลงไปถึง 42% รายรับลดลงจนกิจการประสบผลขาดทุน 95 ล้านดอลลาร์
–
AIG
AIG แบรนด์ธุรกิจประกันซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั่วโลก มีโอกาสสูญหายไปจากตลาดด้วยปัจจัยหลัก 2 ประการคือ บริษัทประกันในเครือที่มีหลายแห่งไม่ประสบความสำเร็จเหมือนบริษัทแม่เพราะไม่มีเชื่อคำว่าเอไอจีด้วย และประการที่สองคือลูกค้าเป้าหมายดูเหมือนว่าจะเต็มใจให้แบรนด์นี้หายไปจากตลาด
–
United Airlines
หนึ่งในสามของสายการบินที่มีสถานะอ่อนแอที่สุดในธุรกิจ ซึ่งความอยู่รอดขึ้นอยู่กับความสามารถในการเจรจาพูดคุยกันเพื่อหาข้อยุติในการรวมกิจการจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
Source: ผู้จัดการ รายสัปดาห์