[PR] จัดงานอย่างไรให้โดนใจนักข่าว

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Meeting Room 2

แอบส่วนตัวนิดนึง (555)

ตลอดชีวิตการทำข่าว ถ้านั่งนับกันจริงจังผมว่าผมเคยผ่านงานสัมมนา ประชาสัมพันธ์ เปิดตัวสินค้า แถลงข่าว ประท้วง ฯลฯ น่าจะถึง 200 ได้แล้วครับ แน่นอนว่ามีงานที่เราประทับใจและไม่ประทับใจ มีพีอาร์ที่เราชื่นชอบและพีอาร์ที่เราทำหน้าเหม็นเบื่อทันทีที่ต้องไปงาน อะไรคือจุดร่วมของงานที่เราประทับใจและอะไรคือจุดร่วมของงานที่เราแสนเบื่อหน่าย วันนี้ The Next Web มีคำตอบมาให้ว่าอะไรและสิ่งไหนที่พีอาร์ควรเตรียมให้นักข่าวหากอยากให้เขาประทับใจคุณ จะเป็นซองขาวหรือไม่ (ค่ารถนะคะ ไม่ต้องเกรงใจค่ะ) หรือจะเป็นเลี้ยงอาหารเที่ยงหรูหรา (ไม่ทานเหรอคะ? เราจองโต๊ะไว้ให้แล้วนะค่ะ) เรามาลองอ่านกันดูดีกว่าครับ :)

หมายกำหนดการ

“เราขอเชิญคุณไปงานนี่ๆ นะคะ ผู้บริหารมาเองเลยค่ะ ท่านไม่เคยเปิดตัวเลยนะคะ สำคัญมากค่ะ มาให้ได้นะคะ” (เสียงสูงกว่าปกติหนึ่งออคเตจ)

“ขอหมายกำหนดการหน่อยได้ไหมครับ”

“…เออ เรายังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ค่ะ เลยยังไม่มีหมายที่ตายตัว” (เสียงสูงกว่าปกติหนึ่งออคเตจ)

“…”

อันที่จริงเราเข้าใจพีอาร์ร้อยเปอร์เซนต์ว่าการทำงานที่ต้องรับมือทั้งศึกนอกศึกในนั้นเป็นอย่างไร แต่ก็ต้องขอให้เห็นใจนักข่าวสักนิดนึงเช่นกันเนื่องจากหากนักข่าวยอมออกไปหมายที่คุณเชื้อเชิญแล้ว นั้นหมายความว่าเราต้อง “ได้ข่าว” หากไม่ได้ล่ะ? ก็เตรียมกลับมาหาคำอธิบายให้กับบก.เลยว่าคุณไปทำเบื๊อกอะไรตลอดทั้งบ่าย สรุปว่าการเชิญนักข่าวคนใดคนหนึ่งไม่ใช่การ “เชิญๆ ไป ถ้าเขาโอเคเขาก็มาเองแหละ” แต่คุณควรคัดก่อนว่างานที่คุณจัดนักข่าวคนนั้นๆ สายนั้นๆ เหมาะสมหรือไม่ หากไม่ก็อย่าเชิญมาให้เขาโดนเล่นงานดีกว่า จำไว้ว่าสิ่งที่นักข่าวต้องการมากที่สุดคือหมายกำหนดการที่ละเอียดและตรงไปตรงมาครับ

Wi-Fi แยกเฉพาะที่ใช้งานได้ดี

เอาไปทำไม? เล่นเกมเหรอ? แชท Facebook เหรอ? เปล่าครับ เราต้องส่งข่าวให้ทันเวลาและต้องช่วงชิงความได้เปรียบเหนือสำนักข่าวอื่นๆ นี่ครับ ที่เห็นนั่งหน้าแช่มมองกันไปมองกันมาเนี่ย มองไปใต้โต๊ะมือนี่กดสมาร์ทโฟนเป็นระวิงกันทั้งนั้นแหละครับ ดังนั้นแค่สัญญาณเน็ตคุณสะอึกไปสัก 10 นาที พวกนักข่าว (โดยเฉพาะสายไอที) ก็แทบอยากจะกรีดร้องออกมาเป็นภาษาสันสกฤตแล้วล่ะครับ

ปลั๊กเสียบไฟ

ตามประสบการณ์ผม ปลั๊กไฟเป็นเรื่องง่ายๆ แต่พีอาร์ร้อยล่ะ 80 ลืมเรื่องนี้ประจำครับ ถ้างานอีเวนท์ของคุณมีความยาวมากกว่า 90 นาที แบตหมดแล้วครับ อันนี้ยิ่งหนักกว่าไม่มีเน็ตเพราะพิมพ์งานไม่ได้และต้องไปหาที่ชาร์จไกลๆ ตรงจุดที่ไม่มีที่นั่ง แล้วคิดดูว่าตามงานเลี้ยงโรงแรมหรูหรา คุณเห็นชายนั่งกับพื้น หัวยุ่งหน้าเคร่งเครียด แขกผู้มีเกียรติก็จะตื่นเต้นให้เราอายอีก โอ้ว แค่สายพ่วงอันเดียว ช่วยชีวิตนักข่าวมานักต่อนักแล้วครับ

ที่นั่งที่เหมาะสม

การจัดที่นั่งให้นักข่าวนี่เป็นศิลปะชั้นสูงของพีอาร์ ส่วนตัวผมจะประเมินว่าพีอาร์คนนี้เก่งไม่เก่งก็ด้วยการจัดที่นั่ง อันนี้เราละไว้ว่าพีอาร์คนนั้นไม่รู้เรื่อง insight อารมณ์ว่านักข่าวคนนั้นไม่ถูกกับคนนี้ ยายนี่ไม่กินเส้นกับยายนั้น การจัดที่นั่งก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี หากงานของคุณเป็นสัมมนา เป็นไปได้คุณจัดให้นักข่าวนั่งห่างจากลำโพงเล็กน้อยเพราะพวกเขาต้องอัดเสียงงาน นั่งใกล้มากหูแตก นั่งไกลมากก็ต้องเดินมาวางเครื่องอัดที่ลำโพงไกล หากเป็นงานแถลงข่าวก็จัดไว้หน้าๆ เพราะส่วนมากนักข่าวต้องถามคำถามและบางคนยังต้องถ่ายรูปอีกด้วย สรุปว่าอย่างที่บอกแหละครับ การจัดที่นั่งนี่เป็นศิลปะชั้นสูงของพีอาร์ทีเดียว

สัญญา

ในความเห็นผมนะครับ นักข่าวไม่ได้ต้องการซองค่าเดินทาง ไม่ได้อยากกินข้าวฟรี ไม่ได้อยากได้ของที่ระทึก เอ๊ย ระลึกราคาแพง แต่เราต้องการให้คุณช่วยทำให้งานของเราเสร็จให้ง่ายที่สุดและเร็วที่สุดครับ เช่น ถ้างานคุณจัดงานไกลและเสี่ยงต่อการที่เราจะเดินทางไปไม่ทัน นัดแนะให้เราไปขึ้นรถตามจุดที่คุณกำหนดก็ได้ครับ นอกจากจะเป็นการการันตีว่านักข่าวจะมาแน่ยังเป็นการช่วยเซฟค่าใช้จ่ายของเราอีกด้วย ที่สำคัญที่สุด อะไรที่พีอาร์สัญญาไว้ว่าจะจัดเตรียมให้เช่น รูปภาพ หนังสือ เอกสาร สิ่งต่างๆ เหล่านั้นล้วนคือความเป็นความตายของนักข่าวเลยครับ (จากประสบการณ์ ร้อยละ 90 ของพีอาร์มักไม่ส่งรูปภาพให้เราหลังเสร็จงานแล้ว ต้องให้โทรตาม 2-3 รอบ) การที่พีอาร์คิดว่าไม่เป็นไรและส่งสิ่งเหล่านั้นให้ช้าสักครึ่งชั่วโมงหรือไม่ส่งเลย หัวหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์เขาปิดข่าวไปแล้วครับ เราก็โดนบก. ด่ากระจุยไปเรียบร้อยแล้ว ถึงตอนนั้นสิ่งที่คุณส่งมาก็ไม่มีค่าอีกต่อไปแล้วครับและเราก็ยังโกรธคุณไปอีกนานแสนนานอีกด้วย

เป็นบทความดัดแปลงจาก The Next Web ครับ

Source


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง