ลองจินตนาการว่าคุณกำลังนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ เตรียมตัวสัมภาษณ์งานในฝัน ตำแหน่ง Software Engineer ที่บริษัทระดับโลก คุณตื่นเต้นมากๆ เหงื่อกำลังซึมออกทั้งตัว มือไม้สั่น เพราะโจทย์ Coding บนหน้าจอมันซับซ้อนสุดๆ ดูยังไงก็ไม่เข้าใจเหมือนกับภาษาต่างดาว จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามี “ผู้ช่วยลับ” ที่คอยกระซิบคำตอบข้างหูแบบเรียลไทม์? ผู้ช่วยคนนี้ไม่ใช่คนแต่เป็น “AI” ที่ชื่อว่า “Interview Coder”
Interview Coder ตัวนี้เองเป็น “จุดเริ่มต้น” จุดประกายให้เกิดสตาร์ทอัพสุดฮือฮาและสร้างการถกเถียงมากที่สุดในเวลานี้อย่าง “Cluely”
จุดเริ่มต้น Cluely

เรื่องราวเริ่มต้นจาก “Chung-in Lee” และ “Neil Shanmugam” สองนักศึกษาหัวใส แต่อีกมุมก็แสบไม่ใช่เล่น จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย หรือ Columbia University พวกเขาเจอปัญหาเดียวกับนักศึกษาอีกหลายคน นั่นคือ “การสอบสัมภาษณ์ Coding” ที่มักจะเป็นด่านแรกในการเข้าสู่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกได้
แทนที่เตรียมตัวอ่านหนังสือและฝึกฝนการ Coding เพื่อเผชิญกับโจทย์สัมภาษณ์งานหินๆให้ได้แต่พวกเขากลับ “สร้างทางลัด” ด้วยการพัฒนา AI ที่สามารถ ‘โกง’ การสัมภาษณ์ได้แบบเนียนๆกลายเป็นจุดกำเนิดของ Interview Coder
Interview Coder ทำงานยังไง?
พูดง่ายๆว่า Interview Coder เป็นเหมือนกับ “สายลับ AI” ที่คอย “ดู” และ “ฟัง” สิ่งที่เกิดขึ้นบนหน้าจอของเรา เมื่อผู้สัมภาษณ์ให้โจทย์ Coding กับคุณบนหน้าจอ “สายลับ” ก็จะช่วยหาคำตอบและแนะนำคำตอบที่ถูกต้องกลับมาให้คุณในเสี้ยววินาที เหมือนกับมีโปรแกรมเมอร์เทพๆมานั่งอยู่ข้างๆ
ที่แสบยิ่งกว่านั้นคือ CEO Lee เองก็เคยใช้ Interview Coder นี้ “โกง” การสัมภาษณ์ออนไลน์กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon จนได้รับข้อเสนอฝึกงานมาแล้วด้วย!
แน่นอนว่า “ความลับก็ไม่มีในโลก” เพราะ Lee ถ่ายคลิปตัวเองขณะใช้ Interview Coder สัมภาษณ์เพื่อฝึกงานกับ Amazon แล้วอัปโหลดลง YouTube และสุดท้ายก็งานเข้า ข้อเสนอฝึกงานถูกยกเลิก บริษัทอื่นๆ พากันถอนข้อเสนอจ้างงานในที่สุด ไม่เท่านั้นทั้งคู่ยังถูกลงโทษทางวิจัยและพักการเรียนจากมหาวิทยาลัยด้วย ก่อนที่ทั้งสองจะลาออกในที่สุด
อย่างไรก็ตาม จากจุดเริ่มต้นที่ดูเหมือนจะจบไม่สวย กลายเป็น “จุดเริ่มต้น” ที่ทำให้ Interview Coder พัฒนาไปสู่ “Cluely” สตาร์ทอัพที่ระดมทุนได้มหาศาลถึง 5.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราวๆ 180 ล้านบาท!
Interview Coder สู่ Cluely
Cluely ไม่ได้หยุดอยู่แค่การโกงสัมภาษณ์ Coding อีกต่อไป พวกเขาขยายขอบเขตไปสู่ “การโกงในทุกสถานการณ์” (Cheat on Everything) ไม่ว่าจะเป็น “การสอบ”, “การสัมภาษณ์งานอื่นๆ”, “การขาย” ที่ช่วยตอบคำถามลูกค้าแบบเนียนๆ, หรือแม้แต่ “การสนทนาทั่วไป” โดย AI จะคอยหาข้อมูลมาให้คุยได้แบบพริ้วๆ หรือแม้แต่ช่วยจีบสาวได้อย่างมีชั้นเชิง
วิธีการทำงานก็คล้ายๆ Interview Coder ก็คือระบบมี “หน้าต่างล่องหน” ขณะที่เราใช้งานแพลทฟอร์มประชุมออนไลน์บนเบราว์เซอร์ โดย AI จะคอย “ป้อนคำตอบแบบเรียลไทม์” หรือ “สรุปข้อมูลสำคัญ” ให้เราโดยที่คนอื่นไม่รู้เลยในขณะที่สายตาเราก็จะ “มองหน้าจออย่างแนบเนียน” ด้วย
นั่นหมายความว่า Cruely ทำสิ่งนี้ได้แม้เราจะ “แชร์หน้าจอ” ให้กับคู่สนทนาหรือคนในที่ประชุมอยู่ก็ตาม!
Cluely ว่าไงเมื่อคนมองว่านี่มัน “โกงชัดๆ”
Cluely อธิบายง่ายๆด้วย “แถลงการณ์” โดย เปรียบเทียบเทคโนโลยีของตัวเองกับ “เครื่องคิดเลข” หรือ “โปรแกรมตรวจคำผิด” ที่ในอดีตก็เคยถูกมองว่าเป็นการโกง แต่สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องปกติ
พูดง่ายๆว่า Cluely พยายามบอกว่าตัวเองกำลัง “เปลี่ยนกฎเกณฑ์” ของโลกที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นอยู่ในเวลานี้นั่นเอง
เท่านั้นยังไม่พอ Cluely ยังปล่อย “วิดีโอโปรโมท” ที่ปั่นสุดๆและ CEO Lee ก็เล่นด้วยตัวเอง ในสถานการณ์ที่เขาออกเดทกับสาว และพยายามโกหกเรื่องอายุและความรู้ด้านศิลปะ โดยมี AI คอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง!
Cluely is out. cheat on everything. pic.twitter.com/EsRXQaCfUI
— Roy (@im_roy_lee) April 20, 2025
คลิปนี้ดูจะทั้งฮาและน่าขนลุก หลายคนที่ได้ดูมองว่ามันเหมือนกับเป็นเรื่องที่หลุดออกมาจากซีรีส์ “Black Mirror” ยังไงยังงั้น
ที่น่าหวั่นใจอีกเรื่องก็คือ Cluely อ้างว่าเทคโนโลยีของพวกเขา “ตรวจจับไม่ได้โดยสมบูรณ์”
ปัจจุบัน Cluely มีบริการทั้งแบบ Free แบบ Pro และ แบบ Enterprise โดยแบบเสียเงินจะเริ่มต้นคิดค่าบริการที่ 20 ดอลลาร์หรือราว 670 บาทต่อเดือน
ขณะที่CEO Lee ที่เวลานี้มีอายุแค่ 21 ปี ยังบอกอีกว่า Cluely มีรายได้ต่อปีมากกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราวๆ 100 ล้านบาทต่อปี ณ ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากเลยที่ “อิน” กับไอเดียนี้
คำถามที่น่าสนใจกับการเกิดขึ้นของ Cluely
สิ่งที่น่าคิดกับนวัตกรรมนี้ก็คือ Cluely จะนับเป็น “นวัตกรรมที่ช่วยให้คนเข้าถึงโอกาสได้มากขึ้น” จริงๆ หรือเป็น “เครื่องมือที่ทำลายความน่าเชื่อถือและความยุติธรรม” ในสังคม? กันแน่ จากนี้ไปการสัมภาษณ์งานแบบออนไลน์ หรือแม้แต่การพูดคุยกันทางออนไลน์ จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ไปเลยรึเปล่านับจากนี้
อีกหนึ่งคำถามก็คือการที่ผู้ก่อตั้งเคยถูกมหาวิทยาลัยไล่ออกเพราะพฤติกรรม “โกง” แล้วกลับมาใช้ไอเดียจากสิ่งที่เคยทำ สร้างสตาร์ทอัพขึ้นมากลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้มหาศาลนั้นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมหรือไม่? หรือสิ่งนี้สะท้อนเรื่องจริยธรรมของสังคมที่หย่อนยานลงกันแน่
และในอนาคต เราจะอยู่ในโลกที่ “ความสามารถของมนุษย์” ถูกลดทอนความสำคัญลงไปเรื่อยๆรึเปล่า เพราะมี AI คอยช่วยเหลือในทุกสถานการณ์ และเราจะยังเชื่อใจมนุษย์ที่เราเห็นตรงหน้าได้มากแค่ไหน ในโลกที่เทคโนโลยีใหม่ๆพัฒนาไปมากกว่านี้? คำถามเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดเช่นกัน