“แอดเฟส 2015” ธีม “Be Bad” กระตุ้นครีเอทีฟให้คิดนอกกรอบ สร้างงานระดับตำนาน

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

asfesthili

เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดงานมหกรรมโฆษณาแอดเฟส ได้เปิดตัวมหกรรมโฆษณาแอดเฟสครั้งที่ 18 หรือ แอดเฟส 2015 พร้อมกับจัดเสวนาภายใต้หัวข้อ How can we be so bad and still be very good?” หรือ “คิดนอกกรอบอย่างไรไม่ให้ตกขอบ” ที่ไม่เพียงจะกระตุ้นให้นักโฆษณาและครีเอทีฟเดินออกจากกรอบเดิมๆ และมีความกล้าบ้าบิ่นเพื่อสร้างงานที่ทั้งมีประสิทธิภาพ และยังเป็นที่จดจำ แต่ยังคงไว้ซึ่งความมีศีลธรรมอันดี

สำหรับธีม “Be Bad” ในครั้งนี้ จะเน้นการผลักดันและท้าทายให้คนในวงการโฆษณาเดินออกจากกรอบเพื่อเห็นมุมมองที่ต่างออกไป ในส่วนของผลงานที่ส่งเข้าประกวดรวมทั้งสิ้น 3,000 กว่าชิ้น ใน 18 ประเภท และคาดว่าจะมีคนในวงการโฆษณาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และตะวันออกกลาง เข้าร่วมงานกว่า 1,200 คน โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2558 ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ โฮเท็ล กรุ๊ป พัทยา จ.ชลบุรี

adfest3

วินิจ สุรพงษ์ชัย ประธานคณะกรรมการรจัดงานมหกรรมโฆษณาแอดเฟส กล่าวว่า การจัดงานในปีนี้ จะยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี ถือเป็นเวทีที่ส่งเสริมและยกระดับความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ตระหนักและอนุรักษ์อัตลักษณ์ท้องถิ่น เพราะเราอยากจะค้ำจุนภูมิปัญญาให้อยู่ ธีม Be Bad ในปีนี้ จึงเป็นเวทีที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค และยังเป็นการกระตุ้นผลักดันให้ครีเอทีฟไทยเดินออกจากความคิดเดิม กรอบเดิมๆ เพื่อสร้างสรรค์งานที่แตกต่างไม่เหมือนใครอย่างแท้จริง ไม่เพียงเท่านั้น เรายังต้องการที่จะให้พวกเขาเห็นถึงความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นมากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ซึ่งคือที่มาของชื่อ “คิดนอกกรอบอย่างไรไม่ให้ตกขอบ

“ในการจัดงานทุกๆ ปีเราได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และภาคเอกชนมาโดยตลอด และในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน แอดเฟส 2015 ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เพราะทุกภาคส่วนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่งานแอดเฟสมีต่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมโฆษณาในประเทศ และในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่าการจัดงานในปีนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของภูมิภาคอย่างแท้จริง”

ด้าน ร.อ.สุวิพันธุ์ ดิษยมณฑล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และรักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทางกรมฯ ได้สนับสนุนการจัดงานแอดเฟสมา 4-5 ปีแล้วในปีนี้ก็เช่นกัน ซึ่งนอกจากเราได้เชิญวิทยากรที่มีชื่อมาแบ่งปันความรู้แล้ว ทางกรมฯ ยังทำหน้าที่ Business Matching หรือการจับคู่ธุรกิจ เจรจาการค้าของไทยและต่างประเทศ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ผลตอบรับค่อนข้างดี มูลค่าการสั่งผลิตโฆษณาเกือบ 80 ล้านบาท ภายใน 1 ปี และคาดว่าปีนี้จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน

ศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การจัดงานแอดเฟสในปีนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ Win-Promote-Develop มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจไมซ์ของประเทศ ยกระดับงานให้มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่ง สสปน. ได้สนับสนุนมาเป็นปีที่ 7 แล้ว เพราะเราเล็งเห็นถึงความสำคัญ รวมถึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่น และสร้างรายได้ให้ประเทศ

ขณะที่ ชัยประนิน วิสุทธิผล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงงานแอดเฟสในปีนี้ว่า ปัจจุบันรูปแบบการสื่อสารได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และมีรูปแบบใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ การเชื่อมโยงแบรนด์ กับผู้บริโภค นับเป็นศิลปะที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างความรู้ ความเข้าใจ และความรู้สึกของผู้บริโภค โดยชิ้นงานนั้นต้องสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งจะเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ที่ทำให้นักโฆษณา ครีเอทีฟ และคนในวงการหลงใหล จึงเป็นหน้าที่และบทบาทของสมาคมฯ ที่ต้องพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อันจะนำไปสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมเสวนาภายใต้หัวข้อ How can we be so bad and still be very good?” หรือ คิดนอกกรอบอย่างไรไม่ให้ตกขอบโดยผู้ร่วมเสวนาเป็นบุคคลสำคัญในแวดวงโฆษณาด้วยกันทั้งสิ้น ได้แก่ นายรติ พันธุ์ทวี อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บ.บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด นายประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์ ผู้ก่อตั้งแกะดำทำธุรกิจ นายสมพัฒน์ ทฤษฏิคุณ ผอ.ฝ่ายสร้างสรรค์ The Leo Burnett Group Thailand โดยมี น.ส.วิลาวัลย์ สุรพงษ์ชัย ผอ.การจัดงานมหกรรมโฆษณาแอดเฟส รับหน้าที่ผู้ดำเนินการเสวนา

adfest2

เริ่มจากแง่คิดการสร้างผลงานให้ be so bad and still be very good แต่ละท่านมีแง่คิดอย่างไร นายรติ กล่าวว่า การทำงานแบบที่เรียกว่าเป็นกบฏ หรือ be bad แต่ต้อง be best ด้วยนั้นมักจะถูกมองว่าเป็นลบและไม่ปกติ แต่สิ่งสำคัญที่จะต้องรักษาเอาไว้คือ be good  ซึ่งจะต้องอยู่บนแก่นแท้ของแบรนด์นั้นๆ ยึด DNA ของแบรนด์เอาไว้ ลักษณะนี้ก็จะเป็นการคิดนอกกรอบที่ไม่ตกขอบได้

ด้านนายประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้นยังคงอยู่ในสังคมอนุรักษ์นิยม ซึ่งยังคงยากที่จะทำอะไรนอกกรอบ การทำงานยังติดขัดเรื่องระบบอาวุโสเป็นใหญ่ ในมุมมองของตน “อิสระ” คือสิ่งที่วิเศษที่สุดที่พ่อแม่ให้มาแต่คนไทยส่วนใหญ่กลับคิดว่ามันทำไม่ได้เป็นเรื่องผิด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขเพราะเป็นปัญหาระดับชาติไม่ใช่ของนักโฆษณา ส่วนนายสมพัฒน์ เปรียบให้เห็นว่าการคิดนอกกรอบหรือ be bad ให้ความรู้สึกท้าทายและเซ็กซี่ เช่นเดียวกับที่เวลาผู้หญิงส่วนใหญ่ชอบผู้ชาย bad boy

เมื่อถามถึงปัจจัยอะไรที่ทำให้ผลงานกลายเป็น Talk of the town แต่ต้องไม่ทำให้เกิด Shock value ทำได้อย่างไร นายรติ กล่าวว่า เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีขอบเขต งานโฆษณาคือศิลปะที่ขายของได้ ดังนั้น การที่เราจะทำอะไรออกไปจะต้องมี comfort zone ที่ขยายออกไป แต่ไม่ถึงกับคิดนอกกรอบ มีความท้าทายที่กล้าหาญ แต่ต้องคงความเป็นแบรนด์นั้นๆ ไว้ด้วย ขณะที่นายประเสริฐ เห็นว่าการจะเข้าไปบ้านใคร (ด้วยงานโฆษณา) สมควรหรือไม่ที่จะเอะอะมะเทิ้งเข้าไป ขอให้นำไปคิดให้รอบคอบว่าการสื่อสารแบบ Shock value จำเป็นหรือไม่ เช่นเดียวกับ นายสมพัฒน์ ที่ระบุว่า นักโฆษณาที่ดีนั้นจะต้องรูด้วยว่าควรจะพูดอะไรหรือไม่พูดอะไร และควรให้เกียรติคนดูด้วย

ก่อนที่จะตบท้ายด้วยการถามถึงโลกโซเชียล มีเดียมีผลอย่างไรกับการโฆษณา ซึ่งวิทยาทุกท่าน ต่างเห็นตรงกันว่า โซเชียล มีเดียมีความสำคัญและมีส่งผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้น การใช้สื่อโซเชีย มีเดีย นอกจากจะต้องใช้ความรอบคอบอย่างระมัดระวังและรู้เท่าทันแล้ว ยังต้องมีไวพริบและชาญฉลาดพอที่จะใช้งานด้วย ดังนั้น นักการโฆษณาจะต้องรู้จักวิธีการใช้โซเชียล มีเดียให้เป็นแล้วจะกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเข้าถึงหัวใจของผู้บริโภค.

adfest1


  •  
  •  
  •  
  •  
  •