เราคงได้ยินกันมาพอสมควรกับทฤษฏีของสองนักวิจัยแผนกวิศวกรรมการบินและเครื่องกล มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันที่เสนอทฤษฏีเป็นงานวิจัยความหนากว่า 11 หน้าว่า กระแสฮิตเฟซบุ๊กในปัจจุบันก็เหมือนโรคติดต่อที่เกิดจากคนหนึ่งแล้วแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ โดยยกตัวอย่าง โซเชียลมีเดียฮิตในอดีตอย่าง MySpace ซึ่งมีวงจรการเกิดและการดับภายในเวลาเพียง 7 ปี โดยมันเกิดเหมือนคนหนึ่งๆ ติดเชื้อหวัดแล้วแพร่ให้คนอื่นๆ และก็หายไปเนื่องจากคนเหล่านั้นมี “ภูมิต้านทาน” ที่จะไม่คลั่งไคล้ MySpace อีกต่อไปแล้ว ซึ่งหากเราเชื่อตามทฤษฏีนี้ก็พยากรณ์ได้ว่าสิ้นปีนี้ จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กควรจะลดลง 20 % หรือราวๆ 200 ล้านคน
กระนั้น แลนซ์ อูลานอฟ บรรณาธิการของเว็บไซต์ Mashable ขอเห็นต่างด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า สองผู้วิจัยอาจมุ่งจับพฤติกรรมการใช้เว็บไซต์โซเชียลมีเดียในกลุ่มวัยรุ่นมากเกินไปหน่อย ซึ่งคล้ายกับงานวิจัยอื่นๆ ที่ระบุว่าวัยรุ่นมักเลิกสนใจ Facebook พร้อมๆกัน เพราะเมื่อมีคนใดคนหนึ่งเลิกสนใจเครือข่ายโซเชียลมีเดียแล้ว คนอื่นๆ ก็จะเลิกสนใจตามไปด้วย
เอ้าท์เพราะบริหารงานผิดพลาด
อูลานอฟตั้งข้อสังเกตประการที่สองว่า การที่ MySpace คลายมนต์ขลังไม่ได้เป็นไปตามโมเดลนี้ แต่เป็นเพราะการบริหารจัดการผิดพลาด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความผิดของ NewsCporp เจ้าของเว็บไซต์เอง ที่ไม่รู้ว่าจะต้องวางรากฐานเว็บไซต์โซเชียลมีเดียอย่างไร และยังเสริมต่อไปว่าโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook มีพาวเวอร์ การจัดการ และมีความหลากหลายกว่า MySpace อย่างเทียบกันไม่ได้ ดังนั้นยอดผู้ใช้ของ Facebook อาจลดลงแต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเสื่อมความนิยมลงอย่างต่อเนื่อง เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ยังมีคุณค่าและไม่เป็นอันตรายกับผู้ใช้แน่นอน
แล้ว Twitter ล่ะ?
อูลานอฟปิดท้ายด้วยการสังเกตว่าเหตุใดงานวิจัยของสองนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันจึงไม่จับกระแสของ Twitter เลย เพราะแม้พื้นฐานการใช้ Twitter กับเฟซบุ๊กต่างกัน แต่หากเราสามารถมอง Facebook ตามโมเดลเชื้อโรคนี้ได้ ก็น่าจะทำกับ Twitter ได้เช่นกัน