23 พฤษภาคม 2568 จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการธุรกิจ Food Delivery ไทย เมื่อ foodpanda Thailand ประกาศยุติการให้บริการแอปพลิเคชันอย่างเป็นทางการ สิ้นสุดเส้นทางกว่าหนึ่งทศวรรษที่โลโก้แพนด้าสีชมพูคุ้นตากลายเป็นเพื่อนประจำบ้านในวันที่หิว ร้อน ฝนตก หรือแค่ไม่อยากออกไปไหน การจากลาของ foodpanda ไม่ได้เป็นแค่ข่าวธุรกิจ แต่คือบทสรุปของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในตลาด Food Delivery ไทย ที่สะท้อนถึงการแข่งขัน การปรับตัว และแรงสั่นสะเทือนของตลาดยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง
เส้นทางแพนด้าสีชมพูสู่ประเทศไทย
ฟู้ดแพนด้า (foodpanda) ถือกำเนิดขึ้นในปี 2012 หรือปี 2555 ภายใต้บริษัท Rocket Internet จากเยอรมนี ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านอีคอมเมิร์ซ โดยมีเป้าหมายขยายแพลตฟอร์ม Food Delivery ไปทั่วโลก ในปีเดียวกันนั้นเอง foodpanda เริ่มขยายธุรกิจเข้ามาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทยและส่งผลให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายหลัก โดยมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในกรุงเทพฯ พร้อมกับโลโก้แพนด้าสีชมพูที่กลายเป็นสัญลักษณ์จดจำของใครหลายคน
การเข้ามาของ foodpanda ด้วยบริการสั่งอาหารออนไลน์จากร้านค้าที่ลูกค้ารู้จักและชื่นชอบ โดยในยุคนั้นการสั่งอาหารผ่านออนไลน์ถือเป็นเรื่องใหม่และผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับการโทรสั่งตรงจากร้านอาหารเท่านั้น ถือเป็นการบุกเบิกตลาด Food Delivery ของไทย ตั้งแต่
- ปี 2556 ขยายพื้นที่บริการครอบคลุมจังหวัดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ และพัทยา
- ปี 2557 เปิดตัวแอปพลิเคชันทั้ง iOS และ Android
- ปี 2559 การเข้าซื้อกิจการของ Delivery Hero และขยายการให้บริการมากกว่าแค่การจัดส่งอาหาร ทั้งเอกสารและพัสดุ
- ปี 2562 สงคราม Delivery รุนแรงขึ้น พร้อมด้วยคู่แข่งหลักอย่าง GrabFood, LINE MAN และ GET (ก่อนจะเปลี่ยนเป็น GoJek ในเวลาต่อมา)
- ปี 2563 สถานการณ์โรคระบาดส่งผลให้ปริมาณออเดอร์พุ่งสูง
- ปี 2564 foodpanda ถูกวิจารณ์หนักจากกรณี “พนักงานโพสต์สนับสนุนม็อบ” ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อรายได้
- ปี 2566 เปิดบริการใหม่ pandamart ด้วยการรับออเดอร์คำสั่งซื้อจากลูกค้า
- ปี 2567 เริ่มยุติการให้บริการในบางพื้นที่ของไทย
- ปี 2568 ประกาศยุติการให้บริการในประเทศไทย
จุดที่เรียกได้ว่าพลิกเกมอยากเห็นได้ชัด คือ ดราม่าบนโลกโซเชียลที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อภาพลักษณ์อย่างรุนแรงของ foodpanda แม้จะใช้ระยะเวลายาวนานในการแก้ไขภาพลักษณ์ดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าจากสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรง จุดเพลี่ยงพล้ำนี้ก็สามารถส่งผลกระทบระยะยาวต่อ foodpanda อย่างเลี่ยงไม่ได้
สัญญาณเตือนขาดทุนสะสม 1.3 หมื่นล้านบาท
ใช่ว่าภาพลักษณ์อย่างเดียวที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อ foodpanda เพราะหากเราย้อนดูผลประกอบการที่ผ่านมาจะพบว่า กำไรสุทธิของ foodpanda อยู่ในขั้นขาดทุนทุกปี โดยมีการประเมินว่ามีการขาดทุนสะสมถึง 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะพบว่ารายได้รวมของ foodpanda ในแต่ละปีเพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจ แต่เมื่อหักต้นทุนในการดำเนินงานทั้งหมดจะพบว่า มีผลขาดทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี
- ปี 2562 รายได้รวม 818,156,828.37 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,264,503,583.82 บาท
- ปี 2563 รายได้รวม 4,375,128,919.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 3,595,901,657.00 บาท คิดเป็น -37%
- ปี 2564 รายได้รวม 6,786,566,010.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 4,721,599,978.00 บาท คิดเป็น -31.30%
- ปี 2565 รายได้รวม 3,628,053,048.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 3,255,107,979.00 บาท คิดเป็น 31.05%
- ปี 2566 รายได้รวม 3,843,303,372.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 522,486,848.00 บาท คิดเป็น 83.94%
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา foodpanda จะสามารถทำตลาดได้อย่างดี แต่หากดูในตลาดอย่างชัดเจนจะพบว่า การแข่งขันของธุรกิจ Food Delivery เป็นกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในโซน Red Ocean ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด แถมคู่แข่งแต่ละรายก็มีศักยภาพแทบทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น GrabFood, LINE Man, Robinhood หรือแม้แต่ Shopee Food รวมไปถึงนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทแม่ที่อยู่ในต่างประเทศ
ถอดรหัส 5 เหตุผลทำไม foodpanda ต้องยุติบริการ
หากเจาะลึกลงในรายละเอียดถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ foodpanda ต้องยุติการให้บริการในประเทศไทย คงต้องแบ่งเหตุผลออกเป็น 5 ข้อด้วยกัน ซึ่งแต่ละเหตุผลล้วนแต่มีน้ำหนักที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ foodpanda เริ่มต้นกันที่
ธุรกิจที่ต้องลงทุนแบบ Burn Money ซึ่งหมายถึงการทุ่มเงินลงทุนจำนวนมากเพื่อให้เกิดการใช้บริการ โดยไม่เน้นสร้างผลกำไร ซึ่งจะช่วยให้ทั้งทางร้านค้าและผู้บริโภคหันมาใช้บริการ Food Delivery เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดไปทั่วโลก ธุรกิจ Food Delivery มีการลงทุนอย่างมหาศาล เพื่อเรียกให้ ผู้บริโภคและร้านค้าหันมาใช้บริการแพลตฟอร์ม Food Delivery เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจเกิดขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมาก ซึ่งการจะสร้างผลกำไรจากธุรกิจดังกล่าวผ่านค่าธรรมเนียม อาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม ซึ่งจากตัวเลขผลประกอบการจะเห็นได้ว่า foodpanda มีการขาดทุนสะสมสูงกว่า 10,000 ล้านบาท
การแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น อย่างที่ทราบกันว่า ธุรกิจแพลตฟอร์ม Food Delivery ในประเทศไทย มีผู้เล่นที่มีศักยภาพสูงอยู่ในตลาด แต่ละผู้เล่นมีการลงทุนค่อนข้างสูง ทำให้การแข่งขันเพื่อแย่งชิงผู้บริโภครุนแรงมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย ผู้บริโภคเริ่มกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านตามปกติ ธุรกิจแพลตฟอร์ม Food Delivery จึงต้องแย่งชิงผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น รวมถึงคู่แข่งรายอื่นและพฤติกรรมการใช้ชีวิตนอกบ้านของผู้บริโภค ซึ่งนั่นหมายความว่า foodpanda จะต้องลงทุนเพิ่มมากขึ้นและอาจจะหมายถึงการขาดทุนสะสมที่เพิ่มมากกว่าเดิม
SuperApp สู่การเป็น ecosystem หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้แพลตฟอร์ม Food Delivery ต่างๆ ยังสามารถอยู่รอดได้ในภาวะการแข่งขันสูง คือการ พัฒนาแพลตฟอร์มให้กลายเป็น Super App โดยมี ecosystem ที่ครอบคลุมการให้บริการด้านอื่นที่สามารถสร้างรายได้ เช่น GrabFood และ LINE Man ที่มีบริการ Ride Hailing หรือ shopee Food ที่มีบริการ e-Commerce ช่วยให้แพลตฟอร์มเหล่านี้สามารถเข้าถึงร้านค้าและผู้บริโภคได้อย่างง่ายดาย ขณะที่ foodpanda เน้นธุรกิจด้าน Food Delivery เป็นหลักรวมไปถึงบริการรับส่งอื่นๆ
ภาพลักษณ์ที่ถูกผู้บริโภคจดจำ หนึ่งในจุดบอบช้ำของ foodpanda ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือเหตุการณ์ดราม่าบนโลกโซเชียลที่แม้ปัจจุบันนี้ก็ยังมีคนจำได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ส่งผลต่อภาพลักษณ์ในเชิงลบของธุรกิจ แม้จะมีการออกมาขอโทษและแก้ไขปรับปรุงภาพลักษณ์แล้ว แต่ในแง่ของทัศนคติของผู้บริโภคอาจเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ยากมากกว่าภาพลักษณ์ในเชิงลบ
นโยบายบริษัทแม่ที่หันไปเน้นการสร้างกำไร อีกหนึ่งเหตุผลใหญ่ที่ foodpanda เลี่ยงไม่ได้ คือการที่บริษัทแม่ของ foodpanda เริ่มหันไปโฟกัสในตลาดที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง เช่น ตลาดในกลุ่มยุโรปและละตินอเมริกา ขณะที่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากที่ก่อนหน้านี้เป็นตลาดหลักในการทำธุรกิจ แต่ในปัจจุบันถูกพิจารณาว่า เป็นตลาดที่มีความเสี่ยงด้านต้นทุนสูงและมีการแข่งขันที่สูงมาก อาจจะไม่ตอบโจทย์การเติบโตแบบยั่งยืน
การจากไปของ foodpanda ไม่ใช่แค่การปิดแอปฯ แต่คือบทเรียนของธุรกิจ Food Delivery ที่ไม่ใช่แค่ foodpanda เท่านั้นที่ “สู้ไม่ไหว” หรือ “สายป่านยาวไม่พอ” เพราะหากยังจำกันได้ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยมีแพลตฟอร์ม Food Delivery อย่าง GET ก่อนจะเปลี่ยนเป็น GoJek ในเวลาต่อมา ที่ปิดตัวไปด้วยเหตุผลใกล้เคียงกัน ทั้งการลงทุนแบบ Burn Money และการแข่งขันที่รุนแรง
รวมไปถึงแพลตฟอร์ม Food Delivery อย่าง Robinhood ที่ก่อนหน้านี้มีธนาคารพาณิชย์เป็นแบ็กหนุนหลัง แต่ก็สู้กับการลงทุนแบบ Burn Money ไม่ไหว จนต้องขายธุรกิจให้คนอื่นไปทำต่อ นั่นหมายความว่าการแข่งขันในธุรกิจแพลตฟอร์ม Food Delivery จะแข่งขันกันรุนแรงขึ้นเพื่อแย่งชิงร้านค้าและผู้บริโภค และจะนำไปสู่การเก็บค่าธรรมเนียมที่จะช่วยสร้างกำไรให้กับธุรกิจในอนาคต