5 ผลกระทบที่ Facebook มีกับชีวิตคุณ

  • 85
  •  
  •  
  •  
  •  

facebook-icon

 

ถึงวันนี้ โซเชียลมีเดียดัง Facebook ก็ยืนยงอยู่คู่โลกมาแล้วกว่า 10 ปีด้วยยอดผู้ใช้กว่า 1.2 พันล้านคนทั่วโลก ไม่ต้องสงสัยอีกแล้วว่า Facebook ส่งผลกระบทมหาศาลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเรา โอกาสนี้ CNN เลยอยากทบทวนให้เราดูว่า Facebook เปลี่ยนแปลงหรือส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคดิจิตอลอย่างไรบ้าง เชิญติดตามทั้ง 5 ข้อครับ

 

1. แชร์! แชร์! แชร์!

ข้อดี: คุณสามารถบอกกล่าวชีวิตของคุณให้พ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูง รวมถึงญาติโกโหติกาทุกชีวิตที่แอดเป็นเพื่อนคุณ แม้สมัยก่อนเราจะสามารถสื่อสารและบอกกล่าวข่าวสารได้อย่างปกติ แต่โซเชียลมีเดียทำให้เราสามารถแชร์ข้อมูลได้อย่างทั่วถึงและครบถ้วนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

 

ข้อเสีย: แชร์เยอะเกิน! แชร์เยอะเกิน! แชร์เยอะเกิน!

เอาแบบจริงๆ นะ แม้จะเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้วที่เรามีโซเชียลมีเดียใช้แต่ถามว่าเราเข้าใจพ่อแม่พี่น้องหรือเพื่อนของเรามากขึ้นแค่ไหน คำตอบคือไม่มากเท่าไหร่ นอกจากนั้น บางทีการแชร์ข้อมูลยังสร้างศัตรูหรือทำให้เพื่อนๆ ของคุณตีความโพสต์ไปเอง โกรธเอง และอันเฟรนด์เอง (กรณีการเมืองช่วงนี้น่าจะเห็นได้ชัด) เป็นกระบวนการ “ฟินเอง” ที่เราไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวแม้แต่น้อย สุดท้ายเราก็เสียเพื่อนหรือญาติไปโดยไม่รู้ตัว

 

นอกจากนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าโพสต์บางโพสต์ก็น่ารำคาญเกิ๊น เช่น แชร์ภาพอาหาร แชร์ภาพหมาหมีหมูแมวทั้งหลาย มันอาจน่ารักสำหรับคุณแต่เมื่อโพสต์ทะลักเข้ามาไปในเพจคนอื่น เขาอาจจะไม่เอ็นดูมันเท่าไหร่หรอกครับ

 

2. อดีตไม่กลายเป็นอดีตอีกต่อไป

ข้อดี: จำนวนผู้ใช้ที่มากกว่า 1.2 พันล้านคนทำให้คุณเริ่มสามารถตามหาคนที่อยากตามบนโลก Facebook ได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นคุณอาจตามหาเพื่อนเก่าที่ย้ายบ้านไปตอนเด็กและจัดรียูเนียนกันได้ หรือตามหาญาติมิตรที่ไม่ได้ติดต่อกันไปนาน

 

ข้อเสีย: แต่บางครั้ง การทิ้งอดีตไว้เบื้องหลังก็ไม่ใช่สิ่งแย่นัก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเพื่อนสมัยเรียนของคุณบางคนก็ไม่น่าคบหา ขณะที่ญาติๆ บางคนก็ชอบนินทาและสอดรู้สอดเห็นเรื่องส่วนตัวนัก มีแฟนหรือยัง เรียนจบปีไหน จะแต่งงานเมื่อไหร่ ทำไมเงินเดือนน้อยจัง โว้ย! และที่เราจะเห็นผลกระทบได้อย่างชัดเจนคือแอคเคาท์ของแฟนเก่าที่ไปปรากฏบนหน้าเพจของแฟนใหม่ งานนี้ Facebook แตก ฮ่าฮ่า ผลวิจัยจากสหรัฐระบุว่า ผู้ใช้กว่า 80% สารภาพว่าเจอแฟนเก่าบน Facebook หลังจากหย่าร้างกันไปแล้ว ซึ่งก็ไม่ต้องถามว่าอะไรจะเกิดตามมา…

 

3. มันทำให้ฉันมีความสุข

ข้อดี: ในปี 2009 การทดลองของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทกซัสซึ่งทำการทดลองกับนักเรียนกว่า 2.6 พันคนพบว่า ผู้ใช้ Facebook ส่วนใหญ่จะพึงพอใจกับชีวิตและจะเชื่อมต่อตัวเองกับสังคมและการเมืองได้ง่ายกว่า ในทางเดียวกัน การศึกษาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซินพบว่า ผู้ใช้จะมีความภูมิใจในตัวเองสูงขึ้นหลังจากจ้องมองรูปโปรไฟล์ของตัวเองเป็นเวลา 5 นาที

 

ข้อเสีย: แต่บางทีมันก็ทำให้คุณเป็นทุกข์
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่า ภาพที่เพื่อนหรือญาติๆ โพสต์เกี่ยวกับตัวเราอาจทำให้เราเศร้าเวลาเห็น เพราะบางครั้งเป็นภาพตลกล้อเลียนหรือภาพที่เราดูแย่สุดๆ โดยนักวิจัยระบุว่าการเล่น Facebook บางครั้งก็อาจทำให้คุณถูกข้อมูลมากมายถล่ม เกิดภาวะซึมเศร้าอันเกิดจากการเสพสื่อมากเกินไป

 

4. ทุกวันเหมือนเป็นวันรวมญาติ

ข้อดี: การติดต่อกับเพื่อนที่ไม่พบหน้ากันมา 10 ปีเป็นเรื่องยากแล้ว การจะนัดให้มารวมตัวกันยิ่งยากเข้าไปใหญ่ แต่เมื่อมี Facebook คุณก็สามารถส่งคำเชิญเข้ากลุ่มได้อย่างง่ายดายจากนั้นก็เอาเวลาไปจัดการงานอย่างอื่น

 

ข้อเสีย: ถ้าทุกวันเป็นวันรวมญาติ งั้นเราจะรวมญาติกันทำไม?
ความตื่นเต้นในการเจอเพื่อนจากวันวานเริ่มหายไปในเมื่อเราสามารถแชทกันได้ทุกวัน ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีเหตุผลให้เรารียูเนียนกันเท่าไหร่ ทิมอธี เดวิส ผู้ก่อตั้งเว็บ Classreport.com ซึ่งเอาไว้ให้วัยรุ่นรียูเนียนเสนอความเห็นว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเขาเห็นแนวโน้มการรียูเนียนลดต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนอายุ 25 – 30 ปี

 

5. ความเป็นส่วนตัว

ข้อดี: Facebook มีออฟชั่นเพื่อควบคุมว่าให้ใครเห็นคุณบ้างและไม่เห็นคุณบ้าง ซึ่งจุดนี้ทำให้ Facebook ต่างจาก Twitter ที่เลือกกลุ่มผู้ชมไม่ค่อยได้

 

ข้อเสีย: แม้แต่พี่ซักเกอร์เบิร์กเองก็ยังเคยโดนแฮคหน้าเพจ แล้วผู้ใช้ทั่วไปอย่างเราจะเหลือเหรอครับ นักวิจารณ์บางคนระบุว่า Facebook เป็นแฟลตฟอร์มที่ “ใจกว้าง” คือมีลักษณะโดยธรรมชาติที่ต้องแชร์ข้อมูลออกไปในวงกว้าง (จึงเหมาะแก่การขายของออนไลน์หรือตั้งเพจแบรนด์) ดังนั้น การพยายามปกปิดอัตลักษณ์จึงเป็นเรื่องยากมากบน Facebook (เคยมีรายการทีวีที่เผยเบื้องหลังคนร้ายว่าคัดเลือกเหยื่ออย่างไร ขั้นตอนหนึ่งคือการดูเพจ Facebook ของเหยื่อด้วย)


  • 85
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง