ไมโครซอฟท์ ประเมินอีก 2 ปี คนบริโภคสื่ออินเทอร์เน็ตเท่าสื่อโทรทัศน์ เผยวิกฤติเศรษฐกิจเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยหลัก จูงใจนักโฆษณาใช้ช่องทางออนไลน์เพิ่ม ขณะที่บริการไมโครซอฟท์ทั้งฮอตเมล์ แชท และพอร์ทัล ยอดโฆษณาออนไลน์โตพุ่ง 30%
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ไมโครซอฟท์ แอดเวอร์ไทซิ่ง กล่าวว่า ผลสำรวจของ “แพคซ์” (PAX : The Pan Asia Pacific Cross Media Survey) ซึ่งเป็นการสำรวจสื่อในภูมิภาคเอเชียรวมทุกสื่อ
ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ นิตยสาร และอินเทอร์เน็ต ช่วงไตรมาส 3 ปี 2550 ถึงไตรมาส 2 ปีนี้ ระบุว่า อีกไม่เกิน 2 ปี อัตราส่วนของคนบริโภคอินเทอร์เน็ต จะสูงเท่าๆ กับ สื่อโทรทัศน์ ตามการขยายตัวของผู้ใช้บรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้น
ในส่วนของประเทศไทย ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บรอดแบนด์เพิ่มขึ้น 33% โดยคาดว่าจะส่งผลให้ช่วงห่างระหว่างการบริโภคสื่อโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต จะลดลงจาก 5% เมื่อปี 2550 เหลือ 0-1% ปีนี้โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 25-34 ปี
ขณะที่ กลุ่มอายุ 15-25 ปี ถือว่าเป็นกลุ่มที่บริโภคสื่ออินเทอร์เน็ต แซงหน้าโทรทัศน์ไปแล้ว และคาดว่าอีก 5-10 ปี กลุ่มนี้จะมีอิทธิพลในการซื้อ ขาย และสร้างบริการใหม่ๆ บนสื่ออินเทอร์เน็ต
“มีหลายปัจจัย ที่ทำให้สื่ออินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น นอกเหนือจากความรวดเร็ว ความสะดวกแล้ว เรื่องวิกฤติเศรษฐกิจเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยหลัก ที่ทำให้คนหันมาใช้สื่ออินเทอร์เน็ต เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร รวมถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้น” นางกมลภัทรกล่าว
ด้านบริการต่างๆ ของไมโครซอฟท์ ทั้งในส่วนของฮอตเมล์ พอร์ทัลเอ็มเอสเอ็น และโปรแกรมสนทนา เอ็มเอสเอ็น ปีนี้มียอดเติบโตของการลงโฆษณาออนไลน์เติบโต 30% และคาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวอีกในปี 2552
ทั้งนี้ จากประมาณการตลาดโฆษณามูลค่า 1 แสนล้านบาทนั้น มีสัดส่วนโฆษณาออนไลน์ประมาณ 2% หรือ 8 หมื่นล้านบาท แต่มีแนวโน้มโตขึ้น เพราะผลกระทบจากเศรษฐกิจ อาจทำให้เจ้าของสินค้า และบริการลดงบด้านการโปรโมทสินค้าลงผ่านสื่อปกติ แต่หันมาใช้อินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้มากกว่า ทั้งยังสามารถวัดผล และพฤติกรรมของลูกค้าได้
ผลสำรวจระบุว่า กว่า 68% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจซื้อสินค้า และบริการในองค์กร
นางกมลภัทร กล่าวว่า ผลสำรวจดังกล่าวครอบคลุม 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้บริหารระดับสูง กลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์จาก 11 ประเทศทั่วเอเชีย แปซิฟิก
ผลสำรวจพบว่า กลุ่มอายุ 25-34 ปี เป็นกลุ่มที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุดถึง 86% ในจำนวนนี้ใช้เวลาบนสื่อโทรทัศน์ราว 40% หรือประมาณ 1,133 นาทีต่อสัปดาห์ ใช้เวลาบนสื่ออินเทอร์เน็ต 39% หรือประมาณ ประมาณ 857 นาทีต่อสัปดาห์
ขณะที่ ไทยเป็นประเทศที่ 2 รองจากไต้หวัน ที่มีการใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในเอเชีย แปซิฟิก ไม่รวมญี่ปุ่น โดยบริการยอดนิยม คือ การค้นข้อมูล อีเมล และโปรแกรมแชท ตามลำดับ
ทั้งนี้ บริษัทจะนำผลสำรวจดังกล่าว มาต่อยอดการให้บริการใหม่ๆ กับทุกบริการที่มี โดยก่อนสิ้นปีเตรียมเปิดตัววินโดว์ ไลฟ์เวอร์ชั่นใหม่ ส่วนปีหน้าจะรุกหนักไปที่ตลาดโทรศัพท์มือถือ เป็นการเกาะกระแสของเทคโนโลยี 3จี
“ทุกบริการไม่ว่าจะเป็นฮอตเมล์ วินโดว์ไลฟ์ เอ็มเอสเอ็น จะเป็นฟังก์ชันหลักของโทรศัพท์มือถือ ในรูปแบบที่มีลูกเล่น และฟังก์ชันการใช้งานมากขึ้น” นางกมลภัทร กล่าว
Source: กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์