สำรวจเทรนด์ “She-Shopper” พลังนักช้อปหญิงเปย์หนัก “แฟชั่น-ความงาม” พลิกโฉมอีคอมเมิร์ซไทย

  • 3
  •  
  •  
  •  
  •  

She-Shopper

เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และอีคอมเมิร์ซถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ รายงาน e-Conomy SEA โดย Google, Temasek และ Bain & Company ระบุว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซมีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทย โดยคาดว่ามูลค่าตลาดจะแตะ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 5 ปีข้างหน้า

สอดคล้องกับรายงานล่าสุดโดย Statista ซึ่งคาดว่ารายได้ของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2568 จะสูงถึง 2.29 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโตขึ้น 18.8% จากปีก่อนหน้า

ในขณะที่รายงานโดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า ยอดขายสินค้าบนอีคอมเมิร์ซจะคิดเป็น 1 ใน 4 ของยอดค้าปลีกทั้งหมดในปีนี้

คุณวาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยถือเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างจับตา แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ อิทธิพลของนักช้อปหญิงต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกออนไลน์ เพราะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการหลากหลาย ผลักดันให้ธุรกิจต้องปรับตัวและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการนักช้อปหญิงอยู่เสมอ

“เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลในปีนี้ LAZADA ขอร่วมเฉลิมฉลองบทบาทของผู้หญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ นอกจากจะเป็นกลุ่มนักช้อปที่ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสินค้ากลุ่มแฟชั่นและความงามแล้ว ยังมีอิทธิพลต่อสำคัญการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เห็นได้จากการที่แพลตฟอร์มอย่าง ลาซาด้า มีการสร้างสรรค์ฟีเจอร์และบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักช้อปกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำว่าการเข้าใจและเข้าถึงนักช้อปหญิงเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในโลกอีคอมเมิร์ซ”

LAZADA Thailand
คุณวาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย

 

นักช้อปหญิงเปย์หนักในกลุ่มแฟชั่นและความงาม

บทบาทของกลุ่มนักช้อปหญิงต่อการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ แนวโน้มการเติบโตของสินค้าหมวดแฟชั่นและความงาม

Statista คาดการณ์ว่า ในปี 2568 ยอดขายสินค้าหมวดแฟชั่นบนอีคอมเมิร์ซในไทยจะขยายตัวกว่า 21.5% โดยมีมูลค่ารวม 2.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนยอดขายสินค้าหมวดความงามและการดูแลตนเอง (personal care) จะเพิ่มขึ้น 16.1% แตะระดับ 4.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนบทบาทสำคัญของผู้หญิงต่อการเติบโตของตลาดสินค้าเหล่านี้

หากเจาะลงไปในหมวดแฟชั่น รายงานล่าสุดจาก Statista ยังชี้ให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสินค้าเสื้อผ้าผู้หญิงในประเทศไทย

– คาดว่าระหว่างปี 2568-2572 สินค้าเสื้อผ้าผู้หญิงจะมียอดขายเพิ่มขึ้น 375.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 10.55% ส่งผลให้มูลค่าตลาดแตะระดับ 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2572

สอดคล้องกับ รายงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและรองเท้าในประเทศไทย จาก Euromonitor International ซึ่งเผยว่า อีคอมเมิร์ซเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตของตลาดเสื้อผ้าสตรี สะท้อนถึงพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของผู้บริโภคชาวไทย

She-Shopper

ขณะที่รายงานโดย Kantar สะท้อนพฤติกรรมนักช้อปไทยในหมวดสินค้าความงามในทิศทางเดียวกัน

 

– นักช้อปหญิงเกือบครึ่ง (47.1%) เลือกซื้อสินค้าหมวดความงามผ่านช่องทางออนไลน์ สะท้อนถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มดิจิทัลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและศักยภาพของตลาดออนไลน์ที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ตัวเลขจาก Euromonitor International 2023/24 ยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของตลาดเสื้อผ้าสตรี โดยมีมูลค่ารวมเติบโตถึง 5.6%

เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ LAZADA ซึ่งเผยว่า แฟชั่นและความงามเป็นหมวดหมู่สินค้ายอดนิยมในประเทศไทยซึ่งมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นในหลายประเภทสินค้า เมื่อเทียบกับปี 2567 ในช่วงเวลาเดียวกัน สะท้อนได้จากข้อมูลการเติบโตดังนี้

– Accessory ผู้หญิง อย่างกระเป๋าโท้ต (tote bag) มียอดคำสั่งซื้อก้าวกระโดดกว่า 2200%

– Accessory แต่งผมมียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นกว่า 240%

– แผ่นมาสก์หน้าและเซรัมก็มียอดขายพุ่งสูงขึ้นถึง 4 เท่า

She-Shopper

 

ผู้ประกอบการหญิงรุ่นใหม่ในโลกอีคอมเมิร์ซ

นอกเหนือจากบทบาทของผู้บริโภค ผู้หญิงไทยยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัลในบทบาทของผู้ประกอบการ โดยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้กลายมาเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการหญิงรุ่นใหม่ในการสร้างแบรนด์ในยุคดิจิทัล ช่วยให้ก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ในการเริ่มต้นธุรกิจ ทำให้เข้าถึงตลาดที่กว้างขึ้นและเจาะกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการและขยายธุรกิจอย่างไร้ขีดจำกัด

ตัวอย่างของผู้ประกอบการหญิงรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์และขยายธุรกิจบนโลกอีคอมเมิร์ซ เช่น

lookbooklookbook แบรนด์แฟชั่นที่ก่อตั้งโดย จีน-วนิชชา ตรีทิพย์สถิตย์, อิงค์-อิงครัต อุนนกิตติ และโบ-สุภัค ธงชัยวัฒนอำพล กลุ่มเพื่อนสาวที่รักการแต่งตัวและเริ่มต้นแบรนด์บนโลกออนไลน์ด้วยการขายผ่านเว็บบอร์ดในกลุ่มเล็กๆ ต่อยอดการเติบโตด้วยการเปิดร้านบนลาซาด้าแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ผ่าน LazLOOK แหล่งรวมแฟชันอินเทรนด์หลากหลายสไตล์ ทำให้เข้าถึงลูกค้าเป้าหมายที่ชื่นชอบสไตล์เฉพาะตัวของแบรนด์ บวกกับดีไซน์ของ lookbooklookbook ที่ทันสมัย โดดเด่น และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในทุก ๆ วัน ทำให้แบรนด์สร้างยอดขายทะลุ 100 ล้านบาทบน LAZADA อีกทั้งยังคว้ารางวัล Lazada Top Seller 2024 Award ในปีที่ผ่านมา

lookbooklookbook

– แบรนด์บิวตี้น้องใหม่ที่มาแรงและสร้างกระแสฮิตต่อเนื่องอย่าง Bitch With Brain (BWB) ของ 4 สาวเก่ง ก้อย-อรัชพร โภคินภากร, นัตตี้-นันทนัท ฐกัดกุล, ดรีม-อภิชญา พานิชตระกูล และ ทราย-ชนิกานต์ วัลลภศิริ ตอกย้ำความสำเร็จของการเป็นแบรนด์บิวตี้ที่สนับสนุนให้ทุกคนสวยมั่นใจในแบบของตัวเอง BWB เปิดตัวสู่ตลาดเป็นครั้งแรกบน LAZADA แบบเอ็กซ์คลูซีฟ

พร้อมเดินหน้าสร้างแบรนด์ต่อเนื่องผ่านช่องทางออนไลน์จนกลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ BWB ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในแบรนด์ไทยที่น่าจับตามองและสร้างยอดขายระดับท็อปผ่าน LazBEAUTY จนสามารถดันยอดขายให้ทะลุเป้าไปกว่า 200% ในปี 2567 สะท้อนศักยภาพของตลาดอีคอมเมิร์ซ ในการต่อยอดแบรนด์และขยายฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

BWB_SkinTint

 

นักช้อปหญิงกับคลื่นลูกใหม่ของนวัตกรรมอีคอมเมิร์ซ

เมื่อนักช้อปมีความคุ้นเคยกับการช้อปออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ความคาดหวังก็สูงขึ้นตามไปด้วย นักช้อปหญิงจึงมีอีกบทบาทสำคัญในการผลักดันนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมค้าปลีกออนไลน์ ทั้งด้านประสบการณ์ช้อปที่เฉพาะเจาะจง ผสานช่องทางออนไลน์-ออฟไลน์อย่างไร้รอยต่อ

รวมถึงการเลือกซื้อแบรนด์ที่สะท้อนคุณค่า (value) ที่ตนมี แนวโน้มดังกล่าวนี้กระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการช้อปปิงออนไลน์ในหลากหลายด้าน อาทิ การนำ Gen AI และ AR/VR มาสร้างสรรค์ประสบการณ์ช้อปปิงให้ตอบโจทย์ความต้องการหรือความชอบเฉพาะบุคคลได้ดียิ่งขึ้น

ในฐานะผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค LAZADA เดินหน้าขยายหมวดหมู่สินค้าและพัฒนาบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มนักช้อปหญิงให้ตอบโจทย์ยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง LazLOOK และ LazBEAUTY ซึ่งเป็นแหล่งรวมสินค้าแฟชันและความงามสำหรับนักช้อปที่มีความต้องการที่หลากหลาย รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับการสร้างเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและแบรนด์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมสมาชิกแบรนด์บน LazMall และสมาชิก LazBEAUTY ซึ่งนำเสนอสิทธิประโยชน์แบบเอ็กซ์คลูซีฟให้แก่แฟนตัวยงของแบรนด์และนักช้อปสายบิวตี้

She-Shopper

นอกจากนี้ ฟีเจอร์ใหม่ ๆ อย่าง Virtual Try-On (ทดลองผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง), Skin Test (ตรวจเช็กสภาพผิว) และ AI-powered Try-On Models (ทดลองเสื้อผ้าผ่านโมเดลเสมือนจริง) เพื่อมอบประสบการณ์ช้อปที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลและไร้รอยต่อยิ่งขึ้น

การพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่การก้าวให้ตามเทรนด์ใหม่ ๆ เท่านั้น แต่เป็นการตอบสนองความต้องการและความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไปของนักช้อปหญิง ซึ่งได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการเติบโตของอีคอมเมิร์ซไทยในปัจจุบัน

“นักช้อปหญิงไม่ได้เป็นเพียงลูกค้า แต่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่มีส่วนกำหนดทิศทางอนาคตของอีคอมเมิร์ซ อิทธิพลของนักช้อปกลุ่มนี้ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ และผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ กุญแจสู่ความสำเร็จของธุรกิจและแบรนด์ในปัจจุบัน จึงอยู่ที่ความสามารถในการเข้าถึง เข้าใจ และตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้บริโภคหญิงได้อย่างตรงจุด ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการเติบโตในโลกอีคอมเมิร์ซ และต่อยอดการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว” คุณวาริสฐา กล่าวปิดท้าย

She-Shopper


  • 3
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ