26 วาจา! ที่อย่าได้ลั่นใส่หัวหน้าของคุณ

  • 1.2K
  •  
  •  
  •  
  •  

ConnectNigeria_SayWhatYouMean

ว่ากันว่า, ‘ปาก’ ก็คือ ‘ปืน’ และ ‘คำพูด’ ก็เปรียบเสมือนกับ ‘ลูกปืน’

ทุกครั้งที่เราพูดจึงเหมือนกับการยิงปืน หากเรายิงปืนขึ้นฟ้าก็จะไม่เป็นการทำร้ายใครให้บาดเจ็บ แต่หากเราเล็งไม่ดี ลูกกระสุนอาจพลัดไปโดนคนอื่นจนได้รับความบาดเจ็บได้ ในขณะเดียวกัน, ปืนนี่เอง ก็ยังสามารถใช้เพื่อปกป้องคนที่เรารัก และปกป้องตัวเราเองได้อีกเช่นกัน ก็คงไม่ต่างอะไรจากคำพูด ที่บางครั้งเราก็ใช้มันเพื่อปกป้องคนอื่น บางครั้งก็ใช้เพื่อปกป้องตัวเอง บางครั้งก็ใช้เพื่อทำร้ายคนอื่น และบางครั้ง…มันก็ทำร้ายเราได้ด้วยเช่นกัน

คำพูดที่ดีจึงมีความสำคัญอย่างมาก ถ้าเป็นการจีบสาว ผู้หญิงก็ตอบตกลงเป็นแฟนอย่างไม่ลังเลแม้แต่นิดเดียว ชนิดที่ว่าพูดคำเดียวตีหัวเข้าบ้านได้เลย แต่หากเป็นเรื่องการทำงาน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่เราต้องจีบ คือหัวหน้าของเรานั่นเอง เพราะหัวหน้าคือคนที่เราต้องท่องไว้เสมอว่า “เขาคือกระเพาะชิ้นที่ 33 ของเรา!” การพูดจาดีใส่หัวหน้า จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก ใครๆก็สามารถทำได้ ไม่เว้นแม้แม่บ้าน หรือ พี่รปภ. เองก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่ใครหลายคนอาจเผลอไผลลืมตัวไป คือการเลี่ยงคำพูดบางคำพูดขณะคุยกับหัวหน้า เพราะบางครั้งเราก็สักแต่พูดมันออกไปจึงไม่ทันได้ยั้งไม้ยั้งปาก และคำพูดเหล่านั้นก็อาจย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเอง นี่คือ 28 คำพูดที่เราไม่ควรพูดเวลาคุยกับหัวหน้า มิเช่นนั้น, ปรับเงินดงปรับเงินเดือนที…อาจต้องรอจนลูกแก่เลยทีเดียว

 

“ทำไม่ได้ครับพี่!”

ความจริงสะอาดและงดงามเสมอ…แต่ทำ ‘ได้’ ‘ไม่ได้’ ก็บอกเขาไปก่อนว่าเราทำได้! เชื่อเถอะครับว่าไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า-หัวหลัง คนไหน ต่างก็อยากได้ยินลูกน้องของตัวเองบอกว่า ‘ทำได้’ ทั้งนั้น การบอกว่าเรา ‘ทำได้’ (ทั้งที่ความเป็นจริงอาจกำลังอึ้งกิมกี่อยู่ก็ตาม) แสดงให้เห็นว่าเรามีศักยภาพที่เต็มเปี่ยม และพร้อมที่จะเรียนรู้ไม่ว่าจะยากเย็นแค่ไหน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจและความไว้วางใจของหัวหน้าที่มีต่อเรา ในขณะเดียวกัน, คำว่า ‘ทำไม่ได้’ แสดงให้เห็นถึงการขาดความมั่นใจ และการไม่มีความพยายามเอาเสียเลย ไม่ว่ายังไงก็ตอบว่า ‘ทำได้’ ครับ หรือหากอยากเลี่ยงบาลีสันสกฤตหน่อย แค่ ‘โอเคครับพี่!’ ก็ไม่ได้เสียหายแต่อย่างใด รับรองว่าเราจะกลายเป็นบุคคล ‘หมายมั่นปั้นมือ’ ของหัวหน้าขึ้นมาทันทีเชียวล่ะ จำไว้เสมอว่า…หัวใจที่ยอมแพ้ ก็เท่ากับแพ้ตั้งแต่เริ่ม

อย่าได้สบถ!

personal-development-career-potential-300x226

อย่าได้บังอาจสบถใส่บุคคลที่ป้อนเงินให้เราเป็นอันขาด เข้าใจว่าด้วยความสนิท อาจเป็นเหมือนพี่เหมือนน้อง เฮฮาสนุกกันได้ ถึงจะไม่ได้มีใครบัญญัติไว้ แต่ก็อย่าเผลอไผลพูดออกไปเชียวล่ะ นานวันเข้ามันอาจแสดงถึงการไม่รู้กาลเทศะ และไม่รู้จักความเคารพของเราได้ เก็บไว้พูดกับเพื่อน แฟน ผัว หรือเมีย จะดีกว่าครับ…ถึงแม้จะเจ็บตัว แต่รับรองว่าไม่เจ็บกาย เจ็บใจอย่างแน่นอน!

“นี่มันไม่เกี่ยวกับผมครับ” หรือ “นี่ไม่ใช่งานของผมครับ”

ท่องไว้เสมอว่าประการอันใหญ่หลวงที่หัวหน้าเราจ้างเราทำงานก็คือ…เพื่อทำให้ชีวิตของเขาง่ายขึ้น! จะเป็นหน้าที่ของเราหรือไม่ ไม่ว่าหัวหน้าจะฝากฝังงานอะไรมา ก็ต้องยอมจำนน…ศิโรราบแต่โดยดีครับ อย่ามาลีลาว่าอย่างนั้น อย่างนี้ ตอนเขียนใบสมัครมาให้เราเป็นครีเอทีฟคิดงานอยู่ในโลก อยู่ดีๆให้ออกนอกโลกไปขายงานลูกค้าเฉย บางครั้งการชกมวยที่ดีก็คือการบุกเข้าชน ไม่ใช่มวยติ๊ดชึ่ง! เด้งเชือกไปเรื่อย ถ้าเรามีประสิทธิภาพจริง ก็ต้องสามารถทำได้หลายๆอย่าง การบอกว่า ‘ไม่ใช่หน้าที่ของเรา’ แสดงให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัว ทีเงินเดือนที่เคยเรียกมาตอนสัมภาษณ์ ยังขอให้เขาปรับขึ้นได้ พอเวลาเขาขอให้เราทำงานนอกเหนือจาก Scope หน่อย…ทำมาเป็นเถรตรง!

“ไม่รู้ครับพี่!”

ไม่จำเป็นต้องตอบคำถามทุกคำถามก็ได้ บางครั้งการคาดเดาอย่างมีเหตุผล และรับปากว่าจะลองไปหาคำตอบที่ถูกต้องมาให้…ก็ยังจะดีกว่าตอบง่ายๆทึ่มๆว่า “ผมไม่รู้!” บางครั้งการตอบแบบนั้นอาจแสดงให้เห็นถึงคนที่ไม่รู้จักใช้ความคิด หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ชนชั้นกลวง’ นั่นเอง ใครจะตาบอดมืดมิดเท่ากับคนไม่อยากรู้…นั้นไม่มี! ครับ

“ไม่!”

“สมยอม, วันนี้คุณช่วยดูงานของบุญส่งหน่อยได้ไหม?” / “ไม่ครับ!”… จบเห่กันเลยทีเดียว บางครั้งถ้าเราไม่ว่างจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องตอบ ‘ไม่’ เสมอไป ยังมีวิธีตอบที่ชาญหลาดกว่านี้เป็นร้อยเท่า อาทิ “วันนี้จะดีกว่าถ้าให้ผมตั้งใจกับงานขายลูกค้าที่ต้องไปพรีเซนต์ในวันพรุ่งนี้…หัวหน้าว่าดีไหมครับ?” นี่สิครับถึงจะเรียกว่ารู้จักคิด รู้จักตอบ…อย่างหลักแหลม

“ผมจะลองดู”

หลายคนหลงคิดว่าการบอกว่าจะ ‘พยายาม’ เป็นคำตอบที่ดีและพอรับได้ แต่ในความเป็นจริงมันกลับทำให้หัวหน้าของเรารู้สึกถึงความไม่แน่ใจ และเผลอๆอาจรำลึกในใจด้วยว่า “ข้าพเจ้าจะจ้างมันมาทำไมว่ะเนี่ย!” ลองนึกดูซิครับว่าถ้าวันนึงเราถามหัวหน้าของเราว่า “พี่จะช่วยเซ็นเชคเบิกค่าน้ำมันให้ผม…ในการไปพบลูกค้าก่อนสิ้นเดือนนี้ได้ไหมครับ?” แล้วหัวหน้าคุณตอบว่า “ผมจะลองดูนะ!”… เราจะรู้สึกยังไงล่ะครับ ‘ลอง’ มาก ระวังลาภหายนะ

“เห็นเขาว่า…”

หลีกเลี่ยง ‘วงเล่า’ จำพวกซุบซิบนินทา…ตามประสาคนชอบสอดเรื่องชาวบ้าน ก็ดีครับ เวลาเห็นเหล่าสมาชิกพรรค ‘วงเล่า’ ตั้งกลุ่มเมาท์ทูเมาท์กันเมื่อไหร่ ก็พยายามอย่าให้ตัวเราลงไปนั่งคลุกคลีอยู่ในวงเหล่านั้น แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็รู้จักฟังหูไว้หู คิดเสมอว่าความจริงคืออะไร! เราไม่รู้หรอก ไม่ใช่เรื่องของเรา และที่สำคัญ! อย่าพยายามแสดงความคิดเห็นใดๆทั้งสิ้น ฟังและยิ้มรับอย่างเดียวเป็นดีครับ เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้จะทำให้หัวหน้ามองเราไม่เป็นมืออาชีพ และไม่มีความเป็นผู้ใหญ่พอที่จะตบเท้าก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งผู้นำได้

“แล้วผมจะได้อะไรจากการทำงานชิ้นนี้?”

จะเอาอะไรอีกล่ะครับ! ได้เงินเดือนทุกเดือนนี้ยังไม่พออีกหรือ การทำงานที่ดีไม่ใช่แค่คอยสอดส่องมองหาว่าจะได้อะไรเพิ่มบ้าง แต่เป็นการที่เรารู้ตัวเองดีว่าเราทำอะไร แล้วจะเกิดประโยชน์อย่างไรกับตัวเอง จำไว้ครับว่า…การได้รับที่แท้จริง ไม่ใช่การเรียกร้องถามจากคนอื่น แต่เป็นการที่เรารู้อยู่แก่ใจต่างหาก

“ผมขอโทษครับ, แต่ว่า…”

ขงจื๊อกล่าวเสมอว่า…จงพูดความจริง แม้มันจะนำพามาสู่ความตาย การหาข้ออ้างเพื่อเลี่ยงความผิด เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง หรือที่ภาษาบ้านๆเราพูดกันว่า ยังไงก็ไม่เนียน! บางครั้งการพูดความจริงยังจะดีเสียกว่า เพราะอย่างน้อยเราก็รู้จักเคารพและให้เกียรติต่อตนเอง แล้วนับภาษาอะไรที่คนอื่นจะไม่อยากเคารพและให้เกียรติเรา…ไม่เว้นแม้หัวหน้าของเราเอง

“ก็…ผมทำดีที่สุดแล้ว”

คำนี้คือการละทิ้งความรับผิดชอบอย่างหาที่สุดไม่ได้จริงๆ ถ้าเราทำผิดพลาด แล้วยังมีหน้ามาบอกเจ้านายว่าทำดีที่สุดแล้ว นั่นก็แลดูจะกระไรอยู่นะครับ คนเราผิดพลาดได้เสมอตราบที่ยังมีลมหายใจ หากรอบหน้าผิดพลาดประการใด ลองเปลี่ยนมาเป็นพูดว่า “คราวหน้าผมจะไม่พลาดอีกครับ” ยังจะดีเสียกว่า

“ผมจะ(ลา)ออก!”

อย่าพยายามขู่เข็ญบริษัทด้วยการปาวๆว่าจะลาออก เพราะมันช่างดูไม่เป็นมืออาชีพเอาเสียเลย นอกจากจะทำให้เราดูเป็นคนมีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีแล้ว ยังจะทำให้คนอื่นพิจารณาว่าเราเป็นตัวเสี่ยงภัยต่อบริษัทอีกด้วย อย่าให้ใครมาบอกว่า…เราเป็นคนมองโลกในแง่ ‘ร้าย’ ครับ

“ผมเพิ่งนึกขึ้นได้ว่า…”

ประโยคสั้นๆนี้อาจทำให้หัวหน้าหลายคนรู้สึกไม่อยากฝากฝังอะไรกับเรานัก เพราะมันเป็นการบ่งบอกถึงความไม่เอาใจใส่ และขาดความรับผิดชอบ ลองนึกเล่นๆดูครับว่า ถ้าหัวหน้าของเราไหว้วานให้เราไปรับลูกสาวที่โรงเรียนตอนสี่โมง แล้วเราก็ตบปากรับคำเป็นอย่างดี ปรากฏว่าตอนหกโมงเย็นเดินเข้าไปหาหัวหน้า แล้วยืนเกาหัวสไตล์เซอร์ๆเท่ๆนิดๆ พร้อมกับพูดว่า “ผมเพิ่งนึกขึ้นได้ครับว่า…” แล้วมันควรไหมล่ะครับ?

“ผมได้เคยลองพยายามแล้ว!”

เป็นเรื่องธรรมด๊า-ธรรมดาที่เราต้องทำใจครับว่าหัวหน้าทุกคนมีความเกียจคร้านแฝงอยู่ในจิตใจเสมอ บ่อยครั้งที่หัวหน้ามักจะเรียกให้เราช่วยไปคิดงานนู่นนี่ให้หน่อย และพอกลับมาหาเขาอีกครั้ง ก็มักจะมีไอเดียที่เขาอยากได้คิดไว้ในใจอยู่แล้ว จนหลายครั้งเราอดสงสัยไม่ได้ว่า “แล้วทำไมลูกพี่ไม่คิดเองตั้งแต่แรกฮะ!” ข่มใจเอาไว้ครับ แล้วเลือกที่จะพูดว่า “ผมว่าจะดีกว่าหากเราลองไอเดียอื่นที่น่าจะได้ผลมากกว่า” พร้อมรอยยิ้มโชว์ฟัน เผยริมฝีปาก แต่อย่าเผลอไผลแลบลิ้นออกไปล่ะครับ!

“แต่ที่ทำงานเก่าผม…เขาทำกันแบบนี้”

บางครั้งเราอาจจะเคยชินกับการทำงานในวิธีแบบ(ที่)เดิมๆ…ที่เราจากมา แต่ขอให้นึกเสมอครับว่าที่ใหม่ๆก็ต้องลองวิธีใหม่ๆ หรือถ้าเราเห็นว่าวิธีเดิมที่เคยทำมามันใช้ได้ผล ก็อธิบายให้หัวหน้าเข้าใจครับว่าวิธีนี้ทำอย่างไร แล้วมันได้ผลอย่างไร แทนที่จะมานั่งบอกว่าที่เก่าเราทำแบบไหน… ถ้าอยากใช้วิธีแบบเก่าจริงๆ ก็ต้องกลับไปอยู่กับที่เก่าๆเช่นกันครับ

“มันไม่ใช่ความผิดของผมจริงๆ มันเป็นความผิดของ…”

การโอนความผิดให้คนอื่น คือ การโยนของเสียเข้าตัวอย่างจัง! บ่อยครั้งที่ความผิดพลาดนั้นไม่ได้มาจากตัวเราจริงๆ แต่หนทางที่ดีที่สุดคือการออกตัวรับความผิดชอบนั้นๆ อาทิ “เดี๋ยวผมเอาไปแก้ไขให้” นอกจากจะทำให้หัวหน้ารู้ว่าไม่ใช่ความผิดของเราแล้ว ยังทำให้เขารู้สึกว่าเรามีศักยภาพในความเป็นผู้นำอีกด้วย มัวแต่โยนให้คนนู้น คนนี้ ระวังคนอื่นจะโยนมาให้เราบ้างนะครับ

“หัวหน้าคนก่อนทำได้ดีกว่านี้ครับ”

เชื่อว่าคนเป็นหัวหน้าทุกคนมีความเชื่อมั่นในแบบแผนของตนเอง มากกว่าเชื่อแบบแผนของคนก่อนๆเสมอ เพราะเขาคือผู้ที่ยืนอยู่บนแท่นตำแหน่งปัจจุบัน อย่าท้าทายหัวหน้าของคุณด้วยการเปรียบเทียบกับหัวหน้าคนเก่า เพียงแค่เพราะว่าวิธีแบบคนเก่าทำให้คุณสะดวกสบาย มอบความเชื่อมั่นให้หัวหน้าของเรา แล้วเขาจะมอบความเชื่อมั่นกลับมาให้เราเช่นกัน จะคนเก่า คนใหม่…แพ้ชนะก็วัดกันที่ผลลัพธ์ในปัจจุบัน ครับ

“ผมเบื่อ”

บ่อยครั้งที่เราเกิดอาการอ่อนล้า เพลีย และเบื่อหน่ายกับการถาโถมทำงานอย่างหนักตลอดสัปดาห์เต็มๆ เราจึงเลือกที่จะระบายความเครียดเหล่านั้นกับบุคคลที่ไม่ควรอย่างยิ่ง…หัวหน้า! สิ่งที่สำคัญที่ต้องระลึกไว้ก็คือเราถูกจ้างมาเพื่อทำงานให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด และเต็มเปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้นสนใจในการทำงาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราที่จะหาวิธีทำให้การทำงานของเราสนุกและน่าสนใจยิ่งขึ้น บ่นระบายกับหัวหน้ามากๆ ประเดี๋ยวหัวหน้าก็ขอระบาย(เรา)ออกบ้างหรอกครับ ทุกที่มีความสุข…ตราบที่เราพกมันไปด้วย

“ผมไม่สามารถทำงานกับเขา/เธอ ได้”

การเข้ากับเพื่อนๆที่โรงเรียนไม่ได้…นับไม่ใช่เรื่องที่ดีในการไปโรงเรียนนัก เช่นเดียวกันกับการทำงาน มันแสดงให้เห็นถึงการไม่มีประสิทธิภาพของเราเอง และยังแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของงานที่จะออกมาไม่ดีอีกด้วย ยิ่งเราทำงานร่วมกับใครได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการเสียบปลั๊กแห่งความสำเร็จหลายๆรูขึ้นอีกด้วย

“เขา/เธอนั้นงี่เง่า”

การต่อว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่นให้หัวหน้าฟัง ก็เหมือนเป็นการเล่าข้อเสียตัวเองให้หัวหน้าฟังเช่นกัน ยับยั้งชั่งใจไว้บ้างก็ดี หัวหน้าไม่ได้อยากรู้เรื่องของคนอื่นหรอกครับ เขาอยากรู้แค่ว่าตัวเราเองจะทำอะไรให้เขาได้มากแค่ไหน และเกิดประสิทธิภาพที่ดีที่สุดเท่านั้นเอง

“โฮ…แล้วทำไมไม่บอกผมก่อน!”

แค่คำอุทานเริ่มต้น ‘โฮ’ ก็เจ๊งแล้วครับ! ประโยคนี้สื่อให้เห็นถึงความแข็งกระด้างอันหยาบโลน บางครั้งจะดีกว่าถ้าหากเราจะรอเพื่อความชัวร์ หรืออันที่จริง…บุกเข้าไปหาหัวหน้าเลยก็ได้ คุยให้ขาด เอาให้ชัดๆกันไปเลย บางทีคนที่เป็นคนคุมชีวิตพนักงานหลายสิบคน กับคนคอยจ่ายเงินให้แต่ละองค์…ก็อาจจะหลงๆลืมๆไปบ้างครับ

“ก็ผมถามเขา/เธอ แล้ว”

การข้ามหน้าข้ามตาหัวหน้าของเราเอง ถือเป็นการละเมิดสิทธิคนจ่ายเงินเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้เรื่องบ้างเรื่องจะไม่ได้เกี่ยวกับหัวหน้าของเรา เป็นเรื่องของ HR โดยล้วนๆ แต่อย่าลืมว่าสุดท้ายแล้วก็หัวหน้านี่แหละ ที่เป็นคนตัดสินฟันธงทุกอย่าง ฉะนั้น, เวลาจะตัดสินใจอะไร ก็อย่าลืมนึกถึงหัวหน้าของเราด้วยครับ การเข้าไปคุยกับเขา หรือบอกเล่ารายงานให้เขาฟัง…ก็ไม่ได้เสียหายแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่ดีอีกด้วย ถือเป็นการให้เกียรติคนจ่ายเงินครับ

“ผมยังหาวิธีแก้ไขไม่ได้ครับ”

อย่าบอกหัวหน้าของคุณถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งๆที่เรายังหาทางออกไม่ได้ คนเป็นผู้นำที่ดีจะบอกถึงวิธีแก้ไข, ส่วนผู้ตามจะคอยพูดถึงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้น

อย่าทำนิสัยเด็กๆ ขี้อิจฉา…ขี้ฟ้อง(ร้อง)

“ทำไมคนนี้ได้อย่างนี้ ทำไมคนนี้มีแบบนี้…แต่ทำไมผม/ฉัน ไม่มี!” อย่าเอานิสัยเด็กๆระดับอนุบาลศึกษามาใช้กับหัวหน้าครับ เราเป็นสามัญชนรุ่นใหญ่แล้ว…ใจต้องนิ่งพอ เอาเวลาไปโฟกัสกับงานของเราจะดีกว่า ไม่ใช่เรื่องบ้าๆบอๆกับเงินเดือน หรือสิทธิพิเศษของชาวบ้าน เพราะนั่นแสดงให้เห็นถึงการไม่มีความเป็นผู้นำที่ดีพอของเรา และยังส่อให้เห็นถึงการไม่บรรลุนิติภาวะอีกด้วย ใครเขาจะอะไรก็ให้เขาไปครับ ไม่ใช่เรื่องของเรา อยู่นิ่งๆ และอย่าดิ้น ของๆเขา…ไม่ใช่ของๆเรา…อย่าไปอยากได้ของคนอื่นเขา

“ผมยุ่งมากเลย…รอได้ไหมครับ?”

ถ้าอย่างนั้นหัวหน้าก็จะบอกเราเช่นกันว่า “ผมยุ่งมากเลย…เงินเดือนจ่ายช้าหน่อย ช่วยรอได้ไหม?” อย่าให้ต้องเป็นแบบนั้นเลยครับ การบอกให้หัวหน้ารอในเรื่องมอบหมายงาน ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก ทางที่ดีที่สุดอย่าบอกให้เขารอ แต่จงบอกไปว่าเราจะทำสำเร็จได้เมื่อไหร่ พร้อมอธิบายเหตุผลที่ตรงไปตรงมาอย่างชัดเจนครับ โลกไม่ได้เร่งรีบอะไร…แต่รอได้จนกว่าจะเพอร์เฟ็ค

“ผมขอกลับไวหน่อยนะวันนี้…เพราะวันนี้ไม่มีงานอะไรให้ทำเลย”

ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่เราจะขอกลับเร็ว แต่อย่าบอกว่ามันเป็นเพราะเราไม่มีอะไรทำ ในการทำงานคำว่า ‘ไม่มีอะไรให้ทำ’ ไม่มีหรอกครับ ไม่อย่างนั้นเขาจะเรียกว่าทำงานหรือ? ยังมีโปรเจคงานอีกตั้งหลายชิ้นที่อาจยังไม่ถึงเวลา แต่ในเมื่อเราสะสางงานอื่นเสร็จแล้ว ก็หันไปเริ่มทำงานใหม่ได้ทันที เชื่อเถอะครับว่าหัวหน้าทุกคนชอบลูกน้องที่ทำงานเสร็จไว และมีความกระตือรือร้นในการที่จะสะสางงานใหม่ในทันที ไม่ใช่…กลับไวในทันที

“มันเป็นไปไม่ได้ครับพี่!”

บทเพลงๆนึงจากวงดนตรีรุ่นเก๋ายุค 70’s อันโด่งดัง วง ‘ดิอิมพอสซิเบิ้ล’ ที่เคยฝากฝังเพลงอันเลื่องชื่อไว้กับคนไทยชื่อว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ คำนี้ในแง่ของความรักก็ซาบซึ้งดีอยู่หรอก แต่หากเป็นเรื่องการทำงานแล้วล่ะก็…ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ครับ แน่นอนว่าหัวหน้าทุกคนอยากได้ยินแต่คำว่า ‘เป็นไปได้’ ‘ทำได้’ และ ‘สำเร็จแน่!’ หลีกเลี่ยงไว้บ้างก็ดี เป็นไปได้-เป็นไปไม่ได้ เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะ ถ้าหากยังไม่เคยได้ลองทำมันอย่างตั้งใจจริง

ปุถุชนทั้งหลายก็เปรียบเสมือนคนตาบอดเดินทางอยู่ในโลก…มีคุณธรรมเป็นไม้เท้า, ปุถุชนที่ทิ้งคุณธรรม ก็เหมือนกับคนตาบอดที่ทิ้งไม้เท้าเสีย…จะต้องลำบากในการดำเนินชีวิตสักเพียงใด?

แหล่งที่มา


  • 1.2K
  •  
  •  
  •  
  •