เรารู้ โลกก็รู้! ออนไลน์อย่างปลอดภัย…ออนไหนๆก็ปลอดทาง

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Screen Shot 2557-11-12 at 3.18.52 PM

อินเทอร์เน็ต ก็เปรียบเสมือนกับ… ‘บ้าน’

หากเราไม่ล็อคประตูให้ดี ทุกอย่างภายในบ้านคงจะไม่ปลอดภัย แต่เมื่อไหร่ที่เราทำการใส่กลอนล็อคประตูอย่างมิดชิด ทุกสิ่งภายในบ้านก็จะปลอดภัยหายห่วง ไร้มือดีและหัวขโมยทั้งหลายที่คอยจับจ้องจะแย่งชิง และสวมรอยของของเรา โลกออนไลน์ในทุกวันนี้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสร้างสรรค์มากขึ้น จึงทำให้ใครหลายคนอดสนุกสนานเฮฮาปาจิงโกะกันอย่างสุดเหวี่ยงไม่ได้ ในคราวเดียวกัน, ความไฉไลเหล่านี้ก็ทำให้เราเสียวสันหลังวูบวาบ เพราะผู้ไม่ประสงค์ดีก็พัฒนาตัวเองตามยุคสมัยที่ผันผ่านไปเช่นกัน การขโมยข้อมูลส่วนตัว ทั้งรหัสผ่าน ข้อมูลลับ ภาพลับ หรือข้อมูลทางธุรกรรมต่างๆ จึงทำได้ง่ายเหมือนจิ้มหลอดดูดยังไงยังงั้น

Google แลเห็นถึงความสำคัญอันใหญ่หลวงของอาการเสียวสันหลังวาบนี้ ความปลอดภัยบนโลกออนไลน์คือสิ่งที่ Google ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกแก่เหล่าผู้ชอบลอยละล่องบนอินเทอร์เน็ตทั้งหลาย หากเราท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย…ไม่ว่าจะออนแอพฯไหน ออนเว็บฯไหน หรือแม้แต่ออนที่ไหน ก็รับรองได้ว่าวายร้ายหลังแป้นคีย์บอร์ดจะไม่มีทางทำร้ายเราได้อย่างแน่!

 

8-ครบ-ไม่ซ้ำ

ว่ากันว่า, การตั้งรหัสผ่านส่วนตัว คือการล็อคกลอนประตูด่านแรกที่ทำได้ง่ายและดีที่สุด เทคนิค ‘8-ครบ-ไม่ซ้ำ’ คือการตั้งรหัสผ่านให้ครบ ‘8’ ตัวหรือมากกว่า เพราะจะทำให้เหล่าวายร้ายมีเปอร์เซ็นต์ความน่าจะเป็นไปไม่ได้ในการคาดเดาที่สูง และความ ‘ครบ’ ถ้วนของรหัสผ่าน ที่ต้องมีทั้งอักษร, ตัวเลข, และสัญลักษณ์ อยู่ในรหัสแปดหลักนั้นๆ มีตัวใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ก็จะยิ่งเพิ่มเกราะกำบังที่แน่นหนาให้กับเรา และที่สำคัญ…หากเรามีแอคเคาท์หลายที่ ก็พยายามอย่าใช้รหัสผ่านอันเดียว ‘ซ้ำ’ กันหมดทุกแอคเคาท์ มิเช่นนั้น, วายร้ายทั้งหลายก็จะเข้ารหัสของเราได้หมดทุกแอคเคาท์แบบชนิดครบกระบวนท่าเลยล่ะครับ เทคนิคการตั้งรหัสผ่านนี้อาจยกตัวอย่างเช่น ‘L1v3rPool’ / ‘M@nUn1TED’ / หรือ ‘G@@gLE33’ เป็นต้น

หลีกเลี่ยงการถูกออน ‘ลวง’ (หลอก)

จำไว้เสมอครับว่า URL เว็บไซต์ที่ปลอดภัยจริงๆไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อปุถุชนอย่างพวกเรานั้น จะต้องไม่มีการใช้ตัวอักษรประหลาดๆ หรือแหวกคำไม่เหมือนใคร อาทิ ‘Bankfirst.com’ กับ ‘Bankf1rst.com’ และทุกครั้งคำว่า https:// จะต้องมีตัว ’s’ ต่อท้าย http เสมอ เพราะมันย่อมาจากคำว่า Security นั่นเอง นอกจากนั้นอีเมล์ที่ส่งหาเราเกี่ยวกับการทำธุรกรรม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลแอคเคาท์ต่างๆของเรา จะต้องส่งมาโดยจ่าถึงชื่อเราโดยตรง จะไม่มีการขอ Username/Password หรือกรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อทำการยืนยันใดๆทั้งสิ้น เพราะหากเป็นเช่นนั้น, เหล่าวายร้ายก็จะได้รหัสส่วนตัว หรือข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้สอยต่ออย่างเจ้าสำราญไงล่ะครับ

ตั้ง ‘ฆ่า’ ให้เป็น

หากอยากปัดรังควานเหล่าวายร้าย และฆ่าให้ตายจนอยู่หมัด เราก็ต้องรู้จักวิธีการตั้งค่าระบบป้องกันต่างๆอย่างถูกต้อง อาทิ โหมดความปลอดภัยจากบราวเซอร์ Google Chrome ที่หมั่นอัพเดทระบบป้องกันให้เราแบบอัตโนมัติ ตั้งค่าระบบป้องกันส่วนตัวในสมาร์ทโฟนของเราเอง หรือแม้แต่โหมดความปลอดภัยบน YouTube ที่ทำการกรองข้อมูลวิดีโอที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่หรือที่จำกัดช่วงอายุของผู้ชม ทั้งหมดทั้งมวลสามารถดูรายละเอียดการป้องกันในแบบต่างๆ รวมถึงวิธีการตั้งค่าได้ที่เว็บไซต์ Good to Know (นานาน่ารู้) ของ Google

โพสแชร์มากหลาย…คิดให้มากตาม

เข้าใจว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งการแบ่งปันข้อมูล อิสรเสรีภาพทางรสนิยม แต่ทุกครั้งที่เราจะทำการ ช็อต แชะ โพส แชร์ ก็ต้องคิดให้จงหนัก และคิดให้ดีก่อนจะกระจายมันไปยังสายตาของชาวบ้านครับ เพราะทุกครั้งที่เราโพสหรือแชร์อะไรก็ตาม นั่นหมายถึง 3 อันตรายที่ตามหลังมาติดๆ คือ Forwarded (แพร่หลาย) / Copied (ดัดแปลงและใช้ซ้ำในทางที่ไม่ดี) / Found (ประจานสู่สายตาชาวโลก) หากใครประสงค์ดีก็ถือว่าดีไป แต่เหล่าผู้มีจิตประสงค์ร้ายเนี่ยซิ…อาจใช้วิธีการนี้ อันนำมาซึ่งความเดือดร้อนให้กับตัวเราเองได้

ป้องกันทุกที ปลอดภัยทุกที่

ไม่ว่าเราจะไปออนไลน์ที่ไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือความรอบคอบและความปลอดภัย หากเราต้องไปใช้เครื่องที่ไม่ใช่เครื่องส่วนตัวของเรา ปิดหน้าต่างอย่างเดียวคงไม่พอ เราจำเป็นต้อง Log Out ออกจากแอคเคาท์นั้นๆด้วยครับ มิเช่นนั้น, อาจมีมือดีมาสวมรอยเอาได้ หรือใช้ระบบการป้องกันที่ Google คิดค้นมาให้ ‘การเข้าเว็บไซต์แบบไร้ตัวตน’ 3 อาวุธที่เราจะได้จากระบบนี้คือ 1. ไม่มีการทิ้งร่องรอยของเราบนโลกออนไลน์ 2. ไม่หลงเหลือข้อมูลการเข้าใช้ การ search ของเราเลยแม้แต่เสี้ยวเดียว 3. ไม่มีการบันทึกเอาไว้ใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพื่อความชัวร์ว่าจะไม่มีใครหน้าไหนสามารถมาล้วงข้อมูล ความลับ หรือรสนิยมส่วนตัวของเราได้ นอกจากนี้ Google ยังมีระบบการตรวจสัญญาณของสมาร์ทโฟนในเวลาที่เราโดนล้วง หรือทำหายได้ โดยเราสามารถเลือกได้ว่าจะจัดการกับเจ้าสมาร์ทโฟนที่ลอยละล่องอย่างไร มีให้เลือกถึง 3 วิธีด้วยกัน ส่งเสียง!…เรียกเข้าให้เราได้ยิน / ล็อค!…ข้อมูลทั้งหมดเอาไว้ / ลบ!…ข้อมูลทั้งหมดให้หายไปจากเครื่อง ซึ่งทุกวิธีนั้นก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูลส่วนตัวของเรานั่นเอง จะเลือกใช้วิธีไหน…ก็ขึ้นอยู่กับระดับอานุภาพการหายไปของสมาร์ทโฟนเรานั่นเองครับ

แค่เราพก 5 เคล็ดลับนี้ติดตัวไว้เสมอ ไม่ว่าอย่างไรเสีย…โลกออนไลน์ก็ไม่มีวันที่จะทำร้ายเราได้อย่างแน่นอน

จนถึงตอนนี้ Google ก็ยังคงอยู่เคียงข้างพวกเรามาโดยตลอด และใส่ใจดูแลผู้ใช้อย่างเสมอมา เห็นจริงดังคำกล่าวของ Google ที่ว่า… “ปกป้องคุณ มอบความปลอดภัย และใช้ได้ง่ายๆ”

ค้นดูเคล็ดลับและแหล่งที่มาต่างๆ ที่ช่วยให้คุณออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยได้ที่: Google Good to Know (Google นานาน่ารู้)


  •  
  •  
  •  
  •  
  •