รู้จักผู้บริโภค 6 กลุ่มในยุค Market Fragmentation และกลยุทธ์ธุรกิจชนะใจลูกค้า

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Consumer Trends-Market Fragmentation

ทุกวันนี้เรากำลังอยู่ในยุค Fragmented World นั่นคือโลกที่แตกแยกย่อยในทุกๆ ส่วน ตั้งแต่เศรษฐกิจโลก จะเห็นภาพ Geoeconomic Fragmentation หรือเศรษฐกิจและการค้าโลกแบ่งขั้วและแตกกระจายมากขึ้น รวมไปถึงภาคธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมเกิด Market Fragmentation ที่แยกย่อยยิ่งกว่า Segmentation เพื่อตอบรับผู้บริโภคที่มีความซับซ้อนขึ้น มีความชอบ-ความสนใจที่แตกต่างกัน มีหลายตัวตน หลายพฤติกรรม และหลายความต้องการ

บทความนี้จะพาไปเจาะลึกเทรนด์ผู้บริโภค 6 กลุ่มใหญ่ในยุค Market Fragementation พร้อมทั้งแนวทางกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อนักการตลาด หรือแบรนด์ได้ทำความรู้จักและเข้าใจอินไซต์เชิงลึก นำไปสู่การปรับใช้ เพิ่มโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ

 

Solo Consumer: ปรากฏการณ์คนโสดเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก

Solo Consumer คือ ผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตคนเดียว และเลือกที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น ส่งผลให้เกิด Solo Economy หรือเศรษฐกิจของการอยู่อาศัยคนเดียวขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเช่นกัน

SCB EIC ได้วิเคราะห์แนวโน้มสังคมคนโสด หรือ Solo Economy พบว่าคนทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตเป็นโสดมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนได้จากจำนวนคนโสดในหลายประเทศ ทั้งในซีกโลกตะวันตกอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และฟากฝั่งเอเชีย ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรในหลายประเทศและฐานข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ในปี 2023 ระบุว่า

– ปัจจุบันมีจำนวนคนโสดทั่วโลกมากถึงราว 2.12 พันล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 23% ในปี 1985

– คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 35% ของจำนวนประชากรทั่วโลกภายในปี 2050

– สำหรับประเทศไทย พบว่า คนไทยมีแนวโน้มแต่งงานลดลงและเลือกที่จะใช้ชีวิตตัวคนเดียวมากขึ้น ไม่ต่างจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นผลมาจากค่านิยมและทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้ชีวิตที่อิสระ มีโลกส่วนตัวมากขึ้น รวมไปถึงเหตุผลด้านความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจและความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านหน้าที่การงาน

Consumer Trends-Market Fragmentation

ปรากฏการณ์คนโสดเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก มีสาเหตุที่คล้ายคลึงกันจากหลายปัจจัย นั่นคือ

1. การขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) มีส่วนทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะครองตัวเป็นโสดมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิถีชีวิตที่วุ่นวายและเร่งรีบ ทุ่มเทกับเรื่องการทำงานมากขึ้น จึงทำให้มีเวลาส่วนตัวน้อยลง

2. ปัญหาความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจ (Economic factor) จากความไม่แน่นอนด้านรายได้ รวมทั้งภาระทางการเงินต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น

3. มุมมองเกี่ยวกับโลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นผลมาจากปัญหาและความวุ่นวายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปัญหาด้านสังคมและปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน จนทำให้คนรุ่นนี้ไม่อยากให้คนรุ่นต่อไปต้องเกิดมาเผชิญกับปัญหาเหล่านี้และต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในอนาคต

นอกจากคนโสดจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกแล้ว คนโสดยังมีแนวโน้ม “ปรนเปรอตัวเอง” (Self indulgence) และ “กล้าใช้จ่ายเงินเพื่อเปย์ให้ตัวเอง” มากกว่าคนที่มีครอบครัวแล้วอีกด้วย ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนกลุ่มนี้จะมีภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันน้อยกว่าคนที่มีครอบครัว และคนโสดยัง “สุขและสนุก” กับชีวิต

Consumer Trends-Market Fragmentation

จากแนวโน้ม Solo Consumer ดังกล่าว ธุรกิจหรือแบรนด์ที่จะเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ จึงควรพัฒนาสินค้า หรือบริการที่ตอบโจทย์วิถีคนโสด หรือการอยู่คนเดียว ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ตอบโจทย์ชีวิตคนโสด ไม่ว่าจะเป็น Solo dining ธุรกิจร้านอาหารสำหรับรับประทานคนเดียว (Table for one), Solo living ธุรกิจที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบาย เช่น บริการจัดส่งวัตถุดิบอาหารพร้อมปรุง หรือ Meal kits delivery ทางเลือกความสะดวกสบาย และได้คุณค่าโภชนาการครบถ้วน, Solo travel ธุรกิจท่องเที่ยวมีบริการตอบโจทย์การเดินทางท่องเที่ยวคนเดียว

ธุรกิจสัตว์เลี้ยง โตรับเทรนด์ Pet humanization เพราะช่วยฮีลใจ และคลายเหงาให้คนโสด, ที่อยู่อาศัยสำหรับคนโสด: ปัจจุบันผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ออกแบบโครงการตอบโจทย์กระแสบ้านคนโสดมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

Consumer Trends-Market Fragmentation

 

Zero Consumer: ผู้บริโภคช้อปทุกช่องทาง ไม่มี Brand Loyalty

ในยุคที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการช้อปปิ้งและการใช้จ่ายที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้เกิดผู้บริโภคกลุ่มที่เรียกว่า “Zero Consumer” ทั่วโลก เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมหลากหลาย

McKinsey ฉายภาพพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่ม Zero Consumer มีคาแรกเตอร์ ดังนี้

– Omnichannel Shopper: เป็นนักช้อปที่ซื้อสินค้าจากทุกช่องทาง ไม่ว่าจะออนไลน์ หรือออฟไลน์

– Scrimp & Splurge: ซื้อสินค้าทั้งราคาถูก หรือคุ้มค่าคุ้มราคา และซื้อสินค้าราคาแพง

– Brand Non-loyalty: ไม่มีความภักดีต่อแบรนด์ ให้ความสำคัญกับคุณภาพ และแบรนด์ต้องมีมาตรฐานจริยธรรม

– Health & Sustainability Focus:  ใส่ใจสุขภาพ และความยั่งยืน แต่แม้ต้องการช้อปสินค้ารักษ์โลก หรือสินค้าเพื่อความยั่งยืน แต่ก็ไม่อยากจ่ายในราคาแพง

Consumer Trends-Market Fragmentation

การเกิดขึ้นของผู้บริโภคกลุ่ม Zero Consumer นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจและการตลาดดังนี้

Zero Boundary: ผู้บริโภคกลุ่ม Zero Consumer ต้องการประสบการณ์ Phygital เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบาย ดังนั้นแบรนด์ควรนำเสนอประสบการณ์ไร้รอยต่อทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการขายการให้บริการ และกลยุทธ์การใช้สื่อ

ผลสำรวจ McKinsey พบว่าผู้บริโภคสินค้าอุปโภคบริโภค และอาหารผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

– 71% ของผู้บริโภคเกาหลีใต้บอกว่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่าน Omnichannel ในขณะที่มีเพียง 19% เท่านั้นที่ซื้อจากร้านออฟไลน์

– 78% ของผู้บริโภคอินเดีย ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่าน Omni-channel

– 74% ของผู้บริโภคจีน ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่าน Omni-channel

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังค้นหาข้อมูลและเปรียบเทียบราคาสินค้าก่อนซื้อสลับไปมาระหว่างออนไลน์-ออฟไลน์

Consumer Trends-Market Fragmentation

Zero Midrange: ผู้บริโภค Zero Consumer จะซื้อสินค้าบางหมวดหมู่ในราคาประหยัด หรือพิจารณาความคุ้มค่าคุ้มราคา ขณะเดียวกันก็ซื้อสินค้าราคาแพงในบางหมวดหมู่ เพื่อให้ได้คุณภาพดีขึ้น หรือเพื่อทำให้คนยอมรับในตัวเขา จากผลสำรวจพบว่า

– 81% ของผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างในประเทศจีน วางแผนซื้อสินค้าน้อยลง หรือเปลี่ยนไปซื้อสินค้าราคาถูกกว่าในบางหมวดหมู่ เช่น เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน

– ขณะเดียวกัน 69% ของผู้บริโภคจีนบอกว่าพวกเขายินดีจ่ายแพงขึ้นให้กับสินค้าหรือบริการบางหมวดหมู่ เพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่ดีขึ้น เช่น การรับประทานอาหารในร้านอาหาร, การเดินทางท่องเที่ยว, แฟชั่นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย, และการออกกำลังกาย

Consumer Trends-Market Fragmentation

Zero Loyalty: สืบเนื่องมาจาก COVID-19 เวลานั้นสินค้าหลายหมวดหมู่ขาดตลาด ทำให้ผู้บริโภคมองหาแบรนด์อื่นมาทดแทนแบรนด์เดิมที่เคยใช้อยู่

สิ่งที่ตามมาคือ ผู้บริโภคเรียนรู้การใช้สินค้าทดแทน รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องใช้แบรนด์นี้ หรือแบรนด์นั้น ทำให้ปัจจุบันผู้บริโภค Zero Loyalty หรือไม่ได้มี Brand Loyalty มากเหมือนเช่นแต่ก่อนแล้ว

– 63% ของผู้บริโภคออสเตรเลียบอกว่าพวกเขาเปลี่ยนไปซื้อสินค้าแบรนด์อื่นแทนแบรนด์เดิมที่เคยซื้อ

– การไม่ยึดติดในแบรนด์เดิม เกิดขึ้นกับผู้บริโภคประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย 87%, จีน 83%, เกาหลีใต้ 67%

Net Zero: ผู้บริโภค Zero Consumer ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ ความยั่งยืน แหล่งที่มา และความโปร่งใส ดังนั้นผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงหันมาซื้อแบรนด์ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน แต่ในราคาย่อมเยา ไม่แพงเกินไป

แนวโน้มการใส่ใจ Net Zero ปรากฏให้เห็นชัดเจนในประเทศต่างๆ ของเอเชีย เช่น ผู้บริโภคจำนวนมากในเกาหลีใต้ ยินดีจ่ายเงินเพิ่ม ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน เช่นเดียวกับผู้บริโภคอินเดียตระหนักในความยั่งยืนมากขึ้น

Consumer Trends-Market Fragmentation

ดังนั้น แบรนด์จะชนะใจกลุ่ม Zero Consumer และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ต้องโฟกัส 4 แนวทาง

ปรับช่องทางเป็น Omni-channel

พัฒนาคุณค่าที่นำเสนอให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

ส่งมอบประสบการณ์ให้กับลูกค้าแบบ personalization เพื่อสร้างความภักดีของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์

มีนโยบายและการดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน

Consumer Trends-Market Fragmentation

 

Lazy Consumer: พฤติกรรมขี้เกียจที่ทำให้ยอมจ่าย แลกกับความสะดวกสบาย

Lazy Consumer คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เต็มใจจ่ายและพร้อมใช้เงินแก้ปัญหา เพื่อแลกกับความสะดวกสบาย เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เรียกว่า Lazy Economy เทรนด์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วมาก

ผลงานวิจัย “เจาะลึกอินไซต์ พิชิตใจคนขี้เกียจ” ของนักศึกษาสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ชี้ชัดว่าตลาดคนขี้เกียจยังคงเป็นที่จับตามองและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงอนาคต โดยมี TOP 4 สุดยอดพฤติกรรมขี้เกียจ ที่ทำให้ใครๆ ก็ต้องยอมควักกระเป๋าจ่าย

– ขี้เกียจเดินทาง: เพราะการไปไหนมาไหนแต่ละที เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่เจอแต่รถติด Lazy Consumer จึงยอมจ่ายเพื่อซื้อเวลา ส่งผลให้สินค้าและบริการต่างๆ ที่ช่วยลดการเดินทางตอบโจทย์และเติบโตอย่างรวดเร็ว

เช่น บริการ Delivery ทุกรูปแบบ ทั้งส่งอาหาร ส่งของ ซึ่งปัจจุบันได้แตกไลน์บริการเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น บริการส่งด่วนทันใจภายใน 24 ชั่วโมง บริการแบบ Door-to-Door Service จากหน้าบ้านผู้ส่งถึงหน้าบ้านผู้รับ, บริการแบบส่งตรงถึงบ้าน เช่น  ทำสปา เสริมสวย นวดแผนไทย ล้างรถ อาบน้ำตัดขนสัตว์เลี้ยง รวมถึง การช้อปออนไลน์ทุกช่องทาง ซึ่งล้วนแต่เป็นบริการที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าและได้รับบริการต่างๆ อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง

Consumer Trends-Market Fragmentation

– ขี้เกียจรอ: ในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างรวดเร็ว ทันใจไปหมดอย่างทุกวันนี้ ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะชาว Lazy Consumer ติดนิสัยไม่ชอบการรอคอย ชอบอะไรที่รวดเร็ว ทันใจ และไม่เสียเวลา ทำให้เกิดธุรกิจที่เน้นความรวดเร็ว สะดวกสบาย ไม่ต้องรอนาน เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

เช่น ธุรกิจรับจ้างต่อคิว ไม่ว่าจะเป็นการต่อคิวซื้อของ, ต่อคิวร้านอาหารยอดฮิต, ต่อคิวซื้อบัตรคอนเสิร์ต หรือแม้แต่ต่อคิวทำธุระที่หน่วยงานราชการ หรือบริการจองคิวล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มสินค้าและบริการที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด และเพิ่มฟังก์ชันที่ช่วยให้ทำทุกอย่างได้แบบครบจบในที่เดียว เช่น บริการแบบ One stop Service แพลตฟอร์มซูเปอร์แอป ที่รวมหลายๆ บริการไว้ในที่เดียว

Consumer Trends-Market Fragmentation

ขี้เกียจออกแรง: ร้อยทั้งร้อยของ Lazy Consumer จะชอบอยู่ในโหมดประหยัดพลังงาน จึงชอบหาวิธีหรือทางลัดต่างๆ ที่จะช่วยให้ออกแรงน้อยที่สุด จึงมักเลือกใช้สินค้าหรือบริการที่ช่วยทุ่นแรงหรือให้คนมาทำแทนได้ ส่งผลให้สินค้าและบริการที่ช่วยลดภาระในชีวิตประจำวันขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

เช่น บริการทำความสะอาดบ้าน จัดสวน ซักรีด ย้ายบ้าน ดูแลสัตว์เลี้ยง ฯลฯ

– ขี้เกียจคิด ขี้เกียจตัดสินใจ: เพราะลำพังชีวิตประจำวันก็มีเรื่องให้คิดให้ตัดสินใจเต็มไปหมด ชาว Lazy Consumer จึงชอบที่จะอยู่ในสภาวะทิ้งตัว และมองหาสินค้าและบริการที่ช่วยให้การตัดสินใจง่ายขึ้น ไม่ต้องคิดเยอะ ธุรกิจแบบจัดการให้จบ ครบวงจร คิดมาให้พร้อม ไม่ต้องเสียเวลาวางแผนหรือจัดการเองจึงเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ

เช่น บริการวางแผนท่องเที่ยวแบบครบวงจร บริการจัดงานแต่งงาน บริการสไตลิสต์ส่วนตัวที่จัดส่งสินค้าไปให้ทดลองใส่ก่อนตัดสินใจซื้อ หรือสินค้าที่จัดเป็น Set และสินค้าสำเร็จรูปพร้อมใช้ต่างๆ เช่น ชุดอาหารพร้อมปรุง (Meal Kit)

Consumer Trends-Market Fragmentation

หากเข้าใจ 4 พฤติกรรมขี้เกียจหลักๆ ของผู้บริโภคได้ก็จะทำให้มีจุดโฟกัสที่ชัดเจน นำไปสู่การสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ ตรงใจ และประสบความสำเร็จในธุรกิจได้ นั่นเพราะ

ยิ่งหาเงินได้มาก ก็ยิ่งอยากใช้เงินแก้ปัญหา ไม่ว่าใครก็ชอบความรวดเร็ว สะดวกสบาย และไม่ว่า
จะยุคใดสมัยใด การใช้เงินแก้ปัญหาเพื่อซื้อความสะดวกสบายก็จะยังคงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม
ผู้มีรายได้สูง ยิ่งมีรายได้สูงเท่าไหร่แนวโน้มที่จะใช้เงินซื้อความสะดวกสบายก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ยิ่งทำงานหนัก ก็ยิ่งไม่อยากทำอะไร เพราะลำพังแค่ทำงานอย่างเดียวก็เหนื่อยจนแทบไม่อยาก
ไปคิดหรือทำอะไรต่อแล้ว ดังนั้น ตราบใดที่คนยังต้องทำงานหนักและมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ สินค้าหรือบริการ
ที่ช่วยทุ่นพลังกาย พลังสมอง และทุ่นเวลาจึงไม่มีทางตกเทรนด์

ยิ่งเทคโนโลยีเจริญมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนขี้เกียจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีคือผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของมนุษย์ขี้เกียจ ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาเจริญก้าวหน้าเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ทุกสิ่ง ทุกอย่างยิ่งง่ายเพียงแค่ขยับปลายนิ้ว เพิ่มความสะดวกสบายให้ชีวิตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคยังต้องการความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว ไม่ยุ่งยากซับซ้อน “Lazy Economy” ก็ยังคงเติบโตต่อเนื่องตลอดไป และยังสร้างโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ Lazy Consumer

Consumer Trends-Market Fragmentation

 

SELF-sumer ใช้ชีวิตเต็มที่ หาความสุขให้ตัวเอง ณ ปัจจุบัน

SELF-sumer คือ ผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตเพื่อวันนี้อย่างเต็มที่ หาความสุขให้กับตัวเอง ณ ปัจจุบัน ส่วนอนาคตค่อยว่ากัน รวมทั้งให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตัวเอง ทั้งในโลกความเป็นจริง – โลกเสมือน และเลือกที่จะพึ่งพาตัวเองมากขึ้น

Ipsos เผยถึงปัจจัยที่ทำให้ SELF-sumer เกิดขึ้น คือ ความกังวลกับความไม่แน่นอน โดยเฉพาะ 3 ปัจจัยหลักคือ ปากท้อง, เศรษฐกิจ-คอร์รัปชั่น และการไม่มีงานทำ ทำให้ผู้บริโภคไทยรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมอนาคตของตัวเองได้ ฉะนั้นทำให้ผู้บริโภคต้องการมีความสุขกับชีวิตในวันนี้

เช่น ปรากฏการณ์หมูเด้ง และน้องเนย หรือ Butterbear กลายเป็นกระแสดัง เพราะทุกครั้งที่ดูหมูเด้ง, Butterbear ทำให้รู้สึกมีความสุข enjoy กับการดูน้อง แม้ในวันที่เหนื่อยล้า เจอกับสถานการณ์แย่ต่างๆ ได้หลุดพ้นจากความจริงที่โหดร้าย

Consumer Trends-Market Fragmentation

เทรนด์ “SELF-sumer” ประกอบด้วย 3 ประเด็นคือ

1. ความสุขซื้อได้ผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจความสุขของตัวเอง ณ ปัจจุบันมากขึ้น จากผลสำรวจพบว่า

– 72% ของคนไทยเลือกใช้ชีวิตให้มีความสุขในวันนี้ พรุ่งนี้ค่อยว่ากัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (66%)

– 84มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ เพราะอนาคตไม่แน่นอน โดยประเทศไทยอยู่อันดับสูงสุดในบรรดา 50 ประเทศที่ทำการสำรวจ

2. ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตัวเอง ทั้งบนโลกความจริงและออนไลน์

– 65% ของคนไทยชอบซื้อสินค้าหรือประสบการณ์ที่คิดว่าจะทำให้พวกเขาดูดีในรูปที่โพสต์ออนไลน์

นอกจากนั้นยังมีคนบางกลุ่มยังเลือกที่จะหลีกหนีความวุ่นวายบนโลกแห่งความจริง ไปใช้ชีวิตในโลกเสมือนจริงแทน ผลสำรวจพบว่า

– ในโลกเสมือนจริง (Virtual World) คนเหล่านั้นก็ยังสนใจภาพลักษณ์ของตัวอวตาร (avatar) และยินดีจ่ายเงินเพื่อให้ตัวอวตารของตนมีภาพลักษณ์ที่ดีด้วยเช่นกัน

3. Influencer มีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ ทั้ง Physical world และ Virtual world

– 58% ของผู้บริโภคคนไทยมักซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการโดยอิงจาก “Influencer” ที่เขาชื่นชอบและติดตามบนโซเชียลมีเดีย เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยเพียง 44% ของ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

นอกจากนั้นผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคเริ่มหันมาเชื่อตนเองหรือแวดวงออนไลน์ของตนเองมากกว่าที่จะเชื่อแบรนด์หรือผู้เชี่ยวชาญ และการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

– ผู้คนถึง 84% ต้องการควบคุมการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองมากขึ้น

– 82% พยายามค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองอยู่เสมอ แทนที่จะอาศัยเพียงสิ่งที่แพทย์บอก

ดังนั้นธุรกิจหรือแบรนด์ที่จะเข้าถึง SELF-sumer ควรตอบสนองการที่ผู้บริโภคแสวงหา ความสุขในปัจจุบัน รวมทั้งเชื่อมโยงโลกเสมือนจริงเข้ากับผลิตภัณฑ์/ร้านค้า เป็นโอกาสสำหรับการใช้กลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ และสร้างช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้เพิ่มเติมบนโลกเสมือนจริง ที่ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่โฆษณาอีกต่อไป

Consumer Trends-Market Fragmentation

 

Value Hacker Consumer: นักช้อปเน้นความคุ้มค่าคุ้มราคาในยุคค่าครองชีพสูง

ผลจากเงินเฟ้อ และค่าครองชีพสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจไม่แน่นอน กระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน และเงินในกระเป๋า ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และคาดว่ายังคงดำเนินต่อไป เห็นแนวโน้มผู้บริโภคกลุ่ม Value Hackerมากขึ้น 

Value Hacker Consumer คือ ผู้บริโภคที่นำเทคนิคบริหารการเงินใหม่ๆ มาปรับใช้ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด และให้ความสำคัญกับ “ความคุ้มค่าคุ้มราคา” มาเป็นปัจจัยแรกๆ ในการพิจารณาการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมองหาวิธีที่จะทำให้การจับจ่ายแต่ละครั้ง คุ้มค่าที่สุด ซึ่งความคุ้มค่านั้น ต้องไม่กระทบต่อคุณภาพสินค้า และไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นสินค้าราคาถูกเสมอไป

ดังนั้นพฤติกรรมผู้บริโภค Value Hacker ก่อนจะตัดสินใจซื้อสินค้า หรือใช้บริการใดก็ตาม จะศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และใช้แอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่า มองหาส่วนลด ดีลพิเศษ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการซื้อสินค้านั้นๆ จะได้ตามความคาดหวัง อย่างไรก็ตามแม้จะให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า แต่ผู้บริโภคกลุ่มนี้มองว่าสินค้า หรือบริการที่ได้มานั้น ต้องมีคุณภาพในระยะยาว

Euromonitor เปิดผลสำรวจพฤติกรรมการช้อปของผู้บริโภค พบว่า

– การขึ้นราคาสินค้าและบริการต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคต้องพยายามหาทางรับมือค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

– 3 ใน 4 ของผู้บริโภค รู้สึกกังวลต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงขึ้น

– 74%  ของผู้บริโภคกังวลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้น

– 44% ของผู้บริโภควางแผนประหยัดเงินมากขึ้น

จากผลสำรวจดังกล่าว ตอกย้ำให้เห็นว่าเงินเฟ้อ และค่าครองชีพสูงขึ้น ได้ปลูกฝังแนวคิดการบริหารจัดการทางการเงินใหม่ อย่างไรก็ตามแม้ค่าครองชีพสูงขึ้น ผู้บริโภคจะลดการใช้จ่ายสินค้าบางหมวดหมู่ แต่สำหรับสินค้าจำเป็น และสินค้าที่อยากได้ ผู้บริโภคยังคงช้อปเช่นเดิม เพียงแต่มองหาข้อเสนอที่ดีที่สุดจากแบรนด์ หรือร้านค้าแทน

Consumer Trends-Market Fragmentation

กลยุทธ์ที่แบรนด์จะเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่ม Value Hacker ประกอบด้วย

แสดงราคาชัดเจน เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่ม Value Hacker จะหาข้อมูลและเปรียบเทียบก่อนซื้อ

การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และรีวิวจากลูกค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ และสินค้า

นำเสนอสินค้าใหม่ หรือนวัตกรรมใหม่ ในราคาเข้าถึงง่าย

นำเสนอโปรโมชั่นส่วนลด, ดีลพิเศษ หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้รู้สึกว่าเมื่อซื้อแล้ว ได้ความคุ้มค่ากลับมา

ใส่ใจต่อคุณภาพ แม้ผู้บริโภคกลุ่ม Value Hacker จะมองหาความคุ้มค่า แต่สิ่งที่ต้องมาคู่กันคือ คุณภาพสินค้าหรือบริการ

สร้าง Customer Loyalty ด้วยระบบ Loyalty Program และบริการหลังการขาย

Consumer Trends-Market Fragmentation

 

Luxumer: พฤติกรรมเสพติดความหรู รับเทรนด์ตลาด Luxury โตสวนเศรษฐกิจ

อีกหนึ่งกลุ่มผู้บริโภคที่ธุรกิจและนักการตลาดโฟกัสมากขึ้น คือ Luxumer มาจากคำว่า Luxury และ Consumer หมายถึงผู้บริโภคที่ชื่นชอบและให้ความสำคัญกับสินค้าหรือบริการระดับพรีเมียมที่เน้นความหรูหราเป็นพิเศษ เช่น เสื้อผ้าหรือกระเป๋าแบรนด์เนม, การเดินทางท่องเที่ยวด้วยสายการบินระดับ Business Class หรือที่พักระดับ 5 ดาว, ไลฟ์สไตล์การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีราคาสูงกว่าแบรนด์อื่นๆ ในหมวดผลิตภัณฑ์เดียวกัน

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU เปิดผลวิจัยหัวข้อ Unstoppable Luxumer เจาะอินไซต์ หยุดไม่ได้ใจมันลักซ์” ได้อธิบายเทรนด์ตลาดหรูในปี 2025 ไปจนถึงอีกหลายปีข้างหน้า ไม่ว่าเศรษฐกิจจะขาขึ้น หรือขาลง ตลาดสินค้าและบริการหรูยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเกิดเทรนด์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

Consumer Trends-Market Fragmentation

1. การตลาดเชิงอารมณ์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะชาว Luxumer ยุคใหม่จะให้ความสำคัญกับ “ความรู้สึก” ที่เกิดจากการใช้สินค้าหรือบริการมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับโดยตรง

2. เทรนด์หรูรักษ์โลก (Eco-Conscious Luxury) จะมาแรง ชาว Luxumer ยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Millennials จะให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าหรือบริการที่มีนโยบาย Eco-Friendly เช่น ใช้วัสดุรีไซเคิล ลดการปล่อยคาร์บอน หรือมีกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน จะกลายเป็นตัวเลือกสำคัญและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อมากขึ้น

3. ตลาดหรูมือสอง จะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มองหาสินค้าหรูในราคาที่ถูกลง หรือเพิ่มมูลค่าได้ในระยะยาว แพลตฟอร์มออนไลน์จะกลายเป็นช่องทางสำคัญในการซื้อขายสินค้าหรูมือสอง ซึ่งจะช่วยให้ชาว Luxumer สามารถเข้าถึงสินค้าที่เคยเอื้อมไม่ถึงด้วยราคาที่จับต้องได้ อีกทั้งยังช่วยลดขยะและสนับสนุนแนวคิดเรื่องความยั่งยืน

4. ธุรกิจเช่าความหรู (Luxury Rentals) จะเฟื่องฟูยิ่งขึ้น โดยชาว Luxumer ที่รายได้ไม่สูงนัก หรือไม่ต้องการลงทุนซื้อสินค้าราคาสูงสามารถเข้าถึงประสบการณ์หรูได้ผ่านการเช่า เช่น การเช่ารถยนต์ กระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องประดับ ซึ่งนอกจากราคาที่ถูกลงแล้วยังทำให้สามารถปรับเปลี่ยนสินค้าตามสไตล์และโอกาสได้มากขึ้น

Consumer Trends-Market Fragmentation

สำหรับกลยุทธ์พิชิตชาว Luxumer ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง ไม่มองเรื่องราคาเป็นข้อจำกัด ทั้งยังพร้อมซื้ออย่างต่อเนื่องไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร โดยกลยุทธ์เรียกว่า “PREMIUM” ประกอบด้วย

P Privilege: มอบสิทธิพิเศษเหนือระดับกว่าลูกค้าทั่วไป เพื่อให้ชาว Luxumer รู้สึกได้ถึงความ VIP

R Rare: มอบสินค้าและบริการหายาก ไม่ว่าจะเป็นสินค้า Rare Item, Limited Edition หรือ Made by order ที่ไม่เหมือนใครหรือไม่สามารถหาซื้อได้ง่ายๆ เพื่อให้ Luxumer รู้สึกถึงความพิเศษ รู้สึกถึงชัยชนะ และภูมิใจที่ได้ครอบครอง

E – Emotional: สร้างความผูกพันทางอารมณ์ เชื่อมโยงแบรนด์เข้ากับอารมณ์และความรู้สึก โดยใช้เรื่องราวที่สะท้อนความรัก ความสำเร็จ หรือช่วงเวลาสำคัญของชีวิต ทำให้ Luxumer รู้สึกว่าการซื้อสินค้าหรูเป็นมากกว่าแค่การซื้อสินค้า แต่เป็นการลงทุนที่มีคุณค่าทางจิตใจ

– M – Memorable: สร้างประสบการณ์ที่ล้ำค่า น่าจดจำ เช่น การได้เข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ อย่างเช่นคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเพียงปีละครั้ง การได้พบปะบุคคลสำคัญ หรือไอดอลที่ชื่นชอบ จะทำให้ Luxumer จดจำแบรนด์ได้และนึกถึงทุกครั้งเมื่อระลึกถึงประสบการณ์สุดประทับใจ

I – Innovation: นำเทรนด์ ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย เพื่อดึงดูดใจชาว Luxumer ที่ชื่นชอบความทันสมัยและสะดวกสบาย เช่น ใช้  AI มาช่วยออกแบบและปรับแต่งสินค้าหรือบริการเฉพาะบุคคล

U – Unique: สร้างสรรค์สินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และแตกต่างจากสินค้าที่วางขายทั่วไป ทำให้ Luxumer รู้สึกว่าการเป็นเจ้าของสิ่งที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครและเป็นตัวแทนของรสนิยมเฉพาะตัว

M – Motivation: สร้างแรงจูงใจ เชื่อมโยงแบรนด์กับเป้าหมายและความสำเร็จ ทำให้ Luxumer รู้สึกว่าแบรนด์ไม่ใช่เพียงแค่สินค้าหรือบริการ แต่เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนความสำเร็จของผู้ครอบครอง

Consumer Trends-Market Fragmentation

ผู้บริโภคทั้ง 6 กลุ่มดังกล่าว เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของผู้บริโภคในยุค Market Fragmentation และไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์เกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น หากแต่เป็นแนวโน้มทั้งในวันนี้และต่อเนื่องถึงอนาคตที่สอดคล้องกับอินไซต์ และความต้องการของผู้คน ตลอดจนบริบททางสังคมและสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งธุรกิจหรือแบรนด์ที่จะชนะใจผู้บริโภคได้ ต้องปรับตัวให้ทัน


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ