คลื่นวิทยุโหมการตลาด ต้านกระแสธุรกิจสื่อเฉื่อย

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน)จับตาการเพิ่มดีกรีความแรงด้านการตลาดของคลื่นวิทยุ เพื่อแก้เกมอุตสาหกรรมโฆษณาเข้าช่วงขาลงในปีหน้า ซึ่งทั้งค่ายใหญ่และเล็กพร้อมใจจะเพิ่มเม็ดเงินลงทุนและดีไซน์ให้แมทช์กับกลุ่มคนฟังมากขึ้น

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : แม้จากการรายงานของบริษัท นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช จำกัด ถึงเม็ดเงินโฆษณาช่วง 9 เดือนแรกในปี 2551 สื่อวิทยุยังเป็นสื่อที่มีการใช้เงินไปในทิศทางที่ดี คือ เติบโต 12% หรือมีเม็ดเงินเข้ามาประมาณ 5,142 ล้านบาท

แต่หากดูภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 จะเห็นได้ว่า เม็ดเงินลดลงไป 1.52% จากเดิมเม็ดเงินโฆษณาอยู่ที่ 67,269 ล้านบาท 9 เดือนแรกในปีนี้เหลือ 66,249 ล้านบาท

เมื่อมารวมกับความไม่แน่นอนทั้งเศรษฐกิจและการเมืองของบ้านเราที่ยังไม่มีทีท่าจะจบด้วยแล้ว

พอจะสะท้อนถึงภาพของธุรกิจโฆษณาในปีหน้าได้ว่า คงอยู่ในทิศทางเดียวกับหลายธุรกิจ นั่นคือ เป็นช่วงขาลง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อวิทยุก็ต้องเผชิญกับสภาวะนั้นเช่นกัน

“สถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่เวลามาพูดถึงการเติบโตเหมือนอดีต สิ่งที่ทำได้ คือ ทำอย่างไรให้ตัวเองแข็งแรง พร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น อย่างปีหน้าเราขอรักษาการเติบโตไว้ที่ 8% จากปีนี้ที่ทำรายได้ไป 750 ล้านบาทก็พอใจแล้ว” สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารคลื่นวิทยุในนาม เอไทม์ มีเดีย กล่าว

ภาพหนึ่งที่ชัดเจนเพื่อรับมือสถานการณ์ของหลายคลื่นวิทยุ คือ การทำมาร์เก็ตติ้ง ที่หลายค่ายเทน้ำหนักและเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในส่วนนี้มากขึ้น อีกทั้งพยายามดีไซน์รูปแบบแต่ละแคมเปญให้แมทช์กับกลุ่มผู้ฟัง ประการแรก ต้องการรักษาฐานคนฟัง ถัดมา ต้องการให้การตลาดที่จัดขึ้นนั้นเป็นอีกแพ็กเกจทางการขายเพื่อเสนอให้ลูกค้าเลือก

เริ่มจากค่ายใหญ่ เอไทม์มีเดีย ที่ปัจจุบันมีคลื่นวิทยุในมือ 4 คลื่น ประกอบด้วย 89 Chill FM (เดิมชื่อ บานาน่า) 91.5 Hot FM 93.5 EFM และ 106.5 Green wave ซึ่งทุกคลื่นเพิ่มงบในส่วนนี้ขึ้น 20% และรูปแบบชัดเจนในการตอบไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนฟังแต่ละคลื่น

เช่น 93.5 EFM คลื่นบันเทิง กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นคนอายุ 20-23 ปี การตลาดที่มาจับ รูปแบบจะเป็นกิจกรรมด้านบันเทิง และให้ผู้ฟังมาร่วมกิจกรรมกับดารานักร้องคนดังที่ชื่นชอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพยายามใช้ธุรกิจอื่นที่มีอยู่มาสร้างความได้เปรียบทางการตลาด โดยเฉพาะ เอไทม์ โชว์บิส บริษัททำคอนเสิร์ต ที่เรียกได้ว่าจะมีการจัดเกือบทุกเดือน อาทิ MAI TINA BEATY ON THE BEAT การนำเจ้าแม่ขาร็อก ใหม่ เจริญปุระ กับเจ้าแม่ขาแดนซ์ คริสติน่า อากีล่าร์ มาประชันบนเวทีเดียวกัน ฯลฯ

คลื่นน้องใหม่ อย่าง เวฟ เอฟเอ็ม 88 (WAVE FM 88.0 MHz) คลื่นเพลงสากลภาคภาษาอังกฤษ 24 ชั่วโมง ที่นำเสนอในคอนเซปต์ Smooth Urban Sounds จับกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยในไทย ในกลุ่มที่มีการศึกษาสูง และมีไลฟ์สไตล์เป็นของตัวเอง ก็ได้วางงบไว้ 10% ของรายได้ปีมาใช้ทางการตลาดในการเฉลิมฉลองการก้าวสู่ปีที่ 2 เพื่อเปิดตัวสู่สาธารณชนและขยายฐานคนฟังให้ถึง 1 ล้านคน

โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ในการสร้างการรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อ เช่น โปสเตอร์ และแฮนด์บิล ส่วนปีหน้าเตรียมจะจัดกิจกรรม 1 Year Anniversary ที่จะแจกของรางวัลกันแบบทุกชั่วโมงและทุกวัน

รวมถึงจัดแข่งขันกอล์ฟในชื่อว่า GRIP Tournament ที่ถูกวางเป็นกิจกรรมประจำปี ในการเชิญผู้ฟังมาร่วมแข่งขันกอล์ฟ หรือการจัดคอร์สสอนทำอาหาร เป็นต้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนฟัง อีกทั้งยังเป็นการสร้างรูปแบบการตลาดในการดึงสปอนเซอร์เข้ามาร่วมได้ด้วย

คลื่นความคิด 96.5 เอฟเอ็ม ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่คอนเทนท์รายการจะเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ก็ไม่ยอมตกกระแส โดยการตลาดออกมาในรูปแบบกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น การจัดสัมมนาทางการเมืองที่จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง,ซีอีโอ วิชั่น การเชิญซีอีโอองค์กรระดับแนวหน้าของไทยมาแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อดูทิศทางของธุรกิจ จัดขึ้น 3-4 ครั้งต่อปี

“ทุกวันนี้วิทยุการตลาดต้องมาก่อน และต้องเหมาะกับคนฟัง ซึ่งเราเชื่อว่า สิ่งที่ทำจะช่วยให้เราโต 15-20% แม้ภาพรวมธุรกิจสื่อมีปัญหา ส่วนปีหน้าการตลาดที่จะเห็นมากขึ้น คือ การหุ้มคลื่น หรือหาแบรนด์มาเป็นสปอนเซอร์หลักเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องรายได้ แต่ใช่ว่าจะรอดทุกราย เพราะต้องมีหลายเรื่องมาประกอบด้วย” ม.ร.ว.รุจยาภา อาภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท คูลเอสท์ เรดิโอ จำกัด ผู้บริหารคลื่นเวฟ เอฟเอ็ม 88 กล่าว

แน่นอนว่า ความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในทุกคลื่นวิทยุเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ในปีหน้าที่ดูแล้วไม่น่าจะเอื้อให้ธุรกิจโฆษณาเติบโตได้ ซึ่งหลังจากนี้น่าจะมีออกมาให้เห็นเป็นระลอก ๆ ไม่ว่าจะเป็น สกายไฮ เน็ตเวิร์ค ที่ปัจจุบันบริหารวิทยุอยู่ 2 คลื่น ได้แก่ 93 คูลเอฟเอ็ม และ 94.5 แม็กซ์

หรือวี อาร์วัน กับวิทยุ 3 คลื่นประกอบด้วย 102 เก็ทเอฟเอ็ม 103.5 แฮปปี้ สเตชั่น และ 104.5 แฟต เรดิโอ

ส่วนเวอร์จิ้น เรดิโอ ช่วงนี้แม้ไม่มีความเคลื่อนไหวนัก แต่มีกระแสข่าวจะทิ้งคลื่น 103 ที่ตอนนี้ทำเป็นคลื่น easy Listening ในชื่อ เวอร์จิ้น ซอฟท์ ไป ด้วยเหตุผลแบกต้นทุนต่อไปไม่ไหว

Source: กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์


  •  
  •  
  •  
  •  
  •