True ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1 มีกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) และอัตราทำกำไร ณ ระดับ EBITDA เติบโตเพิ่มขึ้น และรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงชะลอตัว
True Move ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านๆ มา True Online และ True Visions ยังคงเติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมาแม้จะเป็นอัตราที่ช้าลง นอกจากนี้ ความสำเร็จจากการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม (Recapitalization) และการออกหุ้นกู้ (Baht Bond Issue) ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มทรูสามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจได้ดีขึ้น ทั้งนี้ทรูมีรายได้จากการให้บริการโดยรวม (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็น 13.2 พันล้านบาท ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและ ค่า IC สุทธิที่ลดลง ทำให้ทั้ง EBITDA และอัตราทำกำไร ณ ระดับ EBITDA ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดย EBITDA เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 14.3 เป็น 5.2 พันล้านบาท ส่วนอัตราทำกำไร ณ ระดับ EBITDA เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.0 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นร้อยละ 37.7
“ผลประกอบการของทรูในไตรมาสที่ 1 ถือว่าน่าพอใจ เนื่องจากตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา กลุ่มทรูประสบความสำเร็จทั้งการเพิ่มรายได้ ควบคุมค่าใช้จ่าย และการลดรายจ่ายในส่วนของค่า IC สุทธิ ส่งผลให้ EBITDA ในไตรมาสนี้ใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นไตรมาสที่กลุ่มทรูมี EBITDA ดีที่สุดเท่าที่ผ่านมา นอกจากนี้ กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์คืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยแพ็คเกจผลิตภัณฑ์ร่วมกับบริการต่างๆ ใน กลุ่มทรู ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายฐานผู้ใช้บริการ ทั้งทรูวิชั่นส์และผู้ใช้บริการแบบรายเดือนของ ทรูมูฟในไตรมาสนี้ ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทายในปัจจุบัน” – ศุภชัย เจียรวนนท์
กำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ (NIOGO) ในไตรมาสนี้ อยู่ในระดับเดียวกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ ผ่านมา ที่ 227 ล้านบาท ทั้งนี้ทรูมีผลขาดทุนสุทธิจำนวนทั้งสิ้น 360 ล้านบาท รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 379 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง จากการเปลี่ยนเงินกู้ต่างประเทศเป็นเงินบาท ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นไตรมาส (Mark to Market) ทำให้ทรูมีผลประกอบการลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งมีกำไรสุทธิ 3.4 พันล้านบาท รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 2.5 พันล้านบาท
True Move
ผลการดำเนินงานดีขึ้นต่อเนื่องจากกลางปีที่ผ่านมา โดยมีรายได้จากการให้บริการ ไม่รวมค่า IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เทียบกับไตรมาสก่อน เป็น 5.9 พันล้านบาท และ EBITDA เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38.1 เป็น 1.9 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากรายได้ที่ดีขึ้น และค่า IC สุทธิที่ลดลง รวมทั้งเป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ส่วนรายได้จากบริการที่ไม่ใช่เสียง (Non-voice) เติบโต ทั้งจากไตรมาสก่อนหน้าและไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา ในอัตราร้อยละ 6.0 และ 17.1 ตามลำดับ ส่วนใหญ่จากบริการส่งข้อความ (SMS) และคอนเทนท์ ขณะเดียวกัน ทรูมูฟยังคงครองส่วนแบ่งตลาดผู้ใช้บริการรายใหม่ประมาณ 1 ใน 3 โดยมีผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 250,000 ราย เป็น 15 ล้านรายนอกจากนั้นจำนวนผู้ใช้บริการแบบรายเดือนยังคงเติบโตต่อเนื่องประมาณ 112,000 ราย ทำให้ทรูมูฟมีผู้ใช้บริการแบบรายเดือนมากกว่า 1 ล้านราย
True Online
มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็น 6.6 พันล้านบาท จากธุรกิจบรอดแบนด์ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 11.8 เป็น 1.3 พันล้านบาท โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง เป็นประมาณ 641,000 ราย ในขณะเดียวกันจำนวนผู้ใช้ พรีเมี่ยมแพ็กเกจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการหนึ่งรายเพิ่มขึ้น อีกทั้งการขยายการให้บริการไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดสำคัญๆ จะมีส่วนรักษาอัตราการเติบโตของธุรกิจบรอดแบนด์ให้ดำเนินไปได้อย่างมั่นคง นอกจากนั้น รายได้จากบริการใหม่ๆ เช่น บริการโทรทางไกลระหว่างประเทศ (IDD) ยังช่วยเพิ่มรายได้ของทรูออนไลน์ได้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม รายได้ของทรูออนไลน์ลดลงในอัตราร้อยละ 2.7 จากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อรายได้บริการด้านเสียง เช่น โทรศัพท์พื้นฐาน และ WE PCT
True Visions
True Visions ประสบความสำเร็จในการขยายบริการสู่ตลาดกลาง-ล่างอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ประมาณ 111,000 ราย เป็น 1.58 ล้านราย นอกจากนี้ สัดส่วนผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนมาใช้แพ็คเกจที่มีราคาสูงขึ้น เพิ่มเป็นร้อยละ 34 จากร้อยละ 30 ในไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งนี้ทรูวิชั่นส์มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว ร้อยละ 4.8 เป็น 2.4 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น
“สถานะทางการเงินของกลุ่ม ทรูมีความมั่นคงมากขึ้น ภายหลังการเพิ่มทุนและการออกหุ้นกู้สกุลเงินบาท ทำให้ปัจจุบัน ทรูมีกระแสเงินสดในบัญชีกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท อีกทั้งการปรับเปลี่ยนการชำระหนี้ ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน จะช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงินของบริษัท ปัจจัยเหล่านี้ทำให้กลุ่มทรูสามารถรองรับ เหตุการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ทรู ยังคงควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวดต่อไป” – นพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน
ทรูดำเนินนโยบายในการลดภาระหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสนี้ มีการชำระคืนหนี้จำนวน 1.4 พันล้านบาท ทำให้ปัจจุบันอัตราส่วนหนี้ต่อ EBITDA สุทธิ เป็น 3.0 เท่า ลดลงจาก 3.8 เท่าในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้น ภายหลังการเพิ่มทุน ประกอบกับ EBITDA ปรับตัวสูงขึ้น